หลังจากที่ต้องเห็นหน้าเพื่อนร่วมงาน สื่อสารกันผ่านหน้าจอมาสักพัก หลายๆ บริษัท เริ่มมีนโยบายให้พนักงานกลับไปทำงานที่ออฟฟิศกันบ้างแล้ว แต่ด้วยรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไปในช่วงโรคระบาด ทำให้การกลับเข้าออฟฟิศครั้งนี้ดูจะไม่เหมือนเดิม ไม่ใช่แค่วันเปิดเทอมที่เรากลับมาเจอหน้ากันแล้วทำกิจวัตรปกติ แต่หลายอย่างจะต้องถูกปรับเปลี่ยนไปให้เข้ากับสถานการณ์ด้วย
ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการทำงาน พื้นที่ทำงาน การรักษาระยะห่าง ความสะอาดส่วนตัวและส่วนรวม หลายออฟฟิศจึงพยายามเสาะรูปแบบการทำงานที่เหมาะสมกับองค์กรของตน เพื่อนำมาปรับใช้ในช่วงนี้ และคงไม่มีอะไรยอดฮิตไปกว่า ‘Hybrid Working’ การทำงานรูปแบบใหม่ที่อาจกลายเป็นเครื่องมือที่ใครๆ ต่างนำมาหยิบใช้จนกลายเป็นค่าเริ่มต้น
แม้คำว่า ‘Hybrid Working’ จะฟังดูใหม่ แต่จริงๆ แล้วหลายคนอาจเคยได้ใช้มันมาตั้งนานแล้วล่ะ เพราะมันคือ รูปแบบการทำงานที่ผสมผสานระหว่างการทำงานแบบ in-person และ remote work พูดให้ง่ายกว่านั้น มันคือการทำงานแบบที่เราไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน และวันที่ไม่ได้เข้าออฟฟิศนั้น ก็ทำงานแบบ remote work นั่นเอง
ผลการสำรวจ เทรนด์ในการทำงานจาก Microsoft กว่า 30,000 คน จาก 31 ประเทศ 73% บอกว่าพวกเขายังอยากได้ remote work มาเป็นตัวเลือกในการทำงานอยู่ และที่น่าสนใจไปกว่านั้น ผลสำรวจคนที่ต้องทำงานที่บ้านกว่า 2,100 คนจาก FlexJobs กว่า 58% บอกว่า พวกเขาจะลาออก ถ้าหากพวกเขาไม่ได้ทำงานที่บ้านเหมือนเดิม หรืออย่างน้อยทำงานที่บ้านในบางวัน ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า การทำงานที่บ้านนั้น กลายมาเป็นรูปแบบขวัญใจคนทำงานไปแล้ว
Hybrid Working ที่เราไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศทุกวันจึงไม่ใช่เรื่องของอนาคตอีกต่อไป (เพราะเรากำลังจะได้ใช้ไวๆ นี้แล้ว) มาเตรียมความพร้อม ทำความเข้าใจรูปแบบการทำงานของมัน เพื่อให้เราสามารถทำงานในรูปแบบใหม่นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพกันเถอะ
Hybrid Working คืออะไร?
รูปแบบการทำงาน ที่ผสมระหว่าง in-person และ remote work หรือการทำงานแบบที่เราไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน แต่ไม่ได้หมายความว่าวันที่ไม่เข้า เราจะได้นอนตีพุงอยู่บ้าน เราก็ยังคงต้องทำงานเหมือนวันที่เข้าออฟฟิศ เพียงแต่เป็นรูปแบบ remote work เหมือนอย่างที่เราเคยทำในช่วงโรคระบาดนั่นเอง
ต้องเข้าออฟฟิศไหม?
ต้องเข้าออฟฟิศ แต่ไม่ทุกวัน ซึ่งจะเข้าวันไหนบ้างนั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายของบริษัท ว่าจะกำหนดวันเข้าออฟฟิศตามรูปแบบอะไร บางแห่งอาจจะกำหนดวันประชุม ที่ทุกคนต้องเข้ามาประชุมที่ออฟฟิศเหมือนกันทุกคน บางแห่งอาจกำหนดตามหน้าที่ ทีมนี้ ตำแหน่งนี้ เข้าวันนี้ ทีมที่ไม่ได้ทำงานเกี่ยวข้องกัน อาจไม่จำเป็นต้องเข้าทำงานพร้อมกัน
ใครเข้าออฟฟิศบ้าง?
ขึ้นอยู่กับนโยบายของบริษัทเช่นกัน เพราะบางตำแหน่ง หน้าที่ของเขาไม่อาจทำงานที่บ้านได้ทุกวัน และบางตำแหน่ง สามารถทำงานได้แม้ไม่ต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน จึงเป็นหน้าที่องค์กรที่จะหารูปแบบวันเข้าทำงานที่เหมาะสมให้กับแต่ละตำแหน่ง รวมถึงความต้องการของพนักงานเองด้วย
เมื่อพิจารณาแล้ว ต้องมีคำตอบให้กับพนักงานด้วย ว่าทำไมตำแหน่งนี้ถึงสามารถทำงานที่บ้านได้ทุกวัน ทำไมตำแหน่งนี้ถึงได้ไม่เท่ากัน แต่ถึงอย่างนั้น มันอาจเหมาะหรือไม่เหมาะอย่างที่เราคิดเสมอไป ต้องเตรียมใจสำหรับการยืดหยุ่นของนโยบายนี้ไว้ด้วย อาจจะมีบางตำแหน่งที่เราคิดว่าทำงานที่บ้านไม่ได้หรอก แต่พวกเขาทำได้ เราก็ต้องพิจารณาให้พวกเขาสามารถทำงานที่บ้านได้เหมือนกับคนอื่นๆ ด้วย
ออฟฟิศยังจำเป็นอยู่ไหม?
ไม่ว่าจะมีพนักงานทำงานที่บ้านบางส่วนหรือทั้งหมด เราก็ต้องมีตัวออฟฟิศต่อไปอยู่ดี แม้จะไม่ค่อยมีคนเข้ามาใช้เหมือนแต่ก่อน แต่การมีออฟฟิศเป็นพื้นที่ส่วนกลาง ให้พนักงานได้มาพบปะ ประชุม ระดมไอเดีย เปลี่ยนบรรยากาศ ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นไม่ต่างจากเดิม แต่สิ่งที่ต้องเปลี่ยนไปนั้น คือ ฟังก์ชั่นของออฟฟิศ
เมื่อพนักงานไม่ได้เข้าออฟฟิศทุกวัน เราคงไม่จำเป็นต้องมีปรินเตอร์นับร้อยตัว หรือเครื่องไม้เครืองมือครบครันเท่าแต่ก่อน รวมถึง facilities ต่างๆ ที่สามารถเหลือไว้เท่าที่จำเป็นหรือพอใช้จะดีกว่า รวมทั้งต้องประเมินการทำงานรูปแบบใหม่ด้วยว่า หากพนักงานทำงานที่บ้านแล้ว เมื่อเขากลับเข้าออฟฟิศอีกครั้ง เขาจะเข้ามาทำอะไร เข้ามาประชุม เข้ามาพูดคุย เราก็ต้องเตรียมพื้นที่ที่เหมาะกับการประชุมไว้ให้มากขึ้น และลดพื้นที่โต๊ะทำงานส่วนตัวลง หรือเปลี่ยนเป็น Hot Desk ใครมาก่อนได้นั่งก่อนก็ดูสมเหตุสมผล
พอจะรู้จัก Hybrid Working กันคร่าวๆ แล้ว อาจจะพอเห็นแล้วว่า นโยบายนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในองค์กรด้วย ว่าเนื้องานที่ทำอยู่นั้นเหมาะที่จะใช้รูปแบบการทำงานแบบไหน สามารถทำงานที่บ้านได้กี่ส่วนจากทั้งหมด Hybrid Working จึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่รูปแบบเดียว แต่มีอีกหลายรูปแบบที่เราอยากแนะนำ ให้ลองเลือกให้เหมาะสมกับองค์กรของคุณ
Remote-First ทำงานที่บ้านเต็มรูปแบบ
เน้นการทำงานที่บ้านเป็นหลัก ถ้าไม่แน่ใจว่าจะต้องเข้าไปออฟฟิศวันไหน ไม่มีธุระ ไม่มีนัดหมายอะไร ก็ให้เลือกทำงานที่บ้านเป็นตัวเลือกหลัก ไม่มีทีมหัวหน้าหรือแม้แต่ทีมพนักงานเข้าออฟฟิศ ทุกคนยังคงทำงานที่บ้านกับแบบเต็มระบบ ไม่ต่างจากช่วงก่อนหน้านี้สักเท่าไหร่นัก
ฟังดูช่างเป็นออฟฟิศที่ยืดหยุ่นเสียเหลือเกิน แต่ความยืดหยุ่นนี้อาจไม่ได้มีสำหรับทุกคน เพราะในบางตำแหน่ง อาจมีวันที่ต้องเข้าออฟฟิศบ้าง เพื่อความสะดวกในการทำงานเป็นทีม หรือสะดวกต่อหน้าที่ของตำแหน่งนั้นๆ เอง อย่างเว็บไซต์ Quora ก็เลือกใช้โมเดลนี้หลังจากต้องกลับเข้าออฟฟิศกันอีกครั้ง โดย อะดัม ดี แองเจโล (Adam D’Angelo) CEO ของบริษัทกล่าวว่า โมเดลนี้จะเป็นการปรับตัวขั้นพื้นฐาน ไปสู่รูปแบบการทำงานอื่นๆ ต่อไป
เหมาะสำหรับ บริษัทที่มีพนักงานในหลายประเทศ หลายไทม์โซน
Office-Occasional เข้าบ้างไม่เข้าบ้าง
กำหนดจำนวนวันที่ต้องเข้าออฟฟิศ อย่างน้อยต้องมีเท่านี้นะ อยากจะเข้าเกินก็ได้แต่ห้ามขาด โดยวันที่ว่านั้น อาจเป็นได้ทั้งวันทำงานจริงจัง หรือจะปรับใช้สำหรับประชุมทีม ระดมไอเดีย ประจำสัปดาห์นั้นๆ ก็ได้ โมเดลนี้มีข้อดีตรงที่ ไม่ได้กำหนดน้ำหนักไปที่บ้านหรือออฟฟิศมากกว่ากัน จึงทำให้ไม่รู้สึกว่าจะต้องให้ความสำคัญกับสิ่งไหนเป็นพิเศษ
โมเดลนี้จะทำให้พนักงานที่ชื่นชอบการทำงานที่บ้าน ก็ยังคงได้ทำงานที่บ้านอย่างที่ต้องการ และสามารถเข้ามาประชุมอย่างพร้อมหน้าในวันที่กำหนดได้ หรือสำหรับใครที่ชื่นชอบการทำงานที่ออฟฟิศ ก็สามารถเข้าออฟฟิศได้ทุกวันตามที่ต้องการเช่นกัน
เหมาะสำหรับ บริษัทที่สามารถจัดพื้นที่ให้เป็น Hybrid Office ได้ ปรับจากพื้นที่ส่วนตัวให้กลายเป็นพื้นที่ส่วนกลาง ที่ใครๆ ก็สามารถมาใช้พื้นที่นี้ในการทำงานได้ อย่างระบบ Hot Desk ที่ใครมาก่อนได้นั่งก่อน เป็นต้น
Office-First, Remote Allowed เข้าเกือบทุกคน
ทำงานที่ออฟฟิศเป็นหลัก โดยเริ่มจากทีมหัวหน้าที่ต้องอยู่เป็นศูนย์กลาง คอยตอบดูแลทีม บริหารทีม อยู่ที่ออฟฟิศเป็นประจำในทุกวัน พนักงานเองก็ต้องเข้าออฟฟิศเป็นประจำเช่นกัน โดยเฉพาะทีมที่มีเนื้องานอาศัยการประชุม การพูดคุยสื่อสารกันในทีมอย่างมาก เช่น Marketing, Sales เป็นต้น และอาจมีข้อยกเว้นสำหรับบางตำแหน่ง ที่ไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศทุกวันก็ได้
เหมาะสำหรับ บริษัทที่เนื้องานจำเป็นต้องสื่อสารกันอย่างชัดเจน ประชุม ระดมไอเดียกันอยู่เสมอ
กว่าจะรู้ว่าโมเดลไหน เหมาะกับออฟฟิศของเราได้นั้น ก็ต้องศึกษาพฤติกรรมการทำงานของพนักงาน รูปแบบการทำงาน และความต้องการของพนักงานเองด้วย ในอนาคตอาจมีรูปแบบการทำงานผุดขึ้นมาอีกมากมาย แต่การปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในตั้งแต่วันนี้ อาจช่วยให้เราสามารถปรับตัวกับการทำงานรูปแบบใหม่ๆ ได้ดีกว่า หาจุดตรงกลางที่เหมาะสมได้ จนไม่รู้สึกว่าเราต้องเหน็ดเหนื่อยกับการปรับตัวใหม่ไปเรื่อยๆ
ในอนาคตอาจมีรูปแบบการทำงานผุดขึ้นมาอีกมากมาย แต่การปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในตั้งแต่วันนี้ อาจช่วยให้เราสามารถปรับตัวกับการทำงานรูปแบบใหม่ๆ ได้ดีกว่า หาจุดตรงกลางที่เหมาะสมได้ จนไม่รู้สึกว่าเราต้องเหน็ดเหนื่อยกับการปรับตัวใหม่ไปเรื่อยๆ
อ้างอิงข้อมูลจาก