เมื่อพูดถึงเทศกาลลอยกระทง ทุกคนนึกถึงอะไรกัน?
ภาพในหัวของใครหลายคน อาจเป็นกระทงอันเป็นสัญลักษณ์สำคัญของเทศกาลกำลังถูกลอยออกไปตามแหล่งน้ำ เพื่อขอขมาพระแม่คงคา พร้อมกับขอพรให้สิ่งไม่ดีทั้งหลายลอยออกไปจากชีวิตของเรา
ทว่า ในปัจจุบันหลายคนเองก็ตั้งคำถามต่อเทศกาลลอยกระทง เกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญที่ท้าทายประเพณีดั้งเดิมของไทยอยู่ไม่น้อย ยิ่งไปกว่านั้น พระแม่คงคาจะให้อภัยเราจริงๆ เหรอ ถ้ากระทงจะกลายเป็นขยะของแหล่งน้ำในเวลาต่อมา?
นอกจากปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว เทศกาลลอยกระทงเองก็ยังมีเรื่องราวเชิงสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจอันน่าสนใจอยู่เบื้องหลังเช่นกัน วันนี้ The MATTER เลยอยากชวนทุกคนไปดูกันว่า มันมีอะไรซ่อนอยู่ในเทศกาลนี้กันบ้าง
การสืบสานประเพณี
ประเพณีลอยกระทงมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน กว่าจะผ่านมาแต่ละยุคสมัย ก็มีการย่อมเก็บเกี่ยววัฒนธรรมต่างๆ ในสังคมตามแต่ละช่วงเวลาให้เข้ามาอยู่ร่วมกับประเพณีดังกล่าว นอกจากนี้ยังสะท้อนภาพวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คน ประวัติศาสตร์ ตลอดจนคุณค่าและความสำคัญของวัฒนธรรม อันเป็นเครื่องมือที่ช่วยเชื่อมโยงผู้คนเข้าเอาไว้ด้วยกัน
ดังนั้น ภายใต้เทศกาลลอยกระทง จึงเป็นพื้นที่แห่งการสืบสานภูมิปัญญาและเอกลักษณ์ความเป็นไทยตั้งแต่โบราณ ซึ่งช่วยเชื่อมโยงผู้คนเข้ากับวัฒนธรรมและคุณค่าที่ถูกส่งต่อกันมารุ่นสู่รุ่น
ความเป็นชุมชน
เมื่อพูดถึงเทศกาลลอยกระทง หลายคนมักนึกถึงภาพของงานรื่นเริง ความสนุกสนาน แสงสี และผู้คนที่มาร่วมงานกันอย่างเนืองแน่น ความสำคัญของเทศกาลจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่งานรื่นเริง ทว่ายังมีบทบาทสำคัญต่อการยึดโยงผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างคนในชุมชน ผ่านการร่วมทำกิจกรรมต่างๆ งานประเพณีจึงอาจเปรียบได้กับผืนผ้าใบทางวัฒนธรรมผืนใหญ่ ที่คลุมผู้คนเข้าไว้ด้วยกัน
เทศกาลลอยกระทงเป็นเหมือนพื้นที่ส่วนกลางซึ่งเชื่อมโยงผู้คน ตลอดจนเปิดพื้นที่ให้ผู้คนหลากหลายวัยได้ออกมาพบปะกัน บางคนออกมาเที่ยวเล่นสนุกสนาน หรือบางคนก็ออกมาทำบุญในคืนวันเพ็ญ
เศรษฐกิจชุมชน
ภาพบรรยากาศงานลอยกระทงอันเนืองแน่นไปด้วยผู้คนจากทั่วทุกสารทิศ ถือเป็นการตอกย้ำให้เราเห็นว่า เทศกาลลอยกระทงคืออีกหนึ่งพื้นที่ทางเศรษฐกิจสำคัญ โดยเฉพาะเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งมาจากการเดินทางมาท่องเที่ยวและการมาร่วมกิจกรรมในแต่ละพื้นที่ที่จัดงาน เทศกาลลอยกระทงจึงอาจเป็นช่วงเวลาที่สามารถช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
จากข้อมูลของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในช่วงเทศกาลลอยกระทงเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา พบว่า มีเงินสะพัดหรือมูลค่าการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลดังกล่าวมากถึง 10,000.5 ล้านบาท ซึ่งในปี 2567 นี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์ว่า ช่วงเทศกาลลอยกระทงของไทยจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอีก 12% หรือประมาณ 6,990 ล้านบาท
วัฒนธรรมท้องถิ่น
นอกจากงานรื่นเริงและการลอยกระทงอย่างที่เราคุ้นเคยกันนั้น ช่วงเทศกาลลอยกระทงในภูมิภาคอื่นๆ ยังมีประเพณีท้องถิ่นเฉพาะของของพื้นที่ตนเองด้วยเช่นกัน ซึ่งล้วนแต่แสดงอัตลักษณ์เฉพาะของแต่ละพื้นที่ โดยนับเป็นอีกหนึ่งความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่เราจะได้เห็นกันในช่วงเทศกาลลอยกระทงนี้
อย่างในภาคเหนือเองก็จะมี ‘ประเพณียี่เป็ง’ เป็นประเพณีดั้งเดิมตามแบบล้านนา ซึ่งตรงกับวันลอยกระทงของภาคกลาง ผ่านการลอยโคมขึ้นสู่ท้องฟ้าตามความเชื่อว่า จะเป็นการปล่อยทุกข์ปล่อยโศกให้ลอยออกไป ทว่า ในปัจจุบันหลายฝ่ายเริ่มตระหนักต่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตลอดจนผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คน ทำให้มีการคุมเข้มพื้นที่ห้ามปล่อยโคม และกำหนดพื้นที่ที่ปลอดภัยแทน
นอกจากนี้ ในแต่ละพื้นที่ต่างก็มีวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าเป็นของตนเอง ซึ่งแสดงออกผ่านเทศกาลเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น ‘ล่องสะเปาจาวละกอน’ ของลำปาง ‘เผาเทียนเล่นไฟ’ ของสุโขทัย และ ‘สิบสองเพ็งไทสกล’ ของสกลนคร เป็นต้น
พื้นที่สำหรับเด็ก
เชื่อว่าภาพของช่วงเทศกาลลอยกระทงของใครหลายๆ คน นอกจากบรรดาผู้คนที่มาลอยกระทงกันแล้ว ยังมีภาพของตลาดนัดหรืองานวัด ซึ่งจะเต็มไปด้วยพื้นที่สำหรับเด็กๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นบ้านลม ซุ้มระบายสีปูนปลาสเตอร์ รถเข็นขายน้ำตาลปั้น และลานกว้างสำหรับนัดรวมตัวกัน
พื้นที่สำหรับเด็กนั้นมีความสำคัญมาก โดยกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ได้เผยแพร่ในคู่มือการวางแผนเมืองที่ตอบโจทย์สำหรับเด็ก ซึ่งได้เน้นย้ำเอาไว้ว่า พื้นที่สาธารณะมีประโยชน์มากสำหรับเด็ก ทั้งในแง่ของการส่งเสริมพัฒนาการทางร่างกาย สติปัญญา ตลอดจนการมีส่วนร่วมทางสังคม จากการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในพื้นที่ ดังนั้น เทศกาลลอยกระทงจึงเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำคัญอันจะช่วยให้เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมสำหรับทำกิจกรรม
เวทีประกวดนางนพมาศ
อีกหนึ่งเอกลักษณ์สำคัญของเทศกาลลอยกระทง ไม่ว่าจะไปเที่ยวชมงานที่ไหนก็มักจะเจออยู่ตลอด กับ เวทีประกวดนางนพมาศ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำคัญของผู้หญิงในวัฒนธรรมของไทย
นางนพมาศ หรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ สนมเอกของพระร่วง ผู้ประดิษฐ์กระทงใบตองเป็นรูปดอกบัวโกมุท เพราะมีความพิเศษที่บานในเวลากลางคืนเพียงปีละครั้ง เพื่อสักการะพระพุทธเจ้า พระร่วงจึงมีพระราชดำรัสให้กษัตริย์สยามดำเนินพิธีกรรมนี้สืบไป อย่างไรก็ตาม กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวินิจฉัยแล้วว่า เรื่องราวดังกล่าวเป็นหนังสือแต่งในครั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งน่าจะแต่งขึ้นราวๆ สมัยรัชกาลที่ 2 หรือ 3 โดยเทียบเคียงจากสำนวนในหนังสือสมัยสุโขทัย
เรื่องราวดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงพื้นที่ของผู้หญิงในหน้าประวัติศาสตร์ไทย หรือกระทั่งการเชื่อมโยงความเป็นผู้หญิงเข้าไว้กับวัฒนธรรม ภูมิปัญญา และประเพณีของไทย ทั้งนี้ เวทีประกวดนางนพมาศยังเป็นพื้นที่ที่ทำให้ผู้หญิงได้แสดงความสามารถ ตัวตน รวมไปถึงทัศนคติต่อสังคม
แม้เบื้องหลังเทศกาลลอยกระทงยังมีอีกหลายสิ่งที่ถูกซ่อนเอาไว้อยู่ ทั้งในแง่ของสังคม วัฒนธรรม ภูมิปัญญา และประวัติศาสตร์ แต่ก็ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันเทศกาลลอยกระทงได้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่น้อยเลยทีเดียว เมื่อในปี 2566 ที่ผ่านมา พบว่า ในพื้นที่ กทม. มียอดขยะกระทงมากถึง 639,828 ใบ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.74 จากปี 2565 โดยทำจากวัสดุธรรมชาติร้อยละ 95.7 และทำจากโฟมร้อยละ 4.3 ของขยะกระทงทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน หลายฝ่ายต่างก็เล็งเห็นถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากประเพณีดังกล่าว จึงได้มีทางเลือกเพิ่มเติมสำหรับใครก็ตามที่ยังอยากร่วมกิจกรรม แต่ไม่อยากทำร้ายสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน อาทิ เว็บไซต์สำหรับลอยกระทงออนไลน์ การลอยในพื้นที่พิเศษที่จัดไว้ให้ หรือการลอยกระทงดิจิทัลตามสถานที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ
และคงต้องไม่ลืมว่า เบื้องหลังเทศกาลลอยกระทงที่แท้จริง คือการมองเห็นคุณค่าของประเพณีและความสำคัญของแหล่งน้ำ ถ้าวันนี้เราไม่รักษ์มันเอาไว้ วันเพ็ญเดือนสิบสองครั้งถัดไป เราก็อาจไม่มีแหล่งน้ำสะอาดๆ ให้ขอขมาแล้ว
อ้างอิงจาก