เวลานึกถึงการมีตุ๊กตาอย่างเหล่าสารพัดสัตว์ตัวนุ่มๆ หรือการพาน้องๆ ตุ๊กตาขึ้นเตียงมานอนกอดเป็นเพื่อนด้วยนั้น เรามักมองว่าเป็นพฤติกรรมของเด็กๆ และในบางยุค ผู้คนอาจถึงขั้นตัดสินว่าคนที่ยังนอนกอดตุ๊กตา เป็นคนแปลกๆ มีความเป็นเด็กไม่ยอมโต
ทว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราอาจเริ่มเห็นกระแสใหม่ๆ ของการบริโภค เมื่อผู้ใหญ่แบบเราๆ เริ่มกลับมาซื้อของเล่น มีของน่ารักๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระแสเพื่อความสบายใจ เราเริ่มเห็นแบรนด์ต่างๆ ทั้งเหล่าอาร์ตทอยที่เริ่มมีตุ๊กตายัดนุ่มตัวนิ่มๆ หรือ Plush Doll มีร้านแบรนด์ตุ๊กตาที่มีกิมมิก Jellycat ร้านขายตุ๊กตาที่นอกจากจะสร้างกระแสเจ้ากระต่ายน้อยแล้ว ยังเป็นร้านซึ่งเอาตุ๊กตาสารพัดหน้าตามาขายด้วยกิมมิกที่แสนจะน่ารัก เช่น ตุ๊กตาขนมทั้งหลายที่ทำเหมือนร้านขนมจริงๆ
การกลับมาของเจ้าตุ๊กตานุ่มนิ่ม และวัฒนธรรมของเจ้าสิ่งของน่ารักๆ จึงเป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมที่น่าสนใจ โดยเราอาจเริ่มสังเกตว่า เรากำลังติดเจ้าสิ่งของน่ารักๆ จนหลายคนถึงขนาดพาเจ้าน้องนุ่มทั้งหลายกลับขึ้นมาอยู่บนเตียง นอนกอดให้สบายใจและหลับฝันดี ซึ่งถ้าเราดูรายงานสำคัญแล้ว การนอนกอดน้องนุ่มๆ นี้อาจไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะจุดเปลี่ยนและการกลับมาของเพื่อนนอนของเรา อาจสัมพันธ์กับบริบทความต้องการและความสบายใจของเรา
40% ของผู้ใหญ่อเมริกัน ยังนอนกอดตุ๊กตา
คำถามแรกที่กำลังท้าทายความคิดของเราคือ โตๆ กันแล้วยังนอนกับตุ๊กตาแปลกไหม? คำตอบจากการสำรวจในปี 2017 พบว่า 43% ของกลุ่มตัวอย่าง (หรือเกือบครึ่งหนึ่ง) ยังนอนโดยมีตุ๊กตานุ่มนิ่มร่วมเตียงด้วย เพราะตุ๊กตาเหล่านี้เป็นตัวแทนหนึ่งของความอบอุ่นของบ้าน ความรู้สึกสบาย และความรู้สึกปลอดภัย
ความน่าสนใจเรื่องการมีตุ๊กตานุ่มๆ นอนด้วยกัน นอกจากจะพบในผู้ใหญ่อย่างเราๆ แล้ว ยังมีอีกงานสำรวจจากโพลออนไลน์ชี้ว่า ผู้ชายเองก็มีสัดส่วนที่บอกว่าตัวเองมีตุ๊กตานุ่มๆ ร่วมเตียง โดย 84% ของผู้ชายบอกว่า ตัวเองยังมีตุ๊กตาอย่างน้อยหนึ่งตัวบนเตียง เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่มีราว 77% ที่ยอมรับว่ายังนอนกับน้องนุ่มๆ
ผลสำรวจตรงนี้เอง จึงสอดคล้องกับกระแสการกลับไปมีความเป็นเด็กของเหล่าผู้ใหญ่ ด้วยรายงานตัวเลขยอดขายกลุ่มตุ๊กตายัดนุ่นที่พุ่งทะยานขึ้นเกือบเท่าตัว จากตัวเลข 1.35 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2021 สู่ยอดขายที่ 2.15 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2024 แน่นอนว่ากระแสการซื้อตุ๊กตาในระยะหลังนี้ คือการซื้อโดยผู้ใหญ่ที่มอบให้ตัวเอง และหลายข้อสังเกตจากผู้ขายก็พบว่า มีผู้ชายจำนวนไม่น้อยที่ซื้อตุ๊กตานุ่มๆ ให้กับตัวเองด้วยเช่นกัน
การกลับมาของความสบายใจ
หนึ่งในบริบทเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ คือการที่เราเข้าสู่ช่วงโรคระบาดของโควิด-19 ในช่วงนี้มีรายงานปัญหาการนอนหลับเพิ่มสูงขึ้น ผู้คนจึงเริ่มมองหาตัวช่วยเพื่อรับมือกับปัญหาการนอน และตุ๊กตายัดนุ่นนี่เองที่เป็นตัวช่วยสำคัญ
อีกด้านหนึ่งก็มีบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับการเจ็บป่วยคือ ผู้ป่วยโควิด-19 มักต้องการกำลังใจและความสบายใจ ตุ๊กตาสัตว์จึงเป็นตัวแทนหนึ่งของเพื่อนข้างเตียง เป็นกำลังใจ และตัวช่วยทางใจให้เรารู้สึกไม่เหงาในยามต้องกักตัวตามลำพัง
ถ้าเรานึกภาพช่วงโควิด-19 เราเองต่างก็พยายามทำให้บ้านมีความอบอุ่นและสบายใจมากที่สุด รวมถึงกระแสการกลับไปสู่ของเล่น ของน่ารักๆ ที่มาเป็นส่วนหนึ่งของการเยียวยาจิตใจ เป็นความรู้สึกของเราในฐานะผู้ใหญ่ที่แม้จะผ่านช่วงโรคระบาดมาแล้ว แต่เราเองก็ยังต้องการความสบายใจจากเหล่าตัวละครและของน่ารักๆ ที่อยู่ใกล้ตัว
สำหรับการกลับมาของเหล่าตุ๊กตาน่ารักอีกครั้ง ในด้านหนึ่งตุ๊กตานุ่มนิ่มนี้ถือเป็นตัวแทนของวัยเด็ก ในทางจิตใจตุ๊กตาหรือผ้าเก่าๆ ก็เป็นตัวแทนของการเปลี่ยนผ่าน ดังนั้น การมีอยู่หรือการกอดตุ๊กตาก่อนนอน จึงเป็นเหมือนการพาเรากลับไปสู่ความรู้สึกอบอุ่น ผ่อนคลาย และตุ๊กตายังช่วยลดการถูกกระตุ้นทางการรับรู้ (cognitive arousal) ทำให้เรารู้สึกสงบ และช่วยให้หลับได้เหมือนกับเด็กๆ
นอกจากความรู้สึกที่ตุ๊กตาพาเราล่องลอยไปสู่ความฝันแล้ว ยังมีงานวิจัยบอกว่า การสวมกอดตุ๊กตานั้นให้ผลลัพธ์ในด้านความสงบผ่อนคลาย เพราะเป็นการกอดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งจะช่วยลดความเครียดให้กับผู้ใหญ่และวัยรุ่นได้
ความน่าสนใจในการกลับมาของเจ้าเพื่อนนอนของเรา คือการที่พวกมันเป็นเหมือนสิ่งที่พาเรากลับไปยังความทรงจำ และความรู้สึกของความเป็นเด็ก ในหลายแง่มุม ผู้เชี่ยวชาญเองก็ระบุว่า การมีอยู่หรือการกอดเจ้าตัวนุ่มๆ นับเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรของการนอน (sleep routine) ด้วยเป็นช่วงเวลาที่เราเปลี่ยนผ่านความรู้สึกจากการตื่นตัว การจัดการ หรือความคิดต่างๆ ไปสู่ช่วงเวลาของการปล่อยวางและการนอนหลับ
สุดท้ายนี้ การกลับมาของตุ๊กตาบนเตียงของเราๆ จึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เคยดูแปลก แต่อันที่จริงกลับเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยยังคงต้องการพื้นที่เล็กๆ โดยเฉพาะพื้นที่สำคัญของวันเพื่อเข้าสู่ความสบายใจ และนอนหลับได้อย่างมีคุณภาพ การนอนจึงเป็นห้วงเวลาหนึ่งที่เราอยากกลับไปเป็นเด็ก เป็นช่วงเวลาที่ความทุกข์ยังแสนจะเล็ก และมักหายไปเมื่อตื่นขึ้นในเช้าของอีกวัน
ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เราจะหันไปหาสิ่งของของความเป็นเด็ก มาช่วยพาเราไปยังดินแดนของความฝัน
อ้างอิงจาก