เราคุ้นเคยกับชั่วโมงการทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ คิดกลมๆ แล้ว เราต้องทำงานราวๆ 8 ชั่วโมงต่อวัน แต่โลกการทำงานที่หมุนไปตามสภาพสังคม ทำให้เราเกิดรูปแบบการทำงานใหม่ๆ ที่เหมาะกับสถานการณ์ เหมาะกับเจเนอเรชั่นของวัยทำงานในตอนนั้น เหมาะกับคุณภาพชีวิต เหมาะกับไอเดียใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น จนทำให้เราได้เห็นรูปแบบการทำงานอันหลากหลาย ที่ถูกนำมาใช้เป็นนโยบายใหม่ๆ ในการทำงาน อย่างตารางงานแบบยืดหยุ่น การนั่งทำงานนอกออฟฟิศ และที่ได้ยินบ่อยที่สุดคงจะเป็น ‘4-day workweek’ หรือ การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ที่ไม่ได้ลดแค่จำนวนวัน แต่ลดจำนวนชั่วโมงการทำงานลงด้วย
ว่ากันตามตรงการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ไม่ใช่ของใหม่ที่ใครได้ยินชื่อแล้วต้องร้องว้าว เราได้เห็นไอเดียนี้กันมาสักพัก ก็นานพอที่จะพูดได้ว่ามีมาก่อนช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างในประเทศไอซ์แลนด์ ที่เริ่มทดลองการทำงานแบบ 4 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งหมายถึงการลดชั่วโมงการทำงานลงเหลือเพียง 35 หรือ 36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์แทน (ทั้งนี้พวกเขายังได้รับเงินเดือนเท่าเดิมอยู่ แม้จะลดชั่วโมงการทำงานลงก็ตาม) ตั้งแต่ปีค.ศ. 2015 จนถึง ค.ศ. 2019 ปรากฎว่ามันเวิร์คแฮะ
จากการทดลองพบว่าคนทำงานมีความเครียดน้อยลง จนลดโอกาสการเกิด burnout และความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตของพวกเขา เข้าที่เข้าทางมากขึ้น พวกเขามีเวลาให้ครอบครัว มีเวลาไปทำงานอดิเรกที่ตัวเองรัก มีเวลาใช้ชีวิตเป็นของตัวเอง แม้จะเป็นเรื่องของชีวิตส่วนตัว แต่นั่นก็สะท้อนคุณภาพชีวิตในการทำงานได้ด้วยเช่นกัน
แต่พอ COVID-19 มาถึง โลกของการทำงานเลยโดนพลิกไปจนแทบไม่เหลือเค้าเดิม จนเกิดรูปแบบการทำงานใหม่ๆ ที่ต้องมาตอบสนองการรักษาระยะห่างทางสังคม อย่างการทำงานที่บ้านแบบเต็มรูปแบบ ที่ต่างต้องคำถึงการชั่งน้ำหนักเวลางานและเวลาส่วนตัว การสื่อสารที่ยากขึ้น แม้แต่ การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ที่เคยคิดว่าเวิร์ก ก็ต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมตามสภาพสังคม มาดูกันว่า การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ รูปแบบใหม่นี้จะหน้าตาเป็นอย่างไร กับ อเล็กซ์ ซูจัง คิม พาง (Alex Soojung-Kim Pang) ผู้เคยฝากผลงานเขียนเกี่ยวกับวันทำงานอย่าง Shorter มาแล้ว
ใครปรับตัวได้ก่อนถึงจะรอด
อย่างที่บอกว่า การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ไม่ใช่ของใหม่ มีหลายประเทศที่หยิบเอานโยบายนี้มาลองใช้ทั้งภาครัฐและเอกชน สำหรับบริษัทที่คุ้นเคยกับนโยบายนี้แล้ว จะสามารถปรับตัวได้ดีในช่วงที่เหล่าพนักงานต้องย้ายไปทำงานที่บ้าน เพราะในช่วงแรก ทุกคนต่างต้องปรับตัวกันขนานใหญ่ มีทั้งคนที่ทำได้ดี มีความสุขกับการทำงาน และมีทั้งคนที่ยังปรับตัวไม่ได้ และเหน็ดเหนื่อยกับการทำงานทั้งที่นั่งอยู่ที่บ้านของตัวเอง พวกเขาต้องเผชิญกับการปรับเวลาทำงาน นโยบายใหม่ๆ ใช้เครื่องมือ ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ การประชุมออนไลน์แบบมาราธอน แต่ถ้าหากบริษัทไหนที่เคยผ่านการปรับตัวในเรื่องนี้มาก่อน ย่อมผ่านสถานการณ์นี้ไปแบบสบายๆ เราเลยได้เห็นองค์กรที่เก่งเรื่องปรับตัว ออกนโยบายอะไรไปเวิร์ค และองค์กรที่ต้องลองผิดลองถูกไปด้วยกัน จนเกิดความลำบากกายและลำบากใจเกิดขึ้น
การให้เวลาพนักงานได้ใช้ชีวิตของเขาเองบ้าง ด้วยการลดจำนวนชั่วโมงการทำงานลง ถูกหยิบมาใช้อีกครั้งเพื่อลดความเครียดจากการทำงานที่บ้าน และปรากฎว่ามันก็ได้ผลเช่นเคย พวกเขามีความเครียดน้อยลง มีความสุขมากขึ้น ความโปรดักทีฟไม่ต้องพูดถึง จนเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น หลายประเทศที่สามารถให้พนักงานกลับเข้าออฟฟิศได้อีกครั้ง อย่างในลอนดอน 18% ของบริษัทกำลังหยิบเอานโยบายนี้มาใช้ต่อไปในอนาคต และอีก 5% ได้นำมาใช้เรียบร้อยแล้ว
ไม่ได้ช่วยแค่พนักงาน แต่ยังช่วยสิ่งแวดล้อมด้วย
แค่นโยบายนี้ได้ช่วยให้เหล่าคนทำงาน ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีก็ถือว่าเป็นจุดแข็งมากพอที่จะนำมาใช้เป็นนโยบายในอนาคตได้แล้ว แต่การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์นี้ ยังสามารถทำได้ยิ่งกว่านั้น มันไม่ได้ช่วยแค่พนักงาน แต่ยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมให้กับเราได้ด้วย
ผลจากงานวิจัย ‘4 Day Week campaign’ ที่ถูกนำมาใช้ที่สหราชอาณาจักร พบว่ามันช่วยลด carbon footprint ในภาพรวมทั้งประเทศได้มากถึง 21.3% ต่อปี ซึ่งมันเป็นผลมาจากการที่ผู้คนลดการใช้ถนนในช่วงกักตัว รวมถึงกิจกรรมที่พวกเขาทำในช่วงเวลาพักผ่อนที่ไม่ใช่เวลางาน ก็ล้วนเป็นกิจกรรมที่ไม่เพิ่ม carbon footprint สู่สิ่งแวดล้อม อย่างการทำงานอดิเรก ทำกับข้าวเองที่บ้าน ปั่นจักรยาน เดินเล่น อะไรทำนองนี้
แม้จะไม่ใช่จุดมุ่งหมายหลัก แต่ก็ถือว่าเป็นผลพลอยได้ที่ได้ประโยชน์เกินคาด
สิ่งนี้จะเป็นพื้นฐานของการทำงานที่ดีต่อคุณภาพชีวิต
เมื่อนโยบายนี้ถูกนำมาใช้ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม ในอีกแง่หนึ่ง มันช่วยพิสูจน์แล้วว่า ชั่วโมงการทำงานที่มากกว่าไม่ได้ดีกว่าเสมอไป การทำงานหนักที่วัดเอาจากชั่วโมงการทำงาน จึงกลายเป็นบรรทัดฐานที่จะค่อยๆ เลือนหายไป ยิ่งนับวัน นโยบายที่ถูกนำมาใช้ในองค์กร ล้วนเป็นการสนับสนุนคุณภาพชีวิตที่ดีของพนักงาน ให้พวกเขาได้มีสมดุลระหว่างงานและชีวิต ได้มีเวลาอยู่กับครอบครับ มีเวลาทำในสิ่งที่ตัวเองรัก และไม่รู้สึกว่างานกำลังกัดกินเขาอยู่ แต่ต้องเป็นงานต่างหาก ที่เป็นส่วนหนึ่งที่คอยสนับสนุนให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
และตอนนี้เรากำลังก้าวพ้นกรอบของการทำงานหนักเกินความจำเป็นแล้ว แม้มันจะไม่สามารถสร้างแรงขับเคลื่อนได้จากนโยบายนี้เพียงอย่างเดียว แต่สิ่งนี้ก็จะเป็นบันไดอีกหนึ่งขั้นให้เราก้าวไปสู่รูปแบบการทำงานใหม่ๆ ในอนาคต
อ้างอิงข้อมูลจาก