เราจะต้องใส่หน้ากากกันไปถึงเมื่อไหร่ อีกนานไหมที่จะต้องคอยแยงจมูกตรวจหาเชื้อกันแบบนี้?
วันที่โรคระบาดใหญ่ยุติลงจะต้องมาถึง ยอดผู้ติดเชื้อไม่สูงเกินกว่าที่จะรับมือได้ และโรงพยาบาลก็ไม่ต้องเผชิญกับวิกฤตผู้ป่วยล้นกันอีกครั้ง .. แต่วันนั้นจะมาถึงเมื่อไหร่กันนะ
นับตั้งแต่ปลายปี 2019 มาจนถึงปี 2022 โรค COVID-19 ก็ยังไม่จากเราไปไหน แถมยังพัฒนาแยกย่อยออกไปเป็นสายพันธุ์ใหม่ๆ มากมาย จนตอนนี้เรากำลังเผชิญกับสายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งเป็นสายพันธุ์ล่าสุดที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยกให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล ด้วยความสามารถในการแพร่ระบาดที่รวดเร็วกว่าสายพันธุ์อื่นๆ
แต่อีกกระแสก็มองว่า การมาของโอไมครอน อาจทำให้วิกฤตการระบาดใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลกนี้ เดินทางมาถึงจุดจบแล้ว เพราะผู้คนจะมีภูมิคุ้มกันหมู่ และโรค COVID-19 ก็จะกลับเป็นโรคเฉพาะถิ่นหรือประจำฤดูกาล
The MATTER ขอชวนมาหาคำตอบว่า โอไมครอน จะเป็นตัวจบวิกฤต COVID-19 จริงไหม แล้วต้องทำอย่างไรเราถึงจะกลับไปใช้ชีวิตปกติได้เสียที
หลังการระบาดใหญ่ ไวรัสจะกลายเป็นโรคเฉพาะถิ่น/ประจำฤดูกาล
อย่างที่เราทราบกันดีว่า โรค COVID-19 จะไม่เป็นการระบาดใหญ่ (pandemic) ไปตลอดกาล ตามวงจรของโรคระบาดแล้ว เมื่อถึงจุดหนึ่งสถานการณ์ของโรคระบาดจะกลายเป็นโรคเฉพาะถิ่น (endemic) หรือโรคระบาดตามฤดูกาลของทุกประเทศก็ได้ ซึ่งหมายความว่า เราจะสามารถคาดการณ์จำนวนผู้ป่วยได้ และมีอัตราการระบาดคงที่ ไม่ใช่การระบาดอันควบคุมไม่ได้อย่างที่เราเผชิญกันอยู่นี้
นพ.แอนโทนี เฟาซี (Anthony Fauci) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อในสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า หลังจากการระบาดใหญ่ เราก็จะเข้าสู่ระยะของการชะลอตัว แล้วจึงค่อยเข้าสู่ระยะควบคุม และหากโชคดี โรคระบาดนี้ก็จะหายไป สิ่งที่เราหวังไว้เป็นเพียงขั้นต่ำว่าต่อให้โรคระบาดจะไม่หายไปจนหมดสิ้น แต่ก็จะไม่มีการระบาดในวงกว้างจนส่งผลต่อสาธารณสุขหรือชีวิตประจำวันของเรา
ถ้าย้อนกลับไปช่วงก่อนที่สายพันธุ์โอไมครอนจะกลายเป็นที่จับตามอง ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขหลายคนมองว่า สายพันธุ์เดลตา ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักของโลกในปัจจุบัน อาจเป็นตัวยุติการระบาดใหญ่ได้ในปี 2022 นี้ แต่เมื่อมีตัวแปรที่เพิ่มเข้ามาอย่าง ‘โอไมครอน’ ก็ยากที่จะฟันธงแบบเดิมได้
เอเลนอร์ มัวเรย์ (Eleanor Murray) นักระบาดวิทยาจาก Boston University สหรัฐฯ กล่าวว่า การที่โรคระบาดจะกลับมาเป็นโรคเฉพาะถิ่นได้ ต้องมีอัตราการแพร่เชื้อที่ที่คงที่อยู่ที่ ‘หนึ่ง’ เท่านั้น หมายความว่า โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ติดเชื้อหนึ่งคนจะแพร่เชื้อต่อให้ได้แค่อีกหนึ่งคนเท่านั้น
แต่นั่นห่างไกลกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่มาก ด้วยเชื้อกลายพันธุ์โอไมครอนที่แพร่ได้ไวทำให้ผู้ติดเชื้อหนึ่งคนแพร่เชื้อต่อไปอีกได้มากกว่าหนึ่งคน ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อในหลายประเทศอย่าง สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส สหรัฐฯ แคนาดา เยอรมนี และอินเดีย กลับมาพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง
ไทยเองก็พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเช่นกัน นับจากวันที่กระทรวงสาธารณสุขออกมาประกาศว่าพบผู้ติดเชื้อโอไมครอนในประเทศรายแรกไปเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม จนถึงเมื่อวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา ไทยพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนไปแล้ว 2,338 ราย เพิ่มขึ้นเป็น 20.92% จากผู้ติดเชื้อทั้งหมด ภายในเวลาราว 17 วัน
ขณะที่ศูนย์บริหารสถานการณ์ COVID-19 (ศบค.) แถลงเมื่อวันที่ 6 มกราคมว่า เชื้อกลายพันธุ์โอไมครอนแพร่กระจายไปแล้ว 55 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีการติดเชื้อ และมีการแพร่ระบาดมากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร รองลงมาเป็นกาฬสินธุ์ และชลบุรี ตามลำดับ
เราใกล้ถึงจะเข้าสู่ขั้น ‘endemic’ หรือยัง?
ขณะเดียวกัน หลายคนก็ตั้งคำถามว่า แล้ว COVID-19 จะจบลงเมื่อไหร่ การมาของ โอไมครอนเป็นตัวเร่งให้การระบาดใหญ่จบลงจริงไหม หรือจะยิ่งทำให้จุดจบของวิกฤตนี้ยืดยาวออกไปกันแน่?
แอนเจลิกา ราสมัสเซน (Angela Rasmussen) นักไวรัสวิทยาจาก University of Saskatchewan ประเทศแคนาดา กล่าวว่า คำถามเหล่านี้ยังยากที่จะให้คำตอบได้ ส่วนหนึ่งเพราะการที่โรคระบาดใหญ่จะกลับไปเป็นโรคเฉพาะถิ่นนั้น ไม่ใช่เพียงแค่อัตราระบาดที่ลดลงและคงที่เท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ด้วย ทั้งเรื่องของอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิต ความสามารถในการรองรับผู้ป่วยของระบบสาธารณสุข และยารักษาที่มีประสิทธิภาพอย่างถ่องแท้
โดยทั่วไปแล้ว เหล่าผู้เชี่ยวชาญจะบอกว่าไวรัสเป็นโรคเฉพาะถิ่นก็ต่อเมื่อไวรัสนั้นไม่ได้เป็นวิกฤตที่ลุกลามไปทั่วพื้นที่แล้ว แต่ด้วยสถานการณ์ของโอไมครอนที่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูง และรัฐบาลของแต่ละประเทศก็กลับมาใช้มาตรการป้องกันโรคอย่างเข้มงวดอีกครั้ง จึงเป็นสัญญาณว่า เรายังคงอยู่ในช่วงวิกฤตกันอยู่ดี
และแม้ว่าผู้ติดเชื้อโอไมครอนจะแสดงอาการค่อนข้างน้อย แต่การที่จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ก็นำไปสู่วิกฤตเตียงเต็มและทำให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคจำนวนมากได้อยู่ดี ราสมัสเซนจึงมองว่า การมาของโอไมครอนจะยืดเวลายุติวิกฤต COVID-19 ไปอีก
แล้วทำไมผู้เชี่ยวชาญบางคนมองว่า การมาของโอไมครอนจะเป็นตัวจบวิกฤต?
นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียู เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนักและโรคผู้สูงอายุ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 4 มกราคมว่า ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 2 ปี แต่ไม่ต้องตื่นตระหนกตกใจ
“เชื้อสายพันธุ์โอไมครอน มีวิวัฒนาการเปลี่ยนไปจากเดิมมาก ปรับตัวเองให้เข้ากับคนได้ดียิ่งขึ้น แพร่จากคนสู่คนง่ายขึ้น ลดระยะฟักตัว และเปลี่ยนจากการก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจอักเสบทั้งส่วนบนและส่วนล่างรุนแรงเฉียบพลัน กลายเป็นเชื้อโคโรนาไวรัสที่ทำให้เกิดหวัดเล็กธรรมดา ไม่รุนแรง เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ไม่ค่อยลงปอด เหมือนกับเชื้อโคโรนาไวรัสที่เรารู้จักมานานอย่างน้อย 50 ปี”
นพ.มนูญ ยังระบุอีกว่า เชื้อโคโรนาไวรัสดั้งเดิมก่อให้เกิดโรคหวัดธรรมดาในเด็ก เป็นเองหายเอง ส่วนผู้ใหญ่มักไม่ติดเชื้อนี้ เพราะมีภูมิต้านทานตามธรรมชาติ เนื่องจากเกือบทุกคนเคยติดเชื้อนี้มาแล้วสมัยเป็นเด็ก ถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม
“หลังการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนครั้งใหญ่นี้ เชื่อว่าทุกคนไม่ว่าจะเคยฉีดวัคซีน หรือเคยติดเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์เดิมมาก่อน จะได้รับเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนไม่ช้าก็เร็ว เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ หวังว่าการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 คงจะจบลงสักที”
แต่ก็มีกระแสจากอีกฝ่ายที่มองว่า แม้ผู้ติดเชื้อโอไมครอนหลายรายจะมีอาการไม่รุนแรง เป็นแล้วหายเองได้ มีภูมิคุ้มกัน แต่เชื้อไวรัสก็ยังสามารถพรากชีวิตผู้คนได้ เพราะนั่นไม่ใช่ ‘วัคซีน’
อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ตั้งคำถามผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า หากเป็นอย่างที่ นพ.มนูญกล่าว ทำไมไม่แยกเชื้อโอไมครอนออกมาให้ประชาชนฉีดกันเลยล่ะ?
“วัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ ไม่ทำให้ผู้รับวัคซีนมีอาการป่วยใดๆ ถ้าวัคซีนตัวนั้นยังคงทำให้คนเสียชีวิตได้ เข้า ICU ได้ และ ที่สำคัญมีอาการ Long COVID ได้ ผมไม่นิยามสิ่งนั้นว่าวัคซีน การสื่อสารต้องชัดเจน เราบังเอิญติดเชื้อจากธรรมชาติแล้วอาการไม่รุนแรงหายเองได้แล้วมีภูมิเป็นสิ่งดี แต่สิ่งนั้นไม่ใช่ ‘วัคซีน’”
เช่นเดียวกับ นพ.มานพ พิทักษ์ภากร แพทย์อายุรศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช ที่ออกมาทวีตข้อความว่า โอไมครอนเวฟรอบนี้มีโอกาสรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตาด้วยหลายปัจจัย แต่ไม่ได้แปลว่า ไม่มีผู้ป่วยหนักหรือเสียชีวิต และคำว่า ‘น้อย’ ก็เป็นคำที่ปัจเจกมาก ดังนั้นแล้ว การให้ประชาชนได้รับวัคซีนและบูสเตอร์จึงเป็นวิธีหลักในการรับมือกับวิกฤตนี้
เมื่อไหร่เราถึงจะเข้าใกล้จุดจบของวิกฤต COVID-19
ราสมัสเซนกล่าวว่า เวลาที่โรคระบาดใหญ่จะสิ้นสุดลงนั้น ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่วัคซีนที่มีประสิทธิภาพจะเข้าถึงประชากรทั่วโลก แต่ตอนนี้ เรายังห่างไกลจากจุดนั้นมากจนไม่อาจรับมือกับเชื้อกลายพันธุ์ที่พัฒนาตัวเองให้หลบหลีกภูมิคุ้มกันได้
“หากมีผู้คนจำนวนไม่มากที่เข้าถึงวัคซีนได้ เราก็ยังต้องเผชิญกับเชื้อกลายพันธุ์ไปอย่างไม่มีกำหนด”
ขณะเดียวกัน นพ.มานพ ทวีตข้อความว่า การระบาดใหญ่จะจบในปีนี้หรือไม่ ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่โอไมครอนอาจเป็นตัวเร่งให้การระบาดใหญ่จบลงเร็วขึ้นได้ด้วยสองปัจจัย ได้แก่ การแชร์ข้อมูล การเตือนการระบาด และความรู้เกี่ยวกับโอไมครอนที่เกิดขึ้นเร็วกว่าทุก รวมถึงประชาชนได้รับวัคซีนมากและเร็วขึ้น
นพ.มานพ ระบุถึงสิ่งที่อยากเห็นในปีนี้ คืออัตราการเสียชีวิตที่ลดลงจากปีก่อน 70% หรือก็คือ จากอัตราการเสียชีวิต 1% ในปีก่อน ให้เหลือ 0.3% นั่นแปลว่า ประชาชนต้องได้วัคซีนเกือบทุกคน มียาต้านไวรัสที่ดีและเพียงพอ คนป่วยหนักไม่ล้นระบบ
นอกจากนี้ ประชาชนต้องสามารถเข้าถึงการตรวจ ATK และ RT-PCR ได้ง่ายด้วย หากประชาชนคิดว่าต้องตรวจ ก็ควรหามาตรวจได้ทันที เมื่อพบว่าติดเชื้อก็สามารถเข้าระบบเพื่อให้รักษาได้ง่าย
นพ.มานพ ยังระบุด้วยว่า COVID-19 จะไม่หายไปและจะมีเชื้อกลายพันธุ์ใหม่อีกแน่นอน แต่การระบาดระลอกใหม่ไม่ควรทำให้ระบบสาธารณสุขล้มเหลว ไม่เกิดการล็อกดาวน์หรือทำให้กิจการต่างๆ ชะงักแบบที่ผ่านมา
“ควรมีการถอดบทเรียนวิกฤติสองปีที่ผ่านมาอย่างครบถ้วน เป็นระบบ เกิดอะไรขึ้นบ้าง เรามีปัญหาตรงไหน ผิดพลาดอะไร ตรงไหนคือจุดอ่อน แล้วจะพัฒนายังไง อย่าให้มันผ่านมาแล้วก็ผ่านไปแล้วรอบหน้าก็เกิดปัญหาซ้ำเดิมอีก”
ขณะที่ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า ในช่วงหลังการระบาดใหญ่ ไวรัสจะทำให้เกิดโรคหวัด หรือทำให้บางคนมีอาการป่วยหนักได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับสุขภาพโดยรวมผู้ติดเชื้อและสถานะของภูมิคุ้มกัน เช่น ประสิทธิของวัคซีนและระยะเวลาที่รับวัคซีน อีกทั้ง การกลายพันธุ์จะดำเนินต่อไป และในที่สุด เราอาจต้องใช้บูสเตอร์ทุกๆ ครั้งที่วัคซีนได้รับการอัพเดต เพื่อให้ประชากรโลกสามารถรับมือกับเชื้อกลายพันธุ์ใหม่ได้ดียิ่งขึ้น
อ้างอิงจาก