คุณลุงเจ้าของร้านหนังสือสุดใจดีที่เก็บหนังสือเล่มโปรดให้เราทุกครั้ง คุณป้าขายเครื่องเขียนราคาย่อมเยาสุดน่ารักที่ทำให้เราสอบผ่านวิชาศิลปะ หรือรสชาติของอาหารโปรดที่หากินที่ไหนก็ไม่อร่อยเท่า
หลายครั้งการกลับไปยังสถานที่ในความทรงจำ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเก่า ร้านอาหารประจำ หรือสถานที่ที่เคยไปบ่อยๆ ในวัยเด็ก ทำให้เรารู้สึกสงบและอุ่นใจ แม้จะผ่านไปนานหลายปีแต่พอกลับไปสถานที่นั้นทีไรก็อดคิดถึงช่วงเวลาเหล่านั้นไม่ได้ และยิ่งดีใจเมื่อได้เห็นว่าร้านเหล่านั้นยังคงอยู่เหมือนเดิม
แม้จะมีคนบอกว่าการค้นพบสถานที่ใหม่ๆ อาจทำให้เรารู้สึกตื่นเต้น เหมือนได้ออกไปผจญภัย แต่ทำไมเราถึงผูกพันกับสถานที่เก่าๆ ที่เราคุ้นเคยกันนะ วันนี้ The MATTER ชวนไปเข้าใจจิตวิทยาเบื้องหลังความชอบของสถานที่คุ้นเคย เกิดอะไรขึ้นเมื่อร้านในความทรงจำหายไป แล้วการมีร้านเก่าในชุมชนช่วยฮีลใจเราได้ยังไงบ้าง
เรารู้สึกปลอดภัยกับสถานที่คุ้นเคย
ร้านค้าใกล้บ้าน ร้านขนมรสชาติเหมือนคุณยาย คาเฟ่เดตแรก ไม่แปลกหากเราจะชอบกลับไปยังสถานที่ที่มีความเชื่อมโยงกับเราบ่อยๆ สิ่งนี้ทางจิตวิทยาเรียกว่า ‘mere exposure effect’ หรือปรากฎการณ์ที่ทำให้คนรู้สึกชอบหรือไม่ชอบจากความคุ้นเคยกับสิ่งนั้น พูดง่ายๆ ว่ายิ่งเราเห็นหรือคุ้นเคยกับสิ่งนั้นบ่อยเท่าไหร่ เราก็ยิ่งรู้สึกชอบได้ง่ายขึ้นเท่านั้น
ราช รากุณธาน (Raj Raghunathan) รองศาสตราจารย์ภาควิชาการตลาดที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส อธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้เรารู้สึกชอบความคุ้นเคยว่า มาจากสมองคนเราถูกวิวัฒนาการมาให้เข้าใจว่าสิ่งที่เราคุ้นเคยคือสิ่งที่ปลอดภัย และช่วยให้เรามีชีวิตรอดจนถึงทุกวันนี้ เวลาเจอสถานการณ์นี้สมองไม่ต้องประมวลผลมากนัก เราจึงรู้สึกผ่อนคลายกว่าปกติเมื่อได้อยู่ในสถานที่ หรือทำกิจกรรมที่เคยชิน
เป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงมีความสุขทุกครั้งที่ได้ทำอะไรเดิมๆ อย่างการเดินเล่นในสวนใกล้บ้าน หรือดูหนังเรื่องเก่าๆ ในทางตรงข้ามเราจะรู้สึกตึงเครียดและเชื่อมโยงกับผู้คนหรือสถานที่นั้นได้น้อยลง หากเป็นสถานการณ์ที่เราไม่คุ้นเคยมาก่อน เช่น การย้ายไปเมืองใหม่ โรงเรียนใหม่ หรือที่ทำงานใหม่
ปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นได้ทั้งกับคน สัตว์ สิ่งของ รสชาติอาหาร เช่นเดียวกับสถานที่ เมื่อเราได้กลับไปยังสถานที่บางแห่งบ่อยๆ ร้านนั้นจะกลายเป็นที่ที่มีความหมายกับเรา เมื่อเรามีประสบการณ์และทรงจำที่ดีมากขึ้น มันจะค่อยๆ ประกอบร่างขึ้นเป็นความรู้สึกดี
สถานที่ทำให้เรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
การสร้างความคุ้นเคยเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา อย่างที่เรานิยามว่าเราเป็น ‘คนที่ไหน’ ได้ ก็ต้องเป็นที่เรารู้จักและผูกพันสถานที่นั้นเป็นอย่างดี
การได้เติบโตมาในละแวกบ้านที่มีรสชาติอาหาร กลิ่น หรือผู้คนที่คุ้นเคยทำให้เรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่นั้น จึงไม่แปลกหากเราจะรู้สึกโหวงเหวง หากร้านกาแฟที่มีรสชาติที่เราชอบปิดตัว ร้านหนังสือที่หายไป หรือร้านเครื่องเขียนที่เคยซื้อประจำในวัยเรียนไม่อยู่แล้ว เพราะสิ่งที่หายไปไม่ได้มีเป็นแค่ตึก หรือสถานที่เท่านั้น แต่ยังหมายถึงผู้คน และความทรงจำที่จะหายไปด้วย
เออร์วิน อัลท์แมน (Irwin Altman) นักจิตวิทยาสังคมระบุว่า การสูญเสียตึกหรือสถานที่ที่เราเคยอาศัยอยู่หรือชุมชน ทำให้เรารู้สึกสูญเสียไม่ต่างจากสูญเสียคนสำคัญในชีวิต สอดคล้องกับหนังสือ In Returning to Nothing: the meaning of lost places ที่เขียนโดยปีเตอร์ รี้ด (Peter Read) นักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาประวัติศาสตร์คนพื้นเมืองออสเตรเลีย ได้กล่าวถึงความสูญเสียของสถานที่ไว้เช่นกันว่า ความสูญเสียจากความตายหรือการหายไปของสถานที่คือความเสียหายที่ใหญ่หลวงมาก เพราะสิ่งนี้ส่งผลต่อความเป็นตัวตนของเรา และความรู้สึกของการเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์
ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งเป็นแรงจูงใจของมนุษย์ตามทฤษฎีลำดับขั้นของมาสโลว์ นักจิตวิทยาชื่อดังด้านมนุษยนิยม ซึ่งมีด้วยกันทั้งหมด 5 ขั้น คือ 1) ความต้องการทางร่างกาย 2) ความต้องการความปลอดภัย 3) ความต้องการความรักและเป็นส่วนหนึ่ง 4) ความต้องการมีเกียรติและศักดิ์ศรี และ 5) ความต้องการบรรลุศักยภาพ
จะเห็นว่าความต้องการเป็นส่วนหนึ่งอยู่สูงเป็นลำดับที่สาม มาสโลว์ระบุว่าความเป็นส่วนหนึ่งไม่จำเป็นต้องยึดโยงกับสถานที่ แต่ยังเกิดขึ้นจากผู้คนในสถานที่นั้นได้อีกด้วย เราจะรู้สึกผูกพันกับใครก็ได้ที่มาของคนที่เราพบเจอด้วย เหมือนอย่างที่เรารู้สึกอุ่นใจหากรู้ว่าในเมืองใหญ่นี้มีคนที่มาจากบ้านเดียวกันอยู่ใกล้ๆ กัน
นอกจากนี้ ไมเคิล จาคอบส์ (Michael Jacobs) นักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมและนักวางแผนอธิบายถึงความสำคัญ ของการสร้างเมืองที่เป็นส่วนหนึ่งของผู้คนว่า อาคารสถานที่ในเมืองเป็นมากกว่าแบ็กดรอปในเมืองให้เราใช้ชีวิตในแต่ละวัน ผู้คนไม่ได้มองว่า ‘เมืองนี้เป็นของพวกเขา’ แต่กลับกัน ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองมักพูดว่า ‘พวกเขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของเมือง’ มากกว่า ยิ่งย้ำให้เห็นว่าเมืองมีส่วนสำคัญต่อชีวิตผู้คนมากแค่ไหน
การมีอยู่ของร้านค้าเล็กๆ ทำให้เราใกล้ชิดกันมากขึ้น
ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราได้เชื่อมโยงกับผู้คน การมีอยู่ของร้านค้าเล็กๆ ไม่เพียงแต่ซัพพอร์ตด้านจิตใจให้กับผู้คนเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีกับเมืองรอบๆ ด้วย ชาร์ล มารอนห์ (Charles Marohn) ผู้ก่อตั้ง Strong Towns องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ทำงานเพื่อช่วยเหลือการเงินและความมีส่วนร่วมของพลเมืองในสหรัฐอเมริกา ระบุถึงความสำคัญที่เราควรมีร้านค้าใกล้บ้านไว้ ดังนี้
- ผู้คนเข้าถึงร้านค้าต่างๆ ได้ด้วยการเดิน: ข้อดีของร้านค้าใกล้บ้านคือมักตั้งอยู่ในตรอกซอกซอย และระยะที่เราเดินได้ ถือว่าช่วยลดการใช้รถยนต์ในเมืองไปในตัว
- ผู้คนเข้าถึงสินค้าราคาเอื้อมถึง: โลกรู้ ทุกคนรู้ว่าร้านลุงป้าน้าอา ส่วนใหญ่มีแต่ของราคาย่อมเยา สบายกระเป๋า แถมยังมีสินค้าให้เลือกหลากหลายชนิด แถมถ้าใครนึกไม่ออกว่าอยากได้แบบไหน เขาก็ช่วยแนะนำได้อย่างเซียน
- ผู้คนได้เจอคนที่มีความสนใจเรื่องเดียวกัน: ความช่างเมาท์แบบที่ไม่ค่อยเห็นในร้านค้าใหญ่ๆ นี่แหละที่บางทีก็ทำให้เราเจอคนที่ชอบแบบเดียวกัน และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นก็ได้
- เมืองมีเอกลักษณ์: เคยได้ยินไหมว่าย่านนั้นเด่นเรื่องกะปิ ถ้าจะไปซื้อเก้าอี้ก็ต้องแถวนั้นเลย แหล่งค้าไม้ การรวมตัวของร้านค้าเล็กๆ นี่แหละที่ทำให้เมืองมีเอกลักษณ์ และมีชีวิตชีวาต่างจากที่อื่นๆ
การมีอยู่ของร้านเล็กๆ ที่คุ้นเคยช่วยชุบชูใจเราได้ เพื่อรักษาพื้นที่เหล่านี้ไว้ การเข้าไปอุดหนุนร้านเหล่านี้ก็เป็นอีกหนึ่งทางที่ทำให้ร้านค้ายังอยู่กับเราไปได้อีกนานแสนนาน
อ้างอิงจาก