อยู่นอกสายตาของเธอตั้งไกล ทำงานดีแค่ไหน ก็ได้แค่มองจากตรงนี้ จะมีไหมสักนาที เธอเห็นผลงานคนคนนี้ในสายตา
กว่าจะจบงานแต่ละที มีเสียแรงกายแรงใจไปมากมาย เผลอๆ ได้เสียน้ำตาพ่วงไปด้วย แต่พองานสำเร็จลุล่วง คนที่ได้รับคำชมกลับมีแต่คนที่โดดเด่น ส่วนคนอื่นกลายเป็นภาพเบลอ จนรู้อดน้อยใจไม่ได้ว่า แล้วเราไม่ใช่หนึ่งในคนทำงานเหรอ ความชื่นชม เห็นคุณค่าในงาน ถึงได้มาไม่ถึงปลายน้ำ ทั้งที่เราเองก็เป็นอีกเรี่ยวแรงในงานนี้แท้ๆ ถ้าทำได้ก็อยากจะเอาปากไฮไลต์มาขีดให้ตัวเองให้รู้แล้วรู้รอดไป
ตอนทำงานเราก็สู้สุดใจ แต่ทำไมเหมือนผลงานจะไม่ผ่านตาเจ้านายเลยนะ อาจด้วยขอบเขตของงานที่เป็นเหมือนงานเบื้องหลัง อาจเป็นความห่างเหินบางอย่างที่เจ้านายไม่เคยมาสัมผัสการทำงานของเราอย่างใกล้ชิดสักที ทั้งหมดทั้งมวลนี้ พาลให้เราที่เคยคิดว่างานของเราก็ไม่ด้อยกว่าใคร กลายเป็นงานที่ไม่มีใครเห็นความสำคัญ เมล็ดพันธุ์ของความน้อยใจหยั่งรากลึกลงไปเกินกว่าที่เห็นเพียงต้นอ่อนพ้นดิน
ไม่ใช่ว่าเราอยากจะเป็นลูกน้องคนโปรด อยากจะโดดเด่นให้เหนือกว่าใคร แต่อยากให้งานที่เราทำไป มีใครได้เห็นคุณค่า ได้รับคำชื่นชมอย่างคนอื่นบ้าง บางคนอยากปิดทองหลังพระ พอใจในผลงานตัวเองก็เพียงพอแล้ว ซึ่งสิ่งนั้นไม่ผิดอะไร แน่นอนว่าในอีกมุมหนึ่ง ก็ยังมีคนที่อยากถูกชื่นชมอยู่เหมือนกัน และมีจำนวนไม่น้อยเลยล่ะ
ตัวเลขที่น่าสนใจจาก Bonusly บริษัทด้านทรัพยากรบุคคล ชี้ว่า กว่า 63% ของเหล่าพนักงาน รู้สึกว่าไม่เคยได้รับความชื่นชมจากนายจ้างเลย และกว่า 46% ตัดสินใจออกจากงานที่รู้สึกว่าไม่มีใครเห็นคุณค่า สิ่งนี้เลยไม่ได้เป็นแค่เรื่องจุกจิก คนขี้น้อยใจ ที่จะปล่อยผ่านไปเฉยๆ ได้ อย่างที่เห็นว่าสิ่งนี้ส่งผลต่อการตัดสินใจว่าจะอยู่หรือจะไปของพนักงานเลยล่ะ ในทางกลับกัน ถ้าเจ้านายเห็นคุณค่าในผลงานของพนักงานก็จะช่วยให้พวกเขาทำงานดีขึ้นด้วย
งานวิจัยจาก Quantum Workplace กล่าวว่า ถ้าพนักงานรู้สึกว่าสิ่งที่ทำนั้นมีคนจดจำ มีคนมองเห็น พวกเขาจะยิ่งเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานเพิ่มขึ้นอีก 2.7 เท่า นอกจากนี้ยังช่วยลดความเครียดและเพิ่มความพึงพอใจในงานอีกด้วย
ในฝั่งของเจ้านายที่ละเลยความรู้สึกของเหล่าพนักงาน แน่นอนว่าสิ่งนี้ส่งผลต่อการทำงานโดยตรง อาจกลายเป็นการสร้างบรรยากาศที่ไม่น่าอยู่ในออฟฟิศ จนทำให้พนักงานตัดสินใจเดินจากไป ในฝั่งของพนักงานเอง หากปล่อยให้ตัวเองกลายเป็นคนนอกสายตาไปเรื่อยๆ สิ่งนี้ก็ส่งผลกับเราเองโดยตรงเหมือนกันนะ ลองนึกดูว่า หากเราเป็นหัวหน้าที่มองมายังพนักงานคนหนึ่ง แล้วนึกไม่ออกว่าคนนี้เขาเก่งอะไร ทำสิ่งไหนได้ดี มีผลงานไหนโดดเด่นในช่วงที่ผ่านมา แน่นอนว่ามันส่งผลต่อการประเมินผลงาน กลายเป็นว่าผลงานเราไม่เป็นที่ประจักษ์ ไม่โดดเด่น อย่างที่มันควรจะเป็น บันไดขั้นต่อไปของตำแหน่งและเงินเดือน จึงกลายเป็นบันไดสูงชันที่เราจะก้าวไปได้ยากกว่าคนที่เจ้านายเห็นผลงาน จากแค่เรื่องนอกสายตา นานวันเข้าอาจส่งผลให้เรารู้สึกว่างานที่ทำไม่ได้มีคุณค่าขนาดนั้นตามไปด้วย จนสุดท้าย เราอาจหลุดจากวงโคจรของออฟฟิศ ไม่รู้สึกว่าเรามีคุณค่าหรือเป็นที่ต้องการขององค์กรอีกต่อไป
หากเรารู้สึกว่าเรานี่แหละคนนอกสายตา เรานี่แหละที่ทุ่มเทไปเท่าไหร่กลับไม่มีใครชื่มชมเท่าที่ควร แล้วเราจะทำยังไงกับเรื่องนี้ได้บ้าง มาลองดูกันอีกสักตั้ง
- เข้าใจเงื่อนไขรอบข้าง
การเป็นคนนอกสายตาของเจ้านายหรือแม้แต่เพื่อนร่วมงาน สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุมาก ไม่ว่าจะเป็น ขอบเขต หน้าที่ ที่เรารับผิดชอบ อาจเป็นงานที่ไม่ได้เป็นชิ้นเป็นอันหรือโดดเด่นด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว ทุกคนต่างโฟกัสอยู่ที่งานของตัวเอง จนไม่ได้มาสังเกตคนอื่นมากนัก หรือแม้แต่เรื่องความสัมพันธ์ คนที่สนิทสนมกัน มักจะรับรู้ความเป็นไปในการทำงานเป็นปกติ ส่วนคนที่ห่างออกไป แน่นอนว่ารู้เพียงผิวเผิน หรืออาจจะไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าคนที่นั่งห่างออกไปสองโต๊ะนั้น เขากำลังทำอะไรอยู่กันแน่
ทุกคนต่างมีเงื่อนไขในการทำงานของตัวเอง เราเองต้องมองเรื่องนี้ในความเป็นจริงก่อน ว่าใครจะสามารถให้ความสนใจเราได้แค่ไหน สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่แค่เพราะพวกเขาอยากจะมองข้ามเราไปจริงๆ และเราเองก็ไม่อาจจะนั่งรอให้คนอื่นเข้ามาเห็นคุณค่าหรือชื่นชมเพียงอย่างเดียว อาจจะต้องหาทางขีดปากกาไฮไลต์ให้ตัวเองบ้างเช่นกัน
- หมั่นถามฟีดแบ็กอยู่เสมอ
ทุกคนต่างมีหน้าที่ ทุกคนต่างใช้เวลาไปกับงานของตัวเอง เลยทำให้งานของเราไม่ได้เข้าไปอยู่ในสายตาคนอื่นได้ตลอดเวลา หากอยากจะลองหยิบยื่นผลงานของเราไปแบบเนียนๆ แทรกซึมไปทีละนิดละหน่อย ลองใช้วิธีถามฟีดแบ็กก็เป็นอีกทางที่น่าสนใจ
เมื่อเราถามถึง feedback ต่องานใดงานหนึ่ง แน่นอนว่าเราต้องเล่าว่าเราทำอะไรไปบ้าง ทำด้วยวิธีไหน แล้วผลสุดท้ายเป็นยังไง อีกฝ่ายย่อมเห็นของผลงานของเราแบบเต็มตาก่อนที่จะฟีดแบ็กกลับมาได้ เริ่มต้นจากในทีม คนใกล้ตัว ขยายออกไปเรื่อยๆ เมื่อผลงานของเรามีคนรับรู้มากๆ เข้า อาจมีคนพูดแทนเราได้เลยล่ะ
- ชื่นชมคนอื่นอยู่เสมอ
สิ่งนี้ไม่ใช่กับดักคำชม ที่แปลว่าเราจะบีบคอให้อีกฝ่ายต้องชื่นชมเรากลับ แต่สิ่งนี้หมายถึงการสร้างบรรยากาศที่ดีให้ที่ทำงาน บางครั้งวัฒนธรรมองค์กรไม่ได้ถูกประธานมาจากฟากฟ้าฝ่ายบริหารเสมอไป มันสามารถเกิดขึ้นได้จากจุดเล็กๆ อย่างพนักงานได้เหมือนกัน
ผลสำรวจจาก ชี้ว่า 65% ของพนักงาน เลือกที่จะอยู่ในงานเดิมต่อ แม้จะไม่ได้รับคำชื่นชมจากเจ้านาย เพราะพวกเขามีเพื่อนร่วมงานที่เห็นคุณค่าในงานของเราแล้ว หากอยู่ท่ามกลางบรรยากาศที่ทุกคนต่างเห็นคุณค่าในผลงานของกันและกัน เห็นความสำคัญของการมีอยู่ของฟันเฟืองตัวจ้อยนี้ อาจช่วยให้สิ่งนี้กลายเป็นวัฒนธรรมหลัก ส่งต่อไปยังหัวหน้า ไปยังฝ่ายบริหารได้เหมือนกัน
- คุยกับเจ้านายโดยตรง
แน่นอนว่า ไม่ใช่การเดินเข้าไปถาม “คุณเห็นค่าในงานผมบ้างไหม?” หรือ “ช่วยชื่นชมกันหน่อยน่า” เพราะเราไม่ได้จะเข้าไปเปลี่ยนนิสัยเขา ให้ลุกขึ้นมาชื่นชมคนรอบวง แค่อยากจะลองสะกิดให้เขารู้ตัวว่า เรากำลังทำอะไรอยู่บ้าง ถ้าลำพังงานของเราไม่ได้ผ่านตาเขาขนาดนั้น สิ่งนั้นสามารถทำได้ผ่านการคุยตัวต่อตัว อาจเป็นทุกเดือน ทุก 3 เดือน โดยพูดคุยถึงการทำงานช่วงที่ผ่านมาของเรา ว่าเราได้ทำอะไรไปบ้าง ได้เรียนรู้อะไรบ้าง และเรารู้สึกติดขัดตรงไหนหรือเปล่า หรือจะงัดไม้ตายขอฟีดแบ็กมาใช้ก็ย่อมได้ และไม่ต้องรู้สึกลำบากใจที่จะทำ เพราะสิ่งนี้อยู่ในขอบเขตหน้าที่ของคนเป็นหัวหน้าอยู่แล้ว ออกจะดีเสียด้วยซ้ำที่มีพนักงานที่กระตือรือร้น กางผลงานให้ดูตรงหน้า โดยไม่ต้องรอประเมินผลงานกันทีถึงจะมาคุยกันทีหนึ่ง
อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า ด้วยเงื่อนไขหลายอย่างที่ทำให้ผลงานของเราอาจจมหายไปจากสายตาหัวหน้าบ้าง ด้วยภาระหน้าที่ล้นมือ เวลาที่ไม่ตรงกัน หรือแม้แต่ความสัมพันธ์ ส่งผลกับเรื่องนี้ทั้งนั้น ไม่ใช่ว่าใครจะอยากทำตัวเป็นเจ้านายใจร้าย หากเขามีเงื่อนไขบางอย่างที่ทำให้ก้าวเข้ามาสำรวจผลงานทุกคนอย่างใกล้ชิดได้ อย่าลืมว่าเราเองสามารถเดินเข้าไปหยิบยื่นผลงานให้เขาดูได้เหมือนกัน
มาถึงตรงนี้แล้ว บางคนอาจรู้สึกว่า นี่เรากำลังทำมากไปหรือเปล่า เหมือนไปร้องขอความรักจากคนที่ไม่เห็นค่าของเรา แต่ท่องไว้ว่านี่ไม่ใช่ความรักความสัมพันธ์ที่จะมีเงื่อนไขต่างไป นี่คือโลกการทำงาน สิ่งที่เรากำลังร้องขอนั้น ไม่ได้ส่งผลแค่ว่า เราจะได้รับคำชมมากแค่ไหน แต่มันส่งผลไปถึงการประเมินผลงาน การเลื่อนตำแหน่ง เงินเดือน ของเราต่างหาก
เพราะบางครั้งการรอให้ใครมาเห็นคุณค่าในงานของเรา อาจทำให้เราต้องเสียเวลากับวิธีการทำงานที่ไม่ใช่ ลองลุกมาเปิดทางให้บันไดความก้าวหน้าของเราด้วยตัวเองอาจจะดีกว่า แต่ถ้าจนแล้วจนรอด ก็ยังไม่มีใครเห็นค่าอยู่ดี การเดินจากไปหาที่ที่เห็นคุณค่าของเรา ก็เป็นอีกตัวเลือกที่ดีเช่นกัน
อ้างอิงจาก