เราต่างมีเจ้านายในฝันอยู่ในใจ ใครถามมาก็คงตอบได้เป็นฉากๆ ว่าอยากร่วมงานกับคนแบบไหน และน้อยคนที่จะได้ร่วมงานกับเจ้านายแสนดีในฝันของตัวเองจริงๆ แล้วถ้าเป็นเจ้านายในฝันร้ายล่ะ เจอในชีวิตจริงบ้างหรือเปล่า คำตอบก็คงเป็น นิสัยใจร้ายทั้งหมดที่เล่ามานั่นแหละ เจ้านายในฝันร้ายที่เจอในชีวิตจริง
เรื่องราววุ่นๆ ในออฟฟิศ ระหว่างเจ้านายตัวร้ายกับลูกน้องตัวจ้อย มีทั้งเรื่องราวในหนัง ซีรีส์ นิยาย ล้วนมาจากชีวิตจริงที่หลายคนต้องเจอ แน่ล่ะ ถ้าเจอเพื่อนร่วมงานแย่ๆ ก็อาจจะพอต่อกรกันหมัดต่อหมัดได้ เพราะในแง่ของตำแหน่งยังอยู่ในระดับเดียวกัน ไม่มีใครอยู่สูงกว่าใคร แต่พอเป็นเจ้านายตัวร้ายก็ทำเอาก่ายหน้าผากกันเป็นแถบ เพราะด้วยตำแหน่งที่สูงกว่า อำนาจที่มากกว่า ทำให้รับมือด้วยยาก ดีไม่ดีจะทำเอาเราซวย กระเด็นจากเก้าอี้ไปด้วยก็ได้
แม้จะฟังดูเหมือนเป็นแค่เรื่องน่าหงุดหงิด สร้างรอยขีดข่วนในใจ แต่หลายคนกลับโดนเป็นแผลลึก จนเลือกที่จะเดินจากองค์กรไป ผลสำรวจจาก DDI บริษัทให้คำปรึกษาด้านการบริหารองค์กร ชี้ให้เห็นว่า เหล่าคนทำงานกว่า 57% เลือกลาออกเพราะหัวหน้า เจอการทำงานไม่ลงล็อกบ้าง นิสัยไม่ลงรอยบ้าง แต่ที่แน่ๆ เหตุการณ์เหล่านี้ก็ทำให้คนคิดลาออกหรือลาออกไปแล้วจริงๆ ไม่ใช่แค่การบ่นขิงข่าไปตามเรื่องเท่านั้น
งั้นเรามาดูกันว่า เจ้านายแบบไหนที่ทำให้ลูกน้องตัดสินใจลาออกได้ ผลสำรวจ Bad Boss Index จาก BambooHR บริษัทด้านทรัพยากรบุคคล ได้เก็บข้อมูลจากเหล่าพนักงาน เกี่ยวกับพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของเจ้านาย เราขอหยิบยกตัวอย่าง 5 อันดับแรกของเจ้านายที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจลาออกจากงาน มีทั้งการบริหารที่ไม่เข้ากัน ทัศคติในการวางตัว อารมณ์ร้อน พฤติกรรมไม่เหมาะสม และคุกคามลูกน้อง ตามลำดับ
แม้เราจะรู้สึกว่าเจ้านายแบบนี้ไม่มีใครรัก เป็นเหมือนตัวร้ายของเรื่อง แต่ทำไมกันนะ เขาถึงได้ดิบได้ดีจนขึ้นมามีตำแหน่งสูงอย่างในวันนี้ได้ และไม่มีท่าทีจะล้มลง องค์กรเองก็ดูเหมือนจะชื่นชอบการที่มีคนแบบนี้เป็นหัวหน้า หรือเพราะเขามีดีอะไรที่เราไม่เห็น แล้วทำไมองค์กรถึงเลือกอุ้มชูคนใจร้ายในสายตาคนอื่นแบบนี้กันล่ะ?
ตัวเลือกมีเยอะมาก แต่ทำไมถึงเลือก…
เรื่องนี้เป็นทั้งความตั้งใจและไม่ตั้งใจอดัม คาพิแอ็ก (Adam Karpiak) ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีพ ได้พูดถึงการโปรโมตเจ้านายตัวร้ายไว้น่าสนใจ เขาเล่าว่า ปัญหาเหล่านี้มักมาจากการเลื่อนตำแหน่งในองค์กร ที่ส่วนใหญ่ตั้งใจเลือกคนที่จะได้เลื่อนตำแหน่งจากคนที่ทำหน้าที่ของตัวเองได้ดี ราวกับว่า พอใครคนนั้นทำอะไรได้ดี เขาจะคุมคนอื่นๆ ให้ทำหน้าที่ได้ดีแบบเขาไปด้วย แต่ความไม่ตั้งใจในเรื่องนี้คือ พวกเขาลืมไปว่า การทำงานได้ดีไม่ได้แปลว่าคนนั้นจะมีนิสัยที่ดีหรือเหมาะกับการเป็นผู้นำไปด้วย
สอดคล้องกับชอนน่า วอเตอส์ (Shonna Waters) รองประธานฝ่ายกลยุทธ์จาก BetterUp พูดถึงเรื่องนี้ไปในทิศทางเดียวกัน การเลื่อนตำแหน่งใครสักคนนั้น มักถูกประเมินจากทักษะความสามารถในหน้าที่ โดยหลงลืมเกี่ยวกับทักษะของการเป็นผู้นำไปเลย (จริงๆ ออกจะตั้งใจมองข้ามเสียมากกว่า เพราะเชื่อว่าสิ่งนี้มันฝึกกันได้) จนเหล่าพนักงานตัวจิ๊ดตัวจ้อย กลายเป็นสนามลองถูกลองผิดของหัวหน้ามือใหม่ และต้องอดทนอยู่กับคนที่ยังไม่พร้อมเป็นหัวหน้า
ในทางกลับกัน ถ้าสมมติว่าเราได้เป็นคนนั้นเสียเอง ที่ทำหน้าที่ของตัวเองอยู่ดีๆ ก็โดนจับไปนั่งเก้าอี้หัวหน้าเสียแล้ว หน้าที่อันยิ่งใหญ่มาพร้อมความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง ที่ผ่านมาก็ไม่เคยบอกว่าเราจะเป็นหัวหน้าใครได้ พอได้มาเป็นจริงๆ นอกจากจะต้องเก่ง ต้องแม่น ในหน้าที่แล้ว ยังต้องมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของหัวหน้าด้วย ต้องคุมคนอยู่ อ่านเกมขาด มัดใจคนได้ แต่เราก็ไม่ได้เตรียมตัวมาเพื่อสิ่งนี้นี่นะ ถ้าเราไปยืนจุดนั้นเองก็ไม่มั่นใจว่าจะทำได้ดีหรือเปล่าเหมือนกัน
ทางออกของเรื่องนี้ วอเตอส์แนะนำว่า ควรมีการสอนและฝึกฝนพนักงานที่จะได้เลื่อนตำแหน่งว่าการจัดการที่ดีเป็นอย่างไร Society for Human Resource Management (SHRM) มีตัวเลขที่สอดคล้องกันว่า 57% ของพนักงาน คิดว่าหัวหน้าของพวกเขาควรได้รับการอบรมเกี่ยวกับการบริหาร การจัดการมากกว่านี้ แน่ล่ะ ถ้าวันหนึ่งต้องกลายเป็นหัวหน้าโดยไม่ได้เตรียมใจมาก่อน ทักษะเหล่านี้ก็ไม่สามารถเสกจากลมจากฝนได้เหมือนกัน องค์กรเองก็ต้องทำหน้าที่ผลักดันให้คนนั้นก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าอย่างมีความพร้อมจริงๆ
แล้วพนักงานอยากให้หัวหน้ามือใหม่พัฒนาในด้านไหนบ้าง? จากผลสำรวจเดิม 38% อยากให้พัฒนาการคุมทีม พาทีมไปข้างหน้า 37% อยากให้พัฒนาการจัดการเวลา การจัดลำดับความสำคัญ 35% อยากให้พัฒนาปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรในแง่บวก
สิ่งนี้ยิ่งยืนว่าส่วนใหญ่ เราไม่ได้สงสัยในความสามารถของเจ้านาย มีเพียงทักษะการเป็นผู้นำและการจัดการเท่านั้น ที่พนักงานส่วนใหญ่กังวลและต้องการให้พัฒนาให้ดีขึ้น
รู้ว่าไม่ดี แต่สิ่งนี้คือคำตอบ
คำตอบข้างต้น เป็นความไม่ตั้งใจบางอย่าง อาจด้วยผลประโยชน์ของบริษัท เน้นฟีลๆ เน้นภาพรวม จนจุ่มได้ตัวซีเคร็ตมาอย่างไม่ตั้งใจ แต่ในบางครั้งองค์กรก็เป็นตัวองค์กรเองนี่แหละที่เล็งเห็นแล้วว่านิสัยแบบนี้ แม้จะไม่ถูกใจลูกน้อง ดูเหมือนเป็นตัวปัญหา แต่มันช่างเอาทีมได้อยู่หมัด แบบนี้แล้วทำไมจะไม่เลือกล่ะ
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริง และดูจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยเสียด้วย เรามาฟังความคิดเห็นของวีไจ แพนดี (Vijai Pandey) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและธุรกิจ ที่ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเหล่าพนักงานเกี่ยวกับหัวหน้าตัวร้ายเพื่อทำงานวิจัย และสิ่งที่เขาตกตะกอนได้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้ถูกถ่ายทอดมาเป็นบทความบน LinkedIn ว่าสิ่งที่หัวหน้าดีกับหัวหน้าแย่มีเหมือนกันคืออะไร?
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ หัวหน้าทั้ง 2 แบบ มีบุคลิก ลักษณะนิสัยที่แข็งแกร่งบางอย่าง ที่มันสามารถนำทีมได้ ผ่านการตัดสินใจที่ยากลำบากและแบกความรับผิดชอบในสถานการณ์เฉพาะหน้า
หัวหน้าที่ดี (ในสายตาลูกน้อง) อาจถือไม้อ่อนไว้อย่างเข้มแข็ง เน้นการประนีประนอม เห็นอกเห็นใจ หรืออะไรก็ตามที่เป็นนิสัยแง่บวกที่ลูกน้องต้องการ และช่วยคลี่คลายปัญหาโดยไม่มีใครเจ็บช้ำน้ำใจ ในอีกทางหนึ่ง หัวหน้าที่แย่ (ในสายตาลูกน้อง) อาจถือไม้แข็งไว้แน่นเช่นกัน ขับเคลื่อนทีมด้วยความแข็งกร้าว เด็ดขาด ไม่โอนอ่อน ทำตามสั่งโดยไม่มีข้อแม้ อะไรเหล่านี้อาจกลายเป็นยาขมสำหรับลูกน้อง แต่หากมันทำให้ผ่านเรื่องราวยากๆ ถือโปรเจ็กต์ใหญ่ได้ดี ผู้บริหารองค์กรอาจไม่ได้ลงมาคลุกคลีกับสิ่งนี้โดยตรง จึงไม่ได้สนใจว่าแมวตัวนี้สีอะไร ขอแค่จับหนูได้ก็พอ
แน่นอนว่าในชีวิตจริง เรามักจะเจอหัวหน้าตัวร้ายบ่อยกว่า (หรืออาจจะเท่าๆ กันก็ได้ แต่วีรกรรมตัวร้ายมันฝังใจน่ะสิ) เลยทำให้เราต้องเจอกับไม้เรียวสร้างทีม หรือยาขมคือยาดี จะคายก็ไม่ได้เพราะโดนตีหลังหักเป็นแน่ เราเลยรู้สึกว่าเจ้านายใจร้ายถึงได้ดิบได้ดีจังเลย เพราะเขาสามารถมอบสิ่งที่องค์กรต้องการได้ไงล่ะ
องค์กรจึงเลือกมองถึงภาพรวมมากกว่ามาสนใจว่า เขาจะใจร้ายกับพนักงานไหม ใครจะไม่พอใจหัวหน้าคนนี้หรือเปล่า อยากให้พนักงานมีระเบียบก็ต้องมีหัวหน้าเนี้ยบ อยากให้พนักงานขยัน ก็ต้องมีหัวหน้าบ้างาน พอองค์กรมีความเชื่อในมุมนั้น คนที่เขาจะเลือกโอบอุ้มย่อมไม่ใช่หัวหน้าผู้ถือไม้อ่อนเป็นนางฟ้าประทานพรแน่นอน
ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเข้าใจองค์กร เข้าใจหัวหน้าไปเสียหมด หากรู้สึกว่าหัวหน้าตัวแสบคนนี้ ทำให้ชีวิตการทำงานที่กินเวลาเกือบทั้งสัปดาห์ของเรา ต้องกลายเป็นวันแสนหดหู่ตั้งแต่รู้ว่าต้องตื่นไปทำงาน เราเองก็มีสิทธิ์ที่จะมองหาพื้นที่ที่เหมาะกับเรามากกว่าได้เหมือนกัน (อย่างที่บอกไปข้างต้น คนลาออกเพราะหัวหน้ากว่าครึ่ง จะเพิ่มเราอีกสักคนนึงคงไม่เป็นไร)
หากเจ้านายในฝันร้ายมีอยู่จริง เจ้านายแสนดีในฝันอันชื่นมื่นก็น่าจะอยู่ที่ไหนสักแห่งเหมือนกัน
อ้างอิงจาก