ราวกับหลุดเข้าไปในอนิเมะ เพียงไม่กี่ปลายนิ้วคลิก จากภาพถ่ายธรรมดาๆ ก็กลายเป็นการ์ตูนสีสันสะดุดตา ด้วยฟิลเตอร์ ‘Old School Anime’ จากแอปพลิเคชั่น Loopsie
นี่คือแอปฯ แต่งภาพและวิดีโอ ที่อ้างว่า ไม่ใช่แค่แอปฯ ฟิลเตอร์ แต่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence หรือ AI) เพื่อ “สร้างมิติใหม่ให้กับโลกความเป็นจริง” และกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะในไทยและเวียดนาม ไม่แพ้ AI เชิงสร้างสรรค์ (generative AI) ที่สร้างชื่อมาก่อนหน้านี้ อย่าง Midjourney, Stable Diffusion หรือ DALL-E 2
และทั้งหมดที่กล่าวมา ตกเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์มาแล้วทั้งสิ้น
ยกตัวอย่างกรณีหนึ่งที่โดดเด่น ภาพงานศิลปะที่สร้างจาก Midjourney (ต้องถามอีกว่า ผลงานจาก AI นับเป็นศิลปะได้ไหม?) ชื่อว่า Théâtre d’Opéra Spatial ถูกส่งเข้าประกวดในงานแฟร์รัฐโคโลราโด (Colorado State Fair) เมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา จนคว้ารางวัล กลายเป็นผลงานจาก AI ชิ้นแรกของโลกที่ชนะการประกวดศิลปะ – ตามมาด้วยเสียงวิจารณ์อย่างหนักหน่วงว่า นี่มันโกงกันชัดๆ
อีกกรณีล่าสุดเกิดขึ้นกับแอปฯ Loopsie ซึ่งเป็นประเด็นในไทย เมื่อคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โพสต์ภาพบรรยากาศภายในคณะที่แต่งผ่านฟิลเตอร์ของ Loopsie เมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา แต่ด้วยความเป็นสถาบันสอนศิลปะ (เสียเอง) จึงนำมาสู่คำถามตามมามากมายจากสังคม กระทั่งคณบดีต้องออกแถลงการณ์ขอโทษผู้ที่ได้รับผลกระทบและมีความกังวลกับทิศทางของคณะ
ปัญหาหนึ่งที่เป็นที่ถกเถียงกันเกี่ยวกับ AI คือประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์ ฝ่ายที่ต่อต้าน AI มักมีข้อถกเถียงในทำนองที่ว่า เครื่องมือ AI ถูกฝึกฝนโดยใช้ผลงานจากฝีมือมนุษย์บนอินเทอร์เน็ต บางครั้งก็คัดลอกมาเลย เท่ากับเป็นการขโมยผลงาน แน่นอนว่านี่คือเรื่องใหญ่ในวงการศิลปะ และที่ผ่านมาก็มีศิลปินออกมาแสดงจุดยืนประท้วงเรื่องนี้กันเป็นจำนวนมาก
แล้วอนาคตวงการศิลปะจะเป็นอย่างไร? มีเรื่องอะไรให้กังวลบ้าง? The MATTER ไปพูดคุยกับศิลปินนักวาดที่ทำงานศิลปะเป็นอาชีพจำนวนหนึ่ง เพื่อสะท้อนเสียงของผู้ที่ (กำลังจะ) ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการมาถึงของ AI
khuuuun.k
“ตอนแรกค่อนข้างแปลกใจ ไม่คิดว่าอาชีพนี้จะถูกแทนที่ด้วย AI ได้ เพราะส่วนนึงที่เลือกเรียนศิลปะนอกจากความชอบส่วนตัวก็คิดว่ามันคงเป็นงานที่ค่อนข้างมีอะไรมาแทนได้ยาก แต่พอเห็นงานที่เกิดจาก AI ก็เริ่มมีคิดว่าในอนาคตหลังจากนี้ เราจะยังมีที่ยืนเหลืออยู่แค่ไหนนะ นอกจากการแข่งขันกับคนด้วยกันแล้วยังต้องรับมือกับงาน AI เพิ่มอีก”
khuuuun.k หรือ คุณเค ปัจจุบันเป็นนักวาดฟรีแลนซ์ เล่าว่า การมีคู่แข่งเพิ่มเป็น AI ซึ่งได้เปรียบด้านความเร็ว ทำให้เธอกังวลเรื่องตกงานตั้งแต่ช่วงแรกๆ แม้ตอนนี้จะยังพอดูออกว่างานไหนมาจาก AI แต่ก็ไม่แน่ใจว่าปีต่อไปข้างหน้าจะพัฒนาไปถึงตรงไหน
“ส่วนตัวก็จะพยายามผลิตงานที่เป็นตัวเองต่อมาเรื่อยๆ เพราะคิดว่าถ้าก็ยังมีคนที่ชอบงานเราอยู่ เราก็ทำงานเสิร์ฟตรงนั้นต่อไปเรื่อยๆ”
คุณเคบอกอีกว่า “คิดว่า AI สามารถทำงานกับศิลปินได้ในฐานะเครื่องมือหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยลดเวลาทำงานให้กับศิลปินในบางขั้นตอน แต่ถ้าเป็น AI เพียวๆ เลย ยังนึกภาพไม่ออกว่าจะอยู่ร่วมกันยังไง นอกจากแยกตลาดกันชัดเจน เพราะคงไม่สามารถไปหยุดการพัฒนาของเทคโนโลยีได้ แค่อยากให้ฐานข้อมูลที่ได้มา ได้มาด้วยความถูกต้องไม่ได้ไปขโมยงานของศิลปินที่ไม่ได้ยินยอมมาฝึกฝนให้ AI”
Bomfha
ขณะที่ Bomfha ศิลปินนักวาดภาพประกอบ มองว่า สุดท้ายแล้วศิลปินก็ต้องปรับตัวให้เท่าทัน AI “ตอนแรกก็รู้สึกตื่นเต้น แต่ผ่านไปซักพักก็รู้สึกว่าต้องปรับตัวและลองเข้าไปเล่น ไปหาเรียนรู้ เทคโนโลยีตอนนี้พัฒนาเร็วและไปไกลมาก ช่วงแรกๆ เราก็อาจจะรู้สึกงงๆ แต่เราไม่มีทางหนีพ้นแน่นอน”
“ไม่กลัว [ตกงาน] เรามองว่า AI เป็นเครื่องมือหนึ่งมากกว่า แม้ปัจจุบันจะมองว่ามันสามารถตัดสินใจเองได้ในการสร้างสรรค์อะไรก็แล้วแต่” เธอเล่าต่อ “มันก็ยังมีข้อเสียและข้อจำกัดอยู่ เราก็ลองไปเล่นมาเหมือนกัน มันก็ยังมีหลายอย่างที่ AI มาแทนที่เราไม่ได้ ณ ตอนนี้”
แม้จะกังวลเรื่องลิขสิทธิ์และการขโมยผลงาน ไม่ต่างจากศิลปินคนอื่นๆ แต่ Bomfha มองว่า ศิลปินสามารถใช้ประโยชน์จาก AI ได้ แต่ก็ต้องรู้เท่าทัน และรับมือกับความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการใช้งาน AI ให้ได้
“ส่วนตัวมองว่าเราหนีไม่พ้นเทคโนโลยีแน่นอน เราไม่สามารถห้ามพัฒนาหรือสั่งแบนอะไรได้ ทุกอย่างจะถูกพัฒนาและสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อโลกในหลายๆ ด้านอยู่แล้ว สิ่งที่ทำได้คือปรับตัวและมองหาประโยชน์จากการใช้งานมันดีกว่า”
“เรามองว่ามันก็ไม่ได้มีแต่ข้อเสียทั้งหมด บางอย่างเราก็คิดว่ามันช่วยลดระยะเวลาการทำงานได้ อย่างการช่วยตัดต่อหรือรีทัช ถ้าเรามีภาพในหัวอยู่แล้วก็ป้อนคำสั่งได้เลย สะดวกดีออก หรือลดระยะเวลาในระบวนการคิดงาน การสำรวจหาความเป็นไปได้ในการเริ่มสร้างแบบร่าง-สเก็ตช์ไอเดียก่อนนำไปต่อยอดสร้างสรรค์งานต่างๆ”
Enfer De Hell
“ตราบใดที่ยังมีลูกค้าผู้ชื่นชอบผลงานศิลป์ซึ่งรังสรรค์ขึ้นโดยมนุษย์ ศิลปินก็จะยังอยู่ต่อไปได้ สำหรับเฝอบทสรุปเรื่องนี้ยังอีกยาวไกล” คือความเห็นของ Enfer De Hell หรือ เฝอ นักวาดภาพประกอบแนวแฟนตาซี
ในเรื่องการทำงานแข่งกับ AI เธอมองว่า ศิลปินสามารถนำเสนอผลงานที่ดึงจุดเด่นในการสร้างสรรค์ออกมาได้ ซึ่งยังเป็นข้อได้เปรียบที่มนุษย์มี “เพราะศิลปิน หรือนักออกแบบอย่างพวกเรานั้น สามารถทำอะไรได้หลายอย่างที่นอกเหนือจากการวาดภาพ ไม่ว่าจะเป็นการให้คำปรึกษาในกระบวนการสร้างผลงาน ช่วยระดมความคิด นำเสนอตัวเลือกที่หลากหลาย รวมไปถึงการแนะนำศิลปินที่มีสไตล์งานแบบอื่นๆ ที่น่าสนใจให้กับผู้จ้างงาน”
สิ่งที่เธอกังวล นอกเหนือจากเรื่องแนวทางในการใช้งาน AI ที่อาจไม่ได้มีที่มาหรือรูปแบบที่ถูกต้องตามหลักจริยธรรมจนกลายมาเป็นคำถามของสังคมตามที่ปรากฏในเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็ยังมีเรื่องในประเด็นที่ว่า โอกาสในการเติบโตของศิลปินรุ่นใหม่ๆ อาจได้รับผลกระทบ
“หากผู้ว่าจ้างหันไปใช้ผลงานที่ถูกผลิตโดย AI จนเกิดภาวะขาดแคลนการป้อนงาน ทำให้ศิลปินเสียโอกาสในการพัฒนาศักยภาพผ่านการว่าจ้างงานในสนามจริง การพัฒนาทักษะฝีมือรวมถึงทักษะการประสานงานกับผู้จ้างงานหรือเพื่อนร่วมอาชีพก็อาจถูกจำกัดลงไปอีก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้หลายๆ คนรู้สึกท้อแท้หรือหมดไฟได้ง่ายขึ้น”
แต่ไม่ว่าอย่างไร เธอมองว่า สิ่งที่ต้องยอมรับคือ AI จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันและพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในอนาคตอันใกล้ เธอจึงทิ้งท้ายว่า “หวังว่าผู้ที่พร้อมจะใช้งาน AI เสมือนเครื่องมือคู่ใจ จะสามารถเข้าใจกระบวนการทำงานอย่างสร้างสรรค์ บนความซื่อตรง มีจริยธรรม มีความรับผิดชอบ และมีความเข้าใจต่อสังคมเพื่อนมนุษย์ด้วยกันที่อาจยังมีความเห็นต่าง”
Chorkung
“รู้สึกว่า AI เป็นสิ่งที่เราใช้ศึกษาหรือใช้หาไอเดียได้ แต่ไม่ควรมาเป็นชิ้นงานไฟนอลที่เผยแพร่และอ้างสิทธิความเป็นเจ้าของ อยากให้คนใช้เข้าใจว่านี่ไม่ใช่งานของคุณเอง แต่เป็นงานที่เอางานคนอื่นมาผสมกันโดยที่เจ้าของไม่ยินยอม”
Chorkung หรือ ฉ่อกุง นักวาดภาพประกอบ ที่โดดเด่นในด้านหนังสือเด็ก เล่าให้เราฟังถึงหลายประเด็นที่ศิลปินจะกังวลเกี่ยวกับ AI ซึ่งนอกจากเรื่องของการถูกละเมิดลิขสิทธิ์ เธอยังกล่าวถึงประเด็นเรื่องรายได้ของศิลปินอย่างน่าสนใจว่า
“เรื่องค่าจ้างงานที่ได้รับจากนี้อาจจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับงาน AI โดยไม่ได้คำนึงถึงความสามารถและระยะเวลาทำงานของศิลปิน”
และเช่นเดียวกัน AI ก็อาจจะส่งผลกระทบทำให้งานของศิลปินน้อยลง เนื่องจากลูกค้าอาจมองว่า AI ประหยัดต้นทุนและเวลามากกว่า อีกหนึ่งประเด็นที่น่าคิดคือ อาจเป็นไปได้ว่า บางครั้งนักวาดเองอาจหยิบภาพที่เป็นงาน AI มาใช้เป็นภาพอ้างอิง (reference) โดยเข้าใจว่าเป็นภาพถ่าย ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ ก็อาจจะเป็นการให้ข้อมูลที่ผิดได้
เธอยังฝากไปถึงเจ้าของกิจการต่างๆ ในประเด็นเกี่ยวกับการใช้ AI ด้วยว่า “ถ้าคุณเป็นเจ้าของแบรนด์และเลือกใช้งาน AI ในชิ้นงานหรือการโปรโมต ภาพลักษณ์ของแบรนด์คุณจะถูกมองว่าคุณไม่ให้ความสำคัญเรื่องลิขสิทธิ์ (ยกเว้นว่าโปรแกรม AI นั้นจะรับรองว่านำภาพที่ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์มาใช้ฝึกฝน)”
ไม่ประสงค์ออกนาม
“อาจจะไม่ถึงกับตกงาน แต่คนจ้างงานน่าจะน้อยลงแน่ๆ เพราะสุดท้ายผู้ว่าจ้างทั่วไปหลายๆ ท่านก็ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องลิขสิทธิ์กันอยู่แล้ว เน้นง่ายและสะดวกและประหยัดงบเข้าว่า อย่างแอปฯ Loopsie ที่คนใช้กันเยอะๆ ก่อนหน้านี้ก็ทำให้เห็นแล้วว่าผู้ใช้ไม่ได้สนใจในเรื่องของคุณภาพงานที่ได้ด้วยซ้ำ”
นักวาดไม่ประสงค์ออกนามรายหนึ่ง มองว่า ปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์เป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งไม่ได้ส่งผลดีใดๆ ต่อวงการศิลปะ ในขณะเดียวกันก็เห็นว่า คนส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจเรื่องนี้อยู่แล้ว ขอแค่ได้ใช้อย่างสะดวกสบายก็พอ
“ยังเป็นสิ่งที่ผิดลิขสิทธิ์อยู่ เพราะทางบริษัท AI ก็ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ว่าดาต้าที่นำมาฝึกฝนนั้น มีที่มาจากไหน อย่างไร และถูกลิขสิทธิ์หรือไม่ และมีนักวาดหลายท่านที่พบว่าผลงานถูกนำไปใช้ฝึกฝนโดยไม่มีการติดต่อหรือแจ้งขอ และคิดว่าถ้าบริษัท AI นำดาต้ามาอย่างถูกต้องตั้งแต่แรกจะไม่มีปัญหาที่ทางนักวาดเดือดร้อนกันอย่างในตอนนี้เลย
“การพัฒนาของเทคโนโลยี AI โดยรวมเป็นเรื่องดี นำไปใช้เพื่อพัฒนาหลายสิ่งอย่างได้อีกมาก แต่ก็ควรจะตั้งอยู่บนพื้นฐานความถูกต้อง [เรื่องลิขสิทธิ์] ตั้งแต่แรก ซึ่งการเรียกร้องแก้ปัญหาจากผู้เสียหายเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุที่ขับเคลื่อนสู้กระแสหลักได้ยากมากๆ สิ่งที่ควรจะเป็นคือบริษัทที่พัฒนา AI ควรทำทุกอย่างให้ถูกต้องตั้งแต่แรก”
Nyxsa K
เช่นเดียวกัน Nyxsa K หรือ นิกษา คอนเซ็ปต์อาร์ตติสต์ ซึ่งทำงานด้านเกมและแอนิเมชั่นต่างๆ บอกว่า ‘รู้สึกแย่’ ที่การพัฒนา AI เกิดจากการนำงานของศิลปินจำนวนมากซึ่งไม่ได้ยินยอมมาป้อนเป็นฐานข้อมูล “รู้สึกว่าโลกเราเข้าสู่ยุคดิสโทเปียโดยสมบูรณ์ วัฒนธรรมศิลปะกลายเป็นฟาสต์ฟู้ด คุณภาพชีวิตคนถูกทำให้เป็นแค่แรงงาน และคนที่เหลือรอดคือนายทุน”
เธอมองว่า AI ไม่ใช่ความสำเร็จของวงการศิลปะ แต่เป็นความสำเร็จของวงการคอมพิวเตอร์ ซึ่งไม่ได้ช่วยให้ศิลปินทำงานง่ายขึ้น แต่ทำมาเพื่อเอื้อนายทุนต่างหาก
“เขาจงใจเอามาแทนที่พวกเราอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่นสตูดิโอดังๆ ต่างประเทศ ลดการจ้างงานศิลปิน นักเขียนบท ลดเอ็กซ์ตรา ในนักแสดงทุกตำแหน่งเลย และแทนที่ด้วย AI รวมถึงมีการประกาศรับสมัครคนทำ AI ด้วย แบบเรียกว่าไม่เห็นหัวคนทำงานเลยทีเดียว ที่ฮอลลีวู้ดมีการประท้วงหยุดงานมากมาย”
และการมาของ AI จะยังเป็นการ ‘ตัดกำลังใจ’ ของคนที่เพิ่งเริ่มทำงานด้วยเช่นกัน “คิดว่ามันน่าจะตัดรอนกำลังใจของคนที่เพิ่งเริ่มทำงานสายนี้มากกว่า ที่พอกำลังจะหัดออกแบบอะไรสักอย่าง อ้าวมี AI ทำได้ใน 3 วินาที คนที่เข้าวงการมาสักพักแล้วเรารู้ลู่ทาง แนวทางว่าจะทำยังไงให้อยู่ในวงการนี้ต่อไปได้ แม้ตอนนี้จะยากลำบากขึ้นก็ตาม”
จากปัญหาทั้งหมดนี้ เธอจึงให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “คนที่ยังไม่ตกใจน่าจะเพราะภัยยังไม่ถึงตัวมากกว่า เราเชื่อว่าถ้าไม่เริ่มต่อต้านประท้วงกันในตอนนี้ มันมาแทนทุกสาขาอาชีพแบบไม่ค่อยจบสวยแน่ๆ”
“คุณบอกว่าสร้าง AI ขึ้นมาเพื่อช่วยศิลปิน แต่ทำไมคนออกมาประท้วงว่าไม่เอาคือศิลปินล่ะ? คนที่เห็นดีเห็นงามมีแต่นายทุน คนที่ได้ประโยชน์ มันเริ่มดูแปลกๆ มั้ยนะ? อยากชวนให้หยุดเล่น AI กันเพราะมันละเมิดลิขสิทธิ์ นายทุนเอางานของพวกเราที่มาจากหยาดเหงื่อแรงกายของเรามาถล่มพวกเราเอง” คือคำถามชวนคิด และบทสรุปทิ้งท้ายจากนิกษา