“ว้ายยย วันนี้แต่งตัวดูดีจัง”
“จะแซวทำไมเนี่ย”
หลายครั้งเห็นเพื่อนทำอะไรนิดหน่อย สมองมันก็ดันคิด ปากก็เอ่ยแซวออกไป บางครั้งเป็นเพียงการกล่าวชม หรือทักทายปกติ แต่ถ้าใส่น้ำเสียง หรือจริตจะก้านเข้าไปนิดหน่อย บทสนทนาที่ดูเหมือนจะเรียบง่ายก็กลายเป็นหยอกล้อ เรียกเสียงหัวเราะน้อยๆ และสีแดงอมชมพูที่แต่งแต้มบนใบหน้าของใครอีกคนได้ทันที
ทว่าใครจะรู้ว่าสีแดงอมชมพูบนใบหน้า จริงๆ แล้วคือความเขินอาย หรือความโกรธและไม่พอใจกันแน่ เพราะถ้าพูดกันตามตรง การพูดจาหยอกเย้าใครอีกคนนั้นดูจะเป็นเรื่องที่สร้างความรู้สึก รวมถึงบรรยากาศรอบข้างได้ทั้งเชิงบวกและเชิงลบ แต่สำหรับบางคน ถ้าเรียกเสียงหัวเราะหรือรอยยิ้มจากความพึงพอใจได้ ก็คงจะกระชับความสัมพันธ์ของเราได้แน่นแฟ้นขึ้น แต่หากเป็นการเรียกอารมณ์อันไม่พอใจให้ปะทุขึ้นมา ความสัมพันธ์ของเราก็คงจะขุ่นมัวได้ไม่ยาก
ในเมื่อการแซวก็มีโอกาสสร้างความคับข้องใจให้ใครหลายคน แล้วทำไมเราถึงยังติดแซว การแซวควรมีมากแค่ไหน และการหยอกเย้านี้ส่งผลกระทบอะไรบ้างนะ?
การแซว (tease) หยอกล้อ หยอกเย้า เย้าเอิน หรือกระเซ้า คือการที่คนคนหนึ่งมีพฤติกรรมสนุกสนาน หรือขี้เล่นเกินกว่าปกติ พฤติกรรมที่แสดงออกนี้สามารถทำได้ทั้งวาจา เช่น การส่งเสียงร้อง การใช้ภาษาหรือสำบัดสำนวน และทางกายภาพ อย่างการแสดงสีหน้า ท่าทางต่างๆ โดยจะมุ่งไปที่เป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้ใครอีกคนมีปฏิกิริยาโต้ตอบกลับมา
และเป็นเพราะการได้รับการตอบโต้ที่สะท้อนกลับของเป้าหมาย นั่นเลยทำให้คนแซวรู้สึกประสบความสำเร็จในการกระทำของตัวเอง ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ดาเชอร์ เคลท์เนอร์ (Dacher Keltner) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา นิยามไว้ว่า การแซวคือการยั่วยุโดยเจตนา และเขายังตั้งข้อสังเกตอีกว่า คำว่า ‘teasing’ มาจาก ‘taesan’ ของแองโกล แซกซอน (Anglo Saxons) ที่หมายถึงการฉีกขาด และ ‘attiser’ ในภาษาฝรั่งเศสแปลว่าการกวนให้ขุ่น
ทั้งนี้ เจสส์ เค. อัลเบิร์ท (Jess K. Alberts) ยังพบว่าองค์ประกอบของการแซว มีดังนี้
- ความก้าวร้าว (aggression)
- ความขี้เล่น (playfulness)
- อารมณ์ขัน (humor)
- ความคลุมเครือ (ambiguity)
สำหรับการแซวที่นำไปสู่ผลลัพธ์อันดีด้วยเจตนาดีนั้น คือหนึ่งในวิธีการสื่อสารเพื่อเข้าสังคม เป็นวิธีกระชับมิตร สร้างความสนิทสนม และทำให้บรรยากาศที่ตรึงเครียดให้ผ่อนคลายลงได้ด้วยความขี้เล่นหรืออารมณ์ขันร่วม โดยมีผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ในเด็กๆ การหยอกเย้ากันถึงเรื่องเสื้อผ้า รสนิยมทางดนตรี หรือพฤติกรรมที่แสดงออก อาจจะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ในการรับมือกับคำวิจารณ์ที่สร้างสรรค์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ได้ด้วย
ขณะเดียวกัน หากมองจากองค์ประกอบข้างต้น ความก้าวร้าวที่แสดงออกผ่านวาจา หรือการกระทำก็อาจสร้างความไม่พอใจให้ผู้ถูกแซวได้ แม้ความขี้เล่น หรืออารมณ์ขันที่ฟังดูจะเป็นเรื่องดีๆ แต่บางครั้งก็อาจสร้างความรำคาญใจได้เช่นกัน ส่วนความคลุมเครือนั้นอาจเป็นความซับซ้อนที่บอกเราว่า เบื้องหลังการหยอกล้อเหล่านี้ต้องอาศัยการตีความส่วนบุคคล
อย่างไรก็ตาม อำนาจทางสังคมและสถานะทางอำนาจก็มีอิทธิพลต่อการแซว เรียกได้ว่าเรามักแซวหรือหยอกล้อคนที่เรารู้สึกว่าอยู่ในสถานะทางอำนาจใกล้เคียงกัน ขณะที่คนมีอำนาจสูงจะกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงในการหยอกล้อน้อยกว่า รวมไปถึงมีแนวโน้มจะแซวคนที่มีอำนาจต่ำกว่าด้วย
ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นเพื่อนสนิทที่รู้จักกันมานาน การจะเอ่ยแซวหลายครั้งเรารู้ๆ กันว่าขอบเขตที่อีกฝ่ายจะรับได้อยู่แค่ไหน แต่กลับกันหากเป็นหัวหน้างาน (ซึ่งมีสถานะสูงกว่าในเรื่องตำแหน่งหน้าที่การงาน) การจะเอ่ยปากแซวหัวหน้า เรากลับต้องคิดแล้วคิดอีกเพื่อไม่ให้เกิดความคับข้องใจ
หรือการเอ่ยปากแซวของคนที่มีอำนาจสูงกว่า เช่น อายุ ในวันรวมญาติใครหลายคนน่าจะเคยมีประสบการณ์ร่วม คือผู้ใหญ่บางคนอาจไม่ได้ระมัดระวังมากพอต่อความเสี่ยงในการหยอกล้อ เพราะมองว่าตนเจตนาดีเอ่ยแซวหลานๆ อาจจะด้วยความเอ็นดู แต่นั่นก็อาจเป็นการทำร้ายจิตใจในคราบของความขี้เล่นได้
ทว่าอย่างที่ดาเชอร์ เคลท์เนอร์บอกไว้ การแซวที่ประกอบไปด้วย ‘เจตนา’ หากเป็นเจตนาดีที่ผู้แซวและผู้ถูกแซวรับรู้ร่วมกัน นั่นก็ช่วยทำให้มิตรภาพของทั้งสองแน่นแฟ้นกันมากขึ้นอย่างที่ว่าไป แต่หลายครั้งแม้จะเป็นการแซวด้วยเจตนาดี นั่นก็อาจจะไปทำให้ผู้ถูกแซวรู้สึกไม่ดี หรือสูญเสียความมั่นใจได้เหมือนกัน หรือถ้าแย่มากๆ เลยคือการมีเจตนาที่ไม่ดีตั้งแต่ต้น เพื่อมุ่งหวังให้ผู้ถูกแซวรู้สึกอับอาย สูญเสียความมั่นใจ กระทั่งการสูญเสียตัวตนในที่สาธารณะ
ทั้งหมดนี้คือระดับความรุนแรงจากความคึกคะนองด้วยคำพูดเพียงไม่กี่คำ ด้วยการแสดงออกทางสีหน้าเพียงชั่วครู่ แต่อาจนำไปสู่การกลั่นแกล้งที่ก่อให้เกิดบาดแผลทางกายและใจ และอาจกระทบต่อการใช้ชีวิตในระยะยาว เช่น เพื่อนของเราคนหนึ่งเคยถูกแซว และล้อเลียนด้วยคีย์เวิร์ดว่า ‘โอลีฟ’ (จากเรื่องป๊อปอาย) เพื่อตอกย้ำว่าเธอผอมเกินไป แต่ใครจะรู้ว่าหลังจากถูกล้อเลียนในลักษณะนี้ นอกจากจะเป็น Body shaming แล้ว เพื่อนคนนั้นก็หลีกเลี่ยงที่จะดูการ์ตูนเรื่องดังกล่าวอีกต่อไป
เรื่องเพศยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญของการแซว ในเว็บไซต์ Psychology บอกว่า โดยทั่วไปแล้วผู้ชายจะมีการหยอกล้อมากกว่าผู้หญิง เมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนเพศเดียวกัน เพศตรงข้าม และเด็กๆ ทั้งนี้ยังมีการศึกษาบางชิ้นชี้ว่า ในขณะที่ผู้ชายถูกมองว่ามักจะใช้การหยอกล้อด้วยวิธีที่ไม่เป็นมิตร และตรงไปตรงมา โดยส่วนใหญ่มักจะแซวเกี่ยวกับรูปลักษณ์ภายนอก แต่ผู้หญิงกลับใช้วิธีการทางอ้อมมากกว่า และมักจะแซวไปที่ความสัมพันธ์ของเป้าหมายมากกว่า
หลายครั้งพฤติกรรมที่ต่อยอดมาจากการแซว ยังอาจนำไปสู่การคุกคามทางเพศบนท้องถนน (catcalling) ที่มุ่งเป้าไปที่รูปลักษณ์ภายนอก ทั้งการผิวปาก แทะโลมผ่านสายตา หรือส่งเสียงเรียกขานในเชิงล้อเลียนและคุกคาม ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อใจ จนอาจไปถึงร่างกายของอีกฝ่ายได้เช่นกัน
ท้ายสุดนี้ แม้การแซวจะเป็นพฤติกรรมที่ถูกผูกติดกับตัวของเราโดยไม่ได้ตั้งใจไป (หรือหลายครั้งก็ตั้งใจนั่นแหละ) แต่ก็ไม่ควรละเลยว่า ยังมีคนได้รับความเจ็บปวดจากการกระทำเหล่านี้อยู่ไม่มากก็น้อย นั่นจึงทำให้เราพูดได้อย่างเต็มปากว่า “ไม่ใช่ทุกคนที่จะชอบถูกแซว”
ดังนั้น ใครที่เป็นนักแซวอันดับหนึ่ง หรือติดแซวชาวบ้านชาวช่องเขาไปทั่ว อาจจะต้องระมัดระวังตัวเอง คอยดูขอบเขตของคู่สนทนา และควรจะรู้จักแสดงความรับผิดชอบและขอโทษ หากมีคนไม่พอใจกับการหยอกล้อของเรา (แม้จะเจตนาที่ดีก็ตาม) ด้วยนะ
เพราะบางครั้งการเอ่ยปากหรือทำท่าทางเพื่อแซวใครบางคน ด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะน้อยๆ ของเรา อาจไม่ใช่เพียงการกระชับมิตร แต่เป็นการสร้างบาดแผลทางใจ และทำลายความมั่นใจของใครคนหนึ่งได้เช่นกัน
อ้างอิงจาก