“แค่โปสเตอร์แผ่นเดียว ทำไม่กี่คลิกหรอกมั้ง”
“ออกไปหาลูกค้านี่ดีเนอะ เหมือนได้ไปเที่ยวเลย”
“คิดไอเดีย ลงแค่สมองอย่างเดียว สบายจะตาย”
ประโยคเหล่านี้พาให้เจ็บจี๊ดไปถึงสมอง นั่งทำงานอยู่ออฟฟิศเดียวกันแท้ๆ เห็นอยู่ตลอดว่าเราทำงานหัวหกก้นขวิดขนาดไหน ยังโดนมองว่าทำงานง่าย งานสบายอยู่เลย นี่พี่กะจะเก็บโควต้าคนเก่งไว้ที่ตัวเองคนเดียวเลยหรือเปล่าเนี่ย
แว้บแรกออกจะงงๆ พี่เขาหาว่าเราไม่เก่ง ทำได้ไม่ดีหรือเปล่า แต่พอเจอประโยคเดิมบ่อยเข้า ถึงรู้ว่านี่ไม่ใช่เรื่องเก่งหรือไม่เก่งแล้ว แต่มันเป็นเรื่องขององค์กรที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับตำแหน่งของเราต่างหาก ไม่ใช่ว่าเราไม่เก่ง ไม่ดี เรื่องนี้ไม่มีคำติติงในทักษะ ความสามารถหลุดออกมาจากปากก็จริง แต่สิ่งที่ทำอยู่ ไม่ว่างานจะออกมาดี ออกมาไว ได้ดั่งใจขนาดไหน ก็จะถูกมองว่า อ๋อ ที่ทำได้เพราะงานมันง่ายน่ะ เหมือนกับว่าตำแหน่งนี้ในองค์กรนี้ ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นฟันเฟืองที่มีความหมายเท่ากันกับจุดอื่นๆ
คิดแล้วก็เศร้า เราจะเหนื่อยทั้งแรงกายแรงใจไปทำไม เพราะทำไปก็ถูกมองว่าคลิกไม่กี่คลิกก็ได้งานบ้างล่ะ ออกไปหาลูกค้าก็เหมือนไปเที่ยวบ้างล่ะ หากใครกำลังรู้สึกแบบนี้อยู่ อยากให้รู้ว่าไม่ได้โดดเดี่ยว ตัวเลขจาก workhuman แพลตฟอร์มให้คำแนะนำการบริหารองค์กร เผยตัวเลขจากผลสำรวจเหล่าคนทำงานกว่า 46.4% รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าในที่ทำงานอยู่บ้างเล็กน้อย แต่น่าเศร้าตรงที่ 10.7% รู้สึกว่าไม่มีใครเห็นคุณค่าเลยสักนิดเดียว
แม้เราจะรู้ดีว่าอะไรเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องดูถูกกันที่ความสามารถ แต่เป็นเรื่องวิสัยทัศน์ขององค์กรที่ให้น้ำหนักกับแต่ละตำแหน่งไม่เท่ากัน นั่นก็หมายความว่า เราอยู่ในตำแหน่งที่เขาไม่ค่อยให้คุณค่าน่ะสิ เหมือนมีตำแหน่งนี้ไว้เพื่อให้มีคนทำงาน แต่ไม่ได้มองว่ามันสำคัญ ทีนี้ ไม่ว่าเราจะทำงานดีแค่ไหน แต่เมื่ออยู่ในตำแหน่งนี้ก็ไม่ได้น่าชื่นชมได้เท่ากับตำแหน่งที่เขาให้คุณค่ามากกว่า
บางครั้งแม้จะไม่มีคำพูดแทงใจโผล่มากระทบโดยตรง แต่เราก็รู้สึกถึงการไม่ให้คุณค่าได้ท่ามกลางผืนน้ำอันเงียบสงบ มันอาจออกมาในรูปแบบของการไม่ได้สวัสดิการ สิทธิพิเศษ หรือสิ่งที่ร้องขอเทียบเท่าตำแหน่งอื่น ไปจนถึงการพิจารณาผลงานเพื่อเพิ่มเงินเดือน เลื่อนตำแหน่ง อะไรเหล่านี้ก็ทำให้พอจะบอกได้ว่าองค์กรมองว่าตำแหน่งไหนสำคัญกว่ากัน
พอมันเป็นเรื่องของความรู้สึก วัฒนธรรมองค์กร อะไรที่จับต้องไม่ได้ แน่นอนว่ามันก็ไม่ได้มีกฎเกณฑ์อะไรชัดเจนขนาดนั้น สำหรับบางคนอาจไม่ได้สนใจว่าใครจะให้น้ำหนัก ให้ความสำคัญกับตัวฉันเท่าไหร่ มาทำงานแลกเงินเดือน เงินมางานไป ทำงานได้ตามมาตรฐาน ไม่ได้เอาใจไปผูกกับงาน ก็อาจรู้สึกว่าปัญหานี้มันแสนชิล ไม่ส่งผลอะไรกับใจเลย จนเรียกว่าไม่เป็นปัญหาก็ยังได้
แต่ในฝั่งตรงข้าม ยังมีบางคนเอาใจลงไปเล่นในสนามการทำงาน อินกับงาน ให้คุณค่าในงานตัวเองเสมอ เมื่อไม่ได้รับการใส่ใจ เห็นคุณค่า อย่างที่ใจหวังไว้เลยทำให้เกิดคำถามกับความสามารถของตัวเองตามไปด้วย ยิ่งเจอปัญหาที่ว่านี้เท่าไหร่ ยิ่งอยากพิสูจน์ตัวเองมากเท่านั้น ให้องค์กรได้เห็นคุณค่า เป็นที่ยอมรับ แต่ถ้าองค์กรยังไม่เห็นคุณค่าอีก มันก็ยิ่งเป็นงูกินหางไปเรื่อยๆ
ไม่ว่าใจเราอยากจะสู้จนกว่าองค์กรจะเห็นเราในสายตา หรืออยากมองหาทางเดิมใหม่ เราลองมาเริ่มจากการจับจุดปัญหา สำรวจตัวเองกันก่อนว่าเราอยากได้อะไร แล้วควรเดินไปทางแก้แบบไหน อาจช่วยให้เราจัดการเรื่องนี้ได้ง่ายขึ้น
- ประเมินความคาดหวังของตัวเอง
ตอบตัวเองให้ได้ว่าสิ่งที่เราคาดหวังในตอนนี้คืออะไร บางคนอยากได้โอกาสแสดงฝีมือ บางคนอยากได้การประเมินผลงาน ความก้าวหน้า บางคนอาจอยากได้เพียงคำชื่นชมสักครั้ง เพื่อให้ตัวเราเองจับจุดได้ถูกว่า หากหยิบเรื่องนี้ไปพูดคุยกับหัวหน้า คนในทีม เราจะได้มีคำตอบที่ชัดเจนว่าปลายทางที่เราต้องการคืออะไร - เราได้โอกาสมากน้อยแค่ไหน
แม้เราจะไม่ได้รับคำชมดั่งใจหวัง แต่ในอีกมุมหนึ่ง การได้ทำงานใหญ่ ได้จับงานชิ้นไหนสักชิ้น นั่นหมายถึงเราก็ได้รับโอกาสมาแล้วเหมือนกัน ผู้มอบหมายย่อมเชื่อใจ เห็นความสามารถ ถึงได้เลือกมอบโอกาส มอบหมายงานนี้มาให้ หากเราลองเปลี่ยนมาโฟกัสในมุมนี้บ้าง อาจช่วยลดการตั้งคำถามกับตัวเองได้บ้าง - องค์กรกำลังมองหาอะไร
อยู่ได้อาจไม่ใช่อยู่เป็น ลองสังเกตดูก่อนว่า หากถอดเรื่องตำแหน่งลูกรักออกไป องค์กรของเราชอบคนแบบไหน คนนอบน้อม คนว่าง่าย คนมั่นใจ หรือคนมีไอเดีย หากเรารู้ตัวว่าฉันนี่ล่ะ ปรับตัวเป็นเลิศ ลองปรับตัวเองให้กลายมาเป็นคนในแบบที่องค์กรชื่นชอบดูสิ ในเมื่อตำแหน่งมันเปลี่ยนกันไม่ได้ งั้นเราก็ต้องใช้ไม้อื่นเข้ามาดึงความสนใจ - สร้างวัฒนธรรมชื่นชมด้วยตัวเอง
หากคนที่นี่ปากหนัก กั๊กคำชื่นชมไว้แค่ตำแหน่งสำคัญ (ในสายตาเขา) เท่านั้น งั้นเรามาสร้างบรรยากาศที่ดีให้ที่ทำงานด้วยการเอ่ยชื่นชมเพื่อนร่วมงานเองซะเลย บางครั้งวัฒนธรรมองค์กรสามารถเกิดขึ้นได้จากจุดเล็กๆ อย่างพนักงาน หากอยู่ท่ามกลางบรรยากาศที่ทุกคนต่างเห็นคุณค่าในผลงานของกันและกัน เห็นความสำคัญในการมีอยู่ของฟันเฟืองตัวจ้อยนี้ อาจช่วยให้สิ่งนี้กลายเป็นวัฒนธรรมหลัก ส่งต่อไปยังหัวหน้า ไปยังฝ่ายบริหารได้เหมือนกัน
สำหรับใครที่รู้สึกว่า ยังมีความหวังกับพื้นที่ตรงนี้ ยังอยากปรับตัวให้ถึงที่สุดก่อน ลองนำข้อแนะนำที่คิดว่าเหมาะกับตัวเองไปใช้ แต่สำหรับใครที่รู้สึกว่า หมดเรี่ยวแรงจะแสดงอิทฤทธิ์อะไร แค่เช้าวันจันทร์มาก็เหนื่อยหน่ายที่จะทำงานที่ไม่มีใครเห็นคุณค่า แถมเราเองก็ไม่ได้เข้มแข็งพอจะไม่อินเหรอกับงานได้ ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องพิสูจน์ตัวเองจนกว่าจะได้รับการยอมรับเป็นทางเลือกเดียวเสมอไป การมูฟออนไปข้างหน้าอาจเป็นตัวเลือกที่ดีกับใจเรามากกว่าก็ได้
พิสูจน์แค่เท่าที่ใจเราไหว หากเป็นพื้นที่ที่ไม่ใช่ เราจะเอาถ้วยรางวัลจากคนที่ไม่เหนค่าไปทำไมนะ เตรียมแรงกายแรงใจไปทุ่มกับพื้นที่ที่ใช่กันดีกว่า
อ้างอิงจาก