ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง แก๊สน้ำตา กระสุนยาง .. สิ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ในการสลายการชุมนุมครั้งที่ผ่านมา กลายเป็นกระแสถกเถียงและตั้งคำถามจากสังคมกันอย่างมาก โดยเฉพาะประเด็นในเรื่องของการสลายการชุมนุมตามหลักสากล
ตามหลักแล้ว ประชาชนทุกคนมีเสรีภาพในการชุมนุม โดยกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ระบุไว้ว่า สิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการรับรอง ไม่สามารถจำกัดการใช้สิทธินี้ได้ นอกจากจะกำหนดโดยกฎหมาย และเพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชน หรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น
แล้วตำรวจมีอำนาจในการสลายการชุมนุมไหม ถ้าจะสลายต้องยึดหลักการกันยังไงบ้าง?
ว่ากันตามหลักการพื้นฐานว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย (Basic Principles of the Use of Force and Firearms by Law Enforcement Officials) ซึ่งรับรองโดยสหประชาชาติแล้ว ประชาชนมีสิทธิเข้าร่วมการชุมนุมสาธารณะที่ชอบด้วยกฎหมายและโดยสงบ ซึ่งถ้าหากมีการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐ การใช้กำลังนั้นก็จะต้องเป็นไป ‘อย่างจำกัด’ ดังนี้
– การชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่มีความรุนแรง ต้องหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ก็ให้ใช้ได้เท่าที่จำเป็น
– การชุมนุมที่ก่อให้เกิดความรุนแรง เจ้าหน้าที่อาจใช้อาวุธได้ หากใช้มาตรการอื่นที่อันตรายน้อยกว่านี้ไม่ได้
นั่นแปลว่า การจะใช้กำลังในการสลายการชุมนุมนั้น ตามหลักการสากลนั้น ถือเป็นสิ่งที่อาจกระทำได้ แต่ต้องเลี่ยงให้ได้มากที่สุด หรือใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพราะเจ้าหน้าที่รัฐเองก็ต้องเคารพและคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชนของประชาชนด้วย
ขณะที่ การสลายการชุมนุม ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 นั้น ระบุเอาไว้ว่า การชุมนุมจะต้อง ‘แจ้ง’ เจ้าหน้าที่ก่อนอย่างน้อย 24 ชั่วโมง หากไม่แจ้งจะถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถึงอย่างนั้น เจ้าหน้าที่ก็จะสลายการชุมนุมเลยไม่ได้ เพราะตามขั้นตอนเจ้าหน้าที่จะต้องไปร้องขอต่อศาลแพ่งหรือศาลจังหวัด เพื่อมีคําสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมก่อน
หากมีคำสั่งศาลแล้วแต่ผู้ชุมนุมยังไม่เลิกชุมนุม เจ้าหน้าที่จึงจะมีอำนาจดำเนินการให้เลิกชุมนุมได้ โดยประกาศพื้นที่ตรงนั้นให้เป็นพื้นที่ควบคุม และให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ในเวลาที่กำหนด รวมถึง ต้องปิดประกาศคำสั่งศาลไว้ในที่ที่ผู้ชุมนุมและประชาชนทั่วไปมองเห็นและรับทราบได้ ถ้าเวลาครบกำหนดแล้วผู้ชุมนุมยังไม่ออกจากพื้นที่ เจ้าหน้าที่รัฐถึงจะ ‘จับกุม’ ได้
ขณะเดียวกัน การใช้อาวุธแต่ละประเภทในการสลายการชุมนุม ก็มีการกำหนดเอาไว้ ตามแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมาย (United Nations Human Rights Guidance on Less-Lethal Weapons in Law Enforcement) ของ OHCHR โดยมีกำหนดไว้ดังนี้
– ปืนใหญ่ฉีดน้ำ ใช้ในสถานการณ์ที่กระทบต่อความสงบอย่างร้ายแรง และเป็นไปได้ว่าจะนำไปสู่การเสียชีวิต บาดเจ็บสาหัส หรือการทำลายทรัพย์สินอย่างรุนแรงในวงกว้างเท่านั้น ไม่ควรใช้ยิงใส่บุคคล นอกจากนี้ ยังต้องใช้ได้ให้สัดส่วน ต้องวางแผนการใช้งานเป็นอย่างดี และควรใช้ภายใต้คำสั่งที่เคร่งครัดซึ่งควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้วย
– สารเคมี ใช้เพื่อให้ผู้ชุมนุมกระจายตัว หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง ไม่ยิงเข้าหาบุคคล และห้ามใช้ในพื้นที่ปิด เพราะอาจทำให้ผู้คนเหยียบกันเอง และก่อให้เกิดความเสียหายโดยไม่เลือกฝ่ายได้ การใช้สารเคมีในการสลายการชุมนุมอาจก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อผิวหนัง ระบบอวัยวะภายใน และอาจมีอันตรายถึงชีวิตด้วย
– กระสุนยาง ใช้เฉพาะในกรณีที่เล็งเห็นว่ากำลังจะเกิดอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือสาธารณชน ต้องเลือกเป้าหมายให้ชัดเจน ห้ามยิงอย่างไม่เลือกเป้าหมายเด็ดขาด ควรเล็งที่ส่วนล่างของร่างกาย และห้ามยิงในระยะใกล้เกินกว่า 15 เมตรด้วย โดยกระสุนยางนี้ ถือว่ามีอานุภาพคล้ายคลึงกับกระสุนจริง ทำให้บาดเจ็บสาหัส พิการถาวร หรือเสียชีวิตได้
ส่วนประเด็นเรื่องการชุมนุมที่ผิดหลัก พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินนั้น ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี และอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยโพสต์ข้อความไว้ว่า การชุมนุมที่ฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็เป็นแค่ประเด็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่การควบคุมหรือสลายก็ต้องทำตามขั้นตอนตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะอยู่ดี และตามหลัก พ.ร.ก.ฉบับนี้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐต้อง ‘ไม่เกินสมควรแก่เหตุ หรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น’
อ้างอิงเพิ่มเติมจาก