ทำไมยังไม่มีแฟน? เมื่อไรจะแต่งงาน? ระวังจะขึ้นคานนะ
แม้ว่าเจตนาของคนพูดจะมาจากความห่วงใย แต่คนฟังอาจจะรู้สึกอึดอัดใจ ไม่รู้จะตอบกลับไปว่าอะไรดี ซึ่งคำพูดหรือการกระทำที่สร้างความกระอักกระอ่วนใจให้กับคนโสดนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ‘single shaming’
single shaming คือการตัดสินเชิงลบ เมื่อเราพบคนที่ยังไม่มีคู่รัก และไม่ได้แต่งงานในช่วงวัยที่สังคมคาดหวัง โดยความคิดเหล่านี้มักถูกสื่อสารออกมาผ่านถ้อยคำบาดใจ หรือแม้แต่คำปลอบใจจากเจตนาที่ดี เช่น “ไม่เป็นไรนะ เดี๋ยววันหนึ่งเธอต้องได้เจอคนที่ใช่แน่นอน” ทั้งที่จริงแล้ว การไม่ได้เจอคู่ชีวิต ไม่ได้หมายความว่าเราล้มเหลวทางความสัมพันธ์เสมอไป เพราะบางคนอาจจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและมีความสุขกับตัวเองได้มากกว่า
อลิสัน เอบรามส์ (Allison Abrams) นักจิตบำบัดในนิวยอร์กกล่าวว่า single shaming อาจส่งผลลึกลงไปมากกว่าความรู้สึกเซ็งหรือหงุดหงิดใจเพียงชั่วคราว เพราะในระยะยาว single shaming อาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้เช่นกัน
“การกำหนดสูตรความสำเร็จในชีวิตแบบตายตัว (ว่าจะต้องแต่งงาน/มีคู่) อาจกดดันให้คนโสดที่มีความสุขดีอยู่แล้ว กลับมาทบทวนมุมมองของตัวเองอีกครั้ง และพยามค้นหาสิ่งที่พวกเขาไม่ต้องการ เพียงเพื่อให้มีชีวิตสอดคล้องไปกับบรรทัดฐานทางสังคม”
จากการศึกษาของ Match เว็บไซต์หาคู่ออนไลน์ พบว่า single shaming ที่คนโสดเคยได้ยินบ่อยๆ มีตั้งแต่ “อีกไม่นานหรอก เดี๋ยวคุณก็ได้เจอคนที่ใช่” (35%) “คุณต้องเหงามากแน่เลย” (29%) ไปจนถึงคำพูดที่แสดงความรู้สึก ‘สงสาร’ ทั่วๆ ไปเมื่อรับรู้สถานะความสัมพันธ์ของพวกเขา (38%) แต่ถึงอย่างนั้นก็มีคนโสดถึง 59% ที่บอกว่าพวกเขารู้สึกพึงพอใจกับสถานะโสดของตัวเอง
อย่างไรก็ตามที่มาของ single shaming ไม่ได้มีแค่คำพูดของเพื่อน ครอบครัว หรือคนอื่นๆ ที่แสดงออกมาเท่านั้น แต่หล่อหลอมมาจากหลายๆ ปัจจัยรอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นค่านิยมในสังคมที่ผูกคุณค่าของมนุษย์ไว้กับการแต่งงานมีลูก สวัสดิการทางสังคมบางอย่าง เช่น สิทธิการรักษาพยาบาลของข้าราชการที่ครอบคลุมคู่สมรสและบุตร ขณะที่คนโสดไม่สามารถให้สิทธินั้นกับคนใกล้ชิดแทนได้ แม้กระทั่งโปรโมชั่นหรือส่วนลดสำหรับคู่รักก็นับเป็นการบอกโดยนัยว่า ‘การมีคู่ชีวิตอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า’
เบลลา เดอเปาโล (Bella DePaulo) ผู้เขียน Singled Out: How Singles are Stereotyped, Stigmatized, and Ignored, and Still Live Happily Ever After กล่าวว่า “ความโสดเคยถูกมองเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน หรือช่วง ‘รอ’ จนกว่าคนคนนั้นจะได้แต่งงานหรือแต่งงานใหม่เสียมากกว่า” แต่ข่าวดีคือตอนนี้ภาพดังกล่าวอาจค่อยๆ ลดลงไป ทั้งจากจำนวนคนโสดที่เพิ่มมากขึ้น โดยข้อมูลในเว็บไซต์ bltbangkok ระบุว่าสถิติในช่วงปี ค.ศ.2007-2017 คนไทยจดทะเบียนสมรสลดลง 5.1% ขณะที่การจดทะเบียนหย่าที่เพิ่มขึ้น 19.7% รวมทั้งเสียงของเหล่าศิลปิน ดารา อินฟลูเอนเซอร์ที่ออกมาพูดถึงการโอบรับความสุขไม่ว่าคุณจะโสดหรือมีแฟน อย่างนักแสดงสาวชื่อดัง เอมมา วัตสัน (Emma Watson) ก็เคยออกมาประกาศตัวว่าเธอสามารถเป็น self-partnered หรือคู่รักของตัวเองได้
นอกจากนี้ในเดือนตุลาคม ค.ศ.2021 แอพฯ หาคู่อย่าง Bumble ได้เก็บข้อมูลจากผู้ใช้งาน 8,500 คน ซึ่งพบว่า 53% ของคนกลุ่มนี้มองว่า ‘การอยู่คนเดียวก็โอเคนี่นา’ โดยเฉพาะช่วงการระบาดของเชื้อ COVID-19 ที่คนโสดหลายคนบอกว่าพวกเขามีความรู้สึกเชิงบวกกับสถานะความสัมพันธ์ของตนเอง
แม้ว่าแนวโน้มของคนโสดและมุมมองต่อความโสดจะเริ่มเป็นไปในเชิงบวก แต่ใช่ว่า single shaming จะหายไปอย่างสิ้นเชิง ตัวอย่างหนึ่งคงจะเป็นคำพูดในวันรวมญาติที่ถูกถามย้ำๆ ว่าเมื่อไหร่จะแต่งงาน ระวังจะขึ้นคานนะ แม้ว่าคนพูดจะไม่ได้มีเจตนาทำร้ายความรู้สึกของอีกฝ่าย เพียงแต่เคยชินกับการใช้คำถามเหล่านี้เพื่อทำความรู้จักคนอื่นๆ ให้มากขึ้น แต่คนฟังคงไม่ได้รู้สึกดีเท่าไร แถมยังต้องพยายามเค้นคำตอบบางอย่างออกมาเพื่อให้บทสนทนาดำเนินต่อไป
โจชัว แคลโปว (DJoshua Klapow) นักจิตวิทยาคลินิกแนะนำวิธีการรับมือกับ single shaming ว่า ขั้นแรกคือการตระหนักว่าคำพูดเหล่านั้นมาจากคนอื่นๆ ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องนำมาตัดสินตัวเราเอง ขั้นต่อมาคือการตอบกลับไปว่าความรู้สึกในชีวิตตอนนี้เป็นอย่างไร หรือตัดบทไปว่าเราไม่ได้นึกถึงเรื่องนี้เท่าไร แล้วเปลี่ยนไปชวนคุยเรื่องอื่นๆ ที่รู้สึกสบายใจมากกว่า โดยไม่จำเป็นต้องพยายามอธิบายว่า ‘ทำไมเราถึงโสด’ เพราะความโสดไม่ใช่เรื่องผิดหรือน่าอาย
แต่ถ้าเป็นตัวเราเองที่กำลังรู้สึกเศร้าเพราะไม่มีคนรู้ใจ หรือเพิ่งจะใจสลายจากความรักที่ผ่านมา ในอีกมุมหนึ่ง การแต่งงานหรือคบหาดูใจกันนั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ไม่ได้การันตีว่าจะกลายเป็นความสุขชั่วนิรันดร์ และความโสดก็คงไม่ต่างจากความสัมพันธ์ที่มีช่วงขึ้นๆ ลงๆ คนมีคู่บางคนอาจจะมีช่วงเวลาทุกข์ใจและไม่ได้หวานชื่น ขณะเดียวกันคนโสดก็อาจจะมีโมเมนต์อยากมีใครสักคนขึ้นมาบ้างเป็นธรรมดา ดังนั้น ความโสดจึงไม่ได้หมายถึงการล้มเหลวทางความสัมพันธ์ แต่เป็นทางเลือกหนึ่งของชีวิตที่มีทั้งสุขและทุกข์เช่นเดียวกับการมีคู่
อาจจะดีกว่า ถ้าเราเปลี่ยนจากการตั้งเป้าหมายว่า ‘สักวันหนึ่งเราต้องได้เจอคนที่ใช่’ มาเป็นการสร้างความ ‘ความเห็นอกเห็นใจตัวเอง’ (self-compassion) และ ‘การยอมรับตัวเอง’ (self-acceptance) ผ่านการการโอบกอดคุณค่าและตัวตนของเราอย่างแท้จริง เพื่อให้เรามีความสุขได้ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะความสัมพันธ์แบบไหนก็ตาม
อ้างอิงข้อมูลจาก