Cookie | Duration | Description |
---|---|---|
cookielawinfo-checkbox-analytics | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookie is used to store the user consent for the cookies in the category "Analytics". |
cookielawinfo-checkbox-functional | 11 months | The cookie is set by GDPR cookie consent to record the user consent for the cookies in the category "Functional". |
cookielawinfo-checkbox-necessary | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookies is used to store the user consent for the cookies in the category "Necessary". |
cookielawinfo-checkbox-others | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookie is used to store the user consent for the cookies in the category "Other. |
cookielawinfo-checkbox-performance | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookie is used to store the user consent for the cookies in the category "Performance". |
viewed_cookie_policy | 11 months | The cookie is set by the GDPR Cookie Consent plugin and is used to store whether or not user has consented to the use of cookies. It does not store any personal data. |
ซอลลี่อดีตสมาชิกวงเคป๊อป f(x) จากพวกเราไปสัปดาห์กว่าแล้ว เราได้ทราบกันว่าสาเหตุคือการฆ่าตัวตาย แต่คงไม่มีวันที่เรารู้กระจ่างว่าเหตุใดเธอจึงตัดสินใจเช่นนั้น เพราะซอลลี่ไม่ได้ทิ้งจดหมายใดๆ ไว้ แต่ข้อสันนิษฐานถึงสาเหตุหลักๆ คือการเผชิญกับโรคซึมเศร้าและบรรดาคอมเมนต์เกลียดชังในสื่อโซเชียลของเธอช่วงสองสามปีที่ผ่านมา (แต่ต้องย้ำว่านี่เป็นการสันนิษฐาน)
ข่าว บทความ และการสรุปข้อคิด (สมัยนี้ต้องเรียกว่า ‘การถอดบทเรียน’) จากกรณีของซอลลี่ยังคงปรากฏอย่างไม่หยุดหย่อน หนึ่งในคำที่เราได้เห็นกันบ่อยครั้งก็คือ ‘เน็ตติเซน’ (Netizen) อันอ้างอิงถึงบรรดาผู้คนในโลกออนไลน์ที่คอยเข้าไปรุมด่าซอลลี่จนอาจมีส่วนทำให้เธอเลือกทางออกอันน่าเศร้า
ซอลลี่ f(x), ภาพจาก : sulli.smtown.com
คำว่า Netizen เกิดจากการประกอบสร้างของคำว่า internet และ citizen เป็นคำที่เริ่มใช้ในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษที่ 90 ที่อินเทอร์เน็ตเริ่มใช้กันอย่างแพร่หลาย ส่วนภาษาไทยคงเรียกแบบง่ายๆ ได้ว่า ‘ชาวเน็ต’ อย่างที่เราเห็นการพาดหัวข่าวสมัยนี้ว่า “ชาวเน็ตกริ้ว” “ชาวเน็ตแห่ชื่นชม” “ชาวเน็ตรุมแฉ” ฯลฯ
Netizen ถือว่ามีผลกับวารสารศาสตร์ในยุคออนไลน์อย่างมาก อย่างที่เราเห็นว่าข่าวสมัยนี้ชอบแทรกความเห็นของคนตามโซเชียลมีเดียต่างๆ หรือล่าสุดผู้เขียนเจอสิ่งที่ชวนอึ้งมากคือ เว็บข่าวที่รายงานบรรยากาศคอนเสิร์ตด้วยการแปะคลิปวิดีโอจากทวิตเตอร์ของยูสเซอร์คนนู้นคนนี้นับสิบอัน เอ้อ แบบนี้ก็ได้ด้วย
ทีนี้การรายงานข่าวโดยอิงกับ ‘ชาวเน็ต’ ดูจะมีปัญหาและข้อน่ากังขาอยู่พอสมควร อย่างตอนเขียนต้นฉบับชิ้นนี้ก็มีข่าวว่า “ชาวเน็ต(เกาหลี)ไม่พอใจที่ชินดง สมาชิกวง Super Junior อ้วน” ซึ่งมันไม่ได้มีการวัดสถิติเป็นเรื่องเป็นราวว่ามีกี่คนที่ไม่พอใจเรื่องนี้ อาจจะมีคนไม่พอใจสัก 10 คน แต่มีอีกเป็นร้อยที่ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่สำนักข่าวต่างๆ ก็เลือกจะทำให้เรื่องนี้ ‘เป็นข่าว’ ขึ้นมา เพราะมันขายได้ เรียกแขกได้ และตามธรรมชาติด้านมืดของมนุษย์ที่จดจำเรื่องลบมากกว่าเรื่องบวก
อย่างไรก็ดี ชาวเน็ตเกาหลี (ที่เรียกกันว่า K-Netizen หรือ Knetz) ไม่ได้แค่มีปัญหากับเรื่องความอ้วนความผอมของดารา บางครั้งพวกเขาก็ร้ายกาจอย่างเหลือเชื่อ เช่นว่าหลังจากซอลลี่เสียชีวิต Knetz พากันไปถล่มอินสตาแกรมของชเวจา—แฟนเก่าของซอลลี่—ว่าแกคือสาเหตุที่ทำให้เธอตาย หรือเมื่อวิคตอเรียสมาชิก f(x) ไม่โพสต์อะไรถึงซอลลี่ เธอก็ถูกรุมด่าว่าใจร้าย แต่พอเธอรีบเดินทางจากจีนแผ่นดินใหญ่ (บ้านเกิด) มาร่วมงานศพที่เกาหลี ชาวเน็ตก็โวยวายว่า “สายไปแล้ว มาอะไรป่านนี้” จนวิคตอเรียทนไม่ไหวต้องออกมาตอบโต้ทำนองว่า “อย่ามาตัดสินคนอื่น เก็บคำบางคำไว้กับตัวเองดีกว่านะ”
ปัญหาเรื่องการกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ต (cyberbully) เป็นประเด็นที่สังคมเกาหลีถกเถียงกันมาพักใหญ่แล้ว ตัวซอลลี่เองก็มีส่วนร่วมด้วยการเป็นหนึ่งในพิธีกรหลักของรายการโทรทัศน์ The Night of Hate Comments ที่ให้เหล่าคนดังมาอ่านคอมเมนต์แย่ๆ เกี่ยวกับตัวเองและวิธีการรับมือต่อมัน อย่างไรก็ดี หลังจากซอลลี่เสียชีวิตมีการถกเถียงกันว่ารายการนี้อาจจะส่งผลทางลบกับเธอ ทั้งการต้องมานั่งอ่านข้อความด่าทอตัวเองออกอากาศ รวมถึงการที่เธอแสดงท่าทีไม่แยแสต่อความเห็นเหล่านั้นก็ยิ่งทำให้ชาวเน็ตที่เป็น ‘กองแช่ง’ ยิ่งเดือดหนักและด่าหนักกว่าเดิม (ปัจจุบันรายการยุติการออกอากาศแล้ว)
ถามว่าทางศิลปินหรือต้นสังกัดมีนโยบายจัดการกับชาวเน็ตจอมป่วนอย่างไรบ้าง ที่เห็นเป็นประจำคือการประกาศว่าจะดำเนินการทางกฎหมายกับบรรดาความคิดเห็นแนวมุ่งร้าย (หรือที่เห็นตามข่าวบ่อยๆ ด้วยวลีทำนองว่า To take legal action against malicious comments บลาๆ) แต่พอทุกค่ายทยอยกันประกาศแบบนี้มันก็กลายเป็นคำขู่ที่ทุกคนชินชาและเฉยเมยต่อมันไปในที่สุด
ตัวซอลลี่เองเคยดำเนินคดีกับเกรียนคีย์บอร์ดที่ด่าเธอ แต่กลับกลายว่าอีกฝ่ายเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยที่อายุเท่ากับเธอ สุดท้ายซอลลี่ใจอ่อนไม่แจ้งความต่อเพราะไม่อยากตัดอนาคตอีกฝ่าย หรือเมื่อไม่กี่วันก่อนชาวเน็ตที่ปล่อยข่าวว่าซันนี่วง Girls’ Generation มีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับนักแสดงรุ่นใหญ่อีซอจินก็ถูกตัดสินจำคุกหกเดือนและต้องทำงานบริการสังคม 80 ชั่วโมง เป็นเรื่องที่ดีเบตต่อได้ว่าเป็นการลงโทษที่สมควรหรือยัง นอกจากนั้นยังมีพรรคการเมืองที่พยายามผลักดันกฎหมายชื่อ Sulli Act ที่ให้ทุกคนใช้ชื่อ-นาสกุลจริงในการแสดงความเห็นทางอินเทอร์เน็ต
อาจเพราะผู้เขียนเคยออกพ็อกเก็ตบุ๊กเกี่ยวกับวงการเคป๊อป ช่วงที่ซอลลี่เสียชีวิตใหม่ๆ จึงมีหลายสำนักข่าวติดต่อขอสัมภาษณ์ แต่สุดท้ายก็ปฏิเสธไปทั้งหมด เนื่องจากพอเดาได้ว่ามันต้องมีคำถามประเภท “เราได้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์นี้?” หรือ “เราจะทำเช่นไรไม่ให้เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นอีก?” ซึ่งก็จนปัญญาจะสรรหาคำตอบ แถมส่วนตัวยังมองโลกในแง่ร้ายว่าเรื่องเช่นนี้จะขึ้นอีกในอนาคต
ถึงกระนั้นผู้เขียนไปอ่านเจอคำแนะนำของนักแสดงหญิงเบจางอ๊กผู้คร่ำหวอดในวงการมากว่าสามสิบปี เธอแนะนำเหล่ารุ่นน้องว่าอย่าอ่านคอมเมนต์ใดๆ ด้วยเหตุผลว่า “คนเราไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้อีกต่อไปเมื่อได้รู้ว่ามีใครสักคนไม่ชอบเรา พวกเขาบอกว่ามันโอเคที่จะถูกเกลียด แต่มันไม่ใช่เช่นนั้นหรอก เราต้องรู้จักยับยั้งตัวเองและแค่มุ่งไปยังเป้าหมายของเรา”
ฟังดูเป็นเรื่องที่ทำได้อยากเหลือเกินในยุคที่โซเชียลมีเดียกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและช่องทางทำมาหากิน แต่ในโลกที่โหดร้าย การป้องกันตัวก็อาจจะต้องใช้วิธีที่หักดิบไม่ประนีประนอมเช่นนี้
Illustration by Kodchakorn Thammachart
You might also like
Share this article