We will, we will block you
“ไม่อยากรับรู้เรื่องของเขาเลย บล็อคดีกว่า”
“จู่ๆ คนนั้นก็มาด่าเราทางทวิตเตอร์ทั้งที่ไม่รู้จักกันด้วยซ้ำ งั้นขออนุญาตบล็อคนะ”
“งงมาก แค่อีกคนแย้งดีๆ ว่าข้อมูลผิด เขาถึงกับต้องบล็อคเลยเหรอ”
เหล่านี่ล้วนเป็นเหตุการณ์ที่เราพบเห็นได้ตามปกติในชีวิตประจำวัน แต่เคยสงสัยมั้ยว่า ตั้งแต่เมื่อไหร่กันที่ ‘การบล็อค’ ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา อะไรคือเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการกระทำเหล่านี้ แล้วการบล็อคเป็นวิธีแก้ปัญหาที่สมเหตุสมผลจริงหรือไม่
บทความนี้ The MATTER จะพาไปหาคำตอบ
เหตุผลของคนบล็อค
ก่อนอื่น เราไปทำความเข้าใจนิยามของการบล็อคกันก่อน ‘การบล็อค (Blocking)’ อ้างอิงจาก Psychology Dictionary เป็นคำที่ใช้ในบริบทของการสื่อสารออนไลน์ หมายถึง การปิดกั้นไม่ให้บุคคลอื่นติดต่อกับเราผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย การกระทำนี้เกิดขึ้นจากแรงจูงใจที่มีคำอธิบายตามหลักจิตวิทยา ทั้งยังเป็นการกระทำที่สามารถส่งผลได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งต่อตัวผู้บล็อคและผู้ถูกบล็อค
ถ้าให้ว่ากันตามตรง เมื่อต้องรับบทกดปุ่ม เราแทบจะไม่งงเลยสักนิดว่าทำไมตัวเองจึงตัดสินใจแบบนั้น แม้จะไม่แน่ใจว่าวิธีการนี้จะได้ผลมากน้อยแค่ไหน แต่เรารู้ดีแก่ใจว่าตัวเองบล็อคเพราะอะไร งอน ไม่อยากรับรู้ ไม่อยากทนเห็นข้อความเป็นพิษที่ไม่มีผลดีต่อชีวิต ฯลฯ
แต่กลับกัน บางครั้งเราก็ไม่มั่นใจว่าทำไมตัวเองจึงถูกอีกฝ่ายบล็อค ทั้งที่ทบทวนแล้วก็หาไม่เจอว่าทำอะไรผิด ทั้งที่คิดว่าคุยกัน เรื่องก็น่าจะจบ แต่เรากลับไม่มีโอกาสนั้น เพราะอีกคนชิงหนีหายด้วยการบล็อกกันทุกช่องทาง ทั้งไลน์ อินสตาแกรม และเฟซบุ๊ก
แน่นอนว่าต่างคนต่างก็มีเหตุผลเป็นของตัวเอง แต่เราก็เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า การเข้าใจต้นสายปลายเหตุของการบล็อค ทั้งในครั้งที่เราเป็นคนบล็อค และในคราวที่เราโดนเองกับตัว น่าจะช่วยให้เราใช้ชีวิตได้อย่างสบายใจมากขึ้น รู้เท่าทันตัวเองว่าทำไมถึงกดปุ่มนั้น ทั้งยังเข้าอกเข้าใจฝ่ายที่บล็อคเรามากขึ้น
และนี่คือ 4 เหตุผลที่นำไปสู่การเลิกติดต่อกันบนโลกออนไลน์
- กลไกการป้องกันตัว (Defensive Mechanism)
ไม่แปลกที่หลายคนจะเลือกวิธีนี้เพื่อป้องกันสภาพจิตใจของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการไม่อยากเห็นหน้าแฟนเก่าเพื่อให้ทำใจได้ การปกป้องความรู้สึกเมื่อถูกบุลลี่หรือกลั่นแกล้งทางโซเชียล การตัดขาดเพื่อความสบายใจส่วนตัว หรือสรุปรวบยอด มันคือวิธีการง่ายๆ ในการจำกัดการรับรู้เพื่อให้ตัวเองมีสติและไม่ฟุ้งซ่านจนเกินไป
- ควบคุมการโต้ตอบ (Control Over Interaction)
เมื่ออยู่ท่ามกลางบทสนทนาที่เป็นพิษ หรืออยู่ใจกลางความสัมพันธ์ที่ยากจะรับมือ บางครั้งการพูดคุยก็ไม่อาจนำไปสู่ทางออก อีกฝ่ายไม่รับฟังเหตุผล ทั้งยังแสดงออกว่าเขามีอิทธิพลเหนือตัวเรา นั่นทำให้การบล็อคถือเป็นหนึ่งในหนทางที่จะช่วยให้ฝ่ายที่กำลังหวาดวิตกรู้สึกว่าตัวเองสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ อย่างน้อยถ้าเขาไม่ฟัง ก็ตัดขาดการติดต่อบนโลกออนไลน์ไปเลย
- สร้างขอบเขต (Creating Boundaries)
“เราต้องไม่ปล่อยให้สังคมออนไลน์มีผลกับเรามากเกินไป”
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการบล็อคเป็นหนึ่งในรูปแบบของการสร้างขอบเขตส่วนตัว เป็นการรักษาระยะห่างไม่ให้เราต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่ไม่ถูกโฉลกมากเกินจำเป็น ซึ่งปัจจัยนี้เองดูจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารและบุคคลทั้งดี ทั้งร้ายแพร่สะพัดในโลกออนไลน์อย่างไม่อาจควบคุม การวางกรอบให้ชัดเจน ตัดคนที่ไม่จำเป็นออกจากวงโคจรจึงเป็นทางเลือกที่หลายคนเลือกใช้
- หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง (Avoidance of Conflict)
ในบางสถานการณ์ การเผชิญหน้าอาจเป็นเรื่องที่หนักหนาเกินกว่าที่ใครคนหนึ่งจะรับไหว หรือเลวร้ายกว่านั้น กับบางคน หากพูดอย่างตรงไปตรงมา แม้จะด้วยน้ำเสียงที่เป็นมิตร ก็อาจนำไปสู่สถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัยในการดำเนินชีวิต ตรงนี้เองที่การบล็อคจะเข้ามาเป็นกลยุทธ์ในการหลบหลีกปัญหา หรืออย่างน้อยก็ยืดระยะเวลาการปะทะออกไป ค่อยติดต่อในวันที่เราต่างคนต่างพร้อม
ประวัติศาสตร์การบล็อค
แต่ก็อย่างที่รู้กันว่า การบล็อคต้องเกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ดังนั้น มันจึงเป็นพฤติกรรมที่เพิ่งถือกำเนิดขึ้นเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้หลังจากที่โลกได้ทำความรู้จักกับโซเชียลมีเดีย ถึงอย่างนั้น จริงๆ การกระทำในลักษณะนี้ก็ปรากฏมาเนิ่นนาน เพียงแต่รูปแบบการสื่อสารที่เปลี่ยนไปตามยุค ทำให้รูปแบบการ ‘เลิกติดต่อ’ แปรผันตามไปด้วย
ย้อนกลับไปในยุคที่การปฏิสัมพันธ์ถูกจำกัดอยู่แค่การพูดคุยต่อหน้า (Face-to-face) การแก้ปัญหาในยุคนั้นไม่ซับซ้อน หากไม่อยากทนต่อก็แค่ห่างหายจากกันไป ไม่มีทางพบเจอบนช่องทางอื่นใด เป็นดั่งการบล็อคทางกายภาพ ตรงกันข้าม ถ้าอยากให้เรื่องราวคลี่คลาย บรรพบุรุษก็จำเป็นต้องทำแบบต่อหน้าเท่านั้น พูดกันตรงๆ ข้อดีคืออาจจะยุติสิ่งต่างๆ ได้อย่างฉับไว ทว่าข้อเสียคืออาจจะควบคุมความเสียหายของผลลัพธ์ไม่ได้ จนหลายครั้งการเผชิญหน้าก็นำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้ง ตลอดจนลงไม้ลงมือ
ต่อมาในยุคการเขียน (The Written Word) ตัวอักษรเป็นอีกช่องทางในการทำความเข้าใจ ซึ่งเอื้อให้ทั้ง 2 ฝ่ายมีเวลากลั่นกรองคำตอบมากขึ้น แม้อาจจะไม่สามารถตอบโต้กันได้อย่างทันท่วงที ทว่าสิ่งที่มั่นใจได้คือการตั้งสติก่อนส่งสาร ในฝั่งผู้รับสารเองก็สามารถเลือกที่จะตอบหรือไม่ตอบได้โดยไม่รู้สึกถูกคุกคามมากนัก
จากนั้น การสื่อสารของมนุษย์ก็เปลี่ยนไปอีกครั้งเพราะการมาถึงของโทรศัพท์ (Telecommunication Era) การติดต่อทางไกลที่เคยยากก็ง่ายยิ่งกว่าการปลอกกล้วยเข้าปาก แทบจะโทรหากันได้ในทันทีที่ต้องการ และนี่เองน่าจะเป็นครั้งแรกที่การบล็อคถือกำเนิดขึ้นอย่างแท้จริง เพียงแต่ตอนนั้นยังเป็นการบล็อคจำพวกเบอร์โทรศัพท์อันไม่พึงประสงค์เท่านั้น ไม่ได้ทำกันเกร่อแบบปัจจุบันนี้
การบล็อคมาปรากฏจริงๆ ในยุคดิจิทัล (Digital Age) ที่โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลสำคัญต่อการดำรงชีวิต เราติดต่อสื่อสาร รับความบันเทิง และหลายคนถึงขนาดประกอบอาชีพผ่านทางหน้าจอ ซึ่งนั่นนำมาซึ่งความซับซ้อนในการปฏิสัมพันธ์ ทุกคนสามารถคุกคามและถูกคุกคามได้ง่ายขึ้น ทุกคนพร้อมที่จะรู้สึกดีและแย่ได้เพียงแค่ขยับปลายนิ้ว เป็นความซับซ้อนที่ยากต่อการควบคุม และนั่นส่งผลให้หนึ่งในการควบคุมที่เราทำได้เองอย่างการบล็อคถูกผนวกเข้าไปเป็น ‘ทางเลือก’ ในที่สุด
ในยุคการเขียน เราคงทำได้มากที่สุดแค่บอกให้แฟนเก่าหยุดส่งจดหมายมาตามตื๊อ แต่ถ้าเขายังส่ง เราก็คงทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ปัจจุบัน แค่บล็อคเท่านั้นก็แทบจะหยุดทุกอย่าง และหลายครั้งเราก็รู้สึกว่าตัวเองจำเป็นต้องทำเพื่อให้รู้สึกดีขึ้น
The Impact of Blocking
ทุกอย่างย่อมมี 2 ด้าน การบล็อคเองก็สร้างทั้งผลดีและผลเสีย และต่อไปนี้คือผลที่อาจะเกิดขึ้นจากการปิดกั้นการติดต่อสื่อสารบนโลกออนไลน์
- ยุติการติดต่อ – การบล็อคจะตัดขาดการสื่อสารทุกรูปแบบ เป็นการยกเลิกการปฏิสัมพันธ์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเขาไม่ใช่คนที่เราต้องเจอในชีวิตจริงอย่างคนที่เราบังเอิญต้องโต้ตอบด้วยทางทวิตเตอร์
- สลับบทบาท – หากเป็นในกรณีของครอบครัว เพื่อน หรือคู่รัก เป็นไปได้ที่ผู้ที่เป็นฝ่ายบล็อคจะกลายเป็นคนที่มีอำนาจเหนือกว่าในการเจรจาต่อรอง เพราะผู้ที่ถูกบล็อคจะรู้สึกไม่มีทางเลือก ทำอะไรไม่ถูก เป็นสถานการณ์ที่คนบล็อคมีสิทธิตัดสินใจมากกว่าปกติ ซึ่งผลกระทบนี้อาจหล่อหลอมให้หลายคนเลือกใช้วิธีบล็อคเพื่อให้ตนเองเป็นฝ่ายที่เหนือกว่าในความสัมพันธ์ ทำนองว่า ‘ถ้าทำอะไรไม่ถูกใจฉัน ฉันจะบล็อคนะ แล้วแกก็ต้องมาง้อไง’
- ผลกระทบทางอารมณ์ – ในกรณีบล็อคคนไม่รู้จักที่แสดงความคิดเห็นอย่างหยาบคายบนโลกโซเชียลคงไม่ส่งผลอะไร แต่หากเป็นการบล็อคคนที่มีสนิทสนมลึกซึ้งกว่านั้น ผลทางอารมณ์ก็อาจรุนแรงต่อทั้งคู่ ผู้ที่ถูกบล็อกอาจรู้สึกว่าตัวเองถูกปฏิเสธหรือทอดทิ้ง ในขณะที่ผู้บล็อกก็อาจรู้สึกได้ทั้งโล่งใจ ไปจนถึงรู้สึกผิดในสิ่งที่ทำลงไป
ถ้าไม่บล็อค เรามีทางเลือกอื่นมั้ย
Fischer Institute สถาบันข้อมูลด้านสุขภาพเสนอว่า ก่อนตัดสินใจบล็อค เราอาจลองพูดคุยกับเขาเพื่อหาทางออกอื่นๆ ในการอยู่ร่วมกัน นั่นคือ
- อธิบายสิ่งที่เรารู้สึกอย่างชัดเจน – บอกอย่างสุภาพ ไม่ใช้อารมณ์ ถ้าจะตำหนิ ก็ตำหนิที่การกระทำ ไม่ใช่ที่ตัวบุคคล
- รับฟังสิ่งที่เขาหรือเธอรู้สึก – อนุญาตให้เขาพูดให้จบ อย่างเพิ่งปฏิเสธสิ่งที่เขาบอก และลองใส่ใจกับเนื้อความอย่างจริงจัง
- ลองแก้ปัญหา (ถ้าแก้ได้) – จงถามตัวเองอย่างซื่อสัตย์ว่า หลังจากพยายามแล้ว เรามองเห็นความเป็นไปได้ในความสัมพันธ์นี้รึเปล่า (ทั้งความสัมพันธ์ที่สนิทกันแบบเพื่อน และความสัมพันธ์ที่ห่างมากๆ แบบคนในโลกโซเชียล) ถ้ามองเห็น การบล็อคก็อาจจะไม่จำเป็น แต่ถ้ารู้ชัดแล้วว่า หากปฏิสัมพันธ์ต่อก็มีแต่จะรู้สึกแย่กันเปล่าๆ ถ้าเป็นแบบหลังก็พอเถอะ บล็อคได้
หลายครั้ง เราไม่พอใจเมื่อถูกใครสักคนปิดกั้นการสื่อสาร แต่ก็มีอีกหลายครั้งที่เราเต็มใจเหลือเกินที่จะกดปุ่มบล็อคใครสักคน แน่นอนว่าเราต่างมีทางเลือกอื่นอีกมายมาย เราลองเผชิญหน้าได้ เราเลือกที่จะตักเตือนเขาได้ แต่ขณะเดียวกัน การบล็อคก็ยังถือเป็นหนึ่งในทางเลือกของเราเช่นเดียวกัน และอันที่จริง ก็เป็นสิทธิของเราที่จะกดบล็อค เพราะเราไม่จำเป็นต้องพยายามเพื่อใครบางคนมากขนาดนั้น
สุดท้าย ทุกคนต่างต้องรับผิดชอบชีวิตของตัวเองให้ได้ และวันนี้หากเราบล็อคได้ วันหนึ่งเราก็อาจปลดบล็อคได้เช่นเดียวกัน
อ้างอิงจาก