ไม่สนหรอกว่า ชีวิตจะอยู่ในช่วงวิกฤต ร่างกายทำงานไม่ไหว หรือสภาพจิตใจย่ำแค่ไหน แต่งานต้องเสร็จและออกมาดี เคยเจอเพื่อนร่วมงานที่คิดแบบนี้กันหรือเปล่า?
จริงๆ การรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตัวเองเป็นเรื่องที่เราควรทำอยู่แล้ว แต่หากสนใจแค่ความสำเร็จมากจนเริ่มมองมนุษย์ราวกับเป็นหุ่นยนต์ไร้ชีวิตจิตใจ แบบนี้อาจจะสุดโต่งเกินไป จนเรียกว่าเป็นการขาดความเห็นอกเห็นใจ (empathy) เลยก็ว่าได้ โดยสัญญาณของการขาดความเห็นอกเห็นใจที่ว่านี้มีได้หลายรูปแบบด้วยกัน
ไม่ว่าจะเป็นการชอบตัดสิน มักจะโทษคนอื่นๆ หรือดุด่าโดยไม่ถามเหตุผลก่อน บางคนมักจะคิดว่าเหตุการณ์แย่ๆ ที่เกิดขึ้นกับเพื่อนร่วมงานนั้นจะไม่มีวันเกิดกับตัวเองหรอก หรือคิดว่าตัวเองรับมือได้ดีกว่า ส่วนคนที่รับมือไม่ไหวก็แค่อ่อนแอและอ่อนไหวเกินไป เลยไม่สามารถทำความเข้าใจความทุกข์ของคนอื่นๆ ได้ และมักจะมีคำพูดทำนองว่า “เรื่องแค่นี้ ฉันทำได้ ทำไมเธอจะทำไม่ได้”
บางคนอาจไปถึงขั้นสาดอารมณ์ลบๆ คำพูดแย่ๆ ใส่คนอื่น แล้วโยนความรับผิดชอบมาให้คนฟังจัดการความรู้สึกตัวเอง หรืออาจจะเล่นมุขตลกผิดเวลา แสดงท่าทีร่าเริง เฉยเมย ไม่ใยดี แม้จะเห็นอีกฝ่ายกำลังความรู้สึกเศร้าหรือเครียดอยู่ แถมยังไม่ได้รู้สึกผิดกับสิ่งที่ตัวเองทำอีกด้วย คนกลุ่มนี้เลยมักจะมีปัญหาเกี่ยวกับการรักษาความสัมพันธ์ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ใกล้ชิดและมีความหมาย เพราะเมื่อคนเราต้องการพื้นที่ปลอดภัยทางความรู้สึก ก็คงไม่อยากใช้เวลานั้นอยู่กับคนที่คอยตัดสินหรือไม่มีวันรับรู้และเข้าใจความรู้สึกของเรา
แม้มองเผินๆ ‘ความเห็นอกเห็นใจ’ ฟังดูเป็นเรื่องอารมณ์ความรู้สึก ขณะที่การทำงานเรามักจะใช้หลักการและเหตุผลมากกว่า แต่จริงๆ แล้วการขาดความเห็นอกเห็นใจนี้อาจส่งผลกับการทำงานมากกว่าที่คิด โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสารที่ผิดพลาดจากการตีความหมายกันคนละอย่าง คุยกันคนละภาษาจนเกิดความขัดแย้งขึ้น บ้างก็สนใจแค่ความสำเร็จส่วนตัว มองแค่กฎเกณฑ์และผลประโยชน์ตัวเอง จนทำให้คนอื่นเดือดร้อน ตามมาด้วยบรรยากาศการทำงานที่ท็อกซิกมากขึ้นทุกวัน
แต่อะไรทำให้บางคน ‘เห็นอกเห็นใจ’ คนอื่นได้ยากขนาดนั้น ?
ข้อมูลจากเว็บไซต์ psychcentral ระบุว่าที่มาที่ไปอาจไม่ได้แน่ชัดมากนัก เพราะเกิดจากหลากหลายปัจจัยประกอบกัน เช่น การเลี้ยงดูในวัยเด็กโดยไม่มีต้นแบบพฤติกรรมที่แสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจ บางคนเติบโตมาโดยไม่มีโอกาสได้ฝึกฝนทักษะนี้ บ้างก็อาจจะมาจากความฉลาดทางอารมณ์ที่น้อยกว่าคนทั่วไป หรืออาจจะอยู่ในช่วงเครียดและหมดไฟจนไม่มีพลังไปสนใจความรู้สึกของคนอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัย ที่พบว่า บางคนไม่อยากฝึกความเห็นอกเห็นใจเพราะทักษะดังกล่าวต้องใส่ความพยายาม ใช้พลังงานเยอะทั้งด้านความคิด เวลาและอารมณ์ความรู้สึก
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าความเห็นอกเห็นใจจะมาจากปัญหาส่วนบุคคลเท่านั้น หากเป็นภาพสะท้อนถึงปัญหาภายในองค์กรด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศที่ไม่เอื้อต่อการฝึกให้พนักงานมีความเห็นอกเห็นใจกัน อย่างสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันมากเกินไปจนสร้างความรู้สึกกลัวและวิตกกังวลให้กับพนักงาน แทนที่จะกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจมากกว่า เมื่อรู้สึกกดดันมากๆ สิ่งที่ตามมาคือความเครียดและความคิดวกวนอยู่กับการพยายามเอาตัวรอด พยายามหาวิธีทำให้สำเร็จ จนไม่ได้สนใจว่าสิ่งที่ทำอยู่จะส่งผลกระทบต่อคนอื่นๆ มากน้อยแค่ไหน
นอกจากนี้การขาดความเห็นอกเห็นใจ ยังสะท้อนถึงปัญหาเรื่องความห่างเหินและขาดการมีส่วนร่วมของคนในองค์กร เห็นได้จากการศึกษาโดย ร็อบเบอร์ วิลเลอร์ (Robber Willer) นักสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด โดยเขาได้สร้างคอมมูนิตี้ที่ชื่อว่า Freecycle ขึ้นมา ซึ่งผู้คนสามารถเข้าไปในเว็บไซต์นี้เพื่อแจกหรือขออะไรก็ได้ ตั้งแต่เครื่องใช้สำนักงานไปจนถึงรถยนต์ โดยจะไม่มีการชดเชยหรือตอบแทนกัน จากนั้นเขาได้สำรวจผู้ใช้งานจำนวน 805 ราย พบว่า ผู้คนที่รู้สึกผูกพันและเป็นส่วนหนึ่งกับคอมมูนิตี้ Freecycle มีแนวโน้มจะมีส่วนร่วมและช่วยเหลือกันมากกว่า หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ยิ่งเรารู้สึกเชื่อมโยงกับกลุ่มมากเท่าไร เรายิ่งมีแนวโน้มแสดงความมีน้ำใจและเห็นอกเห็นใจต่อกันมากขึ้นเท่านั้น
ดังนั้นการที่พนักงานขาดความเห็นอกเห็นใจกัน อาจเป็นสัญญาณของปัญหาภายในองค์กร ทั้งบรรยากาศการทำงานที่เต็มไปด้วยความกลัวและกดดัน ความรู้สึกของคนในองค์กรที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งหรือเป็นทีมเดียวกัน ซึ่งท้ายที่สุดอาจจบลงที่พนักงานเกิดความเครียด ทำงานออกมาได้ไม่ดี เริ่มมีอัตราการลาออกที่สูงขึ้น
รับมือยังไงดี เมื่อเจอเพื่อนร่วมงานแบบนี้?
ข้อมูลจาก very well mind ระบุว่า หากเพื่อนร่วมงานขาดความเห็นอกเห็นใจแล้วเริ่มล้ำเส้นเรา สิ่งแรกที่ทำได้คือการไม่เก็บคำพูดหรือการกระทำเหล่านั้นมาบั่นทอนใจตัวเองจนรู้สึกแย่ เพราะการกระทำเหล่านั้นอาจไม่ได้เกิดจากตัวเราโดยตรง แต่มาจากหลายปัจจัยที่เรากล่าวไปข้างต้น หรือเราอาจจะลองเตือนออกไปตรงๆ ว่าพฤติกรรมนี้ไม่ถูกต้องนะ เพราะบางคนอาจจะไม่รู้ตัว บ้างก็เคยชินกับการทำแบบนี้เพราะไม่มีคนตักเตือน แต่ก่อนจะสื่อสาร เราอาจจะต้องตัดอารมณ์ออกไปก่อน แล้วใช้เหตุผลเป็นหลักเพื่อเลี่ยงการปะทะอารมณ์กันจนไม่ได้พูดคุยถึงปัญหาที่แท้จริง แต่ก็ไม่คาดหวังว่าเขาจะเปลี่ยนแปลงได้ในทันที เพราะเราคงทำได้แค่ตักเตือนเท่านั้น โดยไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงคนคนหนึ่งได้อย่างสิ้นเชิง
หรือถ้าใครอยากจะลองฝึกฝนทักษะนี้กับตัวเอง ก็สามารถทำหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการฝึกถามความรู้สึกของคนอื่นๆ ลองสังเกตความเปลี่ยนแปลงของภาษากาย เช่น สีหน้า น้ำเสียง ของคู่สนทนาว่าปกติจะเปลี่ยนไปตอนพูดถึงเรื่องไหน แม้แต่การพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจว่าคนคนนั้นให้ความสำคัญกับเรื่องไหนเป็นพิเศษ เช่น เมื่อเรารู้ว่าคนคนนี้เคยมีประสบการณ์การสูญเสียสัตว์เลี้ยงที่ผูกพันมานับสิบปี เลยเข้าใจได้ว่าทำไมเขาถึงอ่อนไหวง่ายเมื่อพูดถึงเรื่องสัตว์เลี้ยง หรือบางคนอาจจะโมโหกับเรื่องนี้มากกว่าเรา เพราะเขาเคยเจอประสบการณ์ฝังใจในอดีตบางอย่างที่เราไม่เคยเจอก็เป็นได้
เพราะมนุษย์เราเติบโตมาคนละแบบ มีเงื่อนไขชีวิตที่แตกต่างกัน เราไม่มีทางรู้ทุกรายละเอียดของทุกคนว่าใครผ่านอะไรมาบ้าง
ดังนั้นสิ่งที่จะทำให้เราเข้าใจกันได้ ก็คือความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นโลกของการทำงานหรือการใช้ชีวิตก็ตาม
อ้างอิงจาก