ทุกวันนี้ AI เข้ามามีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตคนเรา ไม่ว่าจะช่วยอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ช่วยทำรูป หรือตอบคำถามต่างๆ ที่มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ AI ช่วยสร้างรูปจากที่เราจินตนาการที่เราอยากสร้างขึ้นออกมาให้ออกมาเป็นภาพที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้
ตรัส—นภัสรพี อภัยวงศ์ ก็เป็นบุคคลที่รังสรรค์ภาพจาก AI ขึ้นมาเช่นกัน โดยตรัส ได้นำสิ่งที่ตัวเองจินตนาการออกมาเป็นภาพหลายๆ ภาพ แล้วได้รวบรวมเอาไว้ จนเกิดนิทรรศการ Resonances of the Concealed ที่จัดแสดงที่รวบรวมผลงานที่เกิดขึ้นจาก AI เอาไว้
The MATTER จึงคุยกับตรัสถึงเบื้องหลังนิทรรศการนี้ วิธีการทำงาน และความเห็นต่องานศิลปะที่เกิดขึ้นจาก AI
อยากให้คุณตรัสช่วยแนะนำตัว และตอนนี้ประกอบอาชีพอะไรอยู่?
ผมชื่อตรัส นภัสรพี อภัยวงศ์ ตอนนี้ประกอบธุรกิจส่วนตัวอยู่ ก่อนหน้านี้เป็นช่างภาพแนว ‘คอนเซ็ปต์ชวลอาร์ต’ เป็นหลัก โดยผลงานที่ตัวเองเคยถ่ายมาจะเป็นซีรีส์ carpe anima ซึ่งสำรวจแนวคิดและความสัมพันธ์ระหว่างความฝันกับความทรงจำ
ซึ่ง carpe anima เป็นชุดภาพถ่ายที่ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพต่างๆ ที่เห็นในฝันของตัวเอง เรามองว่าความฝันเป็นเรื่องที่น่าสนใจและก่อให้เกิดคำถามต่างๆ เช่น ความฝันถือเป็นความทรงจำหรือไม่ เพราะแม้ว่ามันจะเป็นสิ่งที่เราประสบพบเจอ แต่มันก็ไม่ได้เกิดขึ้นในโลกความเป็นจริง นอกจากนี้ยังต่างจากภาพยนตร์หรือหนังสือเพราะไม่มีใครที่สามารถบอกได้อย่างแน่นอนเกี่ยวกับความหมายหรือเจตนา ไม่มีคำตอบ ที่มาที่ไป หรือจุดจบที่ชัดเจน แม้แต่ตัวคนที่ฝันเองก็ตาม
โดยชอบงานชุดนี้เพราะเป็นภาพชุดชิ้นแรกที่ทำแล้วรู้สึกว่ามันโอเคในหลายๆ อย่าง เป็นจุดเริ่มที่ทำให้มองเห็นความเป็นตัวเราได้ค่อนข้างชัดและตระหนักได้ว่าสิ่งที่ตัวเองสนใจในการถ่ายภาพไม่ใช่เรื่องของ ‘ความเป็นจริง’ หรือ ‘เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายนอก’ จากที่ก่อนหน้ายังรู้สึกว่าตัวเองยังถ่ายรูปแบบไม่ค่อยมีจุดหมายและสไตล์ที่ชัดเจน ถือเป็นจุดเริ่มต้นของงานต่อๆ มาว่า จะไปในทิศทางไหนหรือทำเกี่ยวกับอะไร
เพราะอะไรคุณตรัสถึงเริ่มสนใจในการทําภาพด้วย AI และมีการทำงานร่วมกับมันอย่างไรถึงได้ภาพที่พอใจ?
แรกเริ่มได้หันมาลองใช้ AI เนื่องจาก ณ ขณะนั้นโปรแกรมมีเวอร์ชั่นให้ทดลองใช้ฟรี หลังจากนั้นก็ได้ลองใช้เรื่อยๆ มา และได้เห็นถึงศักยภาพของมันว่าสามารถตอบโจทย์และทำภาพในแบบที่ต้องการออกมาได้ค่อนข้างดี จริงๆ ไม่มีวิธีการที่ตายตัวเพราะว่าส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละภาพ อีกส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับสถานะของ AI ในช่วงเวลานั้นๆ มีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อผลลัพธ์ของภาพ ทั้งที่ควบคุมได้และที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา
การจะเจเนอเรตภาพมาในแต่ละครั้ง คุณตรัสมีการกําหนดแสงหรือธีมอะไรเพื่อเป็นค่ากลางในการทําเป็นภาพชุดไหม?
ในช่วงแรกๆ มีการกำหนดให้ออกมาเป็นแนวรูปถ่ายเป็นเหมือนค่ากลางเป็นส่วนใหญ่ แต่ช่วงหลังที่ตัวโปรแกรมมีการเปลี่ยนไปจากเดิมมาก แต่ละรูปจึงแทบจะเขียนไม่เหมือนกันเลย อีกสิ่งที่มีส่วนค่อนข้างมากในการทำให้ธีมค่อนข้างไปในทิศทางเดียวกันคือการคัดเลือกภาพ
ในการป้อนคําสั่งเพื่อสร้างงานขึ้นมาแต่ละครั้งคุณตรัสมีแรงบันดาลใจมาจากอะไรและมีเรื่องราวอะไรที่อยากจะเล่าบ้าง เช่น รูปส่วนใหญ่จะเป็นรูปแดดอุ่นๆ คนใส่ชุด หรือบ้านที่คล้ายกับประเทศญี่ปุ่น?
แรงบันดาลใจมาจากหลายแหล่งตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยในชีวิตประจำวันไปจนถึงปัญหาต่างๆในสังคม ส่วนเรื่องคนชุดดำคิดว่าคงติดนิสัยมาจากสมัยถ่ายรูปเพราะปกติก็ถ่ายแต่คนใส่ชุดสีขาวหรือดำมาโดยตลอด
ตั้งแต่ใช้ AI ในการทํารูปมา เคยพบปัญหาที่ทําให้รู้สึกว่าไม่ได้รูปที่ได้ตามที่ตั้งใจบ้างไหม และมีวิธีแก้ปัญหานั้นอย่างไร?
ปัญหาการไม่ได้รูปตามที่ตั้งใจเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำ วิธีแก้ปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นกรณีๆ ไป ถ้าปัญหามาจากตัวโปรแกรมที่เปลี่ยนไปก็จะแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนวิธีการทำงานและอาศัยประสบการณ์จากที่เคยทำมา ประเมินว่ามันเป็นสิ่งที่สามารถแก้ปัญหาแล้วทำต่อไปจนสามารถได้รูปที่ถูกใจได้ หรือเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้หรือทำได้แต่ไม่คุ้มเวลาที่เสียไปก็จะไม่ทำต่อ
คิดว่าในอนาคตวงการ AI จะเข้ามามีผลต่อการทํางานของภาพถ่ายได้อย่างไรบ้าง?
คิดว่าในอนาคตจะมีส่วนมาก ในช่วงนี้ที่เริ่มเห็นจะเป็นในกระบวนการของการปรับปรุงหรือแก้ไขภาพในขั้นตอนของการ post-process มีทั้งแบบที่เห็นได้ค่อนข้างชัดเจนอย่างการเปลี่ยน เพิ่มหรือลบวัตถุต่างๆ ออกจากภาพ และแบบที่ไม่ชัดเจนแทรกอยู่ในทุกส่วนของภาพ เช่น การแก้ไขความคมชัดของภาพ, การลด noise, การแก้ไข depth of field, การแก้ไขภาพที่เบลอจากการสั่นไหว หรือการ upscale ภาพ
ส่วนตัวคิดว่า AI จะเข้ามามีส่วนมากขึ้นเรื่อยๆ รวมไปจนถึงในขั้นตอนของกระบวนการถ่ายภาพ (ในโทรศัพท์มือถือก็มีปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยๆ เช่น การคัดเลือกรูปที่ดีให้โดยอัตโนมัติ หรือการใช้ AI ในการประเมินสิ่งที่อยู่ในจอแล้วเติมส่วนต่างๆ ของภาพแบบเรียลไทม์) และอาจจะมีความสุดโต่งมากขึ้น เช่น การแก้ไขเปลี่ยนแปลงท่าทางการโพสของคนในรูป, การเปลี่ยนมุมที่ถ่ายมาในภายหลัง หรือการแก้ไขสภาพอากาศ ช่วงเวลาและทิศทางของแสงในภาพที่ถ่ายมา
บางคนคิดว่า AI จะมาแย่งงานของอาชีพบางอาชีพ คุณตรัสคิดเห็นอย่างไร?
เห็นด้วย แต่ก็คิดว่าเป็นเรื่องปกติมาทุกยุคทุกสมัยที่เทคโนโลยีใหม่ย่อมทำให้อาชีพบางอย่างหายไป แต่อาชีพใหม่ๆ ย่อมเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน อย่างอินเทอร์เนตทำให้อาชีพเกี่ยวกับการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ได้รับผลกระทบอย่างมาก แต่ก็มีอาชีพที่เกิดขึ้นเพราะอินเทอร์เน็ต เช่น ยูทูบเบอร์หรือสตรีมเมอร์ ซึ่งก็ต้องปรับตัวกันไปให้สอดคล้องกับช่วงเวลานั้น
นิทรรศการ Resonances of the Concealed เกิดขึ้นมาได้อย่างไร และมีคอนเซ็ปต์ในการใช้รูปอย่างไรบ้าง?
เกิดขึ้นจากการที่หนิง—อัครา นักทำนา เห็นรูปที่ลงในอินสตาแกรมจึงได้ติดต่อมาและเสนอการจัดนิทรรศการ คอนเซ็ปต์ในการใช้รูปจะเป็นการรวมผลงานภาพที่เลือกมาจากงานหลายๆ ชุดอีกที
โดยการเลือกรูปมาแสดง ในตอนแรกพี่หนิงและพี่มานิตบอกว่าชอบรูปที่มีคนเยอะๆ เลยเอาตรงนี้เป็นจุดตั้งต้น
เนื่องจากด้วยลักษณะของสถานที่กับธรรมชาติในการจัดแสดงงาน ที่เมื่อผู้ชมเข้ามาจะมองเห็นทุกภาพพร้อมกัน ต่างจากการจัดแสดงในรูปแบบของหนังสือ ที่มีลำดับและจังหวะของการนำเสนอภาพที่ค่อนข้างจะชัดเจน จึงพยายามเลือกรูปที่มีความไปในทางเดียวกันเวลาอยู่ใกล้ๆกันและมีความเป็นเนื้อเดียวกันเมื่อมองภาพรวมทุกภาพพร้อมกัน มาเรียงในแบบที่คิดว่าผู้รับชมสามารถดูได้หลายๆแบบ ทั้งไล่ไปตามแนวนอนจากซ้ายไปขวาตามปกติ หรือเป็นแถวในแนวตั้งจากบนมาล่าง
โดยชื่อ Resonances of the Concealed เป็นชื่อของนิทรรศการ มาจากความรู้สึกส่วนตัวที่รู้สึกว่า ภาพที่สร้างจาก AI เปิดเผยถึงโลกภายในหรือจิตใจของคนที่ทำภาพ ออกมาเป็นรูปธรรมได้ค่อนข้างง่ายและมีความชัดเจน เนื่องจากเมื่อข้อจำกัดทางด้านต่างๆ ถูกตัดออกไป สิ่งที่หลงเหลืออยู่คือก็ความคิด ความสนใจ และความสร้างสรรค์ของคนคนนั้น ความคิดและเจตนา ที่ถูกป้อนให้ AI รับเข้าไป ถูกตีความ และส่งผลลัพธ์กลับมา เสมือนเสียงสะท้อนที่มาจากส่วนที่ถูกปิดบังเอาไว้ข้างในของแต่ละคน นอกจากที่มันจะสะท้อนถึงสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจของตัวเราเองแล้ว ภาพที่ทำออกมา ค่อนข้างมีความเปิดกว้างในเชิงความหมายและการตีความ เราจึงหวังให้ภาพมันเป็นสิ่งที่เมื่อผู้รับชมได้ดูแล้ว สะท้อนถึงความรู้สึก ความคิด และอารมณ์ ของแต่ละบุคคล โดยอาศัยการตีความผ่านเรื่องราว ความรู้ ทัศนคติ และประสบการณ์ชีวิตของคนคนนั้นอีกด้วย
เมื่อรวมกันจึงเป็นออกมาเป็นที่มาของชื่อนิทรรศการในครั้งนี้
นิทรรศการ Resonances of the Concealed โดย นภัสรพี อภัยวงศ์ ภัณฑารักษ์ อัครา นักทำนา
จัดแสดงระหว่าง 23 กันยายน – 2 ธันวาคม 2566
ที่ คัดมันดู โฟโต้ แกลเลอรี่ 87 ถนนปั้น แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10500
แกลเลอรี่เปิดเฉพาะ อังคาร, พฤหัส และเสาร์ เวลา 11.00 – 18.00 น.
แผนที่ goo.gl/maps/
รายละเอียดงาน facebook.com