ในยุคที่หลายบริษัทให้ทำงานจากที่ไหนก็ได้ โลกออนไลน์ทำให้มีสารพัดอาชีพเกิดใหม่ โดยที่เราไม่ต้องร่อนใบสมัคร ยื่นเรซูเม่อีกต่อไปเลยทำให้ ‘อาชีพเสริม’ ฟังดูเป็นเรื่องเข้าถึงง่ายมากขึ้นสำหรับมนุษย์ออฟฟิศอย่างเราๆ
แม้บางคนจะกระโดดเข้าไปทำงานอื่นเพิ่มด้วยความเต็มใจเพราะอยากเพิ่มทักษะหรือเป็นงานที่ตัวเองสนใจ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนจำนวนมากยอมแลก ‘เวลาพักผ่อน’ กับ ‘การทำงานเสริม’ เหล่านี้ด้วย ‘ความจำเป็น’ เสียมากกว่า เพราะแค่งานประจำที่กินเวลา 1 ใน 3 ของวันก็เหนื่อยมากพอแล้ว ดังนั้นการมีงานที่สอง สาม สี่ ห้า นอกเหนือจากงานประจำที่มีอยู่เลยสะท้อนให้เราเห็นปัญหาบางอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมด้วยเช่นกัน
เงินเฟ้อ ค่าครองชีพสูงขึ้น แต่รายได้จากงานประจำยังไม่ขยับไปไหน
ช่วงนี้หลายคนน่าจะรู้สึกได้ถึงความกระเป๋าแห้ง ทั้งที่ไลฟ์สไตล์และรูปแบบการใช้จ่ายไม่ได้ต่างจากเดิมนัก ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเพราะเงินเฟ้อที่พาค่าครองชีพสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่เงินเดือนยังไม่ขยับไปไหน ส่วนค่าแรงขั้นต่ำ แม้ตอนนี้จะเพิ่มขึ้นมาเป็น 328 – 354 บาท/วัน แต่ก็นับว่าไม่ได้เพิ่มจากเดิมมากนัก
เห็นได้จากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2565 ที่ระบุว่า ค่าจ้างแรงงานปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ค่าจ้างแท้จริง (Real Wages: มูลค่า/อำนาจการซื้อของค่าจ้างนั้น) กลับหดตัว นั่นหมายความว่า แม้รายได้ของเราจะเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มไม่ทันค่าใช้จ่ายที่วิ่งแซงไปไกลอยู่ดี แล้วคนที่เจอปัญหานี้ไม่ได้มีจำนวนน้อยๆ
ในเว็บไซต์ brandinside ระบุว่า ปี 2023 ครัวเรือนไทยเกือบครึ่ง (40%) มีรายได้เฉลี่ยน้อยกว่าค่าครองชีพเฉลี่ย (18,145 บาท) ส่วนอีก 20% มีรายได้เฉลี่ยมากกว่าค่าครองชีพเฉลี่ยเพียงเล็กน้อย (ประมาณ 22,105 บาท) ส่วนคนที่มีรายได้มากกว่ารายจ่ายในปัจจุบัน ก็ยังต้องกังวลเรื่องการเก็บออมเพื่ออนาคต โดยเฉพาะเงินออมสำหรับช่วงวัยเกษียณ เพราะเงินที่เก็บในวันนี้อาจมีค่าน้อยลงในวันข้างหน้า แถมรัฐสวัสดิการก็ไม่ได้ครอบคลุมจนเรารู้สึกสบายใจได้ หลายคนเลยสร้างความมั่นคงให้ชีวิตผ่านการทำงานเสริมนั่นเอง
คุณภาพชีวิตดีๆ ที่ต้องจ่ายแพง
แม้บางคนจะมีรายได้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย แต่กลับไม่เพียงพอสำหรับ ‘การใช้ชีวิต’ หรือมี ‘คุณภาพชีวิตที่ดี’ ภาพที่เห็นได้ชัดคงเป็นการเดินทางไปทำงานที่หลายๆ คนยอมจ่ายเงินเพิ่มเพื่อซื้อเวลา ความปลอดภัยและความสะดวกสบาย (ที่ควรจะหาได้จากขนส่งสาธารณะ)
เพราะถ้ารอรถเมล์ก็ต้องเสียเวลาลุ้นว่าจะมาเมื่อไร จะไปถึงตอนไหน หรือกังวลยังวิ่งได้ปกติไหมเพราะสภาพรถบางคันเหมือนนั่งไทม์แมชชีนมาจากอดีต แต่ถ้าจะขยับไปนั่งรถไฟฟ้า นอกจากจะจ่ายแพงแล้วยังต้องไปยืนเบียดเป็นปลาประป๋องในชั่วโมงเร่งรีบอีกต่างหาก หรือแม้แต่อากาศดีๆ ที่ไม่มี PM 2.5 เราก็ยังต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อซื้อเครื่องกรองอากาศมาไว้ในบ้านอีกด้วย
ส่วนการพักผ่อนหย่อนใจก็มักจะเป็นเรื่องที่ต้อง ‘ใช้เงิน’ ด้วยพื้นที่สาธารณะอันน้อยนิด แถมยังกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นสวนสาธารณะ พิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี แหล่งเรียนรู้ พื้นที่สำหรับเสพงานศิลปะ รวมทั้งค่าตั๋วหนัง และราคาหนังสือที่แพงเกินกว่าจะจ่ายได้บ่อยๆ เมื่อบวกรวมกับปัญหาเงินเฟ้อก็ยิ่งผลักให้หลายคนรู้สึกว่าต้องหาเงินให้มากกว่านี้เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าที่เป็นอยู่
ความเจริญที่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ
ข้อมูลจาก tdri.or.th ในเดือนตุลาคม ปี 2022 ระบุว่า ประกาศรับสมัครงานในกรุงเทพและปริมณฑล มีจำนวนมากที่สุดคือ 109,235 ตำแหน่งงาน คิดเป็น 62.8% ดังนั้นเมื่องานที่หลากหลายกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ๆ หลายคนเลยต้องจากบ้านมาทำงานในเมือง
สิ่งที่ตามมาคือการแข่งขันที่สูงขึ้น บางคนต้องทนทำงานที่ไม่ได้อยากทำ หรืองานเงินเดือนไม่สมเหตุสมผล แล้วทำงานอื่นๆ เสริม เพราะมีทางเลือกไม่มากนัก ส่วนคนต่างจังหวัดที่ไม่ได้มีครอบครัวในกรุงเทพฯ หรือคนกรุงเทพฯ ที่ย้ายออกมาใช้ชีวิตคนเดียวก็มีโอกาสที่ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเดินทาง และอีกสารพัดค่าใช้จ่ายจะสูงกว่าการอยู่บ้านกับครอบครัว ค่าใช้จ่ายเหล่านี้เลยเป็นหนึ่งในเหตุผลที่หลายคนเลือกทำงานที่สอง สาม สี่ ห้า เพราะช่วยให้มีรายได้เพียงพอมากกว่า
ความเหลื่อมล้ำทำให้เรื่องบางเรื่องกลายเป็น ‘ความฝันที่ต้องใช้เงิน’
หนึ่งในปัญหาที่เราได้ยินมาตลอดคงจะเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ยังคงมีอยู่ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน เห็นได้จากรายงานวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ปี 2021 พบว่า ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของคนไทยปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งปัญหานี้ทำให้แต่ละคนมีต้นทุนชีวิตที่ไม่เท่ากันและแตกต่างกันค่อนข้างสูง ดังนั้นจำนวนเงินเดือนที่ใกล้เคียงกันเลยไม่ได้หมายความว่าจะสามารถใช้ชีวิตรูปแบบเดียวกันได้
ที่น่าเศร้าคือเรื่องบางเรื่องกลับกลายเป็น ‘ความฝัน’ สำหรับบางคนที่ต้องไขว่คว้าด้วยการทำงานเสริม เพราะไม่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ทันที แต่ต้องใช้หนี้ให้หมด เก็บเงินให้พอก่อน บ้างก็อาจจะเป็นเรื่องการเรียนต่อ การมีแกปเยียร์ได้ไปค้นหาตัวเอง การได้ออกไปเที่ยวที่ที่อยากไป ได้ทำอะไรที่อยากทำ หรือแม้กระทั่งคุณภาพชีวิตที่ดีของคนที่เรารัก เช่น ประกันสุขภาพของพ่อแม่ การศึกษาที่ดีของลูกๆ บางคนเลยต้องทำงานอื่นเพิ่มเติมนอกเหนือจากการทำงานประจำ ซึ่งนับว่าเป็นวิธีลดความเลื่อมล้ำที่ถูกผลักมาให้ประชาชนเป็นคนแก้ไข
อย่างไรก็ตาม การพูดถึงปัญหาเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าการทำงานเสริมเป็นเรื่องไม่ดี หรือไม่ควรเกิดขึ้นเลย เพียงแต่งานที่สอง สาม สี่ ห้า ควรจะเป็น ‘ทางเลือก’ มากกว่า ‘ความจำเป็น’ เพราะถ้าเป็นทางเลือก การทำงานเสริมอาจหมายถึงการมีแรงผลักดันให้พัฒนาตัวเอง หรือออกไปทำสิ่งใหม่ๆ แต่เมื่อไรที่กลายเป็นความจำเป็น นั่นอาจเป็นสัญญาณของปัญหาเชิงโครงสร้างที่กำลังถูกผลักมายังตัวบุคคลพร้อมกับวาทกรรมที่ว่า ‘ปัญหาเหล่านี้ต้องเริ่มแก้ที่ตัวเราสิ…’
อ้างอิงข้อมูลจาก