โรเบิร์ต เดวิด พัตแนม (Robert David Putnam) ได้พูดถึง ‘Third Place’ ครั้งแรกในหนังสือ Bowling Alone: America’s Declining Social Capital โดยให้ความหมายของมันไว้ว่า มันคือพื้นที่อื่นที่เราใช้ชีวิตนอกจากบ้านที่เป็น ‘First Place’ และ ที่ทำงานที่เป็น ‘Second Place’ อาจเป็นได้ทั้งผับ บาร์ คาเฟ่ โบสถ์ ร้านหนังสือ ร้านอาหาร สวนสาธารณะ ตามแต่ไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน แต่เมื่อต้นปีค.ศ. 2020 ที่การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้โลกของเราต้องพลิกไปอย่างกระทันหัน First Place และ Second Place ถูกนำมารวมอยู่ในที่เดียวกัน และเรายังไม่สามารถออกไปพักผ่อนหย่อนใจกับ Third Place ได้อย่างเคย เท่ากับว่าเรามีพื้นที่เดียวให้ทำทุกอย่างในชีวิตอยู่ที่นั่น ซึ่งก็คือ บ้าน (First Place) นั่นเอง
เมื่อทุกอย่างถูกรวมเอาไว้ในที่เดียวกัน บ้านจึงเป็นทั้งที่พักอาศัย ร้านอาหาร ที่ทำงาน พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจในที่เดียว วิถีชีวิตแบบเดิมถูกปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยเน้นหนักไปที่การรักษาระยะห่างทางสังคม ซึ่งไม่ใช่แค่การใช้ชีวิตประจำวันเท่านั้น โลกของการทำงานถูกปรับเปลี่ยนไปอย่างไม่ทันตั้งตัวเช่นกัน จะทำอย่างไรหากเราไม่สามารถนั่งทำงานในพื้นที่เดียวกัน ใช้ส่วนกลางร่วมกันได้อีกต่อไป การทำงานที่บ้าน (Work From Home) จึงถูกหยิบมาใช้เป็นนโยบายหลักในการรักษาาระยะห่างทางสังคมในการทำงาน
แม้ก่อนหน้าการระบาดของ COVID-19 เราก็ได้เห็นบริษัทยักษ์ใหญ่หลายเจ้าอย่าง Facebook, Google, Twitter และเจ้าอื่นๆ มีนโยบายให้พนักงานสามารถทำงานที่บ้านได้ หรือมีตารางงานที่ค่อนข้างยืดหยุ่นอยู่แล้ว แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป นโยบายเหล่านั้นที่เคยเป็นเหมือนตัวเลือกสำหรับองค์กรว่าจะเลือกใช้หรือไม่ก็ได้ กลายมาเป็นนโยบายที่ต้องใช้อย่างเลี่ยงไม่ได้ เราเลยได้เห็นรูปแบบการทำงานใหม่ๆ ที่ออกแบบมาเพื่อให้สอดคล้องกับการทำงานที่บ้าน ทั้งการประชุมออนไลน์ ตารางงานแบบยืดหยุ่น Hybrid Office หรือแม้แต่การลดเวลางานลงให้เหลือ 4 วันต่อสัปดาห์
ด้วยความจำเป็น เราก็ต้องปรับตัวไปตามรูปแบบการทำงานที่เป็นนโยบายขององค์กร (เหมือนที่นั่งเขียนบทความนี้ที่บ้าน) ผ่านมาปีนึง เมื่อสถานการณ์ในระดับโลกดีขึ้น หลายประเทศสามารถถอดหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะได้แล้ว สามารถใช้ชีวิตในพื้นที่ Third Place ได้อย่างเคย แน่นอนว่า Second Place (ที่ทำงาน) ก็ต้องกลับมาด้วยเช่นกัน แต่ทว่า พอเราต้องกลับไปออฟฟิศอีกครั้ง หลายคนกลับรู้สึกว่าการทำงานที่บ้านนั้นตอบโจทย์พวกเขามากกว่า ผลการสำรวจจาก Slack’s Future Forum บอกตัวเลขที่น่าสนใจว่า กว่า 97% ของพนักงาน ต้องการให้ยึดนโยบายที่งานที่บ้าน หรือ Hybrid Office ต่อไป แม้ว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติแล้วก็ตาม นั่นหมายความว่า การทำงานที่บ้าน ที่เราเคยรู้สึกว่าต้องปรับตัวกับมัน มีทั้งความสะดวกสบายและลำบากในตัว กลายมาเป็นทางเลือกใหม่สำหรับองค์กรที่จะมองหารูปแบบการทำงานในอนาคต
หรือบางคนได้เจอคำตอบว่าเขาต้องการอะไรจากการทำงานกันแน่ บางคนต้องการตารางงานที่ยืดหยุ่น บางคนต้องการความสมดุลในชีวิต ที่เขาไม่ต้องเลือกระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัว บางคนต้องการเข้าออฟฟิศเพื่อพบปะผู้คนดังเดิม หลายคนต่างมีความต้องการที่เพิ่งค้นพบต่างกันไป จนเกิดเป็น ‘The Great Resignation’ ที่ผู้คนหันมาลาออกจากงานเดิมที่มี แล้วไปพิจารณางานที่ตอบโจทย์กับชีวิตของพวกเขามากกว่าแทน
แม้สิ่งนี้จะยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะเรายังไม่ได้พื้นที่ Third Place คืนมา ดังนั้น Second Place น่าจะยังต้องอยู่รวมกับ First Place ไปอีกสักระยะ จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น หวังว่ากว่าจะถึงตอนนั้น ทุกคนจะสามารถรักษาเนื้อรักษาตัว รักษาสภาพจิตใจ และได้ค้นพบว่าจริงๆ แล้วเราต้องการอะไรจากงานของเรากันแน่
จากวันแรกที่ต้องย้ายทุกอย่าง ทั้งที่ทำงานและพื้นที่การใช้ชีวิตมาไว้ที่บ้าน จนถึงวันที่หลายประเทศสามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง สามารถกลับไปนั่งทำงานที่ออฟฟิศได้ โลกของการทำงานได้ผุดแค่รูปแบบการทำงานใหม่ๆ ขึ้นมาเท่านั้น แต่ยังเปลี่ยนมุมมองต่อการทำงานไปแบบถาวร มาดูกันว่าจากวันนั้นจนถึงวันนี้ การทำงานที่บ้าน เปลี่ยนโลกของการทำงานไปอย่างไรบ้าง?
ออฟฟิศจะยังคงอยู่ แต่ไม่ใช่ในฟังก์ชั่นเดิม
ก่อนหน้านี้ เราใช้คำว่าไปทำงาน หมายถึงการเดินทางไปทำงานที่ออฟฟิศ สถานที่ที่เราจะได้เห็นหน้าเพื่อนร่วมงานนั่งตามโต๊ะประจำของแต่ละคน ถูกแบ่งเป็นสัดส่วนไปตามแผนก หน้าที่ ของแต่ละฝ่าย มีส่วนกลางที่ใช้ร่วมกัน มีพื้นที่พักผ่อน มีพื้นที่ส่วนตัว จนเหมือนเป็นอีกสังคมหนึ่งในชีวิตประจำวัน บางองค์กรมีความเข้มงวดในการเข้าออฟฟิศอย่างมาก นับเวลาเข้าออกงานกันเป็นหน่วยนาที ขาดลามาสายถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่สามารถหย่อนยานให้ได้ บางองค์กร มีนโยบายที่ยืดหยุ่น ไม่ถึงกับนับเวลาเข้าออก แต่ขอแค่เข้ามาทำงานให้เสร็จลุล่วงก็พอ
แต่หลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ออฟฟิศกลับกลายเป็นสถานที่ต้องห้าม เราไม่สามารถมาพบปะมาเจอกันได้ ไม่ว่าจะการนั่งทำงานที่โต๊ะตัวเอง หรือมาใช้ส่วนกลางอย่างลิฟต์ ครัว ห้องโถงร่วมกัน ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ตัวออฟฟิศจึงกลายเป็นพื้นที่ที่ไม่ถูกใช้เลยในช่วงที่ทุกคนทำงานที่บ้าน จนหลายคนเกิดคำถามว่า “จริงๆ แล้ว เราจำเป็นต้องมีออฟฟิศอยู่หรือเปล่า?” ไม่มีคำตอบที่ถูกผิดทั้งหมด แต่ลองสังเกตดูว่า เมื่อทุกคนกลับมาใช้ชีวิตปกติได้แล้ว ออฟฟิศกลับถูกมองว่าไม่มีความจำเป็น “ขนาดนั้น” อีกต่อไปแล้ว
เมื่อนโยบายทำงานที่บ้าน หรือ Hybrid Office ถูกนำมาใช้อย่างจริงจัง ออฟฟิศจึงไม่ใช่พื้นที่สำหรับ “ทำงาน” ในทุกขั้นตอนอีกต่อไป ตัวออฟฟิศที่ยังคงอยู่นี้ถูกมองในฟังก์ชั่นที่ต่างออกไป บางแห่งถูกปรับเป็นพื้นที่สำหรับประชุม ระดมไอเดีย เป็นพื้นที่สำหรับการทำโปรเจ็กต์ใหญ่ๆ ใช้อุปกรณ์ที่ครบครัน พื้นที่กว้างขวาง หรือแม้แต่เพื่อพบปะกันในสัปดาห์ แล้วต่างแยกย้ายไปทำงาน ภาพของโต๊ะทำงานประจำ ที่ใครที่มัน จะถูกแทนที่ด้วย hot desks แทน ไม่มีโต๊ะของใครคนใดคนหนึ่ง ใครมาก่อนก็ได้นั่งก่อน
สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณบอกว่า ออฟฟิศที่เราเคยรู้จักนั้นกำลังจะหายไป
การทำงานที่บ้าน ไม่ได้เหมาะกับทุกคน
แม้จะมีเสียงข้างมากคอยบอกเล่าถึงข้อดีของการทำงานที่บ้านขนาดไหน แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเหมาะกับการทำงานรูปแบบนี้กันทุกคน การทำงานที่บ้าน ตารางงานแบบยืดหยุ่น เป็นเหมือนเครื่องมือที่องค์กรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับคนของตัวเอง บางคนเหมาะกับเครื่องมือนี้ บางคนก็เหมาะกับอีกแบบ เรื่องนี้ก็ด้วย บางคนมีความสุขกับการนั่งทำงานที่บ้านตัวเอง ไม่ต้องออกไปไหน บางคนแทบไม่มีไอเดียโผล่มาได้ ถ้าต้องอุดอู้อยู่ในห้อง
ผลการสำรวจจากผู้คนกว่า 3 หมื่นคนของ Microsoft พบว่า 54% รู้สึกว่าพวกเขากำลังทำงานมากเกินไป 39% รู้สึกเหนื่อยมากกว่าเดิม ถ้าเทียบกับช่วงก่อนทำงานที่บ้าน โดยปัญหาหลักๆ ที่พบจากการทำงานที่บ้าน คือ การไม่จำกัดเวลาทำงานอย่างชัดเจน หลายคนใช้เวลาประชุมมากขึ้นเป็นสองเท่า จากการประชุมปกติ หลายคนใช้เวลาทำงานมากขึ้น และไม่สามารถลุกจากหน้าจอได้เมื่อถึงเวลาเลิกงาน จนทำให้เกิดปัญหาในการทำงานที่บ้าน
การจำกัดเวลาเข้าออกงานสามารถพอช่วยได้ แต่สิ่งที่จะช่วยได้ดีที่สุดคงจะเป็นนโยบายจากบริษัท ที่ยืดหยุ่นมากพอให้พนักงานทุกคนสามารถทำงานที่บ้านอย่างมีความสุขได้ เมื่อบางคนไม่สามารถทำงานในรูปแบบนี้ได้สะดวกเหมือนคนอื่น ควรมีมาตรการอะไร หรือข้อเสนออะไร ที่ช่วยให้เขากลับมามีความสุขกับงานได้หรือเปล่านะ การใส่ใจความรู้สึกของกันและกันในช่วงเวลาอันละเอียดอ่อนนี้ จึงเป็นการแสดง empathy จากองค์กร และซื้อใจพนักงานได้ดีทีเดียว
การทำงานที่บ้านจึงเป็นเครื่องมือที่ไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน บางคนเก่งในเครื่องมือนี้ บางคนเก่งในอีกเครื่องมือ แต่สำหรับหัวหน้าทีม เราปรับแต่งให้เหมาะสมกับแต่ละคนได้ เพื่อให้ทุกคนมีเครื่องมือที่ดีและเหมาะสมในการทำงานให้องค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ
วัฒนธรรมองค์กรในวันที่มองไม่เห็นหน้ากัน
เมื่อเพื่อนสมัยเรียนแยกย้ายกัน กลับมาเจอกันอีกครั้ง เรื่องของที่ทำงานย่อมถูกนำมาพูดถึง ว่าที่ทำงานของใครเป็นแบบไหนบ้าง บางแห่งเน้นความสะดวกสบายของพนักงาน บางแห่งต้องการให้องค์กรเข้มแข็ง มีวินัย บางแห่งชื่นชอบในการรักษาสิ่งแวดล้อม แต่ละที่ย่อมมีวิสัยทัศน์และนโยบายแตกต่างกันไป ภาพใหญ่เหล่านี้ ส่งผลมาถึงเรื่องยิบย่อยในการทำงานแต่ละวัน โดยรวมเราเรียกสิ่งนี้ว่า วัฒนธรรมองค์กร ที่แต่ละแห่งมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง หล่อหลอมให้พนักงานมีมุมมอง วิธีในการทำงาน ไปในทิศทางเดียวกัน มองเป้าหมายเดียวกัน
สิ่งนี้มันสามารถสร้างขึ้นได้ง่าย หากเราสามารถเจอหน้ากันทุกวัน เห็นว่าโต๊ะข้างๆ ทำแบบนี้เสมอนะ เช่นเดียวกับหัวหน้า เช่นเดียวกับแผนกอื่นๆ เราเองก็อยากจะทำแบบนี้ตามไปด้วยเช่นกัน แต่ในวันที่ออฟฟิศไม่ใช่ที่ทำงานสำหรับทุกคนแล้ว การสร้างวัฒนธรรมองค์กรจึงเป็นเรื่องที่ยากขึ้น เพราะการสื่อสารที่มีขั้นตอนมากขึ้น การพูดคุยที่ไม่ใช่ตรงหน้า ไม่มีภาษากายต่อกัน ก็ยิ่งทำให้อินกับเรื่องนี้ยากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้เสียทีเดียว
เพราะสุดท้ายแล้ว ต่อให้พูดคุยกันผ่านหน้าจอ เจอหน้ากันสัปดาห์ละครั้ง กับบางคนแทบไม่ได้เจอกันเลย วัฒนธรรมองค์กรนี้จะถูกส่งผ่านมาทางนโยบายแทน อาจไม่แข็งแรงถึงขนาดเรียกว่าวัฒนธรรมองค์กรได้ แต่ก็สามารถสะท้อนวิสัยทัศน์ของฝั่งบริหาร จากการปฏิบัติต่อพนักงานในช่วงเวลายากลำบากและละเอียดอ่อนเช่นนี้ได้
อีกไม่กี่ปีข้างหน้า โลกของการทำงานอาจจะผุดรูปแบบการทำงานใหม่ๆ มาให้เราได้ปรับตัวกันอีกหลายต่อหลายครั้ง แต่การใช้ชีวิตมีความสุขทั้งชีวิตส่วนตัวและการทำงาน มีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ควรเป็นแค่ตัวเลือก แต่ควรเป็นสิ่งพื้นฐานที่เราจะได้รับจากองค์กร
อ้างอิงข้อมูลจาก