ปีหน้าจะหางานยากไหม ? AI จะมาแทนที่หรือเปล่า ? เราต้องเตรียมตัวกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ หรือจะ work from home กันไปยาวๆ
ช่วงส่งท้ายปีแบบนี้ หลายคนน่าจะเริ่มกลับมาทบทวนชีวิต พร้อมๆ กับวางแผนสำหรับปีถัดไป ซึ่งนอกจากคำทำนายของหมอดูแล้ว การรู้เทรนด์ภาพรวมของปีหน้า ก็อาจจะช่วยให้ชาวออฟฟิศอย่างเราๆ ได้เตรียมตัวเตรียมใจก่อนจะถึงปีถัดไปได้ด้วย วันนี้ The MATTER เลยรวบรวม 7 เทรนด์การทำงานของปี 2023 มาฝากทุกคนกัน
ปัจจุบันคนกลัว ‘การว่างงาน’ แต่ในอนาคตหลายประเทศอาจ ‘ขาดแคลนแรงงาน’
แม้จะฟังดูย้อนแย้งสักหน่อย แต่เทรนด์นี้ก็มีที่มาที่ไปอยู่เหมือนกัน ซึ่ง ลินดา แกรตตัน (Lynda Gratton) ผู้เชี่ยวชาญด้านองค์กรและศาสตราจารย์ด้านการจัดการแห่ง London Business School กล่าวว่า ปีหน้าคนจะกลัวการว่างงานและเข้าสู่ตลาดแรงงานกันเยอะขึ้น เพราะกังวลเรื่องเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น
แต่ถ้ามองในระยะยาวกว่านั้น หลายประเทศอาจประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยรายงาน Indeed & Glassdoor’s Hiring and Workplace Trends Report 2023 อธิบายว่าเป็นเพราะอัตราการเกิดที่ลดลง ประชากรอายุ 15-65 ปีจะมีจำนวนน้อยลงในหลายประเทศ
และเมื่อถึงวันนั้นเราอาจจะเห็นบางประเทศเริ่มผ่อนปรนข้อกำหนดด้านการจ้างแรงงานข้ามชาติ หรือมีนโยบายเพิ่มโอกาสการทำงานให้คนหลากหลายกลุ่มมากขึ้น เช่น คนที่เคยมีประวัติอาชญากรรม กลุ่มคนพิการ กลุ่มคนเปราะบาง และผู้สูงอายุ รวมทั้งนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ แม้บางคนจะกังวลว่า AI จะทำให้เราตกงานหรือเปล่า แต่รายงานดังกล่าวกลับวิเคราะห์ว่า AI อาจมาเติมเต็มจำนวนแรงงานที่ขาดหายไปในวันข้างหน้า รวมทั้งช่วยให้เราทำงานได้เร็วและมีประสิทธิภาพมายิ่งขึ้นอีกด้วย
‘ค่าตอบแทนและสวัสดิการ’ คือเหตุผลหลักที่ทำให้คนเปลี่ยนงาน
จากการสำรวจของ Indeed ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 2021 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2022 พบว่า เหตุผลหลักที่ทำให้คนส่วนใหญ่ตัดสินใจเปลี่ยนงานคือ ‘ค่าตอบแทนที่สูงขึ้น’ (รองลงมาคือเรื่องนโยบายทำงานทางไกล และความต้องการเปลี่ยนสายอาชีพ) ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเพราะสภาพเศรษฐกิจตอนนี้ที่อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นในรอบหลายปี
ขณะเดียวกันหลายบริษัทได้เริ่มใช้ ‘สวัสดิการ’ เพื่อดึงดูดให้มีคนมาสมัครงานกันมากขึ้น เห็นได้จากข้อมูลของ Indeed ที่พบว่า ประกาศรับสมัครงานเริ่มระบุสวัสดิการเกี่ยวกับประกันสุขภาพ (Health insurance) แผนวัยเกษียณ (Retirement Plans) และระบบวันลาที่ยังได้รับค่าตอบแทน (paid time off) เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2019-2022
‘ทำงานที่ไหนก็ได้’ เริ่มกลายเป็นเรื่องปกติ
ช่วงแรกๆ ที่เพิ่งเจอโรคระบาด เราอาจจะคิดว่า ‘การทำงานที่บ้าน’ หรือ ‘การทำงานทางไกล’ เป็นเพียงนโยบายชั่วคราวเท่านั้น แต่เมื่อหลายคนเริ่มปรับตัวได้ กลับทำให้พบว่าความยืดหยุ่นของสถานที่ทำงานช่วยให้บางคนทำงานได้ดีขึ้นมาซะงั้น แถมยังมีข้อมูลจากเว็บไซต์ Indeed ที่พบว่า คำค้นหาเกี่ยวกับ ‘การทำงานทางไกล’ และเนื้อหาในประกาศรับสมัครงานที่มีคีย์เวิร์ด ‘ทำงานทางไกล’ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการระบาดในปี 2019
ดังนั้นในอนาคต แม้จะไม่มีโรคระบาดอีกต่อไป แต่นโยบายดังกล่าวจะเริ่มกลายเป็นเรื่องปกติในหลายๆ บริษัท ซึ่งข้อดีคือการเปิดโอกาสให้คนหลากหลายกลุ่มได้เข้ามาทำงานร่วมกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นชาวต่างชาติ กลุ่มคนพิการ กลุ่มคนที่ไม่สะดวกเดินทางมาทำงานในออฟฟิศ แต่แน่นอนว่ายังมีข้อจำกัดเรื่องการสื่อสารและความสัมพันธ์ในองค์กรด้วยเหมือนกัน
คนอยากกลับมาออฟฟิศ เพราะ ‘อยากเจอเพื่อน’
“ฉันสามารถเขียนงานจากที่บ้านได้อยู่แล้ว แต่มิตรภาพเป็นอะไรที่เราต้องการด้วยเหมือนกัน” ลินดา แกรตตันเล่าถึงประสบการณ์ตรงของตัวเธอเอง พร้อมอธิบายว่า แม้บางงานจะทำที่บ้านได้สบายๆ แต่เหตุผลหลักที่หลายคนอยากเข้าออฟฟิศไม่ใช่เรื่องงาน แต่เป็นความรู้สึกอยากกลับไปเจอเพื่อนๆ หรือผูกมิตรกับคนในที่ทำงานมากกว่า
เมื่อมนุษย์ออฟฟิศหลายคนยังต้องการความสัมพันธ์ในที่ทำงาน ขณะที่เทรนด์ ‘การทำงานที่ไหนก็ได้’ กำลังกลายเป็นเรื่องปกติ ทำให้โจทย์ใหญ่ของหลายๆ องค์กรในปี 2023 คือการหาตรงกลางให้กับเรื่องนี้ ซึ่งเริ่มมีบางบริษัทที่ลองหาวิธีแล้วเหมือนกัน อย่างในเกาหลีใต้ที่ Seoul Digital Foundation ได้เปิดออฟฟิศในโลกเมตาเวิร์สให้พนักงานที่ทำงานทางไกลได้เข้ามาพบปะสานสัมพันธ์กันในนี้แทนการเข้าออฟฟิศจริงๆ
ผู้คนคาดหวัง ‘ความสุข’ จากการทำงานมากขึ้น
ในปี 2023 มีแนวโน้มว่าเหล่าคนทำงานจะให้ความสำคัญกับความสุขและความเป็นอยู่ที่ดี มี work-life balance กันมากขึ้นเพราะ COVID-19 กระตุ้นให้คนเรารู้สึกว่าชีวิตช่างแสนสั้น ทำไมเราต้องมาทนทุกข์กับการทำงานในทุกๆ วันด้วยนะ และข่าวดีคือหลายบริษัทกำลังหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เหมือนกัน หลังจากผ่านช่วง The Great Resignation หรือการลาออกครั้งใหญ่ไปเมื่อช่วงต้นปี
เทรนด์นี้เห็นได้จากสถิติในรายงานของ Indeed ที่พบว่า คนทำงานกว่า 90% เชื่อว่าความรู้สึกต่องานที่ทำเป็นเรื่องสำคัญ และ 49% บอกว่าบริษัทของพวกเขามีการวัดผลความสุขและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน สอดคล้องกับการวิจัยของ Glassdoor ที่พบว่าพนักงานในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี และฝรั่งเศส ต่างบอกว่า ถ้าพวกเขาพึงพอใจและมีความสุขกับงานที่ทำ ก็มีโอกาสน้อยมากที่จะเริ่มมองหางานใหม่ๆ
DEI (diversity, equity, and inclusion) เป็นเรื่องสำคัญ
ในอนาคตหลายคนจะมองไกลไปมากกว่า ‘บริษัทให้อะไรกับเราบ้าง’ แต่ยังหันมาจับตามองเรื่องความเท่าเทียมในองค์กรมากขึ้น โดยเฉพาะทัศนคติผู้นำในองค์กรว่าให้ความสำคัญกับ ‘DEI’ หรือเปล่า ซึ่ง ‘DEI’ ในที่นี้ ย่อมาจาก Diversity (ความหลากหลาย), Equity (ความเสมอภาค) และ Inclusion (การรวมกลุ่มกัน) หรือเรียกง่ายๆ ว่า เป็นการยอมรับความแตกต่างและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังนั่นเอง
เทรนด์นี้สะท้อนผ่านการสำรวจคนอายุ 18-34 ปีที่พบว่า 72% อาจปฏิเสธงานหรือเริ่มอยากลาออก ถ้ารู้ว่าผู้นำในองค์กรไม่ได้สนับสนุนเรื่อง DEI และมากกว่า 60% บอกว่าอาจปฏิเสธงานนั้นหรือเริ่มอยากลาออก ถ้าในบอร์ดบริหารหรือกลุ่มผู้นำในองค์กรไม่มีความหลากหลายทางเพศ เชื้อชาติและศาสนา
เทรนด์การทำงาน 4 วัน/สัปดาห์กลับมาอีกครั้ง
แม้การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ลินดา แกรตตันมองว่าในปี 2023 นี้ รูปแบบการทำงานดังกล่าวจะมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น หรืออย่างน้อยๆ ก็น่าจะถูกพูดถึงเยอะขึ้น โดยเหตุผลสำคัญคือ จำนวน Sandwich Generation (คนที่ต้องดูแลทั้งลูกรุ่นหลาน และรุ่นพ่อแม่ไปพร้อมๆ กัน) เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะอัตราการเกิดน้อยลง ขณะที่ผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้นการทำงาน 5 วันอาจทำให้คนกลุ่มนี้ไม่สามารถแบกรับทุกอย่างได้ไหวจนหมดไฟในการทำงาน หรือเกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้ ซึ่งสุดท้ายก็จะวกกลับมาที่ประสิทธิภาพการทำงานในบริษัทอีกที แถมยุคนี้ยังมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดทอนบางงานลงไปได้ ทำให้ระบบการทำงาน 4 วันทั้งน่าจะเป็นไปได้และเป็นประโยชน์กับคนทำงานมากยิ่งขึ้น
เทรนด์ทั้งหมดนี้สรุปมาจากผลการสำรวจและการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญที่ทำให้เห็นภาพรวมกว้างๆ ในปีหน้า แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะเปลี่ยนไปตามนี้เป๊ะๆ เพราะการทำงานในออฟฟิศของแต่ละคนก็อาจจะมีรายละเอียดยิบย่อยที่แตกต่างกันออกไปอีกที แต่ที่แน่ๆ ทั้ง 7 ข้อนี้ได้สะท้อนให้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2022 ผ่านมา ทั้งสภาพเศรษฐกิจและสังคมสูงอายุเริ่มกลายเป็นเรื่องหลักๆ ที่หลายคนกังวลใจและให้ความสำคัญมากที่สุด ไปจนถึงสถานการณ์ COVID-19 ที่ดูเหมือนจะเป็นไปในทิศทางที่ดีกว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
อ้างอิงข้อมูลจาก