อุบัติเหตุถูกชนเสียชีวิตขณะข้ามทางม้าลายเป็นอีกเรื่องเศร้ากับไม่ควรจะเกิดขึ้นกลางเมือง โดยเฉพาะในเวลากลางวัน และบนพื้นที่ทางข้าม หนึ่งในประเด็นสำคัญ คือ การสร้างความปลอดภัยให้กับคนเดินถนน นอกจากประเด็นเรื่องจิตสำนึกแล้ว หนึ่งในการสร้างความปลอดภัยก็โยงไปถึงความเคลื่อนไหวในสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ.2020 นั่นคือการออกแนวทางการจำกัดความเร็วขึ้นใหม่จากองค์กรที่ชื่อว่า National Association of City Transportation Officials (NACTO) หน่วยงานที่ทำการศึกษาและออกแนวทางเพื่อส่งเสริมให้เมืองเป็นพื้นที่ที่ดีกับผู้คน
การจำกัดความเร็วหรือ speed limit ที่ทาง NACTO เสนอขึ้นในปี ค.ศ.2020 ถือว่าสร้างความสนใจและแรงกระเพื่อมได้พอสมควร เพราะตัวความเร็วที่ทาง NACTO เสนอขึ้นใหม่ค่อนข้างมีเพดานความเร็วที่ต่ำมาก เรียกได้ว่าถ้าเป็นเขตเมืองทาง NACTO เสนอให้จำกัดความเร็วที่ราว 30–40 km/h (กิโลเมตร/ชั่วโมง) เท่านั้น
แนวทางเพดานความเร็วใหม่ชุดนี้ทาง NACTO ไม่ได้เสนอขึ้นมาเปล่าๆ แต่มีการให้รายละเอียดงานศึกษาอย่างละเอียดว่า การเกิดอุบัติเหตุจากการชนนั้น ในระยะความเร็วโดยทั่วไป (ประมาณ 70–80 km/h) มีอัตราการตายที่สูงมากจนเกือบ 100% เมื่อประกอบกับมุมมองของเมืองและของรัฐที่ให้ความสำคัญกับผู้คนมากกว่ารถยนต์ รวมถึงแนวทางการพัฒนาที่หักเหออกจากรถยนต์ ทำให้ทางองค์กรว่าด้วยการออกแบบเมืองเสนอแนวทางที่เคร่งครัดขึ้น
Speed Kills
ส่วนสำคัญที่สุดของรายงาน คือ ตัวเลขที่ระบุว่าสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีอัตราการตายบนท้องถนนสูง ในปี ค.ศ.2018 มีรายงานว่าเกิดกรณีรถชนคนจนเกิดการเสียชีวิตราว 36,500 ราย และก่อให้การบาดเจ็บรุนแรงอีกนับล้าน นอกจากนี้ อุบัติเหตุบนถนนยังเกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องสีผิวและความเหลื่อมล้ำ เช่น การมีสาธารณูปโภคที่ไม่เสมอกันของย่านคนผิวขาวและย่านผู้มีรายได้สูงกับกลุ่มชายขอบ ไปจนถึงข้อมูลที่ระบุความแตกต่างจากอคติทางชาติพันธุ์ คือ คนขับรถมีอัตราการหยุดให้คนผิวขาวข้ามถนนมากและเร็วกว่าคนผิวดำ
ดังนั้น การออกแบบถนนและระบบที่ปลอดภัยกับคนเดินถนนและคนข้ามถนนจึงเป็นประเด็นที่ทาง NACTO เสนอ ในรายงานก็มีข้อคำนึงสำคัญที่ทางหน่วยงานแจกแจง คือ ประเด็นเรื่องอันตรายของความเร็ว ในรายงานนั้นชี้ให้เห็นความผกผันกันของความเร็วรถที่เข้าพุ่งชนคนเดินเท้าหรือจักรยาน งานศึกษาชี้ให้เห็นว่า ในทุกๆ ความเร็วของรถหรือยานยนต์ที่วิ่งมายิ่งสูงขึ้น ยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุและเกิดความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น โดยงานศึกษาชี้ให้เห็นความเสี่ยง 4 ด้านที่เกิดขึ้นเมื่อความเร็วของรถเพิ่มขึ้น คือ 1) แรงปะทะของรถนั้นเพิ่มขึ้น, 2) ทัศนวิสัยของคนขับแคบลง, 3) คนขับในความเร็วที่สูงขึ้นจะตอบสนองช้ากว่าการเคลื่อนที่ของรถ, และ 4) ตัวรถต้องการระยะการหยุดที่ไกลกว่าในความเร็วที่สูงขึ้น
โดยรวมก็เป็นสิ่งที่เรานึกภาพออกไม่ยากว่า ยิ่งรถวิ่งเร็ว ก็ยิ่งชนแรง คนขับมีมุมมองที่แคบลง และเมื่อเกิดเหตุตัวรถไปก่อน ก่อนที่คนขับจะตอบสนองทัน และแรงเฉื่อยของรถทำให้ตัวรถต้องใช้ระยะทางที่ไกลกว่าในการหยุด จากทั้งหมด ตัวรายงานจึงรายตัวเลขการเสียชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้นในทุกระยะความเร็ว ชี้ให้เห็นว่า ในระยะเฉลี่ยปกติที่ใช้กันทั่วโลกมาอย่างยาวนานนั้น คนที่ถูกชนแทบจะมีอัตราการรอดชีวิตต่ำมาก
รายงานระบุว่า ค่าเฉลี่ยของการชนและการเสียชีวิตมีลักษณะเป็นขาขึ้น คือ ถ้าคนเดินเท้าหรือจักรยานถูกชนโดยรถยนต์ที่วิ่งมาด้วยความเร็ว 80 km/h (50 mph – ไมล์/ชั่วโมง) 75% ของคนที่ถูกชนที่ความเร็วนี้มีโอกาสเสียชีวิต คือเราเองก็พอนึกภาพออกว่าถ้าเราโดนรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ที่วิ่งมาด้วยความเร็ว 80 km/h เราเองก็มีโอกาสสาหัสหรือรอดได้ยาก ตัวรายงานชี้ว่า ในทุกๆ ความเร็วนั้นเพิ่มโอกาสการเสียชีวิตขึ้นในระดับทวีคูณ (exponentially) เช่น คนที่ถูกรถยนต์ชนด้วยความเร็ว 56 km/h (35 mph) มีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่าคนที่ถูกชนที่ความเร็ว 32 km/h (20 mph) ถึง 5 เท่า
ดังนั้น จากสถิติ—อัตราการเสียชีวิตจากระดับความเร็วของรถยนต์ในการชนนั้น การถูกชนที่ความเร็ว 51 km/h (32 mph) มีอัตราการเสียชีวิตราว 25% หรือ 1 ใน 4 ส่วน การชนที่ความเร็วราว 37 km/h (23 mph) มีแนวโน้มการเสียชีวิตที่ 10% สัดส่วนโดยคร่าวนี้ไม่นับเรื่องขนาดของรถ อายุของผู้ถูกชน และปัจจัยอื่นๆ และเอาแค่ว่าโอกาสตายสูงแค่ไหน (ซึ่งสูงพอสมควร) ไม่นับว่าจะบาดเจ็บถาวรหรือสูญเสียอวัยวะหรือไม่ ทีนี้ ในอัตราความเร็วโดยทั่วไปที่บังคับในเขตเมืองคือราว 55–70 km/h (35–45 mph) อัตราการตายจึงสูงถึง 40–70% คือ โอกาสตายมีสูงถึงราวครึ่งต่อครึ่งหรือมากกว่า
เพดานความเร็วรถในเมืองใหม่ 40 km/h โดยทั่วไป และช้าสุดที่ 15 km/h
อ่านแล้วคงจะแอบช็อกนิดหนึ่ง แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าสิ่งที่เมืองยุคใหม่พยายามทำคือการสร้างเมืองโดยมีคน—คนเดินเท้าและจักรยาน—เป็นศูนย์กลาง และเพดานความเร็วนี้ก็มาจากงานศึกษาเรื่องอันตรายของความเร็วและการเฉี่ยวชน ทีนี้ หนึ่งในวิธีการสำคัญในการกำหนดความเร็วที่ NACTO เสนอค่อนข้างซับซ้อน คือ จะมีการแบ่งและระบุพื้นที่ว่าตรงนั้นเป็นย่านรึเปล่า? มีความหนาแน่นไหม? เป็นถนนสายหลักหรือสายรอง? แล้วก็ค่อยเอากรอบเพดานไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ต่างๆ กัน
ทว่า ในภาพกว้าง สิ่งที่ NACTO เสนอค่อนข้างลดเพดานความเร็วรถในพื้นที่เมืองลงอย่างสำคัญ ในกรอบกว้างๆ ที่ทาง NACTO ให้ไว้คือตัวความเร็วในเขตเมืองที่กดลงต่ำให้เหลือแค่ 40 km/h (25 mph) และเสนอให้ระบุถนนออกเป็น 3 ลักษณะคือ ถนนสายหลัก (major streets) ให้จำกัดความเร็วที่ 40 km/h ถนนสายรอง (minor street) ให้วิ่งได้ประมาณ 30 km/h (20 mph) และซอยหรือถนนชุมชนให้วิ่งได้แค่ 15–16 km/h (10 mph)
ซึ่งการระบุประเภทถนนก็จะมีแนวทางมาให้แยก เช่น ถนนสายหลักหมายถึงถนนหลายเลน มีสี่แยกไฟแดง มีปริมาณรถมาก ถนนสายรองก็อาจจะเป็นถนนที่มีการจราจรหนาแน่นเหมือนกันแต่น้อยกว่า 6,000 คันต่อวัน อาจจะสวนเลนบ้างหรือเดินรถทางเดียว ส่วนซอยหรือถนนใช้ร่วมก็คือตรอกซอกซอยที่บางครั้งมีการใช้ผิวถนนร่วมกันในการทำกิจกรรม เช่น การเดิน ขี่จักรยาน ซึ่งทางเมืองก็จะต้องเลือกและระบุตัวถนนรวมถึงสร้างเขตขับช้า (slow zone) ขึ้น
ช้าแต่ไม่ช็อก
ทีนี้ การกำหนดเพดานที่เราเองอาจจะรู้สึกว่าเป็นไปได้จริงหรือ แต่ถ้าเรานึกภาพย่านหรือพื้นที่เมืองของเมืองใหญ่อื่นๆ นั้น ตัวเมืองค่อนข้างหนาแน่น และเมืองก็ส่งเสริมให้คนเดินมากกว่าให้รถวิ่ง—เมืองเป็นที่ของคนเดินเท้า ดังนั้นรถจะไม่สามารถและไม่สมควรขับเร็วนัก ตัวรายงานเองก็ได้อ้างอิงกรณีที่เกิดขึ้นแล้ว เช่นที่โทรอนโตหรือซีแอตเทิลที่มีการลดเพดานความเร็วลงลงมาอยู่ที่ 50 km/h และ 40 km/h ซึ่งก็มีรายงานอุบัติเหตุรถชนคนลดลง ด้านโทรอนโตมีอุบัติเหตุลดลง 28% มีอัตราการตายและบาดเจ็บรุนแรงลดลง 67% โดยในเมืองอื่นๆ ที่ลดเพดานความเร็วและกำหนดเขตขับช้า โดยเฉพาะในย่านและพื้นที่กลางเมืองเช่นนิวยอร์กที่ลดเพดานลงเหลือ 40 km/h ซีแอตเทิลที่ลดความเร็วบริเวณย่านชุมชนเหลือ 15 km/h เมืองเหล่านี้ต้องการสร้างโซนปลอดภัยเพื่อให้ผู้คนสามารถออกมาเดิน ขี่จักรยาน และใช้ชีวิตในเมืองได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น (และการเดินนั้นส่งผลดีทั้งต่อสุขภาพ และต่อระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นด้วย)
สำหรับ NACTO หรือ The National Association of City Transportation Officials ถือเป็นองค์กรร่วมของรัฐที่กำกับดูแลและทำการวิจัยพร้อมเสนอแนวทางการออกแบบ ปรับปรุง และพัฒนาเมืองในกลุ่มอเมริกาเหนือ ตัวงานศึกษาและแนวทางต่างๆ ที่ทาง NACTO เสนอก็ค่อนข้างมีน้ำหนัก และมีอิทธิพลต่องานออกแบบและพัฒนาในเมืองต่างๆ ของอเมริกา กรณีของการลดเพดานความเร็วนี้ก็มีรายงานจากหลายเมืองที่รับเอาข้อกำหนดใหม่ เช่น เมืองแอตแลนตาก็เข้าร่วมโครงการลดการตายบนท้องถนนให้เหลือ 0 และปรับเพดานความเร็วของรถยนต์ในเมืองลงเหลือ 30 km/h หรือการที่สภาเมืองเมนโลพาร์ก (Menlo Park City) ในซานฟรานซิสโก ก็พิจารณาลดเพดานความเร็วรถยนต์ในเขตเมืองโดยทั่วไป (city-wide) ลงเหลือ 40 km/h
อ้างอิงข้อมูลจาก