ในวันฝนตกรถติด การเดินทางระยะใกล้หรือเดินทางไปยังรถไฟฟ้า อาจเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับใครหลายคน เพราะถ้านั่งวินมอเตอร์ไซค์ เงินในกระเป๋าก็อาจจะไม่เป็นใจสักเท่าไร แถมต้องลุ้นเรื่องความปลอดภัยอีกต่างหาก แต่ถ้าตัดสินใจเดิน ทั้งอากาศและฟุตบาทเมืองไทยก็ไม่เอื้อให้เราเดินได้อย่างสะดวกสบาย
สิ่งเหล่านี้กลายเป็นส่วนผสมของไอเดีย ‘MuvMi’ สตาร์ทอัพอายุราวๆ 4 ขวบที่ต้องการแก้ปัญหาให้การเดินทางตามตรอกซอกซอยในกรุงเทพฯ (Microtransit) สะดวกขึ้น
“คน 80-90% ไม่ได้อยู่ติดรถไฟฟ้า แล้วก็เดินไปไม่ได้เพราะว่าฟุตบาทมันไม่ดี… เราอยากจะสร้างทางเลือกให้คนที่จะมาใช้ระบบขนส่งมวลชนสะดวกขึ้น เลยคิดว่าจะทำยังไงให้ราคาถูกพอ และปลอดภัยพอให้เขาขึ้นไปได้ทุกวัน”
ตี้-ศุภพงษ์ กิติวัฒนศักดิ์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง MuvMi เล่าถึงความตั้งใจของสตาร์ทอัพนี้ โดยจุดเด่นของ MuvMi คือความสะดวก ปลอดภัย ราคาที่จับต้องได้ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นรถพลังงานไฟฟ้า (EV) ที่สามารถใช้แอพฯ ปักหมุดเรียก แถมยังหารค่ารถกับคนที่ไปทางเดียวกันได้อีกด้วย
แม้ภาพจำของ MuvMi สำหรับหลายๆ คนจะเป็นรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าขนาดกระทัดรัด แต่สำหรับตี้ เขามองว่า MuvMi เป็น (และอยากจะเป็น) มากกว่านั้น…
จากปัญหาการเดินทางระยะใกล้ในกรุงเทพฯ
“เป้าหมายของเราคือโฟกัสในพื้นที่ Microtransit ก็คือการเดินทางระยะสั้นๆ เหมือนว่าทุกวันนี้ เราเลือกที่อยู่อาศัยในแต่ละย่าน เพราะย่านนั้นน่าอยู่ เราเลือกการใช้ชีวิตในพื้นที่นั้น แล้วตามข้อมูลสถิติ เราเดินทางใกล้ๆ บ้านตัวเองเยอะ อัตราส่วนมันคือ 80 : 20 แปลว่าคุณเดินทางในพื้นที่ใกล้ๆ บ้าน ไปซื้อของ ใช้ชีวิต ทำธุระนู่นนี่ในย่านบ้านคุณ แล้วการเดินทางแบบนี้คือสิ่งที่เราอยากจะสร้างทางเลือกให้เขาใหม่”
แม้ว่าเป้าหมายในเชิงพื้นที่จะชัดเจน แต่เชื่อว่าคำถามแรกที่หลายคน (รวมทั้งเรา) สงสัยคือ ทำไมต้องเป็น ‘รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า’ ซึ่งตี้ให้คำตอบกับเราว่า
“ณ วันนั้น เทคโนโลยีพวก mobile เริ่มมาแล้ว เราก็มีความคุ้นเคยกับการโบกรถ เรียกรถด้วยแอพพลิเคชั่น เราเลยคิดว่าจะสร้างบริการหนึ่งที่ชื่อว่า MuvMi ขึ้นมา โดยเป็นแบบ Ride-sharing ก็คือเอาคนที่เดินทางไปด้วยกันไปทางเดียวกัน เพื่อให้เขามาหารค่าใช้จ่ายกันได้ ถ้าเขาขึ้นทุกวันแล้วสะดวกพอ มันก็ทำให้เขาสามารถไปใช้รถขนส่งสาธารณะได้เพิ่มขึ้น อันนั้นคือความตั้งใจของเรา”
“เสร็จแล้วเราก็มองต่อว่า ตัวแอพฯ เราทำได้ แต่ต้องอาศัยตัวรถที่จะไปรับด้วย แล้วรถอะไรที่จะเหมาะสมไปวิ่งในถนนในกรุงเทพฯ ที่มันเล็กๆ อยู่ในตรอกซอกซอยซึ่งคนอาศัยเป็นส่วนใหญ่ บางทีไม่มีฟุตบาทด้วย เราก็พบว่าสิ่งที่มีอยู่แล้วในสังคมไทยคือรถตุ๊กตุ๊กนี่แหละ แต่ถ้าพาคนที่ไม่รู้จักกันไปนั่งด้วยกันมันก็ไม่สะดวกใจ รวมถึงปัญหาเรื่องความปลอดภัย ไม่ว่าจะคว่ำง่าย ต้องปีนขึ้นปีนลงและปล่อยมลภาวะที่เยอะ”
และนั่นคือจุดเริ่มต้นของรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าดีไซน์มินิมอลที่เราเห็นในปัจจุบัน โดยสิ่งที่ MuvMi ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ คือเรื่องความปลอดภัย
“ทั้งหมดคือดีไซน์ใหม่หมด มีแค่หน้ากากที่เป็นหน้ากากตุ๊กตุ๊กเหมือนเดิม เรามีการส่งไปสถาบัน MTECH มีการทดสอบโครงสร้าง กันชน การคว่ำ ลดจุดศูนย์ถ่วงไม่ให้รถมันคว่ำ อันนั้นคือเพื่อความปลอดภัย สองคือเพื่อให้คนขึ้นลงสะดวกขึ้น แล้วนั่งได้สบายขึ้น พอเข้าไปนั่งได้สะดวกสบาย รู้สึกว่ามันโปร่ง โล่ง ไม่อึดอัดที่ไปนั่งกับใครก็ไม่รู้”
“แต่เราไม่ได้บอกว่าไปแทนที่ใครนะ เราเห็นว่าตลาดมีช่องว่าง มีความต้องการบางอย่างซึ่งไม่มีใครตอบโจทย์ตรงส่วนนั้น มีแต่ทางเลือกเดิมระหว่างขึ้นสองแถว ช้าหน่อย ขึ้นมอเตอร์ไซค์เร็วหน่อย แต่อันตรายนะ”
“อย่างอารีย์ หลายคนอยากเปิดร้านกาแฟ แต่ถ้าร้านกาแฟทุกร้านมีรถเข้ามาจอด ก็คงไม่มีใครขายได้ เพราะรถก็จะติดจนไม่มีคนอยากมา แต่เราก็มาช่วยเติมตรงนี้ได้ เขาไม่มีที่จอดรถ เราก็ไปช่วยให้ลูกค้าเขาไม่กังวลเรื่องนี้ มาใช้ MuvMi เดินทางถึงได้ มันก็เกิดประโยชน์ต่อร้านเขา ชุมชนเองก็ไม่ต้องทนว่าข้างบ้านมีร้านกาแฟ รถก็ติดอีกแล้ว เพราะมีรถมาจอดขวางหน้าบ้าน”
‘พลังงานไฟฟ้า’ กับเหตุผลที่มากกว่าสิ่งแวดล้อม
แม้บางคนจะมองภาพรถพลังงานไฟฟ้าในมุมของสิ่งแวดล้อม แต่สำหรับ MuvMi เหตุผลหลักคือรถ EV สามารถตอบโจทย์การขนส่งในรูปแบบนี้ได้มากกว่า
“จะมีข้อโต้แย้งว่าไฟฟ้าก็ยังมาจากฟอสซิลอยู่นะ แต่ประสิทธิภาพ (efficiency) ของการผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าก็ยังสูงกว่าการปั่นพลังงานด้วยน้ำมันในรถ และเราสามารถพัฒนาไปใช้ไฟฟ้าที่มันมีความสะอาดมากขึ้น ไม่ว่าจะพลังงานโซลาร์ พลังงานลม หรือพลังงานรูปแบบอื่นๆ รวมถึงการที่มันเป็นไฟฟ้า มันทำให้ข้อมูลของรถพร้อมจะถูกดึงเข้าไปในตัวกลางของเรา มัน digitalize พัฒนาต่อยอดได้ง่ายขึ้น แล้วการเปลี่ยนมาใช้ EV ทำให้รถสามารถมีโครงสร้างรถแบบนี้ได้ ไม่ต้องมีเครื่องยนต์อยู่ข้างล่าง สุดท้ายก็คือดีต่อโลกด้วย เพราะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จนถึงตอนนี้เราวิ่งไป 5 ล้านกว่ากิโลเมตร เราลดไปแล้ว 500 ตัน”
“เรามองว่าถ้าเราจะแก้ปัญหาหนึ่ง มันต้องไม่ไปสร้างปัญหาอื่นอีกเพิ่มขึ้น เราทำเรื่อง mobility มันจะมีผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่ ถ้าเรามีจำนวนที่เยอะแล้วมันไม่ดี มันก็จะสร้างผลกระทบต่อ แล้วในภาคธุรกิจมันก็ต้องมองในระยะยาว เราไม่สามารถอยู่คนเดียวหรือสำเร็จคนเดียวได้ ในภาพรวม ถ้าคุณอยากประสบความสำเร็จ คุณต้องว่าธุรกิจนี้ส่งผลกระทบต่อใครยังไงบ้าง แล้วมันดีต่อโลกนี้ไหม ดีต่อชุมชนหรือคนที่เกี่ยวข้องไหม เพราะสุดท้ายแล้ว มันก็จะกลับมาหาคุณหมด ไม่ว่าจะเร็วจะช้ายังไง”
“โควิด-19 ก็ทำให้ทุกเห็นแล้วว่าทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันแค่ไหน เรื่องที่เกิดขึ้นจากที่หนึ่งที่ไกลมาก แล้วสุดท้ายก็มาถึงเรา แล้วมันก็ส่งผลต่อคนทั่วโลกได้ทันที สิ่งที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมก็ไม่ต่างกัน คุณจะบอกว่าทำไปก่อน เดี๋ยวรวยแล้วค่อยมาคิด ซึ่งจริงๆ เราไม่ต้องรอ วันนั้นคุณอาจจะไม่พร้อม แล้วราคาของการที่ไม่พร้อม ก็อย่างที่เห็น สิ่งแวดล้อมหรือว่าชีวิตเรา ราคานั้นทุกคนก็ไม่อยากจะจ่าย”
อย่างไรก็ตามตี้มองว่า ‘ความยั่งยืน’ ไม่ได้หมายถึงทุกคนหันมาใช้วิธีการเดียวกันทั้งหมด แต่เป็นการใช้ทรัพยากรอย่าง ‘คุ้มค่า’ และ ‘เหมาะสม’ เช่นเดียวกับรถพลังงานไฟฟ้าที่อาจไม่ได้เหมาะกับทุกๆ คนเสมอไป
“ถ้าวันนี้คุณมาถามผมว่าควรจะใช้รถไฟฟ้าไหม ผมก็ต้องถามก่อนว่าจริงๆ แล้วพฤติกรรมที่คุณใช้เป็นยังไง มันคุ้มหรือเปล่า เรื่องพลังงานมันซับซ้อน มีทั้งเรื่องความปลอดภัย (security) ของประเทศชาติ เรื่องความพร้อมทางโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) เรื่องการลงทุน หรือจังหวะเวลาของเทคโนโลยี”
“แต่ถ้าบางภาคส่วนที่สามารถทำได้ แล้วทำได้เลย อันนั้นควรจะเปลี่ยน อย่างที่มันเกิดผลกระทบเยอะๆ คือขนส่งสาธารณะ ถ้าวันหนึ่งวิ่งเยอะ แล้วก็วิ่งไกล เกิดมลภาวะกระจายทั้งเมือง อันนี้ควรทำ ทำได้ แต่ถ้าบอกว่าคนทั่วไป วันหนึ่งวิ่งแค่ไม่กี่กิโลเมตร มีต้นทุนของการเปลี่ยน (switching cost) ขนาดนี้ ผมคิดว่ามันอาจจะไม่คุ้ม มันก็มีหลายมิติ แต่เมื่อเทรนด์มันไป กระแสมันไป รวมถึงเทคโนโลยีมันอาศัยขนาดตลาดประมาณหนึ่ง ถ้าขนาดตลาดเริ่มกว้างแล้ว ต้นทุนก็เริ่มลง ก็จะทำให้การเข้าถึงมันง่ายแล้วมันเริ่มคุ้ม ก็จะเริ่มเมคเซนส์ขึ้นในมุมของการบริหารจัดการ พอถึงจุดนั้นก็ค่อยว่ากันอีกที”
“แล้วเมืองไทยเราไม่ได้เป็นต้นตอของเทคโนโลยี มันเป็นสิ่งที่เรานำมาปรับใช้ ฉะนั้นต้นทุนเราแพงกว่าเขา ดังนั้นเราควรจะเลือกสิ่งที่เหมาะสม ในเวลาที่เหมาะสม เพราะถ้ามองในเรื่องสิ่งแวดล้อม อย่างแรกเลยคือ ‘ลด’ การใช้ทรัพยากรก่อน ใช้สิ่งที่มันมีอยู่ให้มันคุ้มค่าที่สุด ทรัพยากรที่คุณเคยมีอยู่แล้ว คุณอาจจะทำให้มันมีประสิทธิภาพ (efficiency) ขึ้นก่อนก็ได้ เพราะการเปลี่ยนหรือไปผลิตมันใหม่ มันก็มีต้นทุนอีก เราทำได้หลายมิติ ไม่จำเป็นต้องทำเหมือนกัน แต่มองในเป้าหมายเดียวกันก็พอ”
เมื่อต้นตอคือปัญหาเชิงโครงสร้าง
แน่นอนว่าหากพูดถึงปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ ย่อมต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานและเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องใช้เวลาพัฒนาให้ดีขึ้น
“เรื่องนี้มันมองได้หลายมิติ ไม่ใช่แค่เรื่อง mobility อย่างเดียว มันเป็นเรื่องผังเมือง กฎหมาย เป็นเรื่องตั้งแต่การปกครอง เป็นเรื่องโลจิสติกส์ด้วย มันเกี่ยวข้องกันหมดเลย ซึ่งทั้งหมดนี้มันต้องมีการบริหารจัดการที่ดี แล้วก็มีแม่งานที่จะมาจัดการหรือฟันธงว่าอะไรควรจะไปในทิศทางแบบไหน“
“จริงๆ หน่วยงานรัฐเขาก็พยายามเปลี่ยน พยายามผลักดันในหลายๆ ด้าน แต่ว่าทั้งหมดไม่ได้สอดคล้องกัน ซึ่งก็อาจจะต้องการใครหรือหน่วยงานกลาง หรืออะไรก็แล้วแต่ที่มีอำนาจจะมาทำให้จัดระบบ”
สำหรับ MuvMi สิ่งที่สามารถทำได้ในวันนี้ คงเป็นการสร้างและนำเสนอทางเลือกหนึ่ง ซึ่งในอนาคตอาจจะพัฒนาไปไกลกว่ารถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าที่เราเห็นในย่านต่างๆ ของกรุงเทพฯ
“ถ้าเห็นปัญหาเราก็จะลองทดสอบ (test) อันที่เราอยากรู้ ผิดถูกไม่เป็นไร เราทำได้ เพราะว่าเรายืดหยุ่นกว่าหน่วยงานรัฐ อันนี้เป็นเรื่องที่ดี แล้วเราอยากให้เขามองว่า เขาใช้เราเป็นตัว test สิ เรายินดีเข้าไปแลกเปลี่ยนข้อมูลอยู่แล้ว เราเป็นสตาร์ทอัพ เราทดลองได้เร็ว เราเฟลได้ แต่หน่วยงานรัฐเราเข้าใจนะ ถ้าคุณของบมาแล้วมันเฟล มันเป็นเรื่องที่ยาก เราทดลองเพื่อหาจุดที่ถูก อันนั้นคือสิ่งที่เราถนัด เมื่อเราลองแล้วเจอหนทางไปต่อยอดได้ รัฐสามารถเอาไปทำต่อได้ รัฐสามารถเอาไปปรับใช้ได้ เราอยากให้มันเป็นอย่างนั้น”
“ทุกคนอาจจะคิดว่าเราเป็นบริษัทตุ๊กตุ๊ก แต่เรามองว่าตัวเองเป็นผู้นำเสนอรูปแบบการเดินทางที่เหมาะสม และยกระดับคุณภาพชีวิตในอนาคต นั่นคือหน้าที่ของเรา เราอยากเป็นส่วนหนึ่งที่จะฉายภาพนั้นออกไปให้เห็น ดังนั้นเราจะไม่ได้อยู่นิ่งแค่ว่าเราเป็นสิ่งนี้เท่านั้น นี่เป็นแค่ก้าวแรกที่เราทำออกมา ทำให้เห็นว่ามันเป็นไปได้ มันยืดหยุ่นได้ แต่เรามีแก่นที่สามารถเอาไปต่อยอด ปรับใช้กับรูปแบบอื่นๆ ได้ ตอนนี้ก็มีพาร์ทเนอร์เป็นภาคธุรกิจ (B2B) มีพาร์ทเนอร์เป็นหน่วยงานอะไรก็แล้วแต่ที่เรายินดีเข้าไปให้ความรู้ เข้าไปแลกเปลี่ยน เพื่อเอาไปช่วยยกระดับ หรือแก้ปัญหาการเดินทางของเขาในองค์กร ในหน่วยงาน ในพื้นที่ชุมชนเขา เราทำเพื่อสิ่งนี้”
“ผมเชื่อว่าการเดินทางที่ดี ระบบขนส่งที่ดี มันควรจะรองรับคนได้ในทุกๆ สถานการณ์ โดยที่เขาสามารถเลือกได้โดยอิสระ นั่นคือภาพที่เราอยากเห็น” ตี้กล่าวทิ้งท้ายกับเราอย่างมีหวัง
สุดท้ายแล้วรถ MuvMi สีสดใสสุดมินิมอลนี้จะเติบโตหรือสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับเมืองไปในทิศทางไหน คำตอบทั้งหมดคงเห็นได้จากการใช้งานของผู้คนในย่านต่างๆ ที่รถพลังงานไฟฟ้าเหล่านี้นี้เดินทางไปถึง
Photo by Krit Pornpichitpai
Illustration by Manita Boonyong