“แล้วฉันล่ะ!”
ท่ามกลางเนื้อหาออนไลน์หลายร้อยล้านชิ้นบนโลกอินเทอร์เน็ต มีบ้างมั้ยขณะดูคลิปที่เราเผลอคิดกับตัวเองอย่างรำคาญใจว่า ‘คนที่ทำคลิปอวดแฟนพวกนี้ขึ้นมา เขาไม่เห็นใจคนโสดบ้างเลยเหรอ’ หรือ ‘สอนทำข้าวผัดปู แบบนี้คนแพ้ปูก็ดูไม่ได้น่ะสิ’
หากคำตอบคือเคยคิดอยู่แวบหนึ่ง คำถามต่อมาคือ หลังจากรู้สึกแบบนั้น เราทำอะไรกันต่อ
ก. คอมเมนต์ตำหนิเจ้าของวิดีโอ
ข. ตั้งสติได้ว่ามันเป็นสิทธิของเขาในการสร้างผลงาน และเราอาจจะไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายมาตั้งแต่แรก
อันที่จริง ประเด็นคงไม่ได้อยู่ที่ว่าเราเลือกทำอะไรต่อหลังจากได้ดูคลิปหรือเนื้อหาดังกล่าว แต่เป็นทำไมเรื่องราวที่ไม่ได้ใหญ่โตนี้ ถึงสร้างความหงุดหงิดใจให้เราได้ แค่ใครสักคนสร้างผลงานออนไลน์ที่ไม่ตรงใจ มันถึงขนาดที่เราอยากตำหนิหรือต้องขบคิดอะไรมากมายขนาดนี้เชียวหรือ…นี่มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่เนี่ย
เมื่อเดือนกันยายน ปี 2023 ที่ผ่านมา ซาราห์ ล็อควูด (Sarah Lockwood) เจ้าของบัญชี TikTok @sarahthebookfairy ได้ออกมาพูดถึงการกระทำซึ่งอาจเป็นเครื่องบ่งชี้ของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในหมู่ผู้คนที่ถูกห้องล้อมด้วยโซเชียลมีเดีย โดยซาราห์เล่าว่า เธอมีโอกาสรับชมคลิปใน TikTok คลิปหนึ่ง เนื้อหาในคลิปพูดถึงสูตรการทำซุปถั่วสำหรับรับประทานในช่วงที่มีประจำเดือน
หากมองอย่างผิวเผิน เนื้อหาดังกล่าวก็ดูจะเป็นประโยชน์สำหรับคนทั่วไป เป็นเกร็ดความรู้ด้านโภชนาการที่น่าจะช่วยให้ผู้มีประจำเดือนหลายคนใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น ทว่าคอมเมนต์ที่ปรากฏในคลิปกลับไม่ได้เป็นไปในทิศทางบวกอย่างที่หลายคนคิด
“ถ้าฉันไม่ชอบถั่วล่ะ ฉันต้องใช้อะไรในสูตรนี้”
“ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีประจำเดือนนะ แล้วเมนูนี้ยังจำเป็นอยู่มั้ย”
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากหลากหลายความคิดเห็นที่เชื่อว่าเจ้าของคลิปเองก็น่าจะคาดไม่ถึง ซึ่งหลังจากที่ซาราห์ได้เห็นคอมเมนต์ดังกล่าว เธอก็ถึงกับไปไม่เป็นและเริ่มตั้งคำถามต่อพฤติกรรมของผู้ชม ถึงขนาดต้องสบถออกมาว่า “ถ้าไม่ชอบถั่ว ทำไมพวกเขาไม่สั่งตัวเองล่ะว่าก็อย่ามาดูคลิปสอนทำ ‘ซุปถั่ว’ สิโว้ย!” และจากนั้น เธอก็ได้ให้นิยามปรากฏการณ์ที่กำลังแพร่สะพัดในโลกออนไลน์นี้ว่า ‘What About Me Effect’
ปกติเลือกได้ดั่งใจ แล้วทำไมคลิปนี้จึงไม่คิดถึงใจเราบ้าง
What About Me Effect หรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘WAME’ คือสภาวะที่โลกออนไลน์ค่อยๆ ขัดเกลาให้เราเรียกร้องจากสิ่งต่างๆ ว่า ‘แล้วฉันล่ะ’ เพราะแม้จะมีเนื้อหามากมายนับไม่ถ้วน แต่เมื่อผู้ใช้สื่อสามารถเลือกได้เองว่าจะใช้สื่อประเภทไหน เปิดดูเมื่อไหร่ และกดฟังจากช่องทางใด นั่นย่อมหล่อหลอมให้เกิดความเคยชินจนเราเองเผลอคิดไปว่า ทุกอย่างถูกออกแบบมาเพื่อเรา เราควบคุมและจัดแจงทุกอย่างได้เพียงปลายนิ้ว
ด้วยเหตุนี้ เมื่อเราบังเอิญไปเจอบางคลิป บางข่าวที่อยู่นอกเหนือจากความสนใจหรือสิ่งที่คุ้นเคย เราจึงเผลอตั้งแง่ในทันทีว่า ทำไมผู้ที่จัดทำเนื้อหาตัวนี้ถึงไม่คิดถึงผู้บริโภคที่มีรสนิยมแบบเราล่ะ
นอกจากตัวอย่างเรื่องซุปถั่ว ข้ามไปไกลกว่านั้นก็เคยมีความคิดเห็นต่อคลิปวิดีโอสอนแต่งผมในลักษณะที่ว่า ถ้าสมมติว่าฉันหัวล้าน ฉันจะทำคลิปนี้ไปทำไม หรือล่าสุดในประเทศไทยก็มีคนออกมาโจมตีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่ผลิตขึ้นโดยมีเปลือกกุ้งเป็นวัตถุดิบหลักว่าไม่คำนึงถึงผู้ที่แพ้กุ้ง
ทั้งที่จริงๆ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซึ่งคิดค้นโดยมหาวิทยาลัยมหิดลนี้ มีส่วนช่วยทั้งลดปริมาณขยะในท้องทะเล และให้สารอาหารที่มีประโยชน์แก่ร่างกาย แต่มันกลับถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยคนบางกลุ่ม
‘หรือปรากฏการณ์นี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เกิดจากเหตุผลง่ายๆ อย่างการที่คนคอมเมนต์ขาดการคิดวิเคราะห์เพียงเท่านั้น’
ประโยคข้างต้นเองก็เป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจ เพราะอันที่จริง หากคนบนโลกอินเทอร์เน็ตหยุดคิดเพียงไม่กี่วินาที เขาหรือเธอก็อาจเข้าใจได้ว่า นี่ไม่ใช่คลิปที่สร้างมาเพื่อเรา และก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วกับการที่โลกนี้มีทั้งเนื้อหาที่เราชอบและเราชัง มากไปกว่านั้น แท้ที่จริงผู้แสดงความคิดเห็นอาจจะเข้าใจสารทั้งหมด เพียงแต่พิมพ์ไปเป็นมุกตลกหรือพิมพ์บอกเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม เหมือนอย่างที่ตอนนี้ คลิปซุปถั่วต้นเรื่องก็เต็มไปด้วยการแสดงความคิดเห็นที่แยกไม่ออกแล้วว่า ข้อความไหนคือข้อความที่ผู้พิมพ์คิดแบบนั้นจริงๆ หรือประโยคใดเป็นเพียงการปั่นเล่นๆ ตามประสาชาวเน็ต
เราอยู่ใจกลางเสียงสะท้อนในห้องที่มองไม่เห็น
อย่างไรก็ดี แม้จะมีปัจจัยทั้งเรื่องการขาดการคิดวิเคราะห์ ความพยายามที่จะสร้างเสียงหัวเราะ รวมไปถึงการอยากมีส่วนร่วมบนพื้นที่สาธารณะ นักจิตวิทยาหลายคน ตลอดจนงานวิจัยมากมายก็ชี้ว่า ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้สร้างปรากฎการณ์ What About Me Effect ให้เกิดขึ้นจริง แถมยังมีโอกาสที่มันจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
อินเทอร์เน็ตทำให้มนุษย์มีพฤติกรรมที่เป็นปัจเจกมากขึ้น มนุษย์ไม่จำเป็นต้องทำ ดู หรือฟังอะไรเหมือนๆ กันแบบในอดีต เราสามารถเลือกสรรสิ่งที่สนใจได้ตามใจ และยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเราชอบอะไรแล้ว อัลกอริทึ่มก็สามารถกระตุ้นให้เราดูสื่อประเภทนั้นซ้ำๆ ได้โดยที่เราแทบไม่ต้องเลือกเอง อีกทั้งมันยังช่วยให้เราเข้าถึงสิ่งต่างๆ ได้ทันทีจนแทบจะลืมไปแล้วว่า คำว่ารอคืออะไร เบื่อเหรอ…ก็แค่กดสคิปไป 10 วินาที ไม่ชอบเหรอ…ก็แค่เลื่อนไปดูอย่างอื่นแทน
การถูกแวดล้อมด้วยองค์ประกอบเหล่านี้ทำให้มนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ตกอยู่ในห้องแก้วที่มองไม่เห็น เป็นห้องที่อุดมไปด้วยสิ่งที่เรารักและชื่นชอบจนจำไม่ได้ว่าสภาพภายนอกเป็นอย่างไรและมีเนื้อหาสาระอะไรอยู่บ้าง อันสอดคล้องกับทฤษฎีที่เรียกกันว่า ‘Echo Chamber’ หรือห้องเสียงสะท้อน
ดร.พิรงรอง รามสูต ศาสตราจารย์ที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เคยอธิบายปรากฏการณ์ Echo Chamber ในสังคมไทยไว้ว่า “การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น เฟซบุ๊กของผู้คนในสังคมที่แตกแยกอย่างรุนแรงก็อาจกลายเป็นช่องทางในการ ‘เลือกรับ’ เฉพาะข้อมูลที่ปัจเจกคนนั้นๆ ต้องการที่จะได้ยิน ได้ฟัง ส่วนความเห็นที่ไม่ต้องการก็จะถูกปิดตาย เช่น การกดอันเฟรนด์เพื่อนที่มีความคิดแตกต่าง เป็นต้น ฉะนั้น การใช้สื่อสมัยใหม่จึงเป็นเพียงเสียงสะท้อนของความเห็นที่เราอยากได้ยินซ้ำแล้วซ้ำอีก เครือข่ายเพื่อนในเฟซบุ๊กจึงเป็นเครือข่ายของคนที่คิดเหมือนๆ กัน และมีความเป็นไปได้ที่จะผลิตสร้างความเห็นที่มีเนื้อหาสร้างความเกลียดชังต่อคนกลุ่มอื่นๆ”
หากต่อยอดจากสิ่งที่ ดร.พิรงรองอธิบาย เราจะเข้าใจได้ว่า เมื่อผู้คนอาศัยอยู่ภายในกรอบแก้วที่กระตุ้นเตือนให้เรารู้สึกตลอดเวลาว่า อันนู้นก็ฉัน อันนี้ก็เรา เราคือคนสำคัญ ทุกเนื้อหาคำนึงถึงความปรารถนาและชื่นชอบของเราโดยเฉพาะ วันหนึ่ง เมื่อเราเดินออกจากกรอบแก้วนี้โดยไม่ตั้งใจ เผอิญไถหน้าฟีดจนได้พบกับเนื้อหาใหม่ๆ เนื้อหาที่ไม่ได้มองว่าฉันสำคัญ วันนั้นเอง ปรากฏการณ์ที่ชื่อ What About Me จึงอุบัติขึ้น
“มันไม่เหมาะกับฉัน แต่นั่นก็ไม่เป็นไรสักหน่อย”
ความท้าทายต่อมาหลังทราบเบื้องหลังของสภาวะ WAME คือเราจะแก้ไขสิ่งนี้ หรืออย่างน้อยที่สุด ลดทอนความอึดอัดภายในจิตใจของตัวเองได้อย่างไร ซึ่ง 3 ขั้นตอนง่ายๆ ที่เราอยากแนะนำคือ
- เปลี่ยนจุดสนใจ – จริง ที่เราอาจจะแพ้กุ้ง แต่ก็ใช่ว่าความรู้เรื่องเปลือกกุ้งเป็นสิ่งไม่มีประโยชน์ หากเราลดความใจร้อนลงมา แล้วเปลี่ยนจุดสนใจจาก ‘ทำไมเขาไม่สนใจเรา’ เป็น ‘ฉันไม่ชอบสิ่งนี้ก็จริง แต่ฉันเรียนรู้อะไรจากสิ่งนี้ได้บ้างนะ’ ก็คงช่วยให้อะไรหลายอย่างดีขึ้น เพราะนอกจากจะไม่เป็นการรบกวนผู้อื่นแล้ว เรายังได้ความรู้ติดตัวเพิ่มขึ้นด้วย
- แล้วฉันล่ะ…อ๋อ ฉันก็เป็นแค่คนๆ หนึ่ง – ในเมื่อห้ามความคิดไม่ได้ เราอาจต้องข้ามไปจัดการที่ผลลัพธ์ อธิบายขยายความคือ เมื่อเกิดความรู้สึกขัดหูขัดตาหรือน้อยใจว่าทำไมผู้ผลิตไม่คิดถึงผู้บริโภคแบบเราบ้าง ก็ให้พยายามตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่า สุดท้ายแล้ว เราต่างก็เป็นเพียงคนธรรมดาคนหนึ่ง แล้วทำไมผู้อื่นถึงจะต้องคำนึงถึงเราขนาดนั้น สัจธรรมคือโลกนี้ไม่ได้หมุนรอบตัวเรา และเอาเข้าจริง ต่อให้บทความนี้ไม่ถูกใจ เพลงนี้ไม่มีเทสต์ คลิปนี้เห่ยมาก ในเฟซบุ๊ก ยูทูบ อินสตาแกรม หรือเอ็กซ์ก็ยังมีความบันเทิงอีกนับแสนที่เราโปรดปราน เพราะฉะนั้นมันคงไม่ได้เป็นอะไรมาก หากจะมีสักหนึ่งผลงานที่ถูกสร้างมาให้คนอื่น
- What about others – เมื่อเจอเนื้อหาที่ไม่ถูกใจ เรามักจะคิดไปก่อนว่า ‘แล้วฉันล่ะ’ ดังนั้น ขั้นตอนสุดท้ายที่น่าจะช่วยปลูกฝังพฤติกรรมใหม่ให้กับเราได้คือ ในวันที่เราดูคลิปที่ชื่นชอบ ให้เราลองตั้งคำถามบ้างว่า แล้วคลิปนี้เหมาะกับคนอื่นบ้างมั้ย มีจุดไหนที่อาจจะไม่ถูกใจคนอื่นรึเปล่า หากสังเกตเห็นจุดเหล่านั้น เราก็ควรจะจดจำไว้ให้ดีว่า นี่ไง มันก็มีเนื้อหาที่สร้างมาเพื่อฉัน และไม่ได้สร้างมาเพื่อคนอื่นเหมือนกัน เพื่อให้วันที่ต้องเจอเนื้อหาที่ไม่ใช่ของเรา เราจะได้เข้าใจมันมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เราต้องแยกให้ออกระหว่าง WAME กับความผิดปกติที่เกิดจากตัวสื่อเอง เพราะในบางครั้ง เนื้อหาก็อาจจะไม่ได้ถูกผลิตขึ้นมาโดยมีเราเป็นกลุ่มเป้าหมาย แต่ก็มีหลายครั้งที่การไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายเป็นเพียง ‘ข้ออ้างของการผลิตซ้ำค่านิยมที่เลวร้ายบางอย่าง’ เช่น หากรายการโทรทัศน์เล่นสนุกกับวัฒนธรรมการข่มขืน (Rape Culture) แล้วเรารู้สึกว่า ‘แล้วฉันล่ะ ฉันไม่ได้อยากดูอะไรแบบนี้ และสิ่งนี้มันก็ไม่ดีเอามากๆ’ ตัวอย่างนี้ไม่ใช่ What About Me Effect เราไม่ได้ตะขิดตะขวงใจเพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่ถูกให้ความสำคัญ แต่เราเล็งเห็นว่าผู้ผลิตกำลังส่งต่อเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมและเป็นภัยต่อสังคมโดยรวม จริงอยู่ที่อาจจะมีผู้ชมบางกลุ่มมองว่า รายการประเภทนี้สร้างความเฮฮาให้กับพวกเขาได้ ทว่ามันไม่อาจปฏิเสธข้อเท็จจริงที่ว่า รายการกำลังส่งเสริมให้พฤตกรรมแห่งการกดทับทั้งหลายยังมีลมหายใจต่อไป ซึ่งนั่นเป็นเรื่องปกติที่ผู้คนในสังคมจะตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมของตัวรายการ
สุดท้าย หากอ่านมาถึงตรงนี้แล้วรู้สึกว่า นี่ไม่ใช่บทความสำหรับเรา ก็อยากให้ทุกคนใจเย็นๆ แล้วบอกกับตัวเองว่า อย่างน้อยฉันก็ได้รู้จักปรากฏการณ์ What About Me มากขึ้น และต่อให้ฉันไม่ชอบมัน นั่นก็ไม่เป็นไร เพราะผู้อื่นอาจชอบก็ได้…
ก็โลกใบนี้ไม่ได้หมุนรอบตัวฉันแค่คนเดียวนี่นา
อ้างอิงจาก