Renato D’Agostin เป็นศิลปินชาวอิตาลี เริ่มต้นงานถ่ายภาพในเวนิส ก่อนจะย้ายมาทำงานส่วนใหญ่ในนิวยอร์ก การทำงานและประสบการณ์ในเมืองใหญ่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญ งานภาพถ่ายของเรนาโตมักเป็นภาพที่ถ่ายในมหานคร แต่งานเขามักดึงเอาบางส่วนของเมืองใหญ่ออกมา เป็นภาพที่ดูทั้งนิ่งเงียบและเคลื่อนไหว เรียบง่ายและฉูดฉาดไปพร้อมๆ กัน
‘Metropolis’ เป็นนิทรรศภาพครั้งแรกที่กรุงเทพมหานครของเรนาโต ดาโกสติน ในความร่วมมือกับ Leica Gallery Bangkok เมโทรโพรลิสเป็นคอลเล็กชั่นภาพถ่ายจากประสบการณ์ทำงานในเมืองใหญ่ทั้งในยุโรป อเมริกา และเอเชีย งานภาพถ่ายเมืองของเรนาโตโดดเด่นในแง่การใช้ศิลปะภาพถ่ายในการดึงองค์ประกอบบางส่วนของเมืองออกมา ใช้เทคนิคทั้งจากกล้องไปจนถึงเทคนิคในห้องมืดเพื่อเล่นกับวัตถุหรือผู้คนที่อยู่ในภาพถ่ายนั้น ภาพของเรนาโตในนิทรรศการนี้ทั้งหมดเป็นภาพสีขาวดำ และทุกภาพตัวศิลปินเองเป็นคนล้างและ develop ภาพในห้องมืดด้วยตัวเอง
เรนาโตบอกกับเราว่า งานภาพถ่ายของเขาคือการเล่นและจัดการกับความเป็นจริงรอบตัว เมืองในภาพถ่ายของเขาจึงเป็นภาพที่ทั้งแปลกตา และทั้งคุ้นเคยสำหรับเราคนเมือง
นิทรรศการ Metropolis จัดขึ้นที่ Leica Gallery Bangkok ศูนย์การค้าเกษรวิลเลจ ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 10 ธันวาคม 2561 เข้าชมได้ตั้งแต่เวลา 10.00-20.00 น.
The MATTER : Metropolis เป็นนิทรรศการแรกของคุณในประเทศไทย อยากให้อธิบายเกี่ยวกับงานชุดนี้
เรนาโต : งานชุดนี้ใช้ชื่อว่า ‘Metropolis’ นิทรรศการชุดนี้เลือกงานจากโปรเจกต์ต่างๆ ในชีวิตการทำงาน ด้วยความที่เป็นนิทรรศการครั้งแรก ผมคิดว่าการรวบรวมงานสำคัญจากช่วงเวลาการทำงานเป็นวิธีการแนะนำตัวผมให้กับวัฒนธรรมใหม่ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน งานส่วนใหญ่ที่ถ่ายเป็นภาพจากพื้นที่เมือง สำหรับผมแล้วเมืองมีเสน่ห์ด้วยความหลากหลาย เต็มไปด้วยวัฒนธรรม ผมใช้เมืองเสมือนเป็นโรงละคร พื้นที่เมืองเป็นพื้นที่ที่ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์กัน ภาพถ่ายของผมทำหน้าที่เหมือนเป็นคนที่เฝ้ามองปฏิสัมพันธ์ของผู้คนในเมืองนั้น
The MATTER : จากประสบการณ์ในหลายเมืองใหญ่ คิดว่าแต่ละเมืองมีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร
เรนาโต : เมืองใหญ่แต่ละเมือง ตั้งแต่นิวยอร์กถึงโตเกียว เซี่ยงไฮ้ถึงอิสตันบูล เมืองใหญ่ต่างมีองค์ประกอบบางอย่างเหมือนกัน นอกจากสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกันแล้ว วิธีการที่ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์ในแต่ละเมืองใหญ่ก็มีความแตกต่างกัน เวลาเราเดินในเมืองโตเกียว หรือที่นี่ในกรุงเทพ ผู้คนต่างมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันในลักษณะที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง หลักๆ แล้วคือวิธีการที่ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์กันนี่แหละที่ต่างกัน
The MATTER : ทำไมถึงเลือกถ่ายงานในภาพขาวดำ
เรนาโต : ภาพในนิทรรศการชุดนี้เป็นภาพขาวดำ และทั้งหมดเป็นภาพที่ผมล้างเอง ภาพขาวดำในสไตล์ของผมคือการ ‘ดึง’ องค์ประกอบต่างๆ ออกมา ทันทีที่เรามองไปที่ภาพขาวดำ เราจะถูกดึงออกจากโลกแห่งความเป็นจริง ปกติเรามองทุกอย่างเป็นสีสัน แต่การทำให้เป็นขาวดำคือการลดทอน จากสีสันจำนวนมาก ความเป็นจริงในภาพถ่ายถูกลดอนลงเหลือเพียงสามสีคือ ขาว ดำ เทา
The MATTER : ภาพถ่ายชุดนี้ค่อนข้างมีความนิ่งท่ามกลางเมืองที่เคลื่อนไหว?
เรนาโต : เป้าหมายหนึ่งของงานผมคือการสกัดเอาองค์ประกอบบางอย่างออกมาจากความเป็นจริง สิ่งหนึ่งที่ผมต้องการคือ ความเงียบในทางภาพ (visual silence) จากสเกลเมืองที่ใหญ่มากๆ ภาพถ่ายชุดนี้จะเน้นไปที่เส้นเส้นหนึ่ง วัตถุหรือบุคคล เน้นไปที่รายละเอียดเล็กๆ
The MATTER : บางคนบอกว่าภาพถ่ายคือการนำเสนอความเป็นจริง แต่ดูเหมือนว่างานของคุณคือการลดทอนความเป็นจริง
เรนาโต : ความจริงเป็นเรื่องที่เรารับรู้ ภาพถ่ายของผมไม่ได้เน้นนำเสนอความจริง แต่ภาพของผมนำเสนอ ‘จินตนาการ’ ที่มีต่อความเป็นจริง เป็นการตีความความจริงที่อยู่ตรงหน้า
The MATTER : การมองโลกผ่านกล้องต่างกับการมองเห็นด้วยสายตาอย่างไร
เรนาโต : สำหรับการมองภาพผ่านเลนส์กล้อง ในกล้องที่เรามองคือความเป็นไปได้ที่ไม่สิ้นสุด หลังจากนั้นเราสามารถที่จะคัดเลือกความเป็นจริง สามารถที่จัดการควบคุมความเป็นจริงที่อยู่ตรงหน้า เล่นกับสเกล เล่นกับเลเยอร์ของภาพ ก่อนที่จะนำมันผ่านกระบวนการแล้วกลายเป็นกระดาษ กระบวนการในห้องมืดก็เปิดโอกาสให้เราควบคุมผลของภาพถ่ายปลายทางที่เรากำลังล้างอยู่ด้วย
The MATTER : การทำงานของคุณค่อนข้างเป็นแนว old school เช่นการใช้เวลาในห้องมืดเพื่อพัฒนาภาพแต่ละภาพขึ้นมา ในยุคใหม่เรามีอุปกรณ์ มีแอพฯ ที่สามารถสร้างภาพลักษณะคล้ายฟิล์มขึ้นมาได้ในพริบตา คิดว่าความเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ศิลปะของภาพถ่ายเปลี่ยนไปไหม
เรนาโต : สำหรับผมแล้ว ตัวผมเองก็ใช้อินสตาแกรม ใช้เครื่องมือต่างๆ เพื่อแชร์ผลงานของผม ช่วงนี้กระแสเรื่องการล้างฟิล์มก็กำลังกลับมา ช่างภาพรุ่นใหม่ๆ เริ่มกลับไปใช้เวลาอยู่ในห้องมืด สนุกกับการล้างฟิล์มด้วยตัวเอง การใช้เวลาในห้องมืดสำหรับผมเองถือเป็นเวลาที่พิเศษ เป็นช่วงเวลาที่สงบ ได้สัมผัสกระดาษ สัมผัสภาพ และค่อยๆ ได้เห็นกระบวนการทางเคมีที่ทำให้ภาพถ่ายปรากฏขึ้นมา การทำงานในห้องมืดทุกอย่างเป็นเรื่องของการทดลอง การปรับเปลี่ยน และการควบคุม ผลของมันอาจจะไม่แน่นอน เทคโนโลยีก็เป็นอุปกรณ์ที่ดี ใช้สำหรับการเผยแพร่งาน หรือกระทั่งความเร็วและความแน่นอนของภาพที่เราสามารถแต่งได้ในทันที
สุดท้ายมันไม่ใช่เรื่องของของดีหรือแย่ ของใหม่หรือของเก่า ภาพถ่ายที่ดีไม่เกี่ยวกับว่าใช้วิธีแบบดั้งเดิมหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ถ้าภาพนั้นมันดีก็คือดี ถ้ามันห่วยก็คือห่วย สายตาของคนดูเป็นสิ่งที่ตัดสินได้
เรนาโต ดาโกสติน เกิดที่เมืองเล็กๆ ใกล้เวนิส ประเทศอิตาลี เริ่มทำงานทางการถ่ายภาพในปี 2001 หลังจากเดินทางทำงานในทวีปยุโรป เรนาโตย้ายจากทวีปยุโรปไปสู่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่นั่นเรนาโตได้พบกับ Ralph Gibson ช่างภาพระดับตำนาน และหลังจากเห็นผลงานของเรนาโต ราล์ฟก็รับเขาเข้าทำงานเป็นผู้ช่วยในทันที
งานของเรนาโตส่วนใหญ่เป็นการเก็บภาพภายในมหานครและเมืองใหญ่ ตัวเรนาโตเองมีนิทรรศการทั้งในทวีปยุโรป ในสหรัฐอเมริกาและในเอเชีย งานของเรนาโตมักดึงเอาสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้คนหรือสิ่งของออกจากบริบท สำรวจความสัมพันธ์ระหว่างสถาปัตยกรรมและผู้คน มุมมองภาพถ่ายของเรนาโตมักเปิดและส่งเสริมจินตนาการใหม่ๆ ให้กับผู้ชม นอกจากภาพถ่ายในเมืองและนิทรรศการแล้ว เรนาโตยังมีผลงานตีพิมพ์อีกหลายเล่ม 7439 เป็นหนังสือคอลเล็กชั่นภาพที่เรนาโตเดินทางเก็บภาพไปตามแถบชายฝั่งของสหรัฐ ตัวเลข 7439 เป็นจำนวนไมล์ที่เรนาโตขี่มอร์เตอไซค์ BMW ไปตามเส้นทาง