วันจันทร์ช่างเหี่ยวเฉา เดินคอตกเข้าออฟฟิศ วันพุธกลางสัปดาห์ ยิ่งเหนื่อยเข้าไปใหญ่ เหมือนกลับตัวไม่ได้ เดินต่อไปไม่ถึง แต่เมื่อวันศุกร์มาถึง ก็พร้อมจะเด้งตัวขึ้นจากที่พร้อม เตรียมพร้อมเข้าสู่วันหยุดอย่างเต็มภาคภูมิ และใช้ชีวิตวนลูปแบบนี้เรื่อยไปทุกสัปดาห์ วันหยุดแค่ 2 วันที่มีเป็นเหมือนโอเอซิสกลางทะเลทราย หล่อเลี้ยงจิตใจให้เราลุกขึ้นไปทำงานต่อได้
ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง 5 วันต่อสัปดาห์ (รวม 40 ชั่วโมง) เป็นเวลามาตรฐานที่เราคุ้นเคยกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ แม้ในบางที่อาจมีระบบวันทำงานที่ต่างออกไป แต่ส่วนใหญ่หากจะนัดเจอเพื่อนหลังเลิกงานหรือในวันหยุด เราก็มักจะเดาไว้อย่างหลวมๆ ว่า วันเสาร์อาทิตย์ไงล่ะที่น่าจะว่างมาเจอกันได้ เพราะเราเคยชินกับระบบวันทำงานแบบ 9to5 ซึ่งก็คือการเข้างาน 9 โมงเช้า และเลิกงานเวลา 5 โมงเย็น (ซึ่งมันก็คือการทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน) เลยกลายเป็นชื่อเล่นว่า 9to5
แต่โลกการทำงานอาจอยู่ในลูป 9to5 มานานเกินไป บ้างก็รู้สึกว่าวันทำงานมันยืดหยุ่นได้มากกว่านั้น บ้างก็อยากให้วันทำงานเหลือเพียง 4 วัน บ้างกลับอยากให้วันหยุดเหลือเพียงวันเดียวด้วยซ้ำ ดูเหมือนว่าตัวรูปแบบวันทำงานที่เราคุ้นเคยนี้ กำลังได้รับความนิยมน้อยกว่าที่เคย มีทั้งคนที่คนที่รู้สึกว่ามันตึงเกินไป ต้องปรับให้เข้ากับยุคสมัยมากกว่านี้ มีทั้งคนที่รู้สึกว่ามันหย่อนยาน ต้องทำงานให้เข้มข้นขึ้นกว่านี้อีก ถ้าเป็นแบบนั้น วันหยุดคงหมดไปกับการซักผ้า แล้วจะเอาเวลาไหนไปชาร์จแบตให้ตัวเองกันนะ
ก่อนจะมองไปข้างหน้า เรามาสำรวจที่มาที่ไปของระบบวันทำงานที่เราคุ้นเคยว่ามันเริ่มมาจากจุดไหนและทำไมถึงได้รับความนิยมลดลง
จุดเริ่มต้น 9to5
แม้เราจะรู้สึกว่าการทำงานแบบ 9to5 เป็นระบบเวลาทำงานของชาวออฟฟิศ แต่ทุกอย่างเริ่มขึ้นในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม ประมาณปี 1760-1850 เมื่อเครื่องจักรมาถึง มันทำงานแบบไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย แต่ก็ยังต้องพึ่งพาแรงงานเป็นหนึ่งในฟันเฟืองเล็กๆ ที่ช่วยให้ทุกอย่างเดินหน้าต่อไปได้ ผู้คนจากทุกสารทิศต่างเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในสายพานการผลิตในเมือง มีค่าจ้างสูงลิบเป็นค่าตอบแทน แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการทำงานหามรุ่งหามค่ำ ไม่ต่างอะไรจากเครื่องจักรตรงหน้าเช่นกัน
บันทึกจาก ศ.โรเบิร์ต เฟลปส์ (Robert Whaples) นักเศรษฐศาสตร์ จาก Wake Forest University ระบุว่า ในช่วงกลางระหว่างศตวรรษที่ 18 นั้น ตารางการทำงานนานถึง 12-16 ชั่วโมงต่อวัน 6 วันต่อสัปดาห์ หรือบางที่อาจกินเวลาทั้งสัปดาห์เสียด้วยซ้ำ จนชั่วโมงการทำงานรวมกว่า 70 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์นี้ถือเป็นเรื่องปกติ และเขาได้กล่าวเสริมในเรื่องนี้ว่า “ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานผิดปกติเหล่านี้ ถูกประณามอย่างมากและกลายมาเป็นประเด็นสำคัญในการนัดประท้วงหยุดงาน ซึ่งเริ่มขึ้นในเดือนกันยายน ปี 1919 แม้การประท้วงครั้งแรกจะไม่เป็นผล แต่ 4 ปีต่อมาก็ได้ลดชั่วโมงทำงานจาก 12 ชั่วโมงเหลือ 8 ชั่วโมง”
ในช่วงปลายปี 1930 ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานเกินครึ่งหนึ่งของวัน ไม่ได้รับการยอมรับอีกต่อไป สหภาพแรงงานได้ตัดสินใจหาข้อกำหนดให้มีชั่วโมงการทำงานอย่างถูกต้องเกิดขึ้น เพื่อปกป้องคุณภาพชีวิตของแรงงาน ซึ่งนั่นก็คือการทำงานแบบ 9 ชั่วโมงต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์ (รวมเวลาพัก) อย่างที่เราคุ้นเคยในทุกวันนี้นี่เอง ‘แฟรงคลิน ดี. โรเซอเวลต์’ (Franklin D. Roosevelt) ประธานาธิบดีสหรัฐในขณะนั้น ได้ลงนามในพระราชบัญญัติการฟื้นฟูอุตสาหกรรมแห่งชาติ ซึ่งนายจ้างทำข้อตกลงโดยสมัครใจเพื่อกำหนดเวลาทำงานเป็น 35-40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ใช้ได้ไม่นานพรบ.ฉบับนี้เป็นอันต้องยกเลิกไป
ถึงอย่างนั้น เมื่อแรงงานตระหนักรู้ในสิทธิที่ควรจะได้แล้ว การเอาเปรียบแรงงานด้วยชั่วโมงทำงานแสนสาหัสก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ง่ายอีกครั้ง ชีวิตของเหล่าแรงงานได้รับการเอาใจใส่มากขึ้น และได้มีการลงนามในพระราชบัญญัติมาตรฐานแรงงานที่เป็นธรรม ฉบับใหม่ ซึ่งกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้กับลูกจ้างที่ทำงานมากกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็นการบอกกลายๆ ว่า ชั่วโมงทำงานต่อสัปดาห์นั้นมีได้ไม่เกินเท่านี้นั่นเอง
ถัดมาในช่วงศตวรรษที่ 20 ชั่วโมงการทำงานสั้นลงเกือบครึ่งหนึ่ง เหลือประมาณ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ส่วนหนึ่งมาจากค่าแรงที่เพิ่มขึ้นจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและการแข่งขันในตลาดแรงงาน รวมทั้งการสนับสนุนจากสหภาพแรงงาน การเจรจาต่อรองร่วม และการออกกฎหมายแรงงานที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ในปี 2000 ฝรั่งเศสลดชั่วโมงทำงานเหลือ 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จีนและเกาหลีที่มีสัดส่วนอุตสาหกรรมในมือค่อนข้างมากก็รับเอาระบบการทำงานนี้มาด้วยเช่นกัน และเนเธอแลนด์เป็นประเทศแรกในโลกอุตสาหกรรม ที่ลดชั่วโมงทำงานให้น้อยลงไปอีก เหลือไม่ถึง 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
แต่ก็ใช่ว่าชั่วโมงการทำงานยิ่งน้อยลงจะยิ่งดี บริษัท Kellogg ซีเรียลเจ้าดังที่หลายคนรู้จัก เคยปรับชั่วโมงการทำงานเหลือเพียง 6 ชั่วโมงต่อวัน แน่นอนว่านายจ้างก็จ่ายค่าจ้างน้อยลงตามชั่วโมงการทำงานด้วย แม้นโยบายนี้จะได้รับความนิยมในช่วงแรก แต่ก็อยู่ได้เพียงไม่นาน พนักงานเลือกที่จะกลับมาทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวันมากกว่า เพราะพวกเขาต้องการค่าจ้างที่มากขึ้นจากชั่วโมงการทำงาน มากกว่าเวลาพักผ่อนที่เพิ่มขึ้น
จนสุดท้ายโลกการทำงานมาจบที่ 9to5 ทำงานวันละ 9 ชั่วโมง 5 วันต่อสัปดาห์อย่างที่เราใช้กันจนมาถึงทุกวันนี้
โลกการทำงานเปลี่ยนไปเสมอ
ไม่ใช่แค่แรงงานในตลาดที่มีคู่แข่ง แม้แต่ระบบวันทำงานอย่าง 9to5 เองก็เจอคู่แข่งกับเขาเหมือนกัน ในช่วงที่โลกการทำงานเดินไปข้างหน้าทุกวัน จนการทำงานไม่ได้หยุดอยู่ในออฟฟิศ แต่มาจากที่บ้าน หรือที่ไหนก็ได้ ไม่ได้สนว่าจะต้องกรอกเวลาเข้าออกงานทุกวัน และการทำงานก็ยังคงมีประสิทธิภาพได้เหมือนเดิม (และอาจดีกว่าเดิมในบางกรณี) ผลสำรวจจาก PwC เผยตัวเลขที่น่าสนใจว่า 83% ของนายจ้างกล่าวว่า การเปลี่ยนมาทำงานจากระยะไกลประสบความสำเร็จสำหรับบริษัทของตน และ 80% ของพนักงานจะไม่เลือกงานที่ไม่เสนอการทำงานที่บ้านหรือการทำงานแบบยืดหยุ่น 76% บอกว่าจะอยู่กับงานเดิมต่อไปถ้าสามารถทำงานแบบยืดหยุ่นไปได้ตลอด
เหตุการณ์เหล่านี้ไม่ต่างอะไรจากช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม ก่อนหน้าจะมีการเรียกร้องของสหภาพแรงงาน ทุกคนต่างทำงานแบบไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน แต่เมื่อคุณภาพชีวิตดีขึ้นเรื่อยๆ เราก็ไม่อาจย้อนกลับไปทำงานเกินลิมิตตัวเองได้อีกต่อไปแล้ว มีแต่เลือกทางที่ดีกว่าให้กับตัวเอง กับเรื่องนี้ก็เช่นกัน จากการทำงานแบบ 9to5 ที่ต้องเข้างานตรงเวลาเป๊ะ นั่งแช่อยู่ในออฟฟิศทั้งวัน แต่เมื่อเรารู้แล้วว่าทำงานจากที่อื่นก็ได้ประสิทธิภาพเหมือนกัน เลือกชั่วโมงทำงานได้ดั่งใจก็ทำได้นี่นา เราย่อมไม่กลับไปสู่หนทางที่ลำบากเท่าเดิม
จากการรายงานของ Microsoft Work Trend เมื่อปี 2020 ก็มีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การทำงานแบบ 9to5 กำลังจะหายไป ด้วยความนิยมในการทำงานแบบยืดหยุ่น จากเวลาไหนก็ได้ จากที่ไหนก็ได้ รูปแบบการทำงานใหม่ๆ ที่โผล่มารับกับสถานการณ์มากกว่า 9to5 จึงมีคู่แข่งตัวฉกาจที่ไม่อาจเอาชนะได้ง่ายเลย เมื่อการทำงานรูปแบบใหม่สามารถเอาชนะใจได้ทั้งฝั่งนายจ้างและพนักงาน
ผลสำรวจจาก Glassdoor พบว่า พนักงานกว่า 81% กล่าวว่าพวกเขาจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากวันทำงานเหลือเพียง 4 วันต่อสัปดาห์ แน่นอนว่าบริษัทหลายแห่งกำหนดให้พนักงานทำงานแค่นี้จริงๆ ตั้งแต่ก่อนจะต้องทำงานจากระยะไกลแล้ว และก็ยังสามารถดำเนินกิจการมาได้ตามปกติ เช่นเดียวกับที่เราเคยคิดว่าเราจะต้องนั่งทำงานที่ออฟฟิศเพียงเท่านั้น ทุกวันนี้หลายแห่งก็มีการทำงานแบบยืดหยุ่นมาล่อตาล่อใจเหล่าพนักงานใหม่
โลกการทำงานเดินหน้าไปทุกวันจริงๆ แล้วในไทยล่ะ เป็นยังไงบ้าง? ดีใจด้วยหากคุณได้อยู่ในบริษัทที่ยืดหยุ่น ให้อิสระในการทำงาน แต่เชื่อไหมว่าหลายคนกลับมองว่าการทำงาน 6 วันไม่ใช่เรื่องผิด และการลดชั่วโมงการทำงานเหลือเพียง 40 วันต่อสัปดาห์จะยิ่งทำให้พนักงานเกียจคร้านกันอยู่เลย
นั่นเพราะพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานที่เราใช้กันอยู่นั้น กำหนดให้เราทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน และไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ นั่นหมายความว่า การทำงานวันละ 8 ชั่วโมงเป็นจำนวน 6 วันต่อสัปดาห์ ก็ยังไม่เกินจากที่พรบ.กำหนดไว้นั่นเอง ถามว่าไม่ผิดกฎหมายใช่มั้ย ก็คงต้องตอบว่าใช้ แต่เราลองมองไปยังโลกการทำงานรอบตัวเรา ที่ไปไกลจนถึงไหนต่อไหน เรายังย้อนกลับมาเถียงกันว่าการทำงานน้อยกว่า 6 วันต่อสัปดาห์ทำให้คนขี้เกียจหรือเปล่าอยู่เลย
ลองนึกถึงคุณภาพชีวิตที่มีวันหยุดเพียงวันเดียว แน่นอนว่ามันไม่ได้หนักหนาจนเราไม่อาจใช้ชีวิตต่อไปได้ แต่มันก็คงไม่ใช่ชีวิตที่น่าอภิรมย์สักเท่าไหร่
และเราไม่ได้กำลังบอกให้ล้มการกำหนดเวลาทำงาน แล้วให้ทุกคนเลือกทำได้ตามใจตัวเอง การกำหนดชั่วโมงทำงาน มีข้อดีอย่างยิ่งยวด คือ ป้องกันไม่ให้นายจ้างเอาเปรียบลูกจ้าง หากทำงานมากกว่านี้ต่อวันหรือต่อสัปดาห์ นั่นหมายความว่าลูกจ้างต้องได้รับค่าตอบแทนที่มากกว่าปกติแล้วนะ หรือมีสิทธิที่จะปฏิเสธการทำงานนอกเวลางานที่กำหนดไว้ก็ได้เหมือนกัน แต่ในหลายครั้งสิ่งที่เราต้องเจอคือ สิ่งที่ควรจะควรปกป้องสิทธิของลูกจ้าง กลายมาเป็นสิ่งที่บังคับลูกจ้างด้วยช่องโหว่ที่ไม่เป็นธรรมเสียเอง
การปรับตัวให้เท่าทันกับโลกใบนี้ อาจเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เราทุกคนอยู่รอด ในโลกที่แม้แต่ระบบเวลาทำงานยังมีคู่แข่งเกิดขึ้นก็ได้
อ้างอิงจาก