ผมย้ายที่อยู่บ่อย ทุกครั้งที่หาที่พักใหม่ แอบนึกในใจ ว่าชีวิตคงง่ายกว่านี้ ถ้ามีใครมาช่วยหารค่าเช่า โดยเฉพาะเวลาไปอยู่ต่างประเทศ ห้องเช่าสำหรับคนอยู่คนเดียวมักจะเล็กเกินไป ในขณะที่ห้องหรือบ้านใหญ่ก็ต้องหารกันหลายคน ห้องขนาดกลางที่กำลังดี มีเตียงใหญ่เดียว ก็มักตั้งราคาเกิน ไม่สมเหตุสมผลพอให้มนุษย์หนึ่งคนตัดสินใจจ่ายได้ ผมคิดมานานแล้ว ว่าห้องแบบหลัง เขาคงทำไว้ให้ ‘ครอบครัว’ มาเช่า
ผมลืมเรื่องนี้ไปแล้ว จนวันก่อนระหว่างวิ่งออกกำลังกาย เสียบหูฟังข่าวคนเดียวแบบโสดๆ ก็มีบทวิเคราะห์หนึ่งกระตุกเตือนถึงเรื่องที่ว่า รายการเขาเชิญผู้เชี่ยวชาญมาเล่าถึงปรากฏการณ์ใหม่ ที่เพิ่งเริ่มมีการพูดถึงกันในสังคม คืออาการ ‘เหยียดคนโสด’
คล้ายการเหยียดสีผิว เชื้อชาติ การเหยียดที่ว่าไม่จำเป็นต้องออกมาในรูปการด่า ตบตี แต่รวมถึงการที่โครงสร้างสังคมถูกออกแบบมาอย่างไม่เหมาะสม ยุติธรรมกับคนเหล่านี้
ยังไง?
ลองนึกภาพตาม ว่าคุณเป็นคนโสด ย้ายไปอยู่ที่ใหม่ อย่างแรกที่ต้องทำคือหาที่อยู่ นอกจากเรื่องไซส์ห้องแล้ว ผู้เชี่ยวชาญบอกปัญหาใหญ่ในเรื่องนี้ก็คือ พอไปเช่าที่ไหน เจ้าของก็มักตั้งเงื่อนไขการเช่าโหดกว่าชาวบ้าน เช่นต้องจ่ายล่วงหน้าหลายเดือน เพราะเขากลัวว่าคนเช่ามาตัวคนเดียว หากเกิดอะไรขึ้นมา อย่างโดนไล่ออก ประสบอุบัติเหตุ ก็ตามค่าเช่าจากใครไม่ได้ ยังไม่นับว่าถ้าเกิดบาดเจ็บ ล้มตายในบ้านขึ้นมา ก็ไม่มีใครมาพบและแจ้ง นอนเป็นศพนานอยู่ในนั้น ทำบ้านเชาราคาตกอีก (ชีวิตมันเศร้า ตายแล้วยังสร้างปัญหา-ฮา)
พอเอาเงินก้อนมัดจำค่าที่อยู่ปุ๊บ คุณต้องออกมาซื้อของเข้าบ้าน เดินช้อปปิ้งดูเครื่องซักผ้า ล้างจาน ดูดฝุ่น แล้วคุณก็สะอึก เพราะของเหล่านี้มันใช้ได้หลายคน หารกันได้ แต่พอดีอยู่คนเดียว เลยต้องกลั้นใจตัดบัตรซื้อทั้งหมด
กลับถึงบ้าน เตรียมไปทำงาน หันไปเห็นแมวของคุณกำลังนอนกลิ้งบนพื้น ฟัดกับพรมอย่างเดียวดาย แล้วก็สงสาร คุณเลยเสิร์จแอพ จ้างคนให้แวะมาเล่นกับน้องบางช่วงตอนกลางวัน ระหว่างที่ไปทำงาน ก่อนนึกในใจว่าถ้าบ้านมีคนเข้าออกบ่อยกว่านี้ น้องน่าจะดีใจ
ตอนฟังนี่ผมวิ่งอยู่ วิ่งหลังกินข้าวว่าจุกแล้ว ฟังเรื่องนี้ไปจุกกว่าเก่า เกือบอุทานดังๆ กลางถนน ว่า “เห้ยจริง”
ผมว่าชาวโสดหลายคนรู้สึกเรื่องพวกนี้อยู่ แต่อยู่กับมันจนชิน และไม่คิดว่าเป็นปัญหา วันนี้ก็เพิ่งเคยคิดตามเรื่องนี้จริงจัง พอคิดแล้วมันหยุดคิดไม่ได้ เพราะเขาว่าอีกว่า นี่ไม่ใช่ปัญหาส่วนบุคคล แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างสังคม
ปัญหาที่ว่าก็คือสังคมสมัยใหม่ออกแบบกฎเกณฑ์ต่างๆ บนมโนทัศน์ว่าคนอยู่กันเป็นก้อนที่เรียกว่า ‘ครอบครัว’ พ่อหนึ่ง แม่หนึ่ง ลูกอีกหนึ่ง สอง สาม คน อะไรทำนองนี้ ห้องเช่าและสิ่งของส่วนใหญ่ ไม่ได้ออกแบบไว้สำหรับมนุษย์บางคน ที่ต้องอยู่คนเดียวตลอดชีวิต
กลับกัน ถ้าสังคมไม่คาดหวังครอบครัว ตึกจำนวนมากก็จะเปลี่ยนไปออกแบบห้องพัก หรือบ้านขนาดกลาง สำหรับอยู่คนเดียวมากขึ้น เมื่อจำนวนเพิ่ม ราคาก็จะถูกลงตามธรรมชาติ ในตึกอาจมีระบบจ้างพนักงานเล่นกับแมวหมา เยี่ยมเยียนดูแลผู้สูงอายุ ทำอะไรที่คนโสดทำคนเดียวหรือมีไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่เกิดกลับไม่เป็นเช่นนั้น นี่ยังไม่ต้องพูดถึงระบบสวัสดิการรัฐต่างๆ ที่มักให้ ‘คู่ครอง’ เป็นคนเซ็นชื่อรับรอง ค้ำ รับประโยชน์
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องขึ้นมาในตะวันตก ก็เพราะเขาพบว่าคนจำนวนมากในวันยี่สิบถึงสี่สิบ เริ่มเลือกและหวงความโสดเพิ่ม แล้วก็บ่นเรื่องพวกนี้มากขึ้นเรื่อยๆ อนาคตว่าจำนวนคนแบบนี้ในอังกฤษ จะมีจำนวนเกินหนึ่งในสาม หรืออาจถึงครึ่ง และเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ เขาว่าเราอาจต้องแก้ปัญหาลึกไปถึงระดับโครงสร้างมโนทัศน์
หนึ่งในแนวรบสำคัญคือการปฏิรูปนิยาม ‘ครอบครัว’ ข้อเสนอคือคำดังกล่าวควรมีความหมายขยับขยายกว้างขึ้น กว่าการเป็นคู่ครองในแบบดั้งเดิม
ที่พูดกันถึงบ่อยช่วงหลัง ก็คือครอบครัวที่ไม่จำกัดแค่เพศชายหญิง ใหม่กว่านั้นคือสิทธิแต่งงานเกินสองคน
ส่วนที่ยังไม่ค่อยพูดกัน ก็คือการสร้างความสัมพันธ์แบบครอบครัวผ่านประเด็นเฉพาะ ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องรักๆ ใคร่ๆ กิ๊กๆ แฟนๆ อย่างเช่นมาแชร์บ้านเช่าด้วยกันในฐานะ ‘คนมีแมว’ เมื่อคนหนึ่งไปทำงาน อีกคนอยู่บ้าน ก็ฝากเล่น ฝากให้อาหารน้องแทนกัน เราอาจนึกถึงอะไรแบบนี้ได้อีกหลายรูปแบบ เช่น การสนับสนุนบ้านเช่า สำหรับหญิงที่มีลูกอ่อน ไม่มีคู่ บ้านเช่าสำหรับนักดนตรี อาชีพช่างที่แชร์อุปกรณ์หากินกันได้ คนศาสนาเดียวกันที่มาเช่าบ้านอยู่ด้วยกัน และทำห้องหนึ่งไว้เฉพาะสำหรับกิจกรรมร่วมทางศาสนา
โปรตุเกสให้เรื่องสังคมคนโสดเป็นวาระแห่งชาติไปแล้ว และเริ่มสนับสนุนอะไรต่างๆ ที่ว่าไปข้างบนอย่างจริงจังได้สักพัก หลายประเทศเช่นอังกฤษกำลังว่าจะตาม แล้วเขาก็พบว่ามีคนจำนวนหนึ่งเลือกและสามารถอยู่กับ ‘ครอบครัว’ ในความหมายแบบนี้ได้ยั่งยืน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นกิ๊ก แฟน แต่งงาน อัตรา ‘หย่าร้าง’ ต่ำ
หากมโนทัศน์เราเปลี่ยน มองเรื่องพวกนี้เป็นปกติ สิ่งที่ตามมาก็อาจจะเป็นการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ สวัสดิการ ให้ ‘ครอบครัว’ ในความหมายใหม่นี้ดูแลกันได้ เช่น อาจให้คุณแม่ลูกอ่อนสองคน ที่ช่วยกันดูแลลูกกันและกันในบ้านเช่าร่วม มาเซ็นค้ำ รับประโยชน์แทนกันได้ สรุปก็คือเราอาจต้องเริ่มจากการปรับมโนทัศน์เรื่องความสัมพันธ์ระยะยาวให้ไม่คับแคบแบบเดิม ก่อนปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ทางสังคมให้รองรับความสัมพันธ์แบบที่ว่า
เหล่านี้อาจทำให้คนโสด ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ แซดน้อยลง เพราะไม่ต้องทนอยู่ในสังคมที่ออกแบบให้เฉพาะสำหรับครอบครัวในความหมายคับแคบแบบดั้งเดิม ดูเป็นอีกหนึ่งเรื่องเร่งด่วนที่เราต้องคิด ในโลกที่คนโสดทวีจำนวน และแนวโน้มที่การไม่มีคู่ในความหมายดั้งเดิมจะกลายเป็นความปกติใหม่ (new normal)