กลายเป็นคุณูปการอันใหญ่หลวงและเป็นที่ถกเถียงในวงการ gender studies สำหรับ Raewyn Connell นักวิชาการด้านสังคมวิทยาชาวออสเตรเลียหัวซ้ายใหม่ กับข้อเสนอ ‘ความเป็นชาย’ ในฐานะสิ่งประกอบสร้างทางสังคมที่ ‘ความแมนๆ’ และ ‘ความเป็นชาย’ ทำปฏิกิริยากับทั้งฐานะทางเศรษฐกิจ อาชีพชาติพันธุ์ ผิวสี ชนชั้น จนสามารถจัดลำดับออกเป็น 4 ระดับชั้น
ตอนนี้เธอเป็นที่ปรึกษาให้กับ UNESCO และ UNO ด้านเด็กชาย ผู้ชาย และความเป็นชายกับการสร้างสันติและความเท่าเทียมทางเพศสภาพ
สำหรับ Raewyn Connell ‘ความเป็นชาย’ มี 4 ช่วงชั้นด้วยกันคือ
- ความเป็นชายแบบ ‘เจ้าโลก’ (hegemony) ซึ่งเป็นการรับอิทธิพลทางความคิดว่าด้วยความสัมพันธ์เชิงชนชั้นของ Antonio Gramsci มาอธิบายกลุ่มผู้ชายที่มีอำนาจอิทธิพลเหนือกว่าผู้อื่น เช่นดารานักแสดงหรือตัวละครในภาพยนตร์ หรือบุคคลสาธารณะผู้ทรงอิทธิพลอำนาจในระดับสถาบัน เช่น สถาบันทางสังคม เศรษฐกิจ ทหาร การปกครอง กลุ่มนี้เอาเข้าจริงก็เป็นกลุ่มที่มีปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับอัตราประชากรเพศชาย
- ความเป็นชาย ‘แบบรอง’ (subordination) คือบรรดา nerd geek ขี้อาย อ้วนเตี้ย ขี้โรค อ่อนแอ ปวกเปียก ขี้ขลาดขี้ปอด ลูกแหง่ บอบบาง ขี้แพ้ ไม่แมน ซึ่งถูกมองว่าเป็นผู้ชายที่ไม่แมน
- ‘ผู้ชายผู้สมรู้ร่วมคิด’ (complicity) ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ชายจำนวนมหาศาลสนับสนุนและพยายามดันตัวเองเข้าไปอยู่ในกลุ่ม ‘ความเป็นชายแบบเจ้าโลก’ ทว่ารวมตัวเองเข้าไปอยู่ในกลุ่มนั้นไม่ได้ ทำได้แต่เพียงเชียร์ฟุตบอลอยู่ขอบสนามหรือหน้าจอทีวี เพราะในชีวิตจริงไม่ได้เป็นไปตามอุดมคติ ต้องอยู่ร่วมกับผู้คนในชุมชน และประนีประนอมกับผู้หญิง อันได้แก่ชายผู้ชายส่วนใหญ่บนโลก
- ‘ชายชายขอบ’ (marginalization) ซึ่งเป็นอีกเฉดของความเป็นชายที่ไม่ได้มีลักษณะตายตัวเป็นแบบฉบับ ขึ้นอยู่กับอำนาจของ ‘ความเป็นชายแบบเจ้าโลก’ ในแต่ละบริบท มันจึงไปสัมพันธ์ร่วมกันกับชาติพันธุ์ สีผิว ชนชั้น สถานะทางเศรษฐกิจ ดังนั้น นักกีฬาผิวสีในสหรัฐอเมริกา อาจจะไม่ใช่ผู้ชายชายขอบในสังคมนั้นๆ แต่ชายผิวสีอีกกลุ่มที่ไม่ได้เป็นนักกีฬาก็สามารถกลายเป็นชายชายขอบได้ในโลกเหยียดสีผิว แต่ที่แน่นอน สำหรับอัตลักษณ์แบบเกย์ โนโลกปิตาธิปไตยที่มักจะตีความเกย์ง่ายๆ ว่าขาด ‘ความเป็นชาย’ ถูกอธิบายให้คล้ายคลึงกับ ‘ลักษณะแบบผู้หญิง’ และจัดลำดับอยู่ในกลุ่มชายขอบและต่ำสุดนี้[1]
ก็คือว่า ด้วยโครงสร้างต่างๆ แล้ว ‘ความเป็นชาย’ ยิ่งสูงค่าก็ต่อเมื่อยิ่งได้ใกล้ชิดกับอำนาจ กับการมีอิทธิพล หรืออำนาจของรัฐ และจะยิ่งต่ำตมลงมาเรื่อยๆ เมื่อมี ‘ความเป็นหญิง’ มากขึ้นเรื่อยๆ และ hegemonic masculinity ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบริบทนั้นๆ
แต่อย่างไรก็ตาม hegemony ก็ไม่ได้หมายความถึงความรุนแรง หากแต่สัมพันธ์กับการใช้กำลัง และได้รับการสนับสนุนจากความรุนแรง ขู่เข็ญ การบังคับ การใช้อำนาจไปจนถึงการใช้กองกำลังทหาร ขณะเดียวกัน การสถาปนาและการเข้าถึง ‘ความเป็นชายแบบเจ้าโลก’ ก็สามารถทำผ่านความรุนแรงได้ อาชญากรรมหลายๆ ครั้งเช่น การข่มขืน ทำร้ายทุบตีผู้หญิง รังแกคนรักเพศเดียวกัน ไปจนถึงการเป็นจิ๊กโก๋ อันธพาลหัวไม้ ก็เป็นผลลัพธ์มาจาก hegemonic masculinity ในการวิเคราะห์ของอาชญาวิทยา[2]
แต่ไม่ว่าจะบริบทใด ‘ความเป็นชายแบบเจ้าโลก’ ก็จะได้รับการโอบอุ้มคุ้มครองด้วยอำนาจรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘รัฐผู้ชาย’ (male state) ที่ ‘ความเป็นลูกผู้ชาย’ และ ‘ความแมน’ ถูกทำให้ผูกขาดกับสถาบันหลักๆ ทั้งศาสนา เศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา ครอบครัว ศาล ทหาร การทูต และรัฐบาลก็ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อผลประโยชน์ผู้ชายมากกว่าผู้หญิง[3] รัฐเช่นนี้มักจะถวิลหาผู้ชายสักคนหรือสถาบันใดสถาบันนึงในนามของผู้ชายมาเป็นเสาหลักให้ยึดเหนี่ยว ถ้าไม่ใช่ระบอบพ่อปกครองลูก ที่จะต้องมีคุณพ่อผู้ฉลาดรู้ดีปกครองสั่งสอนว่าบาป ชี้ผิดชี้ถูก ก็ต้องมีใครสักคนสถาปนาตนเองเป็นพี่ชายของพ่อ เหมือนที่หลายคนพร่ำเรียกนายกระบอบเผด็จการทหารว่า “ลุงตู่” ที่นึกจะพูดอะไรจะทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจอย่างที่ไม่มีใครกล้าเถียงหรือโต้แย้งตรงไปตรงมา
ดังนั้น ส.ส.ที่ต้องการความโดดเด่น จึงต้องอุปโลกน์ตัวเองเรื่องสมัยเรียน ว่ามีวีรกรรมวีรเวรชอบชกต่อยทุกวัน ต่อยเป็นอาชีพ เก็บแต้มต่อย ชนะห้องนี้เสร็จก็ไปชนะห้องอื่นต่อ เที่ยวประกาศโชว์เก๋าว่าไม่ติ๋ม เป็นนักเลงโหดขนาดนักการเมืองยังไม่กล้ายุ่ง ต่อยกับนักมวยยังชนะน็อค มีบารมีเป็นที่ยำเกรงของน้องๆ ขณะเดียวกันก็พยายามสงวนรักษาสถาบันอำนาจของ hegemonic masculinity ด้วยประกาศกร้าวว่า อยากตบปากนักการเมืองที่มีนโยบายตัดลดงบทหาร แถมโฆษกพรรคกลับบอกว่าเป็นการแสดงออกของความเป็นผู้นำ แทนที่จะตระหนักได้ว่าเป็นความกุ๊ยความถ่อย
โดยเฉพาะ ส.ส.เอื้ออาทรที่มาจากความไม่ชอบมาพากลของ กกต. ไม่ใช่เสียงของประชาชนตามหลักการ เขาจึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องตระหนักว่าอยู่ในฐานะผู้แทนของประชาชน (ซึ่งประชาชนในที่นี้ก็ไม่ใช่ว่าเป็นเพศใดเพศหนึ่ง) จึงไม่มีความคิดที่จะทลายโครงสร้างการจัดลำดับช่วงชั้นทางเพศที่กำลังกดขี่ไม่ว่าเพศหญิงหรือเพศชายอยู่ แต่กลับพยายามถีบตนเองให้ขึ้นไปอยู่ในกลุ่ม hegemonic masculinity เพื่อตัวเขาเอง
แถม ส.ส.บางคนบางพรรคยังมีท่าทีท้าตีท้าต่อยกันในสภาอีก ยิ่งเข้าทางพวกเกลียดประชาธิปไตย โรคเกลียดนักการเมือง หาว่าการเมืองเป็นเรื่องหมากัดกัน
และโครงสร้างความเป็นชายและรัฐผู้ชายเช่นนี้แหละ ที่ทำให้ผู้ชายบางคนกระเหี้ยนกระหือรืออยากจะมีอิทธิพลทางสังคม เที่ยวไปโหนสถาบันต่างๆ เพื่อให้ตนเองยังพอมีคุณค่าความหมายบ้าง แล้วไล่คนนั้นคนนี้ไปใส่กระโปรง ด้วยมันสมองที่เชื่อว่าเครื่องแต่งกายของผู้หญิงเป็นสิ่งต่ำช้า กระโปรงเป็นสัญลักษณ์ของความไร้คุณค่าไร้ศักดิ์ศรี ผู้ชายที่ใส่กระโปรง หรือแต๋วแตกก็เป็นความต่ำตมไป เช่นเดียวกับที่มีสำนึกวัดอวัยวะเพศเป็นบรรทัดฐาน แล้วเที่ยวไปพูดว่าชายหนุ่มที่เกิดทีหลังว่าเป็นพวกมีแต่เจี๊ยวหรือจู๋ที่ยังไม่เจริญ พึ่งพาไปก็จะรังให้สูญพันธุ์ ทั้งนี้ก็เพื่อจะรักษาธรรมเนียมปฏิบัติแบบดั้งเดิมด้วยโลกทัศน์แบบ male state
กลายเป็นว่านับตั้งแต่วันเลือกตั้งมาเป็นเวลาเนิ่นนาน เรายังไม่ได้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาลจากเสียงข้างมาก แต่กลับได้ toxic masculinity มาแทน
toxic masculinity มาจากสำนึก ‘ความเป็นชาย’ ตามขนบดั้งเดิมที่เชื่อว่ามีความเหนือกว่าผู้หญิง มีคุณสมบัติสูงกว่า ผู้ชายจึงต้องเก็บซ่อนอารมณ์ความรู้สึกเพราะเชื่อว่าผู้ชายเป็นเพศที่มีเหตุผลไม่แสดงอารมณ์เหมือนพวกผู้หญิง ผู้ชายต้องปิดบังความเจ็บปวดโศกเศร้าเพราะเชื่อว่าผู้ชายเป็นเพศที่แข็งแรงไม่แสดงความอ่อนแอเหมือนผู้หญิง ต้องแข็งกระด้าง อึด ถึก ทน และความรุนแรงคือตัวชี้วัดถึงพลังอำนาจ สำนึกเช่นนี้แหละที่นำไปสู่ toxic masculinity พวกถ่อยแล้วเท่ กลายเป็นวัฒนธรรมที่อนุญาตให้ผู้ชายและเด็กผู้ชายก้าวร้าว หยาบคาย ใช้ความรุนแรงได้[4] ขณะเดียวกันการแสดงออกความหื่นทางเพศ หรือพละกำลังทางเพศอันเหลือเฟือ ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง
ปฏิเสธไม่ได้ว่า toxic masculinity ส่งผลต่อสังคมและการเมืองภาครัฐโดยตรง เพราะสำนึกเช่นนี้แหละที่ทำให้ผู้ชายหลายคนเข้าไปอยู่กลุ่ม alt-right หรือ alternative right และสนับสนุนคนเช่น โดนัลด์ ทรัมป์ ปฏิเสธอุดมคติประชาธิปไตย นำความเกลียดชังสู่สาธารณะ ต่อต้านสิทธิสตรี ต่อต้านความเสมอภาคทางเพศสภาพ[5]
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า toxic masculinity จะเท่ากับผู้ชายเลวกว่าหมาไม่ได้มาจากดาวอังคาร (ความคิดเช่นนี้ก็ถือว่าเป็นพิษเช่นกัน) หากแต่ไม่ว่าเพศไหนก็มีคุณค่าเท่ากันและสามารถอยู่ร่วมโลกเดียวกันได้ หากแต่สังคมปิตาธิปไตยต่างหากที่ได้ผลิตบรรทัดฐานทางสังคมที่ก่อให้เกิด toxic masculinity ออกมา สร้างปัญหาให้กับทุกเพศสภาพเพศวิถี เช่นเดียวกับ ‘toxic femininity’ ที่สำนึกหญิงสาวหุ่นผอมบางจากพฤติกรรมการกินอาหารที่ทุพโภชนาการพยายามจะทำให้ผู้หญิงทุกคนต้องผอมบางเช่นนั้นบ้าง
และความอ่อนแอที่เห็นเป็นรูปธรรมก็คือน้ำตา น้ำตาจากอารมณ์ ที่หลั่งออกมาเพื่อปรับสมดุลอารมณ์ที่แสดงออกมาอย่างรุนแรง ที่ถูกให้คุณค่าความหมายเป็นความอ่อนแอเปราะบาง ผู้ชายจึงจำต้องอดทนเก็บกลั้นน้ำตา แต่อนุญาตให้ผู้หญิงร้องไห้ได้ ทั้งๆ ที่ ไม่ว่าจะมีเพศสรีระแบบใด เกิดมามีอวัยวะเพศแบบใด ก็มีต่อมน้ำตา หลอดน้ำตา ถุงน้ำตา และสารสารคัดหลั่งที่เรียกว่าน้ำตา เหมือนกันทั้งนั้น
toxic masculinity เช่นนี้แม้จะไม่ดีต่อสุขภาพจิตของผู้ชาย แต่ก็ยกระดับน้ำตาของพวกเขาให้เป็นของมีค่า เพียงแค่ผู้ชายร้องไห้หรือเสียน้ำตาไม่กี่แหมะก็ถือว่าเป็นความยิ่งใหญ่ สะเทือนอารมณ์รุนแรงหลายเท่าพันทวีเมื่อเทียบกับผู้หญิงร้องไห้ฟูมฟายเป็นวรรคเป็นเวรในเรื่องเดียวกัน
ดังนั้น เมื่อชายที่อยู่ในตำแหน่ง hegemonic masculinity ในปี 2553 ออกคำสั่งใช้อาวุธจริงสลายการชุมนุมที่ออกมาเรียกร้องให้ยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม เขาอ้างว่าเป็นเพียงขอคืนพื้นที่และยิงเพื่อป้องกันตัว มีการระดมกำลังทหาร 67,000 นาย ใช้กระสุนจริงกระสุนจริง 111,303 นัด และกระสุนสไนเปอร์อีกกว่า 2,120 นัด จนมีคนตายอย่างน้อย 94 คน
ปีหนึ่งให้หลังจากเหตุการณ์สังหารหมู่ประชาชนกลางกรุง เขากลับมาใหม่ยังพื้นที่ที่มีคนตายเพราะเขา ยืนพูดหน้าตาเฉยว่าคืนนั้นร้องไห้หนักมาก จนภรรยาต้องเข้ามาปลอบ แต่เขาก็ไม่ต้องรับผิดชอบทางกฎหมายใดๆ[6]
การอ้างว่าร้องไห้ บีบน้ำหูน้ำตา แค่นี้จึงถือว่าเป็นความรับผิดชอบเดียวอันยิ่งใหญ่แล้วสำหรับ toxic masculinity
ส่วนผู้ที่เสียชีวิตจำนวนมากมายถูกทำให้ไม่มีความหมายใดๆ ซ้ำงานบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย งานรำลึกเหตุการณ์ที่ราชประสงค์ก็ถูกกีดกันกลั่นแกล้งโดยหน่วยงานรัฐ ทุกปีๆ เช่นเดียวกับงานที่เพิ่งผ่านมาเมื่อวันก่อน ญาติของผู้เสียชีวิตและผู้เสียหายยังไม่ได้รับความยุติธรรมใดๆ น้ำตาของพวกเขาและเธอยังคงไหลอยู่เสมอ เมื่อนึกถึงคนรักที่ถูกพรากไปในเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่เรียกร้องประชาธิปไตย
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] Connell, Robert William. (1995). Masculinities. Berkeley : University of California Press, , pp. 76-81.
[2] Connell, Robert William. and Messerschmidt, James W. (Dec., 2005). Hegemonic Masculinity: Rethinking the Concept. Gender and Society, Vol. 19, No. 6 pp. 829-859.
[3] Radtke, H. Lorraine; Stam, Henderikus J. (1994). Power/gender : social relations in theory and practice. London : Sage, p. 145.
[5] อ่านเพิ่มเติมที่ thematter.co
[6] prachatai.com ; themomentum.co ; ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย. – พ.ค. 53. (2555). ความจริงเพื่อความยุติธรรม: เหตุการณ์และผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 53. กรุงเทพฯ : ศูนย์ข้อมูล.