เมื่อเข้าออฟฟิศไปพบปะผู้คน หลายคนคงไม่อยากกลายเป็นก้อนพลังลบ ที่เอาแต่ทำหน้าไม่รับแขก ตัวเลือกที่ดีสำหรับการเข้าสังคม คงต้องทำตัวให้ดูเป็นมิตรกับเพื่อนร่วมงาน เป็นพนักงานดีเด่นหรือคนกลางๆ ที่ไม่มีปัญหาอะไร ถ้าเป็นตัวเดอะซิมส์ เราแทบไม่เคยมีชื่อเสียงทางด้านลบเลย แม้มันจะดูเป็นเรื่องปกติสำหรับหลายคน แต่กับบางคน มันดันเกิดความเหนื่อยหน่ายที่จะต้องแสดงออกในด้านบวกอยู่เสมอ
เมื่อเร็วๆ นี้ งานวิจัยโดย Lime Insurance ในหัวข้อ ‘Keeping Up Appearances: How ‘Pleasanteeism’ is Eroding Resilience’ ได้บัญญัติคำที่อ้างถึงปัญหาด้านสุขภาพใจขึ้นมาใหม่ว่า ‘Pleasanteeism’ ซึ่ง Lime ได้ให้นิยามว่า มันคือความกดดันที่จะต้องแสดงออกว่า “ฉันโอเค” อยู่เสมอ จนมันกลายเป็นบ่อนทำลายความกล้าที่จะเอ่ยถึงปัญหาสุขภาพใจที่มี โดยเฉพาะในที่ทำงาน
แต่ทีนี้ ‘Pleasanteeism’ ไม่ได้หมายถึงแค่ความกดดันที่ต้องปั้นหน้ายิ้มแฉ่ง รับได้ทุกปัญหาเท่านั้น แต่มันยังหมายถึง ความกดดัน ความกังวล ที่ต้องแสดงออกในด้านบวกตลอดเวลา ต้องดูเหมือนมีความสุข และพยายามเป็นพนักงานดีเด่น ที่ไม่เคยขาดลามาสาย ทำงานได้ดีไม่มีเหน็ดเหนื่อย แถมยังลุกขึ้นมายิ้มพร้อมชูนิ้วโป้งให้อีกหนึ่งที แม้ข้างในมันจะเหน็ดเหนื่อยขนาดไหนก็ตาม ก็อยากจะแสดงออกในด้านบวกเอาไว้ก่อน
แล้วอาการแบบนี้ มันกำลังเป็นปัญหาในที่ทำงาน โดยเฉพาะเมื่อต้องกลับไปนั่งออฟฟิศอีกครั้ง หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของCOVID-19 ดีขึ้น จากงานวิจัยที่ว่านั้นกว่า 51% ของเหล่าพนักงานในสหราชอาณาจักร รู้สึกกดดันเสมอเมื่อพวกเขาต้องคอยปั้นหน้าให้ดูมีความสุขต่อหน้าเพื่อนร่วมงาน อีก 25% พวกเขารู้สึกกังวลว่า เขาจะต้องเป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด เมื่อต้องกลับไปทำงานที่ออฟฟิศอีกครั้ง และอีก 19% รู้สึกกังวลเมื่อต้องกลับไปอยู่ท่ามกลางสายตาของผู้อื่น
แต่ก็ยังมีผู้คนอีกบางส่วนที่รู้สึกว่า เขาก็เพียงแค่ใช้ชีวิตไปตามปกติเท่านั้นเอง ไม่เห็นต้องกังวลอะไรอยู่เหมือนกัน เพราะจริงๆ เรื่องนี้เป็นปัญหาด้านสุขภาพใจของแต่ละคน แต่ทีนี้ในช่วงที่ทุกคนต้องนั่งทำงานอยู่กับบ้าน แถมยังออกไปไหนไม่ได้ เป็นแบบนี้อยู่เป็นปี ทำให้หลายคนประสบปัญหาด้านสุขภาพใจกันมากขึ้น ตั้งแต่เวลานอนผิดเพี้ยน อาการนอนไม่หลับในช่วง pandemic ความเครียดในการประชุมออนไลน์ที่ยืดเยื้อ เหตุการณ์เหล่านี้สะสมมากเข้าเรื่อยๆ ก็กลายเป็นความเครียด หมดไฟ ในที่สุด
และยิ่งใครที่อยู่ในกลุ่ม Pleasanteeism ที่แม้จะรู้สึกไม่โอเคขนาดไหน แต่ก็อยากแสดงออกไปว่า ฉันโอเค ฉันสบายดีนะ ยิ่งทำให้ความเครียดนั้นไม่มีที่สิ้นสุดเสียที จนเรื่องของสุขภาพใจ กลายเป็นเรื่องสำคัญที่ทางองค์กรต้องให้น้ำหนักสิ่งนี้มากขึ้น ทั้งความใส่ใจในตัวพนักงานและสวัสดิการด้านนี้โดยเฉพาะ
พนักงานในสหราชอาณาจักรกว่า 44% รู้สึกว่า เมื่อเกิดความเครียดและปัญหาทางด้านสุขภาพใจ มันส่งผลกระทบกับประสิทธิภาพในการทำงานโดยตรง เมื่ออยู่ในวันที่มีปัญหาเหล่านั้น 28% บอกว่าพวกเขารู้สึกไม่โปรดักทีฟเอาเสียเลย 17% บอกว่าเขาไม่อาจมีสมาธิจดจ่ออยู่กับอะไรได้เลย จนทำให้ตัดสินใจพลาดอยู่บ่อยๆ และอีก 17% บอกว่าพวกเขามักจะหลงๆ ลืมๆ แม้แต่สิ่งสำคัญที่ต้องทำ
สิ่งนี้ยิ่งชี้ให้เห็นว่า การที่เพื่อนร่วมงานหรือพนักงานคนอื่นๆ บอกว่าพวกเขาโอเค เขายิ้มแย้ม เขายังทำงานได้ดี ไม่ได้แปลว่าพวกเขาจะไม่มีปัญหาอยู่ข้างในจริงๆ เพราะความกดดันที่ทำให้ต้องคอยแสดงออกแต่ด้านบวกอยู่ตลอดเวลา ทำให้หลายคนเลือกที่จะเก็บปัญหาสุขภาพใจเอาไว้ในลิ้นชักแทน แต่ทางแก้ของเรื่องนี้อาจจะต้องอาศัยความร่วมมือทางองค์กรด้วยเช่นกัน
เพราะมีพนักงานเพียง 16% เท่านั้นที่บอกว่าพวกเขาได้รับการดูแลด้านสุขภาพใจเป็นอย่างดี แต่ 81% นั้นบอกว่า พวกเขาต้องการให้องค์กรหันมาใส่ใจสุขภาพจิตใจของพวกเขาให้มากกว่านี้ และมีมากถึง 40% ที่มีแผนจะมองหางานใหม่ หากไม่ได้รับการดูแลในด้านสุขภาพใจ แล้วพวกเขาต้องการให้องค์กรทำอะไรบ้าง?
หากอ้างอิงจากงานวิจัย (อันเดียวกับข้างต้น) พนักงานก็ยินดีที่จะให้มีมาตรการรองรับด้านสุขภาพใจ แม้จะเป็นในระดับเบื้องต้นก็ตาม อย่างเช่น 25% บอกว่าพวกเขาต้องการความใส่ใจใน work life balance 22% ต้องการความยืดหยุ่นในชั่วโมงการทำงาน 20% ต้องการเวลานอกสำหรับจัดการเรื่องส่วนตัว และอีก 20% ต้องการวันหยุดสำหรับวันที่มีปัญหาด้านสุขภาพใจ
โดยรวมแล้ว เพราะความกดดันที่มีในที่ทำงาน ทำให้หลายคนเลือกที่จะเก็บปัญหาของตัวเองเอาไว้ แล้วแสดงออกแต่ด้านบวกอยู่เสมอ ต้องเก่ง ต้องสู้ ต้องทำได้ เมื่อนานวันเข้า ปัญหาที่ถูกเก็บไว้มันล้นออกมา จนพวกเขารู้สึกเหนื่อยแม้กระทั่งการปั้นหน้าให้ดูสดใสอยู่เสมอ แม้จะนั่งทำงานที่บ้านแบบไม่มีใครเห็น ความเครียดจากปัจจัยอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น ยิ่งทำให้พวกเขาเลือกที่จะทำเหมือนกับว่าทุกอย่างยังโอเค ยังรับมือไหว ยิ่งนานวันยิ่งกลายเป็นปัญหา
ความใส่ใจต่อพนักงาน จึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่องค์กรควรใส่ใจ โดยเฉพาะในเรื่องของสุขภาพใจ เพราะเมื่อพวกเขาเกิดปัญหา แต่กลับต้องถูกเก็บเอาไว้ราวกับว่ามันไม่เคยเกิดอะไรขึ้น มันยิ่งสร้างความเครียดและบรรยากาศที่ไม่ดีให้กับการทำงาน จนกระทบกับประสิทธิภาพในการทำงานไปด้วย
และถ้าหากใครรู้สึกว่าตัวเองกำลังตกอยู่ในภาวะนี้ ที่รู้สึกกดดันเหลือเกิน ที่ต้องแสดงออกไปแต่ด้านบวก หากเราอยากที่จะแสดงออกในสิ่งที่เราเป็น ในวันที่เราเครียด ในวันที่เราเหนื่อย อยากจะอยู่เฉยๆ บ้าง ไม่ยิ้มแย้มบ้าง แต่ก็ไม่อยากรู้สึกเหมือนเรากำลังสร้างปัญหาใดๆ เรามีวิธีที่ช่วยได้ในเบื้องต้นมาแนะนำ
สื่อสารความรู้สึก
หากวันนี้รู้สึกเหนื่อย วันนี้รู้สึกไม่โอเค หากต้องพบปะพูดคุยกับใคร อาจจะสื่อสารออกไปด้วยว่า ที่เราเป็นอยู่นี้เป็นเพราะเรากำลังรู้สึกอย่างไรอยู่ เราอาจจะแค่เหนื่อยจนไม่อยากจะพูดไปยิ้มไปอย่างเคย ไม่อยากต่อบทสนทนาให้ยืดยาวมากเกินไป เพื่อให้อีกฝ่ายเข้าใจถึงปัญหาและช่วยให้เราเองไม่ต้องเหยียบความรู้สึกของเราเองไว้เพียงคนเดียว
เพราะการสื่อสารออกไปว่าเราไม่โอเค เราไม่จำเป็นต้องโมโห เกรี้ยวกราด ฟูมฟาย เพียงแค่อยากสื่อสารถึงความรู้สึกหรือปัญหาของเราในตอนนั้นเพียงเท่านั้น
ปรึกษาบุคคลตัวอย่างทางด้านความเข้มแข็ง
หากเราเป็นคนที่ชอบเก็บความรู้สึกไว้ข้างใน เปิดเผยไปแต่รอยยิ้มและพลังบวกเท่านั้น เราอาจจะเคยคิดอิจฉาเพื่อนร่วมงานสักคน ที่เขามักจะแสดงความรู้สึกของตัวเองอย่างตรงไปตรงมาเสมอ คนที่กล้าจะบอกว่าเขาคิดอะไร เขาอยากทำหรือไม่อยากทำอะไร ลองปรึกษาคนนั้น เพื่อให้เข้าใจว่าการลุกขึ้นมาพูดในสิ่งที่ตัวเองต้องการ การแสดงออกถึงความรู้สึกของตัวเองนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ผิด และใครๆ ก็สามารถทำมันได้ทั้งนั้น และเขาคนนั้นมีวิธีการอย่างไร เราควรเริ่มต้นเรียนรู้จากตรงไหนดี
จัดลำดับความสำคัญก่อนหลบไปพักใจ
เมื่อรู้สึกไม่ไหวขึ้นมา ลองจัดแจงการทำงานของเรา จัดลำดับความสำคัญของงาน หยิบงานด่วน งานสำคัญขึ้นมาทำก่อน และรับรู้ด้วยว่า เราได้ทำหน้าที่ของเราได้เต็มที่แล้ว ทีมจะไม่ได้รับความเดือดร้อนอะไร หากเรารับผิดชอบงานด่วน งานสำคัญในมือเรียบร้อย แล้วจะแอบหลบไปเลียแผลใจในที่เงียบๆ สักหน่อย เพื่อให้เราไม่ต้องคอยกังวลหรือรู้สึกผิดที่หลบลี้หนีออกมา
เราไม่อาจรู้ได้ว่าภายใต้ใบหน้าอันยิ้มแย้มของแต่ละคนนั้น ซ่อนปัญหาเอาไว้มากมายขนาดไหน ความใส่ใจต่อกัน เห็นใจกันและกัน ทั้งในฐานะองค์กรและพนักงาน และเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน อาจช่วยให้เขาคนนั้น ไม่ต้องคอยแบกปัญหาทั้งหมดไว้เพียงคนเดียวอย่างเคย
อ้างอิงข้อมูลจาก