ตั้งแต่ทำงานที่บ้าน เคยเจอเหตุการณ์เหล่านี้กันบ้างไหม? เสียงตะโกนเรียกกินข้าวจากชั้นล่าง เปิดประตูเข้ามาตอนกำลังประชุม ถูกเข้าใจผิดว่าเอาแต่เล่นคอมพิวเตอร์ไม่ยอมทำงาน เมื่อครอบครัวหรือคนที่บ้าน ยังไม่ค่อยเข้าใจและไม่ชินกับวิธีการทำงานรูปแบบใหม่นี้ จนไม่เข้าใจว่าการนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ทั้งวันของเรานั้น กำลังทำอะไรอยู่กันแน่นะ เลยทำให้เกิดการเข้าใจผิดเกิดขึ้นว่าเรากำลัง “ว่าง” อยู่นั่นเอง จะพูดจะบอกยังไงให้เข้าใจดีนะ ว่าการทำงานที่บ้านไม่ได้แปลว่าเราว่างตลอดเวลา
ความเข้าใจผิดนี้อาจโผล่มาในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น คิดว่าเราจะสามารถลุกออกไปไหนเมื่อไหร่ก็ได้ เข้าใจว่าทำงานที่บ้านคงไม่ยุ่งเท่าตอนอยู่ออฟฟิศ หรืออาจเป็นขั้นกว่าที่คิดว่าเรากำลังว่างไม่ได้ทำงานอะไรเลย สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น เมื่ออีกฝ่าย ไม่ได้เข้าใจรูปแบบการทำงานใหม่นี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เราอาจรู้สึกเบื่อที่จะต้องตอบคำถามซ้ำๆ เดิมๆ ในทุกวันว่า เรากำลังไม่ว่าง ไม่ว่างเพราะอะไร อยู่หน้าคอมพิวเตอร์ไม่ได้แปลว่านั่งเฉยๆ ในทุกวัน ตราบใดที่ยังทำงานในบ้านแบบนี้
ทางออกของเรื่องนี้ ไม่มีอะไรง่ายไปกว่าการทำความเข้าใจกัน แต่นั่น ไม่ได้หมายความว่าเราจะไปบอกเขาด้วยความฉุนเฉียว ว่า “นี่ไง เห็นไหม กำลังทำงานอยู่ ไม่เข้าใจหรอ” แล้วทุกอย่างจะจบ ทุกคนเข้าใจกัน ต่อให้อีกฝ่ายเข้าใจว่าเรากำลังทำงานอยู่ แต่นั่นไม่ดีกับความสัมพันธ์ในครอบครัวเลยใช่ไหมล่ะ? สิ่งหนึ่งที่อยากให้นำมาปรับใช้กับการหาทางออกร่วมกันในเรื่องนี้ คือ Empathy ความเข้าอกเข้าใจอีกฝ่าย ในมุมมองของเขา ว่าเขากำลังเจอกับปัญหาอะไร เข้าใจเรื่องนี้แบบไหน และไม่ตัดสินกัน
มาดูกันว่าเราจะหาทางออกอย่างไร ที่จะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจกันและดีต่อความสัมพันธ์ด้วย
บอกให้ชัดว่า เรากำลังทำอะไร?
ในหนึ่งวัน เราต้องทำอะไรบ้าง งานของเราเริ่มจากตรงนี้ ไปจบที่ตรงนี้ ลองอธิบายคร่าวๆ ให้พอเห็นภาพ และใส่รายละเอียดให้เขาเข้าใจว่า การนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ของเรา การคุยโทรศัพท์ ส่งอีเมลนั้น มันคือวิธีการทำงานของเรานะ ทำไมเราต้องทำแบบนี้ เพราะไม่ใช่ว่าพ่อแม่ทุกคนจะรู้จักเทคโนโลยี ว่าสมัยนี้มันทำอะไร ไปถึงไหนกันแล้วบ้าง
โดยเฉพาะเรื่องเฉพาะทางอย่างการทำงาน ที่เราอยู่กับมันทุกวัน เข้าใจดีว่าเราต้องทำแบบนั้นนะ แบบนี้นะ แล้วพ่อแม่เขาไม่ได้มาเข้าใจกับเราทุกอย่าง เราลองมองในมุมของเขาดูบ้าง ว่าเขากำลังเข้าใจเรื่องนี้อย่างไรอยู่ แล้วเราจะอธิบายให้เขาเข้าใจตามที่เราเข้าใจเองได้อย่างไร ถ้าพ่อแม่ใครเข้าใจเทคโนโลยีอยู่บ้าง อธิบายนิดหน่อยก็พอจะรู้แล้วว่าการทำงานที่บ้าน มันทำงานแบบนี้นะ แต่ถ้าพ่อแม่ใครที่ยังไม่เข้าใจเทคโนโลยีสักเท่าไหร่ อาจจะต้องบอกให้เขาเห็นภาพกันมากขึ้น
แม้อยู่บ้านแต่ยังคงเข้าออกตามเวลา
ประชุมอยู่โดนตามให้ไปกินข้าว ปั่นงานตอนบ่าย แม่ให้ไปตลาดเป็นเพื่อน เชื่อว่าหลายคนอาจเคยเหตุการณ์เหล่านี้ ที่พ่อแม่มักคิดว่าการทำงานที่บ้านของเรา หมายความว่าเราจะทำตอนไหนก็ได้ ลุกออกมาสักแปปนึงคงไม่เป็นอะไร เขาเองไม่ได้มารู้กับเราหรอกว่า เราต้องเข้างานตอนนี้ ประชุมตอนนี้ เริ่มปั่นงานและส่งงานในตอนไหน เลิกงานกี่โมง เป็นเรื่องที่เราต้องอธิบายให้เขาฟังเช่นเดียวกับกระบวนการทำงานในตอนต้น
ถ้ามีไทม์ไลน์ให้เขาดูได้จะยิ่งเข้าใจกันง่ายมากขึ้น พ่อแม่จะได้รู้ว่า เราจะกินข้าวกลางวันกี่โมง ลุกออกมายืดเส้นยืดสายตอนไหน ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ให้พ่อแม่ดูไทม์ไลน์แล้วก็ต้องคอยเสิร์ฟข้าว เสิร์ฟกาแฟให้เราตามเวลา (ถ้าทำก็ไม่ผิดอะไร) แต่การมีไทม์ไลน์นั้น หมายถึงให้อีกฝ่ายเข้าใจว่า ช่วงเวลาไหนที่เรากำลังไม่ว่าง ไม่สามารถผละออกจากงานที่ทำอยู่ได้ จนกว่าจะถึงเวลาไหน หรืออาจจะเป็นเวลาเลิกงานเลยก็ตามแต่ไทม์ไลน์ของแต่ละคน
แยกพื้นที่ทำงานให้เป็นส่วนตัว
หากเรายังนั่งทำงานที่โต๊ะกินข้าว ห้องนั่งเล่น ที่ใครๆ เดินผ่านไปมา มันก็อดไม่ได้ที่จะมีใครแวะมาพูดคุย นั่งเล่น ชวนกินจุบจิบอยู่เป็นระยะ ลองหาพื้นที่ที่เป็นส่วนตัว ที่สามารถให้เรานั่งทำงาน มีมุมของตัวเองได้ในช่วงเวลางาน มีสมาธิจดจ่ออยู่กับงาน และเพื่อให้คนในบ้านเข้าใจได้ง่ายๆ ว่า ถ้าไม่เห็นเราแถวนั้น แปลว่าเรากำลังหลบมุมทำงานอยู่นะ
นอกจากนั้น การแยกพื้นที่ทำงานออกมา นอกจากจะช่วยให้เรามีสมาธิกับงานมากขึ้น ยังทำให้เราแยกความรู้สึกของการทำงานออกจากชีวิตส่วนตัวได้อย่างชัดเจน แม้จะนั่งทำงานอยู่ที่บ้านก็ตาม หากเรานั่งทำตรงนั้นตรงนี้ ตรงที่ชอบพักผ่อน โซฟาตัวโปรด เตียงแสนนุ่มสบาย จนเคยชิน จะทำให้แม้เวลาเลิกงานแล้ว พอเรามาอยู่ตรงนี้อีกครั้ง เราจะยังรู้สึกเหมือนว่าเป็นช่วงเวลาที่เราทำงานอยู่ การมีมุมทำงานเป็นสัดส่วนไปเลย จะช่วยให้เหมือนเรานั่งทำงานในออฟฟิศมากขึ้น เข้ามานั่งทำงานตามเวลา เดินออกจากโต๊ะทำงานตามเวลาเลิก ได้มามีชีวิตส่วนตัวเมื่อออกจากมุมทำงานนั้นแล้ว
แม้เราจะเน้นไปที่การบอกพ่อแม่ยังไงดี ให้เข้าใจการทำงานที่บ้าน แต่เราสามารถใช้วิธีนี้กับคนที่เราอาศัยอยู่ใต้ชายคาเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม การสื่อสารกันให้เข้าใจ เป็นทางออกที่ง่ายที่สุด ที่จะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจตรงกัน แต่การมี Empathy ต่อกัน จะช่วยให้ทางออกนี้เป็นไปอย่างราบรื่นและดีต่อความสัมพันธ์มากกว่า
อ้างอิงข้อมูลจาก