“แกเย็นนี้กินอะไรดี?”
นั่นน่ะสิ จะกินอะไร ทำไมถึงคิดไม่ออก ทั้งที่นี่เป็นคำถามที่น่าจะตอบได้ง่าย ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายที่เราต้องพิถีพิถัน แล้วเหตุใด มันจึงยากแสนยาก ทำเอาเรากับเพื่อนต้องเสียเวลาไปหลายนาทีกว่าจะได้มื้อดีๆ สักมื้อหนึ่ง
เป็นใคร ใครก็เซ็ง แค่ชีวิตประจำวันก็มีเรื่องให้ขบคิดมากพอแล้ว ไหนจะงาน ความสัมพันธ์ การเงิน สุขภาพ มีปัจจัยให้เครียดเยอะขนาดนี้ยังต้องมานั่งคิดอีกว่าเที่ยงวันนี้ เย็นวันนั้นจะกินอะไร…
ไม่เข้าใจจริงๆ ว่าทำไมเรื่องนี้ถึงกลายเป็นปัญหาโลกแตกสำหรับใครหลายคน
ที่เลือกไม่ได้เป็นเพราะ?
หลายคนถึงกับบอกว่าให้แก้ปัญหาในที่ทำงานยังง่ายกว่าการตัดสินใจเลือกว่าจะกินอะไรเสียอีก ซึ่งต้องบอกเลยว่า การเลือกไม่ได้ ตัดใจไม่ลงตรงนี้มีหลักการทางวิทยาศาสตร์และข้อสันนิษฐานรองรับด้วย โดยเหตุผลของความยากลำบากในการเลือกร้านอาหาร แบ่งออกเป็น 5 ข้อหลักๆ ได้แก่
- ตัวเลือกมากไป
‘ก๋วยเตี๋ยวดีมั้ยนะ…เอ หรือจะตามสั่ง…แต่ข้าวขาหมูก็ดูน่ากิน’
จำนวนของตัวเลือกแปรผันตรงต่อความยากในการตัดสินใจ พูดง่ายๆ คือยิ่งมีตัวเลือกเยอะเท่าไหร่ เราก็ยิ่งตัดสินใจไม่ได้เท่านั้น และในกรณีของอาหารการกิน เราไม่ได้ต้องคิดแค่ว่าร้านที่เราจะฝากท้องมื้อนี้คือที่ไหน แต่ยังต้องเลือกเมนูหลังจากได้ร้านด้วยว่า มื้อนี้เราจะกินอะไร ส่วนหลายคนก็ใช้เมนูเป็นปัจจัยประกอบการเลือกร้านอาหารตั้งแต่ต้น
ข้อมูลจากวารสาร Nature Human Behavior ระบุว่า ความไม่แน่ใจอันแสนน่ารำคาญเกี่ยวกับการสั่งอาหารนี้ เป็นผลพวงของ ‘Choice Overload’ โดย ดร.ลินดา ซาปาดิน (Linda Sapadin) ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตอธิบายว่า ปัญหาการเลือกร้านเกิดจากการที่หลายเมนูดูน่ากินไปหมดในเวลาเดียวกัน ซึ่งการ ‘ต้องเลือก’ เป็นเหมือนการบังคับให้เราปิดโอกาสแห่งความเป็นไปได้อื่นๆ ทั้งหมด เพราะในหนึ่งมื้อ เราย่อมไม่สามารถนำทุกอย่างที่อยากกินเข้าปากได้ เพราะกระเพาะของเรามีพื้นที่จำกัด และเงินในกระเป๋าของเราอาจไม่มากพอ
ด้วยเหตุนี้ ทุกครั้งก่อนเลือกร้าน เราจึงทำได้เพียงจินตนาการความอร่อยที่เรารู้อยู่แก่ใจว่าไม่มีทางลิ้มลองได้ครบในมื้อที่กำลังจะถึง จิตใจของเราจดจ่ออยู่กับเหล่าตัวเลือกที่มีจนนำไปสู่ความกังวลว่า ตัวเองอาจเลือกในสิ่งที่ผิด เพราะในเมื่อมีร้านอาหารดีๆ ตั้งมากมาย ถ้าสุดท้าย สิ่งที่ได้กินดันไม่อร่อยดั่งใจหวัง เราก็คงกลับมานั่งเสียดายไม่น้อย ทำนองว่า ‘รู้งี้ วันนี้น่าจะกินอีกร้านหนึ่ง’
- ตัวเลือกน้อยเกิน
หลายครั้งความท้าทายของการตัดสินใจก็ไม่ได้เกิดจากตัวเลือกที่มากจนยากต่อการเลือก แต่เกิดจากตัวเลือกที่น้อยจนเราไม่อยากเลือกและทำได้เพียงสบถในใจว่า ‘แล้วฉันเลือกอะไรได้ไหม’
ต้องยอมรับว่าในบางมื้อ เราก็มีเงื่อนไขอื่นๆ ที่ทำให้ทางเลือกของเรามีจำกัด เช่น ในวันที่มีเวลาพักแค่ 30 นาที เราต้องหาอาหารทานง่ายในร้านที่ลูกค้าไม่มาก หรือกรณีที่จำเป็นต้องกินในร้านที่อยู่ไม่ไกลจากออฟฟิศ ซึ่งทั้งร้านแถวนี้ เราก็สลับกินจนเบื่อแล้ว
อันที่จริง ความเบื่อก็เป็นอีกเหตุผลที่สำคัญเช่นเดียวกัน เพราะหลายครั้ง สถานการณ์ตรงหน้าก็ไม่ใช่ว่าทุกอย่างอร่อยจนเลือกไม่ได้ว่าจะกินอะไร แต่เป็นทุกร้านน่าเบื่อจนเราไม่รู้แล้วว่าควรทานอะไร
- ใจเรามันโลเล
Indecisive Person คือบุคคลที่ไม่มีความเด็ดขาดในการตัดสินใจ คนกลุ่มนี้จะวิตกกังวล ตั้งแต่ระดับเล็กน้อยจนถึงมาก เมื่อต้องทำการเลือกสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องสำคัญ หรือกับบางคน แม้กระทั่งเรื่องการเลือกอาหารในแต่ละมื้อก็เป็นสิ่งที่ยากอย่างไม่น่าเชื่อ
ดร.ดีคอน โจเซฟ เฟอร์รารี (Dr.Deacon Joseph Ferrari) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยดาพอล ชิคาโก เผยว่า ประชากรในโลกกว่า 20 เปอร์เซ็นต์เป็นคน ‘Indecisive’ หรือ ‘ไม่มีความแน่ใจ’ จึงไม่แปลกที่การตัดสินใจ แม้จะเป็นในหัวข้อง่ายๆ ก็กลายเป็นเรื่องที่ท้าทายและยุ่งยาก กระนั้น มันก็ไม่ใช่ความผิดปกติที่ถึงกับต้องหวั่นวิตก โดยความไม่แน่ใจนี้มีความเชื่อมโยงกับระบบประสาท ทั้งยังส่งผลให้หลายคนเสียเวลาไปกับการไตร่ตรองความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น จนทำให้การตัดสินใจล่าช้า เป็นการหนีปัญหาด้วยวิธีชะลอเวลาตัดสินใจ คือหิวนะ แต่ไม่อยากเลือก คิดไม่ตก ไม่กล้าฟันคำตอบ
- เลือกไม่ตรงกับเพื่อน
อีกหนึ่งสาเหตุที่คนมากมายเผชิญคือเราน่ะเลือกได้แล้ว แต่เพื่อนตัวดีดันเลือกไม่เหมือนเรา นำมาสู่การปะทะคารม ต่อรอง และขายของว่าร้านฉันดีกว่าร้านเธอ
“งั้นวันนี้กินร้านนี้ พรุ่งนี้ค่อยไปร้านนั้น” เราว่า
“ไม่เอาดิ วันนี้ไปร้านของนี่ก่อน พรุ่งนี้ค่อยไปของแก” เพื่อนตอบ
นี่คือปัญหาอีกรูปแบบเพราะแต่ละคนในกลุ่มเลือกได้แล้ว หากแต่เป็นการตัดสินใจร่วมที่ยังกระทำไม่ได้ โดยหลายครั้งผลลัพธ์ก็ลงเอยด้วยความประนีประนอม ทำข้อตกลง และยินยอมกันอย่างมีมิตรภาพ แต่แน่นอนว่าก็มีเหมือนกันที่การถกเถียงหรือทะเลาะเบาะแว้งเกิดขึ้นก่อนจะได้ตักอาหารเข้าปาก ถึงขนาดแยกกันกินไปเลยก็มี
- คิดไม่ออก
อันนี้เบสิกสุดๆ ไม่ได้เบื่อร้านไหน ไม่ได้มีตัวเลือกมากมาย ไม่ได้โลเล ไม่ได้เห็นไม่ตรงกับใคร แต่ฉันไม่มีอะไรในใจจริงๆ ไม่มีที่แปลว่าไม่มีเลย นึกร้านไหนไม่ออก จู่ๆ หัวมันก็ว่างเปล่า
อยากให้มันง่ายอย่างที่ควรจะเป็น
อ่านไป ท้องก็เริ่มหิว ดังนั้น ไหนๆ ก็รู้สาเหตุแล้ว เรามาลองดูกันบ้างดีกว่าว่า วิธีแก้ปัญหาโลกแตกอย่างการเลือกร้านข้าวมีอะไรบ้าง
- ตัดตัวเลือก – บางเว็บไซต์ถึงขนาดเสนอให้ใช้ตรรกะและสมการเข้าช่วย แต่ใจความคร่าวๆ คือ ถ้าไม่รู้ว่าอยากกินอะไร ให้ลองไล่ไปทีละร้านแทนว่าเราไม่อยากกินอะไร โดยระหว่างนั้นก็ลองพิจารณาถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น เรากำลังลดน้ำหนัก เพื่อนคนนั้นต้องไปกินราเมนคืนนี้ ฯลฯ และสุดท้าย ลองวาดภาพตัวเองหลังได้กินอาหารในร้านนั้นๆ ว่าเราจะมีความสุขมากน้อยแค่ไหน อย่างไร
- สร้างกฎผลัดกันตัดสินใจ – “เมื่อวานเราเลือกแล้ว วันนี้ตาเธอ!” หากเราอยู่ท่ามกลางเพื่อนฝูงผู้ไม่ชอบตัดสินใจ และเราเองก็เป็นหนึ่งในนั้น การเล่นเกมโดยให้แต่ละคนผลัดกันเลือกร้านอาหารที่ตัวเองชอบก็น่าจะเป็นหนึ่งทางออกที่ช่วยให้การเลือกร้านใช้เวลาน้อยกว่าที่เคย
- ถามคนนอก – หากไม่มีใครตรงนั้นนึกออก การโทรถามหรือไลน์ถามคนนอกก็อาจช่วยได้ไม่น้อย เพราะบางที เราอาจรู้จักร้านดีๆ แต่จู่ๆ ก็ดันนึกไม่ออกซะงั้น
- ดวง – ก็ถ้ามันยากนักก็สุ่มเอาเลยแล้วกัน โยนเหรียญหัวก้อย ทอยลูกเต๋า หรือจะใช้บันไดงูก็ได้ แต่ถ้าหากปัญหาที่แท้จริงคือไม่มีกระทั่งร้านในใจ เราก็แนะนำให้ทุกคนลองทำรายชื่อร้านอาหารหรือเมนูเก็บไว้ หรือถ้าเหนือชั้นไปกว่านั้น ก็อาจจะนำรายชื่อร้านอาหารในคลังมาทำเป็นเซียมซีเสี่ยงทายกันไปเลย วันไหนคิดไม่ออก ก็ลองลุ้นดูว่าจะได้ร้านไหน
อะไรก็ได้ไม่จริง
อีกหนึ่งปัญหาที่ต้องมีวิธีแก้แบบเฉพาะเจาะจง นั่นคือเพื่อนในกลุ่มบอกว่า “อะไรก็ได้” แต่ไม่ว่าเราจะเสนออะไรไป มันก็ตอบกลับว่า “ไม่ได้ๆๆ” ทั้งหมด
“ร้านนี้เหรอ ไม่เอาอะ เพิ่งกิน”
“เฮ้ย กินหมาล่าแล้วหัวเหม็นอะ มีร้านอื่นมั้ย”
“อืม เรายังอิ่มๆ อยู่เลย ไม่อยากกินบุฟเฟ่ต์”
“แล้วแกอยากกินอะไร” เราถามสวน
“อะไรก็ได้ๆ แล้วแต่เลย” เพื่อนตอบ
เฮ้อ…อยากจะสาปส่งให้รู้แล้วรู้รอดกันไปเลย
อย่างไรก็ดี เราขอเสนอสองวิธีที่อาจช่วยให้ทุกคนเอาชนะเพื่อนประเภทนี้และเลือกร้านได้ในที่สุด
- เสนอร้านแย่ๆ– เมื่อรู้แล้วว่า คำว่า ‘อะไรก็ได้’ ของเพื่อนไม่เคยหมายความตามนั้นจริงๆ สิ่งที่เราพอทำได้คือลองเสนอไอเดียที่เป็นไปไม่ได้ไปเลย โดยแนวทางนี้จะยั่วยุให้อีกฝ่ายค่อยๆ บอกความต้องการที่แท้จริงของตัวเองออกมาในที่สุด ฝั่งเราอาจจะอึดอัดใจหน่อย แต่อย่างน้อย กลุ่มจะเลือกร้านได้ แถมยังประหยัดเวลาด้วย
- บอกให้เลือกหนึ่งในนั้น– ลองเสนอประมาณ 2-4 ร้านที่เราสนใจ แล้วให้เพื่อนที่บอกว่าอะไรก็ได้เลือกอีกที ถ้าเพื่อนถามว่า ขอนอกเหนือจากนี้ได้มั้ย ให้กลับไปใช้วิธีที่ 1 พร้อมยื่นคำขาดเลยว่า“ได้ แต่ต้องบอกมาเลยว่าร้านไหน ไม่อย่างนั้นก็ต้องเลือกจาก 1 ใน 3 ที่เราเสนอ”
หวังว่ารายละเอียดเหล่านี้จะช่วยให้มื้ออาหารของทุกคนง่ายกว่าที่เป็นมา หรืออย่างน้อยที่สุด หากเพื่อนๆ สามารถประหยัดเวลาในการตัดสินใจได้ แม้เพียงไม่กี่นาที นั่นก็ถือว่าบทความได้ทำหน้าที่ของมันแล้ว
ท้ายที่สุด เราคงรู้อยู่แก่ใจว่าปัญหาที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า ‘วันนี้กินอะไร’ จะยังคงดำเนินต่อไปไม่จบสิ้น ทว่าสิ่งหนึ่งที่อยากให้ทุกคนระลึกอยู่เสมอคือ สถานที่ที่ไปและเมนูที่สั่งอาจไม่ใช่สิ่งซึ่งสำคัญที่สุด
เพราะความสุขที่แท้จริงของมื้ออาหารอาจไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ว่าเรากิน ‘ร้านไหน’ แต่เป็นเรากิน ‘กับใคร’ ต่างหาก
อ้างอิงจาก