ร้องไห้ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ แล้วยังจำได้มั้ยว่าอะไรที่ทำให้เราเสียน้ำตา…
น้ำตาเป็นสสารที่ซับซ้อน หลายครั้งก็ยากที่จะบอกว่าของเหลวใสที่ไหลออกจากตานั้นเกิดจากอะไร บางครั้ง เรื่องที่กลั่นให้มันกลายเป็นหยดอาจจะเป็นความปวดร้าว แต่บางที เบ้าตาที่ร้อนผ่าวก็เกิดจากความรู้สึกยินดี อิ่มสุข และที่น่าสงสัยใคร่รู้ไปกว่านั้นคือ ทั้งที่เป็นเหตุการณ์เดียวกันแท้ๆ แต่ทำไมคนนี้ร้องไห้ คนนั้นกลับไม่ หรือทั้งที่เป็นคนคนเดียวกันแท้ๆ แต่เราในวันนี้เสียน้ำตา ขณะที่เราในวันก่อนหน้าไม่รู้สึกอะไรเลย
“ร้องไห้แล้วรู้สึกดีขึ้น เหมือนสิ่งที่อัดอั้นอยู่ในใจได้ระบายออกมาสักที”
นี่คงเป็นสิ่งที่หลายคนเชื่อ แต่ก็ไม่อาจแน่ใจว่าเป็นความเชื่อที่ถูกต้องมากน้อยแค่ไหน การร้องไห้ช่วยให้ใจเบาลงได้จริงเหรอ แล้วถ้าเป็นแบบนั้น ทำไมหลายคนถึงยังเขินอายที่จะร้องไห้ต่อหน้าคนอื่น หรือเพราะคำกล่าวที่ว่า ‘น้ำตาเป็นสัญลักษณ์ของความอ่อนแอ’ กันนะที่ทำให้เรากลัวการร้องไห้…
ในเมื่อหยดน้ำตายังมีปริศนาอยู่มากมาย และการร้องไห้ก็ดูจะสัมพันธ์กับความรู้สึก ช่วงวัย และปัจจัยทางวิทยาศาสตร์ เราจึงอยากพาไปดูว่า กว่าจะช่วยให้ความเศร้าในวันที่แสนหนักอึ้งดีขึ้นได้ สิ่งที่เรียกว่า ‘น้ำตา’ และ ‘การร้องไห้’ ต้องผ่านความเข้าใจแบบไหนมาบ้าง
เส้นทางของหยดน้ำตา
มนุษย์เริ่มสนใจที่มาของน้ำตาตั้งแต่เมื่อ 1,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช เราตั้งข้อสันนิษฐานถึงการร้องไห้มาตลอดหลายร้อยปี โดยในยุคที่วิทยาศาสตร์ยังไม่กลายเป็นองค์ความรู้ ผู้คนเชื่อว่าน้ำตาถูกผลิตขึ้นบริเวณหัวใจ บางช่วงบางตอนในพระคัมภีร์ของศาสนาคริสต์ใช้คำว่า ‘น้ำตาคือผลผลิตที่เกิดขึ้นเมื่อเศษเสี้ยวของหัวใจรู้สึกอ่อนแอ จึงแปรเปลี่ยนกลายเป็นหยดน้ำ’
ต่อมาในยุคสมัยของ ฮิปโปเครตีส (Hippocrate) ชาวกรีกผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็นบิดาแห่งวิชาการแพทย์ มนุษย์เชื่อกันว่า สภาพจิตใจคือสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เราร้องไห้ ก่อนที่ทฤษฎีซึ่งแพร่หลายในช่วงศตวรรษที่ 16 จะพยายามอธิบายว่า อารมณ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับความรัก มีคุณสมบัติในการกระตุ้นให้หัวใจของเราร้อนขึ้น และเมื่อหัวใจร้อนรุ่ม ร่างกายก็จะผลิตไอน้ำมาเพื่อช่วยควบคุมอุณหภูมิ และท้ายที่สุด ไอน้ำ ณ หุบห้องของหัวใจก็จะเคลื่อนย้ายไปยังร่างกายท่อนบน ก่อนจะควบแน่นที่ดวงตา และกลั่นออกมาเป็นของเหลวซึ่งบ่งบอกความรู้สึก
เราซึ่งเกิดมาในช่วงที่วิทยาศาสตร์เฟื่องฟู หลายคนคงพากันเกาหัวและได้แต่สงสัยว่า สมัยก่อนเขาเชื่ออย่างนั้นไปได้ยังไง เหนือธรรมชาติเอามากๆ แต่อย่างไรเสีย มันก็ดูเป็นที่มาของน้ำตาที่โรแมนติกไม่น้อย
และแล้ว ในปี 1662 ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับน้ำตาก็ถูกศึกษาอย่างเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น เมื่อ นีลล์ สเตนเซน (Niels Stensen) นักวิทยาศาสตร์ชาวเดนมาร์กค้นพบต่อมน้ำตา (Lacrimal Gland) ซึ่งเป็นจุดกำเนิดที่แท้จริงของน้ำตา ไม่ใช่หัวใจอย่างที่เคยเข้าใจ นั่นเองที่เป็นการจุดชนวนให้นักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ เริ่มศึกษาวิจัยของเหลวที่ไหลออกมาจากดวงตามากขึ้น จนท้ายที่สุดก็สั่งสมเกิดเป็นองค์ความรู้อย่างที่เราได้เรียนในวิชาวิทยาศาสตร์
ปัจจุบัน เป็นที่เข้าใจว่าน้ำตามีทั้งหมด 3 ประเภท ได้แก่
- น้ำตาหล่อเลี้ยงลูกตา (Basal Tears) มีหน้าที่ในการหล่อลื่น บำรุง และทำความสะอาดดวงตา น้ำตาประเภทนี้เองที่นีลล์ สเตนเซนทำการค้นคว้า และเชื่อว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์แต่อย่างใด เป็นเพียงกลไกที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
- น้ำตาที่หลั่งออกมาเมื่อมีสิ่งระคายเคือง (Reflex Tears)เป็นน้ำตาที่ร่างกายผลิตขึ้นเพื่อยับยั้งความระคายเคืองที่เกิดจากปัจจัยภาพนอก อาทิ ละอองฝุ่น ควัน หรือกระทั่งขนตาที่หลุดเข้าตา ซึ่งน้ำตาประเภทนี้ไม่เพียงช่วยชะล้างสิ่งที่ทำให้เกิดการระคายเคืองเท่านั้น แต่ยังมีส่วนประกอบของสารภูมิต้านทานอย่างแอนติบอดี้ (Antibody) ที่ช่วยกำจัดเชื้อโรคซึ่งอาจปนเปื้อนในดวงตาของเราด้วย
- น้ำตาแห่งอารมณ์ (Emotional Tears)คือของเหลวที่ถูกกระตุ้นด้วยความรู้สึกอันหลากหลาย เป็นน้ำตาที่เกิดจากการร้องไห้ของมนุษย์ซึ่งแสดงออกแตกต่างกันไปในแต่ละคน ทั้งยังเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ยังคงศึกษาอยู่เรื่อยๆ ว่า น้ำตาประเภทนี้สัมพันธ์กับอารมณ์ยังไง และช่วงวัยมีผลต่อการหลั่งน้ำตาแห่งอารมณ์อย่างไรบ้าง
ช่วงวัยและหยดน้ำตา
ใน 1 ปี มนุษย์ผลิตน้ำตาออกมาเฉลี่ยมากถึงปีละ 57-114 ลิตร เทียบให้เห็นภาพง่ายๆ คือมากเท่ากับขวดน้ำดื่มขนาดมาตรฐานประมาณ 95-190 ขวด ซึ่งถือว่าเยอะอย่างไม่น่าเชื่อ ขณะที่จำนวนครั้งในการร้องไห้ตลอดช่วงชีวิตของมนุษย์ เฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 3,500 ครั้ง ซึ่งถือว่าน่าตกใจไม่แพ้กัน แม้หลายคนจะแย้งว่า ‘ไม่จริง ฉันร้องไห้มากกว่านั้นอีก’
เริ่มต้นจากวัยทารก ขวบปีที่ยังไม่เข้าใจภาษาและการสื่อสารมากนัก ดังนั้น การร้องไห้สำหรับพวกเขาจึงถือเป็นการแสดงออกซึ่งความต้องการบางอย่าง หรือก็คือใช้น้ำตาแทนการสื่อสารนั่นเอง
สาเหตุหลักที่ทำให้เด็กแรกเกิดร้องไห้งอแงหนีไม่พ้นความหิว (ต้องการน้ำนม) รู้สึกไม่สบายตัว (ต้องการให้เปลี่ยนผ้าอ้อม ปรับอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศ ฯลฯ) รวมถึงอยากให้อุ้ม เพราะยังไม่คุ้นชินกับสภาวะภายนอกท้องแม่
ต่อมาที่วัยเด็ก ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่เริ่มตัดสินใจอย่างเป็นเหตุเป็นผล แต่ขณะเดียวกันก็ยังใหม่กับสิ่งที่เรียกว่าวุฒิภาวะ ในวัยนี้ เด็กจะเริ่มรู้จักกับความเครียด ความกลัว และความผิดหวัง อันนำไปสู่การร้องไห้ด้วยเหตุผลที่ไม่ต่างจากในวัยผู้ใหญ่ ทว่าสาเหตุอีกครึ่งหนึ่งที่จะค่อยๆ หายไปเมื่อเราเติบโตคือการปล่อยโฮ เพราะต้องการเป็นศูนย์กลางความสนใจของพ่อกับแม่ โดยเด็กในวัย 2-5 ขวบจะคุ้นเคยกับภาพการโอ๋ของผู้ปกครอง จึงเลือกแสดงออกด้วยวิธีการดังกล่าว กระทั่งโตขึ้นก็จะเริ่มเข้าใจว่า การร้องไห้เพื่อเรียกร้องความสนใจ ใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไปแล้ว และอันที่จริง หากอยากสื่อสารพูดคุยกับพ่อแม่ ก็แค่พูดหรือถามออกไป เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว
นอกจากนี้ ช่วงวัยนี้เองที่เป็นจุดเปลี่ยนผ่านมุมมองที่มีต่อการร้องไห้ เพราะเมื่อเด็กเริ่มรู้จักกับความรู้สึกเขินอายแล้ว จากที่ครั้งหนึ่ง พวกเขาเคยใช้น้ำตาเพื่อดึงดูดผู้คน ก็จะกลายเป็นเริ่มอายหากต้องตกเป็นเป้าสายตา ประกอบกับวิธีคิดเรื่องความเข้มแข็งที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเด็ก เด็กที่ร้องไห้ที่โรงเรียนเริ่มถูกตำหนิว่าไม่ยอมโต ทั้งยังกลายเป็นจุดสนใจของเพื่อนๆ ในวัยเดียวกัน สุดท้าย การร้องไห้จึงค่อยๆ เปลี่ยนความหมายไปในที่สุด
ผู้ใหญ่จำนวนมากเชื่อว่า การร้องไห้คือการเปิดเผยด้านที่อ่อนแอ มีอยู่ไม่น้อยที่เลือกจะกลั้นน้ำตาเอาไว้ และก็มีอีกไม่น้อยเช่นกันที่ร้องไห้ได้ แต่ขอเป็นตอนที่อยู่คนเดียว เพราะไม่ต้องการให้ผู้อื่นเห็นน้ำตาของตัวเอง
สำนักข่าว Express ของอังกฤษรายงานว่า สาเหตุอันดับหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังดวงตาอันแดงก่ำและโหนกแก้มที่เปียกปอนในวัยผู้ใหญ่ คือประสบการณ์เลวร้ายและหนังหรือรายการที่มีเนื้อหาเรียกน้ำตา ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะประสบการณ์ที่มากขึ้นของผู้ใหญ่ช่วยให้แต่ละคนสามารถเชื่อมโยงเรื่องตัวเองกับเหตุการณ์ของผู้อื่น รวมถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในหน้าจอได้มากขึ้น พูดง่ายๆ ว่าเรื่องบางเรื่อง เราในวัยเด็กอาจจะยังไม่อิน เห็นแล้วไม่เข้าใจ แต่พอโตเป็นผู้ใหญ่ เรากลับรู้สึกร่วม เปราะบาง และอ่อนไหวกว่าที่เคย มองสิ่งต่างๆ อย่างลุ่มลึกมากขึ้น แต่กลายเป็นว่าเรากล้าร้องไห้น้อยลงซะงั้น
อีกทั้ง สาเหตุอื่นๆ ที่อาจทำเราร้องไห้ได้ง่ายๆ คือการทะเลาะเบาะแว้ง ความเหนื่อยล้า ความเครียด การสูญเสีย เป็นต้น
“การร้องไห้คือสัญญาณเตือนถึงตัวเองและคนรอบข้างว่า มีปัญหาใหญ่บางอย่างซึ่งหนักหนาเกินความสามารถในการรับมือของเรา”
นี่คือความเห็นของ โจนาธาน รอตเทนเบิร์ก (Jonathan Rottenberg) นักวิจัยด้านอารมณ์และศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเซาต์ฟลอริดา ผู้มองว่า จนแล้วจนรอด ไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหน น้ำตาก็ยังช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ของมนุษย์และความเชื่อมโยงทางสังคม เพราะในขณะที่สัตว์อื่นๆ เกิดมาอย่างสมบูรณ์พร้อม มนุษย์กลับลืมตาดูโลกด้วยความเปราะบางและร่างกายซึ่งไม่สามารถจัดการสิ่งต่างๆ ได้เพียงลำพัง แม้ว่าตอนที่โตเป็นผู้ใหญ่ เราจะมีความสามารถทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจเพิ่มมากขึ้น แต่เราก็ไม่เคยแก่และแกร่งพอที่จะเอาชนะทุกปัญหา หลายครั้งน้ำตาก็โผล่มาโดยที่เราไม่รู้ตัว และหลายครั้ง ถึงจะอยากพึ่งพาตัวเองมากแค่ไหน รักสันโดษมากเพียงใด เราก็ยังต้องการใครสักคนให้พึ่งพิง ใครสักคนที่ช่วยปลอบตอนเราร้องไห้ และบอกว่าอีกเดี๋ยวสิ่งเลวร้ายก็จะผ่านพ้นไป
ประโยชน์ของน้ำตาแห่งอารมณ์
น้ำตาแห่งอารมณ์มีความแตกต่างทางเคมีกับน้ำตาอีก 2 ประเภท นั่นคือ ถึงน้ำตาทั้งหมดจะประกอบด้วยเอนไซม์และสารต่างๆ ที่คล้ายคลึงกัน แต่น้ำตาแห่งอารมณ์มักจะมีโปรตีนและฮอร์โมนอื่นๆ เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นโปรแลคติน โพแทสเซียม แมงกานีส ฯลฯ ซึ่งมีส่วนช่วยในการปรับระดับความเครียดในร่างกายให้กลับเข้าสู่สภาวะสมดุล นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมหลายคนจึงรู้สึกดีขึ้นเมื่อได้ร้องไห้ออกมา
ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีงานวิจัยในปี 2014 ที่พิสูจน์ว่า น้ำตาสามารถลดความก้าวร้าว และเพิ่มความเห็นอกเห็นใจได้ดีขึ้นด้วย
แม้การเติบโตจะบีบบังคับให้เหตุผลของการร้องไห้แปรเปลี่ยนไป แม้สิ่งที่อยู่เบื้องหลังของเหลวใสจะยังเต็มไปด้วยปริศนาที่นักวิทยาศาสตร์ไม่อาจค้นพบ และแม้ในยุคหนึ่ง ค่านิยมจะตีกรอบว่าน้ำตาของผู้ใหญ่คือเครื่องหมายของความอ่อนแอ แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า หลายต่อหลายครั้ง เมื่อได้ร้องออกไป อะไรๆ ก็ดีขึ้น โล่งขึ้น สบายใจขึ้น บางทีตอนที่สะอึกสะอื้นอยู่เรายังเผลอยิ้มออกมา เพราะความรู้สึกที่คั่งค้างได้รับการปลดปล่อยแล้วผ่านทางน้ำตาที่ไหลอาบแก้ม
ในเมื่อตอนที่เป็นทารก เรายังร้องไห้ได้อย่างไม่อายใคร เพราะงั้นวันนี้ หากทนไม่ไหวก็ไม่จำเป็นต้องฝืน น้ำตาไม่ได้ลดวุฒิภาวะของเราลง และมันไม่ได้ส่งผลต่อการเติบโตของเราแม้แต่นิดเดียว
เพราะไม่ว่าจะมีอายุเท่าไหร่ ทุกคนต่างก็มีสิทธิเต็มที่ในน้ำตาและการร้องไห้ของตัวเอง
อ้างอิงจาก