Calm, Cool and Patient
ในช่วงเวลาที่มีคนขับรถปาดหน้าหรือว่าโดนแซงคิว ความโกรธของเราทะลุปรอท อารมณ์ครุกรุ่นจนเกือบเดินเข้าไปถามให้รู้แล้วรู้รอดว่าทำไมไม่มีมารยาท
เรากำลังจะตะโกนด่าออกไปอยู่แล้ว โชคดีที่มีเสียงหนึ่งหยุดเราไว้ เป็นเสียงจากเพื่อนข้างๆ ที่ปลอบเราอย่างอ่อนโยนว่า “ใจเย็นๆ ไม่เป็นไรหรอก ปล่อยเขาไปเถอะ เราเองก็ไม่ได้รีบขนาดนั้นเสียหน่อย”
คำพูดของเพื่อนทำให้เราฉุกคิด เราเริ่มกลับมามีสติอีกครั้ง จนในที่สุดก็ใจเย็นลง ความโกรธที่มีต่อคนคนนั้นยังคงอยู่ แต่เรารู้แล้วว่าไม่จำเป็นต้องไปเดือดดาลใส่ ด่าไปก็อาจจะไม่มีอะไรดีขึ้น แถมอาจจะยิ่งเสียเวลามากขึ้นไปอีก…
จะว่าไป การมีเพื่อนเป็นคนใจเย็นก็นับเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย เขาช่วยคนรอบข้างให้ไม่ตื่นตระหนกกับปัญหาต่างๆ จนเกินพอดี ส่วนตัวเขาเองก็ดูนิ่ง สงบ จิตใจไม่เตลิดไปกับสิ่งเร้าที่ควบคุมไม่ได้ บางครั้งบางที เราก็แอบสงสัยเหมือนกันนะว่า ทำไมเขาถึงใจเย็นได้มากขนาดนั้น เขาเคยโกรธใครบ้างมั้ย และอะไรคือเคล็ดลับการเป็นคนใจเย็นที่ช่วยให้เขารับมือกับปัญหาต่างๆ ได้ดีขนาดนี้
ข้อมูลจากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2554 ระบุว่า ‘ใจเย็น’ หมายถึง ใจหนักแน่นไม่ฉุนเฉียว, ไม่รีบร้อน ซึ่งก็ดูเป็นความหมายที่ถูกต้องตรงกับความเข้าใจของคนทั่วไป แต่ในภาษาอังกฤษกลับไม่มีคำเฉพาะที่สามารถจำกัดความคำว่าใจเย็นไว้ได้ในคำเดียว โดยถ้าลองตีความกว้างๆ ใจเย็นในภาษาอังกฤษ น่าจะเป็นส่วนผสมของคำว่า Calm, Cool และ Patient หรือสงบ เยือกเย็น และอดทน นี่เองที่เป็นคุณสมบัติซึ่งช่วยให้ปัญหาต่างๆ คลี่คลายได้โดยบัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น
ใจเย็น = หนีปัญหา?
อาจมีหลายคนที่มองว่า คนใจเย็นคือคนที่ไม่ทำอะไรเลย ทนมองสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นอย่างสงบเสงี่ยมเจียมตัว ไม่ ‘Take Action’ อย่างทันท่วงที ทว่าสิ่งนี้ไม่เป็นความจริงในความคิดของ ซาราห์ เอ. ชไนต์เคอร์ (Sarah A. Schnitker) รองศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและประสาทวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเบย์เลอร์ สหรัฐอเมริกา ที่อธิบายว่า คนใจเย็นไม่ได้เพิกเฉยต่อปัญหา เพียงแต่พวกเขาพยายามรับมือกับมันด้วยความอดทนต่างหาก
“การใจเย็น คือ ความสามารถในการสงบสติอารมณ์เมื่อต้องเผชิญหน้ากับความทุกข์ยาก ความคับข้องใจ ความทุกข์ทรมาน ตลอดจนในสถานการณ์ใดก็ตามที่ต้องใช้ความอดทนในการตอบสนอง”
นอกจากนี้ ซาราห์ยังอธิบายเพิ่มด้วยว่า ‘ใจเย็น’ อาจไม่ใช่คุณสมบัติที่อยู่ตรงข้ามกับ ‘ใจร้อน’ เสมอไป ยกตัวอย่างเช่น ในเหตุการณ์ที่คู่รักมีเหตุให้ทะเลาะเบาะแว้ง คู่ที่อดทนและใจเย็นจะสงบสติอารมณ์ ค่อยๆ รับฟังและปรับความเข้าใจเพื่อหาทางออกร่วมกัน ขณะที่คู่ที่ ‘ไม่ใจเย็น’ อาจแสดงออกได้ทั้งท่าทีประเภทสาดคำด่ากันไปกันมา โดยไม่มีใครอดรนทนฟังว่าอีกฝ่ายรู้สึกอย่างไร การแสดงออกรูปแบบนี้อาจเรียกได้ว่า ‘ใจร้อน’ แต่ขณะเดียวกัน การไม่ใจเย็นก็สามารถแสดงออกมาในรูปแบบของการละเลย ทำหูทวนลม และไม่สนใจความต้องการของอีกฝ่ายได้ด้วย สรุปชัดๆ คือ สิ่งที่เป็นขั้วตรงข้ามของความใจเย็น มีทั้งความใจร้อนและการเพิกเฉย ไม่แม้กระทั่งจะลองเปิดใจรับมือกับเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นนั่นเอง
ประเภทและความซับซ้อนของคนใจเย็น
งานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งถูกตีพิมพ์ใน The Journal of Positive Psychology เมื่อปี 2012 ได้ลองแบ่งสถานการณ์ที่ต้องอาศัยความใจเย็นออกเป็น 3 ประเภท อันได้แก่
- ความยากลำบากในชีวิต เช่น การเผชิญกับความเจ็บป่วยเรื้อรัง ปัญหาด้านการเงิน ฯลฯ
- ปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เช่น ความขัดแย้งกับคนในครอบครัว ความเห็นที่ไม่ลงรอยกับเพื่อนฝูง
- ความยุ่งยากทั่วไปในแต่ละวัน ทั้งปัญหารถติด ฝนตก เที่ยวบินล่าช้า ลืมสิ่งของ ฯลฯ
โดยผลการวิจัยพบว่า ความใจเย็นในแต่ละสถานการณ์ไม่ได้แปรผันตรงกัน ผู้ที่ใจเย็นในสถานการณ์หนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าจะใจเย็นกับทุกเรื่อง หรือก็คือคนที่สามารถรับฟังปัญหาความสัมพันธ์ได้อย่างลื่นไหลใจเย็น ก็อาจหงุดหงิดและทำตัวไม่ถูกเมื่อไปร้านอาหารแล้วพบว่าคิวยาว จึงสรุปได้ว่า ความใจเย็นเป็นคุณสมบัติที่ซับซ้อน แต่หากมีสิ่งนี้ก็คงช่วยให้การดำเนินชีวิตราบรื่นมากยิ่งขึ้น
คนใจเย็นโกรธเป็นมั้ย?
แล้วถามว่าคนที่ใจเย็นเขาไม่มีอารมณ์ฉุนเฉียวโกรธเคืองบ้างเลยหรือ คำตอบคือก็มีทั้งคนใจเย็นที่สงบ สภาวะทางอารมณ์ราบเรียบและมั่นคงตรงกับลักษณะนิสัย และก็มีคนใจเย็นที่ลึกๆ ก็มีความรู้สึกต่อเรื่องต่างๆ แต่สามารถอดทนอดกลั้น ควบคุมการกระทำของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ พูดง่ายๆ คือมีทั้งคนที่ใจเย็นโดยกำเนิดและคนที่ใจเย็นผ่านการฝึกฝน สภาพแวดล้อม และการปรับวิธีคิดนั่นเอง
งานวิจัยในอดีตที่เว็บไซต์ NBC News นำมาอ้างอิง ชี้ให้เห็นว่า คนที่เกิดมาพร้อมอุปนิสัยประนีประนอม ชอบเปิดรับสิ่งใหม่ๆ จะมีแนวโน้มเป็นคนใจเย็นไปในตัว เป็นความสงบ เยือกเย็น และอดทนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่ในทางกลับกัน ผู้ที่มีความกังวลในการเปิดรับสิ่งใหม่ๆ และไม่ค่อยประนีประนอมมากนัก ก็จะมีแนวโน้มเป็นคนใจร้อนมากกว่าโดยปริยาย
อย่างไรก็ดี เดบรา อาร์. โคเมอร์ (Debra R. Comer) ศาสตราจารย์พิเศษด้านธุรกิจ ผู้เคยค้นคว้าข้อมูลด้านสังคมและพฤติกรรมได้เน้นย้ำว่า แท้จริงแล้ว ความใจเย็นเป็นทักษะที่ฝึกฝนกันได้
“มันเหมือนกับการเป็นนักกีฬา บางคนอาจเกิดมาพร้อมสรีระของนักกีฬาโดยธรรมชาติ และบางคนก็เกิดมาพร้อมศักยภาพที่น้อยกว่า แต่ต่อให้เป็นคนที่ดูจะไม่มีทางเป็นนักกีฬาได้มากที่สุดเอง ก็สามารถฝึกฝนทักษะด้านกีฬาให้ดีขึ้นได้ อาจไม่ถึงขั้นเป็นนักกีฬาอาชีพ แต่อย่างน้อยก็มีพื้นฐานมากขึ้น ซึ่งการเป็นคนใจเย็นก็เช่นเดียวกัน”
แล้วทำยังไงถึงเป็นคนใจเย็น?
3 ขั้นตอนฝึกฝนคนใจเย็นที่นำไปปรับใช้ได้กับสถานการณ์ต่างๆ ได้แก่
- ระบุสิ่งที่ทำให้เราร้อนใจ – จับความรู้สึกตัวเอง พยายามสังเกตสิ่งต่างๆ อย่างใกล้ชิด เมื่อใดที่เราเริ่มตื่นตระหนก โมโห หรือว้าวุ่นใจ จงตอบให้ได้ว่าอะไรคือตัวการของสิ่งที่เกิดขึ้น ในกรณีนี้ขอลองยกตัวอย่างเป็นเราออกจากบ้านโดยไม่ได้แต่งหน้าเพื่อรีบไปร้านอาหารให้ตรงเวลา แต่เพื่อนเรากลับมาสาย โถ่ โกรธว่ะ ทำไมมีแต่เราที่รีบอยู่คนเดียว
- ปรับวิธีคิดที่มีต่อเหตุการณ์นั้นๆ – พยายามตั้งสติ ลองเอาใจออกจากการเป็นตัวเองและมองสิ่งที่เกิดขึ้นในมุมมองอื่นๆ บ้าง เพื่อนเราอาจจะมีเหตุผลจำเป็นที่ต้องมาสายก็ได้ หรือจริงๆ เราจะแต่งหน้าก่อน แล้วค่อยออกจากบ้านก็ได้ แต่ก็เป็นเราเองที่เลือกจะรีบ หรือจะว่าไป ในเมื่อเพื่อนยังไม่มา ระหว่างนี้ก็ไปแต่งหน้าเติมปากก่อนก็ยังไม่สายนี่นา ไม่เห็นต้องโมโหขนาดนั้นเลย
- นึกถึงเป้าหมายที่แท้จริง – อยากให้ใช้เวลาสักเสี้ยววินาทีขบคิดว่า เรามาที่นี่ทำไมหรือเลือกทำสิ่งนี้โดยมีเหตุผลอะไรอยู่เบื้องหลัง เราอยากมากินข้าวกับเพื่อน อยากใช้เวลาแห่งความสุขร่วมกัน ดังนั้น หากเพื่อนมาสาย แล้วเราเอาแต่ตำหนิต่อว่า ไปๆ มาๆ บรรยากาศจะหม่นหมองเสียเปล่าๆ เสียทั้งเวลา เสียทั้งความรู้สึก แน่นอนว่าเราเตือนเพื่อนได้ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องพูดจาแบบอารมณ์เสียใส่กันซะหน่อย
นอกจากนี้ อีกเทคนิคจำง่ายที่อาจช่วยให้เรากลายเป็นคนที่ใจเย็นขึ้น นั่นคือเมื่อใดก็ตามที่รู้สึกโกรธหรือทนไม่ไหว ให้ตั้งคำถามถึง ‘3P’ อันได้แก่ Pervasive? Persist? และ Personally? ซึ่งหมายถึง ปัญหานี้เป็นเรื่องใหญ่ขนาดที่เราต้องใจร้อนวู่วามจริงๆ หรือ ปัญหานี้จะอยู่กับเราไปนานขนาดนั้นหรือเดี๋ยวมันก็ผ่านไป และปัญหานี้มีค่าให้เราเก็บมาคิดเป็นเรื่องส่วนตัวจริงรึเปล่า
การถาม 3P กับตัวเองคงช่วยให้เราใจเย็นขึ้นได้ไม่มากก็น้อย
ถึงตรงนี้ เราคงพอจะพูดได้ว่าคนใจเย็นช่วยให้หลายสิ่งหลายอย่างไม่เลวร้ายอย่างที่มันเกือบจะเป็น และอันที่จริง มันคงจะเป็นไปแล้วหากเราใจร้อนและบันดาลโทสะโดยไม่ไตร่ตรองให้ดีเสียก่อน
การใจเย็นไม่ใช่การหลบเลี่ยงปัญหา แต่คือการสงบสติ อดทน และเลือกที่จะเผชิญหน้าโดยไม่เอาอารมณ์มาอยู่เหนือเหลุผลและข้อเท็จจริง
หลายครั้ง การใจเย็นก็เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้สิ่งต่างๆ ผ่านพ้นไปได้โดยไร้ความขัดแย้ง เราที่ร้อนๆ มา พร้อมจะต่อว่าใครก็ตามที่ขวางหน้า คงเย็นลงได้พอสมควรเมื่ออีกฝ่ายใจเย็น เปิดใจ และพร้อมรับฟัง
ในวันที่ทุกอย่างไม่เป็นใจ ทำงานเสร็จไม่ทันเดดไลน์แน่ๆ หากมีหนึ่งคนในทีมที่ใจเย็นพอและบอกทุกคนให้ตั้งสติ ไม่เป็นไร ทำไปด้วยกัน ถ้าทันก็ทันด้วยกัน ถ้าไม่ก็ไม่ด้วยกัน แต่ที่แน่ๆ มันจะออกมาดี เพียงเท่านี้ก็คงช่วยให้บรรยากาศและความรู้สึกของคนรอบข้างดีขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ในหลายๆ มุม คนใจเย็นคือคนที่มีแต้มต่อในการช่วยให้โลกใบนี้น่าอยู่ขึ้น และในวันนี้ เมื่อรู้แล้วว่าการใจเย็นมีข้อดีมากมายขนาดไหน ทั้งยังเห็นอีกว่าสิ่งนี้สามารถฝึกฝนกันได้ผ่านประสบการณ์ ดังนั้นก็คงเป็นเรื่องดีหากเราจะลองสร้างพลังงานแห่งความใจเย็นให้เกิดขึ้นในใจของเราเอง
เพราะบางที การเป็นคน Calm, Cool and Patient ก็ดูมีเสน่ห์ไม่เบาเหมือนกันนะ
อ้างอิงจาก