เราไม่อาจเป็นคนเก่งกาจได้ในทุกวันทำงาน มีวันที่เราทำทุกอย่างได้ดั่งใจ และมีวันที่เราทำไม่ได้อย่างที่หวังด้วยเช่นกัน นอกเหนือจากวันที่เราทำได้ดี ที่ทุกคนพร้อมใจกันชื่นชมผลงานและความสามารถของเราแล้ว วันที่เราทำผิดพลาดหรือทำได้ไม่ดี เราจะถูกตำหนิ ซ้ำเติม เสียจนไม่กล้าขยับตัวทำอะไรไปเลยหรือเปล่า?
สภาพแวดล้อมย่อมส่งผลต่อการทำงาน ในวันที่เราทำทุกอย่างได้ดี ทุกคนต่างยอมรับ เชิดชู ให้เราเป็นดาวเด่นของที่นั่น จนเราอาจหลงลืมว่าในวันที่เราผิดพลาดเราจะถูกปฏิบัติอย่างไร พื้นที่ที่ไม่อนุญาตให้เราทำผิดพลาดได้แม้แต่ครั้งเดียว ย่อมสร้างความหวาดกลัวต่อความผิดพลาด จนเราอาจจะไม่กล้าผลักดันตัวเองให้ทำงานนอกเหนือสิ่งที่เคยทำได้ ซึ่งนั่นไม่ใช่สภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมความเป็นทีมเท่าไหร่ หากแต่ละคนยังมัวสนใจอยู่แต่กับความผิดพลาดของผู้อื่นอยู่แบบนี้
เอมี่ เอ็ดมอนสัน (Amy Edmondson) ศาสตราจารย์จาก Harvard Business School และผู้เขียนหนังสือ The Fearless Organization คู่มือการสร้างองค์กรที่แข็งแกร่ง ได้ให้คำนิยามที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ‘Team Psychological Safety’ ไว้ว่า เป็นพื้นที่ที่ทำให้ทุกคนกล้าเสี่ยงที่จะเสนอไอเดียความคิดเห็น ตั้งคำถาม ไปจนถึงยอมรับความผิดพลาดได้ โดยยังไม่ต้องกังวลถึงผลเสียที่จะตามมา
เอ๊ะ นี่ฟังดูเหมือนเป็นการตามใจพนักงานจนเกินไปหรือเปล่า ถ้าทำแบบนี้แล้วจะเกิดความหย่อนยานในการทำงาน จนทำงานผิดพลาดกันไปหมดหรือเปล่า ไม่เป็นไรเลยถ้าเกิดคำถามนี้ขึ้นมา งั้นเราลองมาดูที่มาที่ไปของแนวคิดนี้กันก่อนดีกว่า
แนวคิด Psychological Safety เป็นงานวิจัยของเอมี่ในตอนที่เธอเรียนปริญญาเอก ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ของการทำงานผิดพลาดและการทำงานเป็นทีมในโรงพยาบาล โดยมีจุดมุ่งหมายให้ความผิดพลาดเหล่านี้ลดลง ดูเผินๆ เราอาจคิดว่า ต้องทำให้ทีมผิดพลาดน้อยลง เพื่อให้ทีมสามารถทำงานร่วมกันได้ราบรื่นขึ้น แต่เรื่องจริงมันกลับไม่เป็นแบบนั้น ข้อมูลที่เธอได้ฟ้องเธอว่าทีมที่มีข้อผิดพลาดมากกว่า กลับสามารถทำงานเป็นทีมได้ดีกว่า ทำให้เธอสันนิษฐานว่า ทีมที่ทำงานร่วมกันอย่างราบรื่นเนี่ย พวกเขาเต็มใจที่จะรายงานผลตามความจริง ไม่ว่าจะดีหรือแย่ เพราะพวกเขารู้สึกปลอดภัยที่จะทำแบบนั้น พอจะเห็นภาพมากขึ้นแล้วใช่ไหม
สภาพแวดล้อมที่เรากล่าวโทษต่อความผิดของคนอื่นอย่างเปิดเผย รุนแรง และไม่ไว้หน้ากัน อาจช่วยให้ไม่มีใครกล้าทำผิดในครั้งต่อไปได้ แต่ไม่ช่วยให้ความเป็นทีมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะไม่มีใครตั้งใจทำงานผิดพลาดเพื่อให้ผลงานของตัวเองแย่ลง หากเรามัวไปโฟกัสที่ความผิด ราวกับพื้นที่ตรงนี้ห้ามมีใครล้ม ไม่งั้นจะโดนซ้ำเข้าเต็มข้อ แต่ละคนคงทำงานที่อยู่แต่ใน Safe Zone ของตัวเอง ไม่กล้ามีไอเดียใหม่ๆ ไม่กล้าทำอะไรเสี่ยงๆ เพราะกลัวว่าจะถูกซ้ำเติมเมื่อผิดพลาด เลยขอทำแต่อะไรเดิมๆ ดีกว่า อย่างน้อยก็เสมอตัว
ทีนี้ มาดูกันว่า ทำไมเราถึงควรมี Psychological Safety ในทีม
- ยึดโยงทุกคนไว้ด้วยกัน ด้วยพื้นที่นี้ ความรู้สึกปลอดภัย เต็มใจที่จะพูด หรือแสดงออกในที่ทำงาน ไม่ใช่แค่เรื่องของลักษณะนิสัยส่วนตัว ว่าเราเป็นคนกล้าพูด กล้าแสดงออกแค่ไหน แต่มันเป็นเรื่องของสภาพแวดล้อมในการทำงาน ว่าส่งเสริมให้เรากล้าพูดมากแค่ไหนด้วย ยิ่งเรามีทีมที่ไว้วางใจ ใกล้ชิดกัน อนุญาตให้เกิดความผิดพลาดได้ มองว่ามันเป็นเรื่องปกติ จะยิ่งมีความปลอดภัยทางจิตใจในทีมมากขึ้น
- ตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น ยิ่งคนในทีมสบายใจที่จะเสนอไอเดียของตัวเอง ดีบ้างไม่ดีบ้างก็ไม่เป็นไร พอทีมกล้าที่จะแสดงความเห็นต่อกัน โดยไม่ต้องกลัวว่าพูดไปแล้วจะมีผลเสียตามมาไหม พูดไปแล้วจะขัดกับความเห็นของใครหรือเปล่า ยิ่งทำให้การแสดงความเห็นต่อกันและกันเป็นเรื่องง่ายยิ่งขึ้น และนั่นทำให้การตัดสินใจภาพใหญ่ของทีมง่ายตามไปด้วย
- เรียนรู้อยู่เสมอ เมื่อสมาชิกในทีมรู้สึกสบายใจที่จะแบ่งปันข้อผิดพลาดและเรียนรู้จากข้อผิดพลาดเหล่านั้น สิ่งนี้จะช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้จากข้อผิดพลาดได้ดี เช่นเดียวกับตัวอย่างทีมในโรงพยาบาลในข้างต้น
เมื่อถอยกลับมามองภาพรวมของไอเดียนี้ มันคือการรับฟังเสียงของคนในทีมอย่างแท้จริง โดยไม่มีอคติหรือธงคำตอบในใจมาก่อน โดยแต่ละเสียงมีน้ำหนักเท่ากัน จะไม่มีใครมีน้ำหนักมากกว่าใคร เพียงเพราะเขาเป็นคนที่ทำได้ดีมาตลอด อีกคนทำได้ดีไม่เท่าเขา หรือใครสนิทสนมกับใครมากกว่า เมื่อฟังความเห็นของกันแล้ว ถึงเวลาที่แต่ละคนจะต้องแสดงความเห็นต่อไอเดียของกันและกัน และตัดสินใจร่วมกัน
ไม่ว่าไอเดียของใครจะได้ไปต่อ ไอเดียของใครจะถูกตีตก ใครจะทำผิดพลาดยังไง ทุกคนจะรับรู้ว่า พื้นที่นี้อนุญาตให้เราได้เป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ ทำผิดได้ ทำพลาดเป็น และจะเป็นพื้นที่ที่สบายใจมากพอที่จะยอมรับความผิดพลาดด้วยตนเอง หรือเมื่อมีการสะกิดแขนเตือนกัน เพราะความผิดพลาดไม่ใช่เรื่องแปลกในพื้นที่ตรงนี้
พรุ่งนี้เมื่อวันทำงานมาถึง อย่าลืมมองหาพื้นที่แห่งความสบายใจให้กับตัวเอง ถ้าพื้นที่นั้นยังไม่กว้างมากพอ เราก็สามารถสร้างมันขึ้นมาได้ด้วยตัวเองเช่นกัน
อ้างอิงจาก