เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย หลายออฟฟิศเริ่มออกนโยบายให้พนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิศอีกครั้ง แต่การปรับตัวครั้งแรกที่เพิ่งจะเข้าที่เข้าทาง หลายคนเริ่มชินกับการทำงานที่บ้าน ปรับเวลานอน ปรับกิจวัตร คุ้นเคยกับการสื่อสารผ่านหน้าจอเป็นหลัก เมื่อต้องกลับเข้าออฟฟิศอีกครั้ง นั่นหมายความว่าจะต้องปรับตัวกันอีกรอบหรือเปล่า?
ไม่ว่าจะการเปลี่ยนแปลงครั้งไหน ก็ต้องมีการปรับตัวเกิดขึ้น (เพื่อความอยู่รอดตามสัญชาตญาณของเรานั่นแหละ) อาจมีทั้งคนที่ปรับตัวเข้ากับสิ่งใหม่ๆ ได้รวดเร็ว หรือคนที่พยายามปรับตัวแล้วแต่ก็รู้ตัวดีว่าตัวเองไม่ได้เหมาะกับสิ่งนั้น และคนที่ปรับตัวกับสิ่งใหม่ๆ ได้ยากเหลือเกิน
หากมันเป็นเรื่องเล็กอย่างสภาพดินฟ้าอากาศ ที่เราพอจะหลีกเลี่ยงไปได้บางสถานการณ์ก็คงไม่เป็นปัญหาหนักหนาอะไร แต่พอมันเป็นเรื่องสเกลใหญ่อย่างรูปแบบการทำงาน เราอาจจะไม่ได้ปรับตัวได้ง่ายขนาดนั้น จู่ๆ เราก็ต้องย้ายทุกอย่างมาไว้ที่บ้านอย่างไม่มีข้อแม้ ออฟฟิศที่เคยจำขึ้นใจว่าต้องเข้าไปเสมอ กลับกลายเป็นพื้นที่ต้องห้าม แล้วผ่านไปสักพัก แม้จะรู้สึกเข้าที่เข้าทางกับการทำงานที่บ้าน ก็ต้องย้ายกลับไปทำงานที่ออฟฟิศอยู่ดี
แต่โลกของการทำงานเปลี่ยนไปพอสมควร เปลี่ยนไปขนาดที่การทำงานจากนอกออฟฟิศ กลายมาเป็นตัวเลือกหลัก เพราะเรารู้แล้วว่า การเข้าออฟฟิศนั้นไม่ได้จำเป็น “ขนาดนั้น” อย่างที่เคยเข้าใจ นอกจากจะเป็นหน้าที่ขององค์กร ที่ต้องคอยสังเกตพฤติกรรมการทำงานของพนักงาน พินิจพิเคราะห์หารูปแบบการทำงานที่เหมาะสมต่อไปแล้ว เราเองก็ต้องสำรวจความต้องการและความเหมาะสมของตัวเองด้วยเช่นกัน ว่าเราเหมาะกับการทำงานแบบไหน เพราะมันไม่ใช่แค่เรื่องของความชอบ ว่าฉันชอบเข้าออฟฟิศ ก็เข้า ฉันไม่อยากเข้า ไม่อยากออกไปไหน ก็ไม่ไป
เราต้องพิจารณาทั้งความต้องการ การใช้ชีวิตประจำวัน ความเหมาะสม ว่าเราควรจะได้ทำงานในรูปแบบใด เมื่อได้กลับเข้าออฟฟิศอีกครั้ง เราจะสามารถประเมินรูปแบบการทำงานของตัวเอง และต่อรองหารูปแบบที่เหมาะสมกับองค์กรได้อีกด้วย
ลองทำแบบทดสอบนี้ดูสิว่า เราได้คำตอบในตัวเลือกใดมากที่สุด
ถ้าตอบ 1 เป็นส่วนมาก
คุณเหมาะกับ Office-First, Remote Allowed
ทำงานที่ออฟฟิศเป็นหลัก โดยเริ่มจากทีมหัวหน้าที่ต้องอยู่เป็นศูนย์กลาง คอยตอบดูแลทีม บริหารทีม อยู่ที่ออฟฟิศเป็นประจำในทุกวัน พนักงานเองก็ต้องเข้าออฟฟิศเป็นประจำเช่นกัน โดยเฉพาะทีมที่มีเนื้องานอาศัยการประชุม การพูดคุยสื่อสารกันในทีมอย่างมาก เช่น Marketing, Sales เป็นต้น และอาจมีข้อยกเว้นสำหรับบางตำแหน่ง ที่ไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศทุกวันก็ได้ เหมาะสำหรับ ตำแหน่งที่เนื้องานจำเป็นต้องสื่อสารกันอย่างชัดเจน ประชุม ระดมไอเดียกันอยู่เสมอ
ถ้าตอบ 2 เป็นส่วนมาก
คุณเหมาะกับ Office-Occasional
กำหนดจำนวนวันที่ต้องเข้าออฟฟิศ อย่างน้อยต้องมีเท่านี้นะ อยากจะเข้าเกินก็ได้แต่ห้ามขาด โดยวันที่ว่านั้น อาจเป็นได้ทั้งวันทำงานจริงจัง หรือจะปรับใช้สำหรับประชุมทีม ระดมไอเดีย ประจำสัปดาห์นั้นๆ ก็ได้ โมเดลนี้มีข้อดีตรงที่ ไม่ได้กำหนดน้ำหนักไปที่บ้านหรือออฟฟิศมากกว่ากัน จึงทำให้ไม่รู้สึกว่าจะต้องให้ความสำคัญกับสิ่งไหนเป็นพิเศษ
โมเดลนี้จะทำให้พนักงานที่ชื่นชอบการทำงานที่บ้าน ก็ยังคงได้ทำงานที่บ้านอย่างที่ต้องการ และสามารถเข้ามาประชุมอย่างพร้อมหน้าในวันที่กำหนดได้ หรือสำหรับใครที่ชื่นชอบการทำงานที่ออฟฟิศ ก็สามารถเข้าออฟฟิศได้ทุกวันตามที่ต้องการเช่นกัน
เหมาะสำหรับ บริษัทที่สามารถจัดพื้นที่ให้เป็น Hybrid Office ได้ ปรับจากพื้นที่ส่วนตัวให้กลายเป็นพื้นที่ส่วนกลาง ที่ใครๆ ก็สามารถมาใช้พื้นที่นี้ในการทำงานได้ อย่างระบบ Hot Desk ที่ใครมาก่อนได้นั่งก่อน เป็นต้น
ถ้าตอบ 3 เป็นส่วนมาก
คุณเหมาะกับ Remote-First
หากชอบอยู่ในพื้นที่ส่วนตัว ยิ่งเงียบยิ่งสงบ ยิ่งทำงานได้ดี แบบนี้จะเป็นอะไรไปไม่ได้ นอกจากการนั่งทำงานที่บ้านต่อเนื่องกันไปยาวๆ โดยรูปแบบการทำงานนี้ เน้นการทำงานที่บ้านเป็นหลัก ถ้าไม่แน่ใจว่าจะต้องเข้าไปออฟฟิศวันไหน ไม่มีธุระ ไม่มีนัดหมายอะไร ก็ให้เลือกทำงานที่บ้านเป็นตัวเลือกหลัก ไม่มีทีมหัวหน้าหรือแม้แต่ทีมพนักงานเข้าออฟฟิศ ทุกคนยังคงทำงานที่บ้านกับแบบเต็มระบบ ไม่ต่างจากช่วงก่อนหน้านี้สักเท่าไหร่นัก
ฟังดูช่างเป็นออฟฟิศที่ยืดหยุ่นเสียเหลือเกิน แต่ความยืดหยุ่นนี้อาจไม่ได้มีสำหรับทุกคน เพราะในบางตำแหน่ง อาจมีวันที่ต้องเข้าออฟฟิศบ้าง เพื่อความสะดวกในการทำงานเป็นทีม หรือสะดวกต่อหน้าที่ของตำแหน่งนั้นๆ เอง
แต่ถ้าหากใครได้คำตอบเท่าๆ กัน อาจจะต้องลองดูรูปแบบการทำงานทั้งหมด แล้วพิจารณาดูว่า รูปแบบไหนที่เหมาะกับเราที่สุด และทางออฟฟิศเองก็สามารถรับข้อเสนอนี้ของเราได้เช่นกัน