หลายคนคงคุ้นเคยกับรอยยิ้มบนภาพ ‘Mona Lisa’ เป็นอย่างดี อีกหนึ่งผลงานชิ้นเอกจากศิลปินดัง ‘ลีโอนาร์โด ดา วินชี’ ที่ถูกวาดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 16 ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ชื่อเสียงอันโด่งดังของภาพนี้ เป็นเหมือนแม่เหล็กดึงดูดผู้คนจากทั่วสารทิศ บางคนกลับไม่ได้อยากมาชื่นชม หรือลองยืนขยับซ้ายขวาเพื่อทดสอบว่าหญิงสาวในภาพจะมองตามได้จริงหรือไม่ แต่พวกเขากลับอยากครอบครองผลงานชิ้นนี้ไว้เสียเอง
ย้อนกลับไปในปี 1911 ที่ตอนนั้นภาพวาดโมนาลิซายังไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังเท่าในวันนี้ วินเชนโซ เปรูจา (Vincenzo Peruggia) ช่างติดกระจกนิรภัย ซ่อนตัวอยู่ในพิพิธภัณฑ์ลูฟร์และขโมยภาพนี้ไปซ่อนในที่พักของตนเองถึง 2 ปี ก่อนจะนำไปขายที่บ้านเกิดของเขาในอิตาลี ในที่ที่เขาเชื่อว่าเป็นบ้านเกิดของภาพวาดชิ้นนี้ด้วยเช่นกัน
แม้ภาพวาดจะยังไม่มีชื่อเสียงในขณะนั้น แต่เมื่อเป็นผลงานจิตรกรเอกของโลก ใครเล่าจะไม่ให้ความสนใจ และยิ่งถูกพิสูจน์แล้วว่าเป็นภาพจริง ข่าวยิ่งแพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็ว ดีลเลอร์ทำทีสนใจภาพวาด กลับโทรหาผู้อำนวยการหอศิลป์อุฟฟีซี (Uffizi Gallery) พร้อมแจ้งตำรวจทำให้ตำรวจตามจับตัววินเชนโซได้จากการล่อซื้อครั้งนี้ และส่งภาพวาดคืนให้กับพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ในที่สุด
ตั้งแต่นั้นเอง ผู้คนต่างเดินทางมาเพื่อชมภาพโมนาลิซาที่ครั้งหนึ่งถูกขโมยไป และภาพนี้ก็เริ่มมีชื่อเสียงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกลายมาเป็นหนึ่งในภาพวาดที่โด่งดังที่สุดในโลกอย่างในปัจจุบัน แต่ระหว่างทางจากการถูกขโมยครั้งแรกจนถึงวันนี้นั้น ใช่ว่าภาพนี้จะได้แขวนนิ่งๆ อย่างสงบ
แม้การโจรกรรมเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว แต่กลับเกิดเหตุการณ์อื่นๆ ขึ้นอีกหลายครั้ง มาดูกันว่าภาพวาดอันโด่งดังนี้ ถูกโจมตีด้วยอะไรมาแล้วบ้าง?
ปี 1956 ถูกสาดน้ำกรด ขณะจัดแสดงในงานนิทรรศการที่ มงโตบ็อง ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส แต่ด้วยปริมาณที่น้อยมาก ภาพวาดจึงไม่ได้รับความเสียหายใดๆ ในปีเดียวกันนั้น ก็ถูกขว้างด้วยก้อนหิน โดย อูโก อุนซากา (Ugo Unzaga) ชายไร้บ้าน ชาวโบลีเวีย เขาอ้างว่า เขารู้แค่เพียงว่าเขามีก้อนหินในกระเป๋ากางเกง แล้วอยู่ดีๆ ความคิดที่อยากจะขว้างหินในภาพก็แว้บเข้ามาในหัวเอง ไม่ได้มีการเตรียมการมาก่อน ภาพได้รับความเสียหายเล็กน้อย จากเหตุการณ์นี้ ทำให้มีการติดตั้งกระจกใสป้องกันความเสียหายจากการถูกโจมตีเช่นนี้อีก
ปี 1974 ภาพโมนาลิซาได้ไปจัดแสดงชั่วคราวที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ขณะเข้าชมภาพนั้น โทโมโกะ โยเนซุ (Tomoko Yonezu) หญิงชาวญี่ปุ่นที่ใช้วีลแชร์ ไม่ได้รับความสะดวกสำหรับผู้พิการในการเข้าชมผลงาน ทำให้เธอตัดสินใจพ่นสเปรย์สีแดงไปที่ภาพ แต่ด้วยการป้องกันจากกระจกใส ทำให้ภาพไม่ได้รับไม่ได้รับความเสียหาย หลังจากถูกควบคุมตัวเธอก็ถูกนำตัวขึ้นศาล เธอถูกตัดสินว่ามีความผิดลหุโทษ ต้องจ่ายค่าปรับ 3,000 เยน แต่ถึงอย่างนั้น คดีของเธอทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งชาติได้จัดสรรวันที่ผู้พิการสามารถเยี่ยมชมโมนาลิซาโดยเฉพาะได้
เวลาล่วงเลยมากว่า 35 ปีที่ภาพโมนาลิซาได้แสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟร์อย่างสงบ จนกระทั่งในปี 2009 หญิงชาวรัสเซียรายหนึ่งปาแก้วกาแฟใส่ภาพ เนื่องจากเธอไม่พอใจที่ไม่ได้รับสัญชาติฝรั่งเศส แต่ภาพก็ไม่ได้รับความเสียหายใดๆ
ขยับออกมาอีกนิดในปี 2022 ชายคนหนึ่งปลอมตัวเป็นผู้หญิงนั่งวีลแชร์เพื่อเข้าใกล้ภาพที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้ เขาลุกขึ้นมาและพยายามทำลายภาพ แต่ถูกกั้นด้วยกระจกกันกระสุน จึงทำได้เพียงป้ายเค้กไปที่กระจกเท่านั้น หลังจากนั้น เขาจึงเรียกร้องให้ผู้คนหันมาสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม ถือเป็นการประท้วงเพื่อความเคลื่อนไหวในปัญหาสิ่งแวดล้อมครั้งแรกที่เกิดขึ้น
ล่าสุด ในปี 2024 การประท้วงได้เกิดขึ้นกับภาพนี้อีกครั้ง สองผู้ประท้วงสาดซุปเข้าไปที่ภาพ แม้จะรู้ว่ามีกระจกนิรภัยกั้นอยู่ก็ตาม เพื่อเรียกร้องให้ผู้คนหันมาสนใจปัญหาสิทธิเข้าถึงอาหารอย่างยั่งยืน จึงใช้ช่วงเวลานี้ในการสร้างความตระหนักรู้ต่อปัญหาแก่ผู้คนที่รับชม (และผู้คนที่อ่านข่าวในวันต่อๆ ไป)
ดูเหมือนว่าภาพโมนาลิซาจะกลายมาเป็นภาพที่มีชื่อเสียงที่มีข่าวใหม่ๆ วนมาให้เราได้ระลึกถึงชื่อของเธออยู่ตลอด นับตั้งแต่การถูกโจรกรรมครั้งแรก ถูกขว้างปาสิ่งของด้วยความหงุดหงิด ไปจนถึงเป็นหมุดหมายของการประท้วง
อ้างอิงจาก