แค่พูดว่าใครคือหัวหน้า ใครคือลูกน้อง ก็สะท้อนถึงระดับที่ต่างกันแล้ว แม้จะอยู่ทีมเดียวกันแต่โครงสร้างทำให้แต่ละคนมีหน้าที่ มีตำแหน่ง มีอำนาจที่ไม่เท่ากัน หลายครั้งเราจึงรู้สึกถึงช่องว่างบางอย่างที่เพิ่มระยะห่างระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง แต่เมื่ออยู่ทีมเดียวกัน หากจะทำงานร่วมกันโดยมีระยะห่างมาคั่นกลาง แบบนี้แล้วการทำงานจะราบรื่นหรือเปล่านะ
เอ… แต่การเป็นหัวหน้าก็ต้องอยู่ในระดับที่ต่างกันก็ถูกต้องแล้วนี่นา ด้วยตำแหน่งหน้าที่ ทำให้มีอำนาจในมือมากกว่า ก็เพื่อคอยกำกับดูแลทีมให้ไปได้แบบตลอดรอดฝั่ง สิ่งนั้นก็ใช่ หากมองตามโครงสร้างองค์กร การมีหัวหน้าไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่การนำทีมของหัวหน้า ส่งผลกับทีมโดยตรงและอาจส่งผลมากกว่าที่เราคิด
ผลสำรวจจาก Bamboohr เผยตัวเลขที่น่าสนใจว่า กว่า 44% มีเหตุผลหลักในการเลือกลาออกเพราะหัวหน้า ทีนี้ เรามาเจาะลึกลงไปอีกว่าพฤติกรรมของอะไรหัวหน้าที่ทำให้หลายคนตัดสินใจลาออก 37% รูปแบบการบริหาร 30% ทัศนคติ การวางตัว 30% การควบคุมอารมณ์ 26% พฤติกรรมไม่เหมาะสม และ 24% คุกคามลูกน้อง
ดูเหมือนว่าพฤติกรรมของหัวหน้า รวมไปถึงการบริหารทีมส่งผลต่อการตัดสินใจจะอยู่หรือจะไปของคนในทีมได้เลย เชื่อว่าหลายคนเองไม่ว่าในตอนนี้จะอยู่ในตำแหน่งไหน มักจะเคยได้เห็นเรื่องราวทำนองนี้กันมาบ้าง หัวหน้าใจดีแต่บริหารไม่ได้ หัวหน้าใจร้ายที่มีความสามารถ แต่ก็เอาชนะใจคนในทีมไม่ได้ เมื่อก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้า ความสามารถอาจไม่ใช่คุณสมบัติเดียวที่องค์กรต้องการ แต่หมายถึงการบริหาร ดูแลทีม ให้เป็นไปอย่างราบรื่นด้วย
หลายคนอาจมั่นใจว่า เราไม่ได้เป็นหัวหน้าที่มีพฤติกรรมรุนแรงแบบนั้น ไม่ได้สร้างความขุ่นข้องหมองใจให้คนในทีมแน่ๆ แต่อย่าลืมถึง 37% ที่พูดถึงรูปแบบการบริหาร ที่ต้องสามารถเข้ากับทีมได้ด้วย จริงๆ แล้วการขึ้นเป็นหัวหน้า ไม่จำเป็นต้องทำตัวห่างเหิน ลองมาดูวิธีการนำทีมโดย แคทเธอรีน โคลแมน (Catherine Coleman) นักบินอวกาศกันดูว่า เธอมีวิธีสร้างทีมยังไงให้ทีมใกล้ชิดกันมากขึ้น
กล้าที่จะใกล้ชิดคนในทีมมากขึ้น
เราอาจคุ้นเคยว่าการทำงานเป็นทีม ต้องเน้นมองภาพรวม เน้นความเป็นกลุ่มเป็นก้อน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะมองแต่ทีมจนลืมมองลงไปรายคน แคทเธอรีนกล่าวว่าตอนเธอทำงาน มีปัญหาเฉพาะหน้ามาเสิร์ฟไม่เว้นวัน แถมยังต้องแก้ปัญหาภายใต้แรงกดดันมหาศาลอีกด้วย จึงเป็นไปได้ยากที่เราจะเน้นความเป็นทีมจนหลงลืมไปว่าแต่ละคนต่างมีตัวตนของตัวเองเหมือนกัน
เราจึงควรกล้าเข้าไปทำความรู้จักแต่ละคนในทีมให้มากขึ้น รู้ว่าใครชอบทำอะไร เก่งด้านไหน ใช้วิธีแก้ปัญหาแบบไหน เพื่อให้เข้าใจมุมมองที่แต่ละคนมีต่อการทำงาน พอเมื่อถึงเวลาทำงานจริง เราจะได้เลือกคนให้เหมาะกับงานที่สุด นอกจากในมุมมองการทำงานแล้ว หากได้เข้าไปรู้จักชีวิตส่วนตัวด้วยความเต็มใจจากทั้ง 2 ฝ่ายก็ถือเป็นเรื่องดี หลายครั้ง ปัญหาในชีวิตส่วนตัวก็ส่งผลต่อการทำงาน หากหัวหน้ารู้ถึงต้นเหตุนั้นได้ ก็อาจช่วยแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้น
มีพื้นที่ให้ไอเดียของทุกคน
แม้หัวหน้าจะต้องนำทีม แต่เสียงของคนในทีมก็สำคัญเช่นกัน การมีพื้นที่ให้ไอเดียของทุกคน ช่วยให้รู้สึกว่าทุกคนต่างมีส่วนร่วมในการทำงาน ความคิดเห็นของพวกเขามีคนฟัง ได้รับการยอมรับ และครั้งต่อๆ ไป การเสนอไอเดียอะไรขึ้นมาจะไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ไม่ต้องรู้สึกว่ามันจะผิดหรือเปล่า มันจะดีไม่พอไหมนะ
ไม่ว่าไอเดียของใครจะได้ไปต่อ ไอเดียของใครจะถูกตีตก ใครจะทำผิดพลาดยังไง ทุกคนจะรับรู้ว่า พื้นที่นี้อนุญาตให้เราได้เป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ ทำผิดได้ ทำพลาดเป็น และจะเป็นพื้นที่ที่สบายใจมากพอที่จะยอมรับความผิดพลาดด้วยตนเอง หรือเมื่อมีการสะกิดแขนเตือนกัน เพราะความผิดพลาดไม่ใช่เรื่องแปลกในพื้นที่ตรงนี้
ในตอนที่แคทเธอลีนทำงานที่ NASA เธอก็เคยเผชิญกับปัญหาที่ว่า NASA ต้องการลดค่าใช้จ่าย ด้วยการยกเลิกการฝึกของคนที่ไม่สามารถสวมชุดนักบินอวกาศขนาดใหญ่ได้ แต่เธอไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ จึงเสนอทางออกว่าลองหาทางให้เธอได้ฝึกในชุดที่ใหญ่ได้ไหม แล้วก็ได้ผล เธอได้ฝึกต่อในชุดที่ใหญ่ขึ้น จะเห็นได้ว่าวัฒนธรรมองค์กรที่เปิดรับความเห็น จะรับฟังและนำความเห็นนั้นทำงานต่อ ยิ่งย้ำเตือนให้เห็นว่าทุกความเห็นของเหล่าคนทำงานมีความหมาย
ความเชื่อใจเป็นจุดหมายของทีม
ให้ความเชื่อใจว่าคนในทีมจะสามารถทำหน้าที่ของตนได้ และพยายามสร้างความมั่นใจให้กับคนในทีม ว่าเราเองจะสามารถนำทีมได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเจอกับปัญหาอะไร การแก้ปัญหาด้วยภาวะผู้นำ จะช่วยให้ทีมยอมรับการนำทีมของเรามากขึ้น
แคทเธอลีนเสริมว่า ความไม่ไว้ใจเกิดขึ้นได้เสมอ แต่นั่นหมายความว่าความเป็นทีมของเรากำลังสั่นคลอนด้วยเช่นกัน พยายามพูดคุยถึงปัญหานี้เสมอว่าความไม่ไว้ใจนั้นเกิดจากอะไร เพราะอะไรทำให้พวกเขารู้สึกแบบนั้น เราเองก็อาจจะไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้แบบม้วนเดียวจบ อาจจะต้องค่อยๆ สะสมความเชื่อใจ ทำความรู้จักกันมากยิ่งขึ้น เพื่อบรรเทาปัญหานี้ลง
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ หลักใหญ่ก็คือการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในทีม เพื่อสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน ไม่ว่าเราจะอยู่ในตำแหน่งไหน การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี ก็ช่วยให้บรรยากาศการทำงานส่วนรวมดีขึ้นได้ทั้งนั้น ยิ่งเมื่อเราก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าแล้ว ด้วยหน้าที่ที่ต้องนำทีมไปให้ตลอดรอดฝั่ง สิ่งนี้ยิ่งสำคัญกับทั้งผลงานการบริหารทีมของเราและต่อตัวคนอื่นๆ ในทีมด้วย
อ้างอิงจาก