ชาวออฟฟิศมีเหตุผลในการเกลียดวันจันทร์ต่างกันไป หนึ่งในนั้นคือการมีฝันร้ายเป็นเจ้านายในที่ทำงาน หากเราเจอเพื่อนร่วมงานตัวร้าย เรายังพอรับมือกับคนในเลเวลเดียวกัน พอหาทางดีลกันได้ ในฐานะที่เป็นเพื่อนร่วมงานกัน แต่กับเจ้านายตัวร้าย มันจะมีเงื่อนไขบางอย่างที่ทั้งควบคุมได้และไม่ได้ ที่ทำให้เราไม่อาจเข้าไปจัดการให้ทุกอย่างเป็นดั่งใจได้ แล้วเจ้านายแบบไหนกันนะ ที่ใครๆ ต่างเบือนหน้าหนี และไม่อยากรับมือกับคนแบบนี้ในที่ทำงาน
หากเราเจอเพื่อนร่วมงานหรือเจ้านายที่เรารู้สึกไม่โอเคกับพฤติกรรมของเขา ในช่วงเวลาปกติ เวลาส่วนตัว แม้มันจะสร้างความเบื่อหน่าย อึดอัดให้เราบ้าง แต่เราสามารถหลีกเลี่ยงสถานการณ์เหล่านั้นได้ง่าย อย่างการหลบลี้หนีหายออกจากวงสนทนาน่าอึดอัด ไม่ให้ความสนิทสนมมากเกินไป อาจช่วยให้เราไม่ต้องอยู่ในห้วงเวลาน่าเบื่อหรือชวนอึดอัดได้ และที่สำคัญ นั่นยังไม่ส่งผลกระทบอะไรนัก หากเรื่องเหล่านั้นไม่ส่งผลกับการทำงาน
นั่นหมายความว่า พฤติกรรมไม่เข้าทีของเจ้านายนั้น หากเกิดขึ้นในช่วงเวลาการทำงาน จะส่งผลต่อความรู้สึกของพนักงานมากกว่าหรือเปล่า?
แอชลีย์ กู้ด (Ashley Good) และ ไดอะน่า แคนเดอร์ (Diana Kander) นักเขียนในแวดวงการทำงาน กำลังหาข้อมูลสำหรับหนังสือเล่มใหม่ของพวกเธอ โดยมีการสัมภาษณ์ทั้งเหล่าหัวหน้า ถึงประสบการณ์ที่ผ่านมา ว่าพวกเขาเคยเจอพฤติกรรมแบบไหนของเจ้านาย ที่มันไม่เข้าท่าเอาเสียเลย จนกลายเป็นทำลายความเป็นผู้นำ หรือทำให้เจ้านายคนนั้นดูเป็นคนไม่ได้เรื่องบ้างไหม?
แน่นอนว่าเจ้านายที่กำลังตอบคำถามอยู่นั้น หลายคนต่างมีปณิธานในใจให้กับตัวเองว่า ฉันจะเป็นเจ้านายแบบนั้นแบบนี้ แต่เมื่อเขาก้าวเข้ามาอยู่ในตำแหน่งเดียวกับเจ้านายที่เขามีประสบการณ์แย่ๆ ด้วยนั้น ทำให้เข้าใจว่า เมื่อถึงเวลาทำงานจริง หลายอย่างไม่อาจอยู่ในการควบคุมทั้งหมด
คำตอบที่ได้นั้นค่อนข้างน่าสนใจ เพราะพวกเขาค่อนข้างโน้มเอียงไปทางคำตอบที่ว่า คนในทีมเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขากลายเป็นเจ้านายที่ไม่น่ารักอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะเวลาที่แสดงพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ออกมา ส่วนมากนั้นมักจะมาจากความเครียด ความกดดันในการทำงาน ที่ทำให้เขากลายเป็นอีกคนไปเลย นั่นหมายความว่า พฤติกรรมที่ทำให้เจ้านายกลายเป็นฝันร้าย มักจะเกิดขึ้นในช่วงการทำงาน โดยเฉพาะเวลาที่เกิดความเครียดและความกดดัน
โดยพฤติกรรมที่ว่านั้น ไม่ใช่แค่เรื่องของคำพูดร้ายๆ ฟีดแบคเจ็บแสบ แต่รวมถึงการกระทำอื่นๆ ที่ไปทำลายความกล้า ความมั่นใจของผู้อื่นด้วย พอประมวลผลคำตอบทั้งหมดทั้งมวลแล้ว มาดูกันว่าพฤติกรรมแบบไหนของเจ้านาย ที่พวกเขามักจะแสดงออกมาในตอนที่ตกอยู่สถานการณ์ตึงเครียดและกดดัน จนมันทำให้พวกเขากลายเป็นเจ้านายตัวแสบ
Micromanagement
เมื่อมีคนคอยถามไถ่รายละเอียดการทำงาน คงเป็นเรื่องปกติ แต่หากมีคนเข้ามาจี้รายละเอียดในทุกย่างก้าว คงไม่ใช่เรื่องปกติ ถึงจะไม่ปกติ เราก็มักจะเจอคนแบบนี้อยู่เสมอ ชาว ‘Micromanagement’ ผู้ที่ชอบจัดการทุกอย่างให้อยู่ในความเรียบร้อย ถูกต้อง ตามความต้องการของตนเองในทุกย่างก้าว จนเลยเส้นของการช่วยเหลือดูแล ไปสู่การจับผิด ก้าวก่ายหน้าที่
มองผ่านๆ อาจจะเหมือนเพอร์เฟ็กต์ชั่นนิสต์ เป็นคนมีมาตรฐานสูง ชอบให้ทุกอย่าง เป๊ะได้ดั่งใจ มีไม้บรรทัดแห่งมาตรฐานกำไว้แน่นเสมอ แต่ ‘Micromanagement’ เป็นมากกว่านั้น มันคือการเข้าไปก้าวก่ายงานของคนอื่น หรืองานที่มอบหมายจนเกินไป เกินระดับที่จับตามองคนอื่นแม้แต่ในเรื่องยิบย่อยเกินความจำเป็น ตั้งแต่กระบวนการทำงาน ไปจนถึงภาพรวมของผลงาน ไปจนถึงแทรกแซงการตัดสินใจ
แล้วมันไม่ดียังไงต่อการทำงาน?
การเข้าไปก้าวก่ายในหน้าที่คนอื่นจนเกินไป คนทำงานจะรู้สึกว่าเขาไม่ได้รับความไว้วางใจ ขาดความมั่นใจในการทำงานครั้งต่อไป อาจจะต้องคอยเสิร์ฟงานให้ดูระหว่างทางกันในทุกขั้นตอนเพื่อความสบายใจ เพราะไม่อยากต้องมาแก้อะไรจุกจิกยิบย่อยในตอนหลัง และการแก้อะไรจุกจิกนั่นก็เช่นกัน บางครั้งมันอาจเลยเถิดไปจนมองข้ามภาพรวมไป
เหมือนใช้แต่แว่นขยายหารายละเอียดเล็กๆ ที่ผิดพลาด จนไม่เห็นภาพกว้างว่ามันใช้ได้หรือเปล่า มันอาจมาในรูปแบบของความหวังดี ดูเหมือนคำแนะนำทั่วไป มันจะยังคงเป็นความคิดเห็น เป็นความแนะนำอยู่ ถ้าไม่มีการบังคับให้ทำตามสิ่งที่บอกจริงๆ เพราะถ้าเป็นแบบนั้นคือการก้าวก่ายระดับไมโครสมชื่อเลยล่ะ
เกรี้ยวกราดและชอบตัดสิน
คุยกันอยู่ดีๆ ก็โดนขึ้นเสียงใส่กลายเป็นสนามอารมณ์ ทั้งที่วิธีการพูด การแสดงออก มีอยู่มากมายหลายวิธี แต่ทำไมกันนะ เจ้านายถึงมักชอบแสดงออกแบบเกรี้ยวกราดไฟออกหู
จากการสัมภาษณ์ที่เราพูดถึงไปข้างต้น เหล่าเจ้านายมักจะให้เหตุผลเอนเอียงมาทั่งฝั่งตัวเอง ว่าเราทำงานด้วยแพสชั่นอันเปี่ยมล้น ไม่แปลกหรอกนะ หากเราจะแสดงออกอย่างเกรี้ยวกราด หรือคอยตัดสินว่าสิ่งนั้นต้องเป็นแบบนั้น สิ่งนี้ต้องเป็นแบบนี้อยู่เสมอ แสดงออกแบบนี้มันเหมาะสมต่อสถานการณ์แล้วล่ะ
แต่นั่นอาจทำให้การเข้ามาพูดคุยระหว่างเจ้านายและลูกน้อง กลายเป็นเรื่องน่าเข็ดขยาด และสิ่งที่ตามมาคือความกลัวของลูกน้อง กลัวว่าจะทำงานผิดพลาด กลัวว่าจะต้องโดนดุด่าว่ากล่าว กลัวที่ต้องรับฟีดแบค กลัวที่จะเอ่ยถึงความผิดของตนเอง ซึ่งนั่นทำให้ระยะห่างระหว่างเจ้านายและลูกน้องยิ่งไกลออกไป และการทำงานภายใต้บรรยากาศออฟฟิศแบบนี้ คงไม่ใช่เรื่องน่าอภิรมย์สักเท่าไหร่นัก
สนใจผลงาน แต่ไม่ใส่ใจคนทำงาน
ผลงานออกมาเจ้านายปลาบปลื้มใจ แต่ระหว่างทางนี้จะเป็นอย่างไร ไม่มีแม้แต่เหลียวมามอง เช่นเดียวกับคำตอบจากด้านบน เพราะด้วยตำแหน่งอาจทำให้เหล่าหัวหน้า เจ้านาย มองว่าเขาไม่ได้มีหน้าที่มาผลิตงานด้วยตัวเอง นั่นเป็นหน้าที่ของลูกน้อง พนักงาน เขาทำหน้าที่ขับเคลื่อนให้เกิดผลงาน เท่ากับว่าสิ่งที่เขารอคือผลงานเท่านั้น คิดแบบนี้ก็ไม่ผิดเสียทีเดียว
แต่อย่าลืมว่า ระหว่างทางกว่าจะไปถึงผลลัพธ์นั้นได้ ตัวลูกน้องเองก็ต้องการการสนับสนุนที่เพียงพอ ทั้งด้านเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำงาน ความพร้อมของออฟฟิศ ไปจนถึงการสนับสนุนทางด้านความรู้สึกอย่างความไว้วางใจ ความเชื่อมั่น หรือกำลังใจ ที่อาจจะพูดรวมๆ ว่ามันคือการแสดงออก empathy ที่มีต่อทีมก็ได้ อย่างการใส่ใจเหล่าคนทำงานในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ที่กำลังผลิตผลงานที่เรารอคอย
ผลการวิจัยจาก The Center for Creative Leadership บอกว่า empathy เนี่ย ถูกสนับสนุนในหลายทฤษฎีของการเป็นผู้นำ ว่ามันเป็นทักษะสำคัญในการเป็นผู้นำด้วยนะ อาจเป็นเพราะว่า การมองในมุมมองของพนักงาน ว่าทำไมเขาจึงเลือกทำแบบนี้ ในเหตุการณ์นี้ อาจเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้เจ้านายได้เข้าใจถึงปัญหา เข้าใจในพนักงาน ในคนที่ทำงานให้ และพนักงานเอง ก็ต้องการให้เจ้านายเข้าใจในเงื่อนไขที่เขาต้องรับมือในการทำงานด้วย
ไม่รับฟังคำแนะนำ
ด้วยตำแหน่ง ด้วยหน้าที่ หรือด้วยอีโก้ ไม่ว่าจะข้อก็ตาม ที่ทำให้เมื่อเราเป็นเจ้านายแล้วรู้สึกไม่มีเวลาฟังความคิดเห็นหรือคำแนะนำจากลูกน้องหรือคนในทีมขึ้นมา สิ่งนี้ไม่ได้นำมาแค่ภาพลักษณ์ที่ดูไม่น่าร่วมงานด้วย แต่มันยังทำให้คนที่เราทำงานด้วยเนี่ย รู้สึกถูกปฎิเสธ ไม่ได้รับการยอมรับ ไม่มีความสำคัญ ไม่มีคุณค่าในการทำงานอีกด้วย หลังจากนี้การแสวงหาไอเดียเจ๋งๆ หาความสร้างสรรค์จากเพื่อนร่วมงาน อาจไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป
เพราะการไม่รับฟังความคิดเห็นนั้น หมายความว่าเรามีธงอะไรบางอย่างในใจ และจะไม่มีวันโอนเอียง เอนอ่อน หรือปรับเปลี่ยนไปตามความคิดเห็นของใครเด็ดขาด นั่นอาจจะเรียกว่าความเด็ดขาดในการทำหน้าที่ก็ได้ แต่ถ้าหากถึงขั้นไม่รับฟังอะไรทั้งสิ้น มันอาจกลายเป็นเผด็จการในที่ทำงาน ที่ทำให้ใครๆ ก็ไม่อยากร่วมงานกับคนที่ไม่รับฟังอะไรเลย
ไม่ว่าจะด้วยหัวโขนหรืออีโก้สูงเสียดฟ้าชั้นไหน นอกจากจะมองผู้อื่นที่นั่งอยู่ในออฟฟิศว่าพวกเขาเป็นเพื่อนร่วมงาน เป็นลูกน้องแล้ว อย่าลืมมองเขาในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง ที่เราควรปฏิบัติกับเขาอย่างเคารพ ให้เกียรติ ไม่ต่างจากที่เราต้องการให้ผู้อื่นปฏิบัติกับเรา
อ้างอิงข้อมูลจาก