ก้มหน้าเล่นโทรศัพท์ทีไร เงยหน้าขึ้นมาอีกทีก็กลายเป็นนักเดินทางข้ามกาลเวลาไปแล้ว นี่เราสไลด์หน้าจออ่านเรื่องราวของคนอื่นไป 3 ชั่วโมงติดแล้วเหรอเนี่ย ยังไม่ได้ทำอย่างอื่นเลย
ขึ้นชื่อว่าเทคโนโลยีก็ต้องเป็นเรื่องดีอยู่แล้ว สมัยนี้โทรศัพท์แค่เครื่องเดียวก็ทำอะไรได้ตั้งหลายอย่าง จะติดต่อเพื่อนที่อยู่ไกลออกไปคนละซีกโลก หาเส้นทางลัดเลาะในซอยสุขุมวิทเพื่อเลี่ยงรถติดตอนเย็น ส่องแฟชั่นล่าสุดในไอจีดารา หรือเกาะติดดราม่าบนทวิตตอนทำงานก็ได้หมด
แต่ก็เป็นที่รู้กันดีว่ามันเป็นดาบสองคมที่จะช่วงชิงเวลาชีวิต สุขภาพกาย และสุขภาพจิตของเราไป ถ้าเป็นแบบนี้แล้วเราจะอยู่ร่วมกับกระแสข้อมูลบนโลกอินเทอร์เน็ตยังไงให้ไม่หนักสมองมากจนเกินไปนัก
คอนเทนต์บนโลกโซเชียลส่งผลกับสมองเราด้วยเหรอ?
มนุษย์เราถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเข้าสังคม สมองของเรามีเครือข่ายของเซลล์ประสาทที่เหนี่ยวนำให้เราสร้างความสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่นมาตลอด ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยใดก็ตาม ซึ่งทุกอย่างนี้เกิดขึ้นที่สมองส่วนหน้า ที่อยู่ข้างหลังหน้าผากของเรานี่เอง
เริ่มจากวัยแรกเกิดจนถึงวัยเด็ก เราต้องการความสนใจจากผู้ใหญ่เพื่อที่จะช่วยให้สมองส่วนหน้าของเราเติบโตขึ้น เราเรียนรู้ที่จะเข้าหาผู้คน อันนำมาส่ช่วงวัยรุ่นที่หลายคนเรียกว่าวัยต่อต้าน ถึงจะอยากเป็นหมาป่าเดียวดายขนาดไหน แต่วัยรุ่นก็เป็นวัยที่เราต้องการยอมรับจากกลุ่มเพื่อนมากที่สุด จนกระทั่งเติบโตเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ เราก็ยังต้องการสายใยความสัมพันธ์กับผู้อื่นอยู่ดี เรามีเพื่อนที่สนใจในสิ่งเดียวกัน เราร่วมงานกับคนอื่นเพื่อสร้างสรรค์ผลงานสุดเจ๋ง เราเชื่อมโยงกับคนที่เรารักไปด้วยกันตลอดชีวิต
Carl Marci จิตแพทย์และนักประสาทวิทยาของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดได้กล่าวไว้ในหนังสือ Rewired: Protecting Your Brain in the Digital Age ว่า สมองส่วนหน้าของเราเป็นส่วนที่แทบจะสำคัญที่สุด และสมองส่วนหน้าที่ ‘แข็งแรง’ คือ ความแตกต่างระหว่างความเข้าใจกับแรงกระตุ้น สมาธิและความฟุ้งซ่าน รวมไปถึงปฏิกิริยาตอบโต้และการสะท้อนตัวเอง
แม้ว่าสมองส่วนหน้าไม่ได้เป็นจุดกำเนิดของอารมณ์ แต่มันช่วยให้เราตีความสิ่งต่างๆ ในโลกที่เต็มไปด้วยอารมณ์หลากหลายรูปแบบได้ และยังส่งผลกับความสามารถในการสร้างสายสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วย แต่ในยุคที่เราถูกรายล้อมไปด้วยข้อมูลจากโลกอินเทอร์เน็ต กำลังทำให้สมองส่วนหน้าของเรา ‘เหนื่อยล้า’
เมื่อสมองส่วนหน้ากำลังจะรับไม่ไหว
เราเข้าใจว่าโลกนี้มันแสนเหงา โทรศัพท์มือถือเลยแทบจะกลายเป็นส่วนสำคัญของชีวิต แต่การใช้มันมากเกินไปอาจหมายถึงการที่ปล่อยให้มันมาครอบงำอารมณ์ของเรา สังเกตได้ว่าเราจะไม่ทนกับความเบื่อที่เกิดขึ้นอีกต่อไป เพราะเราไม่จำเป็นต้องทน แค่หยิบโทรศัพท์ขึ้นมากดเข้าแอปฯ อะไรสักอย่าง การกระตุ้นสมองและการให้รางวัลสมองก็เกิดขึ้นได้แค่ปลายนิ้วแล้ว
และไม่รู้ว่าตั้งแต่เมื่อไหร่ที่การพิมพ์คุยกันเริ่มมาทดแทนการคุยกันแบบต่อหน้า หรือเกมในโทรศัพท์เริ่มเบียดบังเวลาที่เราจะได้ใช้กับครอบครัว คอนเทนต์หลากหลายในโลกออนไลน์เริ่มทำให้สายใยระหว่างเพื่อนนั้นเบาบางลง และที่สำคัญคือมันกำลังทำให้สมองส่วนหน้าของเรารู้สึกสับสน
เรากำลังอยู่ในโลกที่มีความเสี่ยงที่จะสร้างพฤติกรรมที่ส่งผลกับสมองโดยไม่รู้ตัว และพฤติกรรมเหล่านี้ บางครั้งก็แปรเปลี่ยนไปสู่การ ‘ขาดไม่ได้’ เพราะสมองส่วนหน้าของเราไม่สามารถต้านทานสิ่งล่อใจในโทรศัพท์มือถือได้ เราอาจสังเกตตัวเองได้ว่าเมื่อมีการแจ้งเตือนเข้ามาเมื่อไหร่ เราก็อยากจะหยิบมันขึ้นมาดูเมื่อนั้นว่าเป็นข้อความของใครกันนะ หรือเราอยากจะดูวิดีโอในขณะที่ชีวิตจริงก็กำลังทำอย่างอื่นอยู่
โซเชียลมีเดียส่วนใหญ่ถูกออกแบบมาเพื่อกระตุ้นให้เราต้านทานไม่อยู่ และอยากจะกดกลับเข้ามาในแอปฯ อีกครั้ง ซึ่งนั่นไม่ส่งผลดีกับสมองส่วนหน้านัก เพราะเป็นทั้งต้นตอของความเครียด ความเศร้า ความหลงตัวเอง และความเหงา แต่ถ้าเรารู้เท่าทันตัวเอง และสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือของเราได้ สมองส่วนหน้าของเราก็จะกลับมาแข็งแรงขึ้นดังเดิม
พฤติกรรมที่ลองตัดทิ้งไป แล้วทำให้สมองกลับมาสดใสอีกครั้ง
ให้เวลาสมองได้พักจากการสลับแอปฯ ไปมาบ้าง: Doreen Dodgen-Magee นักจิตวิทยาได้ให้คำแนะนำไว้ว่า ทันใดที่เราหยิบโทรศัพท์ขึ้นมา เรากดเข้าไปดูข้อความ เสร็จแล้วก็แวะเช็คฟีดข่าวอีกนิด นั่นแจ้งเตือนโปรโมชั่นจากแอปฯ ซื้อของ ต้องกดเข้าไปเลือกของใส่ตะกร้าสักหน่อย การที่เรากระโดดไปมาอย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุด สมองของเราจะจำรูปแบบการสลับแอปฯ ไปมาแบบนี้ แล้วทำซ้ำวนไป นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมเราถึงสลับแอปฯ และรีเฟรชหน้าฟีดใหม่อยู่อย่างนั้น เธอจึงแนะนำให้เราตัดใจจากวงจรนี้ เมื่อเริ่มรู้ตัวว่ากำลังสลับแอปฯ อย่างไร้จุดหมาย ให้ตัดวงจรของมันในทันที
กำลังรู้สึกไม่พอใจ? อย่าเพิ่งโพสต์: โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ส่วนตัวที่สามารถพิมพ์อะไรก็ได้ตามใจเราก็จริง แต่การพิมพ์ด่าใครสักคนขึ้นมาลอยๆ นั้นเป็นเหมือนการแผ่พลังงานลบออกมาให้กับใครก็ตามที่มาอ่านโดยไม่ตั้งใจ นอกจากจะส่งผลไม่ดีกับคนที่มาอ่านแล้ว ยังส่งผลไม่ดีกับตัวเราในด้านของการจัดการอารมณ์ของตัวเองอีกด้วย ครั้งหน้าอาจลองพูดคุยกับตัวเองหน้ากระจกแทน ว่าตอนนี้เรารู้สึกอย่างไร เราอยากทำอะไรกับเรื่องนี้ และเราจะจัดการกับความรู้สึกไม่พอใจนี้อย่างไรดี
ลองเปลี่ยนจากการพิมพ์ เป็นการโทรคุย: การพิมพ์คุยกันนั้นสะดวกก็จริง เราสามารถทิ้งข้อความเอาไว้ แล้วอีกฝ่ายว่างเมื่อไหร่ค่อยมาตอบก็ได้ ไม่เหมือนการโทรที่ต้องรอให้ว่างพร้อมกันทั้งคู่ แต่การพิมพ์คุยกันก็ทำให้เราห่างเดินจากการโทร จนรู้สึกไม่คุ้นชิน และเกิดอาการกลัวการโทรคุยกับใครสักคนไปในที่สุด การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพคือการได้พูดคุยกัน ได้จับความรู้สึกจากน้ำเสียง ได้อ่านบรรยากาศ ซึ่งก็เป็นหนึ่งในซอฟต์สกิลที่สำคัญ
ลองวางมือถือขณะทำกิจกรรมอื่น: เมื่อทุกอย่างอยู่ที่ปลายนิ้ว การจะวางมือถือทิ้งไว้ระหว่างที่กำลังเข้าห้องน้ำ อาบน้ำ หรือกินข้าวนั้นเป็นเรื่องยากมาก Dodgen-Magee ก็ยังแนะนำอีกว่าการทำหลายอย่างในคราวเดียวกันนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับสมอง ลองจดจ่อทีละหนึ่งอย่าง แล้วจะรู้สึกว่าเบาสมองลงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
ถึงแม้ว่าจะมีความกังวลเกิดขึ้นว่าผลกระทบของโทรศัพท์และโซเชียลมีเดียจะรบกวนชีวิตและสมองของเรา แต่มันก็ไม่ได้ไม่ดีไปเสียหมด เพราะมนุษย์มีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกเพื่อใช้ชีวิตร่วมกับสิ่งใหม่ๆ อยู่แล้ว
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Manita Boonyong