ช่วงเดือนที่ผ่านมาเราสารภาพแบบไม่กลัวโดนแบนจากวงการออร์แกนิกว่ากินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปบ่อยมาก ถึงใครจะบอกว่า ‘เวลาน้อย’ ไม่ใช่ข้ออ้างที่คุณจะไม่กินอาหารที่ดีกับร่างกาย แต่รู้ทั้งรู้ สุดท้ายบะหมี่กึ่งฯ ก็กลายเป็นชอยส์ลำดับต้นๆ อยู่ดี ถ้าเหลือเวลาอีกไม่เกินสิบนาทีให้การหาอะไรกิน…
ไม่ใช่แค่ว่ามันอร่อย หาซื้อง่าย ราคาถูก แต่เพราะมันกลายเป็น ‘ตัวแทน’ ของอาหารรีบด่วนแทบทุกอย่างเวลาคิดอะไรไม่ออก ยิ่งในสังคมที่นิยมกินอะไรร้อนๆ แบบบ้านเรา บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสักถ้วยก็อาจช่วยเยียวยาท้องไส้ยามดึกได้แบบไร้ที่ติ
และแน่นอนว่าช่วงเวลาแห่งการกินบะหมี่กึ่งฯ นั้นเป็นอนันต์ ไม่ต้องรอให้ถึงปลายเดือน เราก็กินกันได้กินกันดี ราวกับมีมนตร์ขลังซ่อนอยู่ในนั้น
ความป๊อปนี้ไม่ใช่อุปาทานหมู่ แต่บะหมี่กึ่งฯ ถูกออกแบบมาอย่างดี
ย้อนกลับไปในช่วงยุค 50 สมัยที่ญี่ปุ่นเพิ่งผ่านพ้นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หมาดๆ คนในสังคมกำลังง่วนอยู่กับการซ่อมแซมและพัฒนาประเทศกันอย่างเอาเป็นเอาตาย อาหารการกินก็ขาดแคลนในระดับที่รัฐบาลต้องรณรงค์ให้ประชาชนหันมากิน ‘ขนมปัง’ แทนข้าวหรือราเมน เพราะราคาถูก อิ่ม และเก็บได้นาน
ตอนนั้นเองที่นาย Momofuku Ando นักธุรกิจหนุ่มลูกครึ่งญี่ปุ่น-ไต้หวัน เกิดคิดแย้งขึ้นมา และพยายามหาทางทำให้ราเมนที่เขารักกลายเป็นเมนูทำกินกันได้ง่ายๆ เร็วๆ เก็บรักษาได้นาน และราคาถูกไม่ต่างจากขนมปัง
เขาเริ่มทดลองที่หลังบ้านของตัวเอง โดยใช้อุปกรณ์ง่ายๆ และพยายามหาวิธีให้ราเมนกลายเป็นอาหารแห้ง ที่เก็บไว้ได้นานเท่ากับหรือมากกว่าขนมปัง
หลังลองผิดลองถูกอยู่นาน ในที่สุด ในวันที่ 25 สิงหาคม ปี 1985 นายอันโดก็ทำสำเร็จ ด้วยการเอาเส้นราเมนมาต้มในซุปไก่ รอจนสุก ยกขึ้นผึ่งจนแห้ง จากนั้นทำไปทอดในน้ำมันปาล์มร้อนๆ เพื่อไล่ความชื้นแล้วบรรจุใส่ถุง และตั้งชื่อมันว่า ชิกิน ราเมน (Chikin Ramen—Chicken Ramen) เป็นราเมนแบบไม่มีเครื่องปรุงรสแนบมาในซอง แต่เพียงต้มเส้นในน้ำร้อนก็จะได้ราเมนรสซุปไก่พร้อมทาน ในชื่อแบรนด์คุ้นหูอย่าง Nissin
เป็นไปตามคาด คนญี่ปุ่นรักชิกินราเมน ถึงขนาดยกย่องให้มันเป็นสิ่งประดิษฐ์ทรงคุณค่าที่สุดในยุค 50 เป็นอาหารที่ช่วยพวกเขาจากขนมปังชืดๆ ยามยาก และทำให้วิถีชีวิตของหลายคนเปลี่ยนไปไม่เหลือเค้าเดิม… ไม่ใช่เฉพาะชาวแดนอาทิตย์อุทัยเท่านั้น เพราะชิกินราเมนเดินทางสร้างความนิยมไปทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่มี ‘วัฒนธรรมบะหมี่’ เป็นของตัวเอง อย่างเวียดนาม จีน ไต้หวัน เกาหลี รวมถึงไทยเราเอง
‘ซันวา’ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเจ้าแรกในไทย
คนไทยรู้จักบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปครั้งแรกราวปี 1972 (พ.ศ. 2514) กับแบรนด์ ‘ซันวา’ ที่หยิบรูปแบบของชิกินราเมนมาปรับจนได้รสชาติถูกปากคนไทย และใช้ ‘ต้ม’ กินกันอย่างอร่อยปาก
ระหว่างนั้นเองที่ไต้หวันก็เกิดนวัตกรรมบะหมี่กึ่งฯ แบบใหม่ซึ่งสามารถ ‘ชง’ ใส่น้ำร้อนกินได้ภายใน 3 นาทีขึ้น ด้วยวิธีกินที่ง่ายกว่า ทำให้เกิดแบรนด์บะหมี่กึ่งฯ แบบชงขึ้นมากมาย ในไทยเองก็เช่น ยำยำ ไวไว และมาม่า (แน่นอนว่าหลังจากนั้นบะหมี่ที่ต้องต้มอย่างซันวาก็ตายจากตลาดไป)
แต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้แบรนด์ลำดับ 4 อย่างมาม่ากลับผงาดขึ้นมาเป็นเจ้าตลาดตลอดกาล (กินส่วนแบ่งตลาด 50 เปอร์เซ็นต์ ไม่เคยต่ำกว่านี้) คือการครีเอตรสชาติ ‘ต้มยำกุ้ง’ ขึ้นมาสนองลิ้นคนไทยเป็นเจ้าแรก ขณะที่แบรนด์อื่นยังเพลย์เซฟอยู่กับรสซุปไก่และหมูสับตามฉบับเจแปนสไตล์ ความกล้าครั้งนั้นทำงานต่อเนื่องจนปัจจุบัน เพราะมาม่ารสต้มยำกุ้งกลายเป็น ‘ตัวแทน’ ของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบไทยในเวทีโลกเรียบร้อย
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นสื่อกลางของรสชาติ วัฒนธรรม และเงินตรา
ไม่เพียงในประเทศที่มีวัฒนธรรมการกินบะหมี่แข็งแรง แต่ในฝั่งตะวันตกอย่างอเมริกา บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็ป๊อปไม่แพ้แฮมเบอร์เกอร์หรือโคคาโคล่า
เพราะหลังกลุ่มทุนจากเอเชียโดยเฉพาะจีนและญี่ปุ่นตบเท้าเข้ามาแสวงกำไรในอเมริกาช่วงยุค 70 ก็เกิดการตั้งรกรากกลายเป็นสังคมย่อยๆ ในดินแดนแห่งเสรีภาพ และแน่นอนว่าวัฒนธรรมการกินราเมนหรือบะหมี่คือสัมภาระที่พวกเขาพกติดตัวมาด้วย บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจึงเฟื่องฟูในโลกตะวันตกนับแต่นั้น
แต่การกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของอเมริกันชนก็ต่างจากที่เราคุ้นเคยอยู่พอสมควร ด้วยไม่มีวัฒนธรรมบะหมี่เป็นของตัวเอง คนเลยนิยมหักครึ่งเส้นบะหมี่แห้งใส่ชามก่อนเติมน้ำร้อน หรือใช้ช้อนส้อมตักบะหมี่เข้าปากแทนตะเกียบ
นั่นเองคือจุดเริ่มต้นของไอเดีย ‘คัพนูดเดิล’ หรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในถ้วยขนาดพอดีกับเส้นที่มาคู่กับส้อมหนึ่งคัน สิ่งที่ทำให้มันได้รับความนิยมอย่างล้นหลามคือฟังก์ชั่น ‘เติมน้ำร้อนแล้วกินได้เลย’ ไม่ต้องเตรียมช้อนเตรียมชามให้วุ่นวายเหมือนแต่ก่อน
เมื่อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปราคาถูก (ราคาเฉลี่ยประมาณ 1 ดอลลาร์) รสอร่อยถูกปาก ใครก็เข้าถึงได้ คุณสมบัติดังกล่าวทำให้หลายครั้งมันกลายร่างเป็น ‘สื่อกลาง’ ในการแลกเปลี่ยนไม่ต่างจากเงินตรา
เลยเถิดถึงขนาดนักโทษในอเมริกานิยมใช้เป็นของแลกเปลี่ยนเพื่อจ้างวานเพื่อนนักโทษในการทำสิ่งต่างๆ ภายในคุก (เช่น ซักรีด บีบนวด หรือเข้าเวรเเทน) โดยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซึ่งมีมูลค่ามากที่สุดสำหรับแลกเปลี่ยนคือ ‘รสต้มยำกุ้ง’ จากไทยแลนด์นี่เอง ว่ากันว่ามีมูลค่าสูงกว่าบุหรี่หรืออาหารกระป๋องเลยด้วยซ้ำ
โดยนักวิจัยพฤติกรรมมนุษย์ Michael Gibson-Light กล่าวไว้ในหนังสือ Prison Ramen: Recipes And Stories From Behind Bars. ว่า “คุณสามารถทำนายว่านักโทษคนไหนเป็นที่รักของเพื่อนได้จากจำนวนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในล็อกเกอร์เขาเลยล่ะ”
จากที่เล่ามา เราคงสรุปอย่างรวบรัดได้ว่า นอกจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะเปลี่ยนวิถีการกินของคนยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว มันยังกลายเป็นมาตรวัดในหลายบริบท ไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจ (ช่วงไหนตกต่ำบะหมี่กึ่งฯ มักขายดี) หรือทางวัฒนธรรมที่เรามักจะเห็นบะหมี่กึ่งฯ รสชาติแปลกใหม่ผุดขึ้นมาบนเชลฟ์อยู่เรื่อยๆ จนกลายเป็นทางเลือกเพลินใจให้ใครหลายคนในช่วงปลายเดือนได้ดีทีเดียว
อ้างอิงข้อมูลจาก
sites.google.com/insantnoodles
Text by Mob Aroonwatree คนรักอาหารผู้เขียน The Dining Universe จักรวาลควันโขมง