มีใครบ้างที่ยังไม่ได้ใช้วันลาพักร้อนเลย เพราะจะลาพักร้อนก็ต้องถูกถามเหตุผลว่าจะลาไปไหน ทำไมต้องถามกันด้วย หรืออยากลาพักร้อนไปดำน้ำที่ทะเลทั้งที แต่ก็ต้องแบกคอมไปเข้าประชุมด้วย ถ้าลาแล้วมีสิ่งกวนใจเยอะขนาดนี้ ไม่ลาดีกว่า
ผลสำรวจในปี ค.ศ.2018 ของ Expedia เกี่ยวกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว พบว่าใน 19 ประเทศทั่วโลกที่สำรวจ คนไทยติดอันดับ 7 ลาหยุดพักร้อนน้อยที่สุด โดยปรากฏการณ์ ‘ไม่ยอมลาพักร้อน’ ล้วนเกิดขึ้นทั่วโลก จากผลสำรวจของ Skyscanner เปิดเผยว่าพนักงานในแคนาดากว่า 96% รู้ว่าวันลาพักร้อนมีคุณค่ากับพวกเขา แต่มีเพียง 66% เท่านั้นที่ใช้วันลาพักร้อน และยังมีผลสำรวจจาก U.S. Travel Association ในปี ค.ศ.2018 ที่พบว่าพนักงานในสหรัฐฯ กว่า 52% มีวันลาพักร้อนที่ไม่ได้ใช้เหลืออยู่ในช่วงสิ้นปี
มีการศึกษาที่ตีพิมพ์ลงในวารสารค้นพบว่าการลาพักร้อนจะทำให้เราทำงานได้ดีมากขึ้น ลดความรู้สึกเหนื่อยล้า และความรู้สึกเบิร์นเอาต์ได้ดี และยิ่งลายาว ยิ่งดีกับหัวใจ เพราะในการศึกษายังบอกอีกว่าความรู้สึกผ่อนคลายที่เกิดจากการพักร้อนนั้นจะพุ่งสูงสุดในวันที่ 8 ของการพักร้อน นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมลาพักร้อนทั้งทีต้องลายาวไปเลย นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งการศึกษาที่พบว่าความรู้สึกผ่อนคลายนี้จะคงอยู่ไปอีกหลายสัปดาห์หลังจากที่เรากลับมาจากการพักร้อนแล้ว แต่เหตุใดผู้คนถึง ‘ไม่ยอมลาพักร้อน’ กันล่ะ
พอได้แล้วกับค่านิยม ไม่ลา = พนักงานดีเด่น
บางองค์กรก็มีค่านิยมว่าการที่เราไม่ลาพักร้อนเลย จะทำให้เราเป็นพนักงานดีเด่น จากการวิจัยของบริษัทซอฟต์แวร์ Kimble Applications พบว่า 14% ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่าการไม่ใช้วันลาพักร้อนเลย จะทำให้โอกาสในการก้าวหน้าทางหน้าที่การงานเพิ่มขึ้น แม้ว่ายุคนี้จะมีองค์กรที่ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมมาเป็นการโฟกัสที่ผลงานโดยไม่ได้สนใจชั่วโมงที่พนักงานใช้มากขึ้น แต่พนักงานหลายคนก็ยังเชื่อว่าการพักร้อนเป็นบ่อนทำลายความก้าวหน้าทางหน้าที่การงานอยู่ดี
มิหนำซ้ำยังมีสิ่งที่เรียกว่า Vacation-Shaming ที่คนในแผนกพร้อมใจกันมองแรงเมื่อเราขอลาพักร้อน บางครั้งก็รุนแรงไปถึงการติฉินนินทา หรือแซะด้วยคำพูดที่ทำร้ายจิตใจ จนทำให้เราเริ่มรู้สึกว่าการลาพักร้อนมันผิดบาปขนาดนั้นเชียวหรือ
คนในช่วงวัยมิลเลนเนียลมักตกเป็นสนามอารมณ์ในทุกเรื่อง และในเรื่อง Vacation Shaming ก็เช่นกัน 62% ของชาวมิลเลนเนียลล้วนเคยประสบพบเจอกับพฤติกรรม Vacation-Shaming จากเพื่อนร่วมงาน ซึ่งเริ่มมองแรงกันตั้งแต่ขอลาพักร้อน ไปจนถึงช่วงที่พวกเขากลับมาจากการพักร้อนเลยทีเดียว
การสำรวจในปี ค.ศ.2019 ของ Alamo Rent a Car พบว่า 53% บอกว่าเหล่าพนักงานรู้สึกผิดเมื่อลาพักร้อน เพราะเพื่อนร่วมงานของพวกเขาจะต้องมาทำงานแทน ทั้งจำนวนงานที่เพิ่มขึ้น ความเครียดที่เพิ่มขึ้น อาจทำลายความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขาได้ พวกเขาจึงไม่อยากจะสร้างความเดือดร้อนให้ใคร
แต่ถ้าองค์กรสร้างวัฒนธรรมที่ทำให้พนักงานสบายใจกับการลาพักร้อนมากกว่านี้ ไม่ต้องมีใครมาทำงานแทน ก็คงจะส่งผลดีกับสุขภาพจิตและความสัมพันธ์ของพนักงานมากขึ้น
ลาพักร้อนแล้วต้องพักให้จริง
คนไทยกว่า 74% พร้อมจะยกเลิกการลาพักร้อนของตัวเองเพื่องาน และอีก 24% ยอมรับว่าเช็คอีเมลเรื่องงานอย่างน้อยวันละครั้งในช่วงลาพักร้อนด้วย ส่วนชาวอเมริกันกว่า 56% ยังคงทำงานแม้ว่าพวกเขาจะลาพักร้อน และกว่า 41% ยังเข้าร่วมประชุมผ่านซูมด้วยซ้ำ เพราะในยุคที่เทคโนโลยีทำให้เราตัดขาดจากการทำงานได้ยาก ถ้าตัวไม่อยู่ ก็ยังมีอีเมล ถ้าไม่ตอบอีเมล ก็ยังมีไลน์ ที่จะอยู่ที่ไหนก็ยังติดต่อกันได้ บางครั้งเราก็รู้สึกผิดที่จะเพิกเฉย แต่บางครั้งก็เป็นฝ่ายคนที่ทำงานเสียเองที่รุกล้ำเข้ามาในช่วงเวลาพักร้อนของเรา
ถ้ารู้สึกว่าการลาพักร้อนครั้งนี้จะสร้างความกังวลจนกวนใจ ก่อนจะเดินทาง ลองกำหนดขอบเขตให้กับตัวเองว่างานมันต้องด่วนแค่ไหน เราถึงจะตอบข้อความ และมันต้องสำคัญแค่ไหน เราถึงจะยอมหยิบคอมพิวเตอร์ขึ้นมากาง แล้วส่งข้อความให้ทุกคนได้รับรู้ว่าเรากำลังจะลาพักร้อนนะ มีอะไรที่พวกเขาต้องรู้เกี่ยวกับงานที่เราทำค้างไว้อยู่ไหม หรือเขียนคู่มือรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นระหว่างที่เราไม่อยู่ให้พวกเขาเลยก็ได้
บางครั้งการไม่กำหนดขอบเขต และหยิบมือถือขึ้นมาตอบข้อความเรื่องงาน (แม้ว่าเรากำลังเปลี่ยนชุดเตรียมจะลงไปดำน้ำ) ก็อาจสร้างความเคยตัวให้กับหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน ซึ่งอาจฟังดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ถ้าเขาเคยชินกับการลาพักร้อนแต่ยังทำงานได้อยู่เมื่อไหร่ เขาก็จะทำต่อไปโดยไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง
เราทำงานเต็มที่ในเวลางาน ก็ควรได้มีวันพักผ่อนบ้าง ดังนั้นถ้าอยากลาพักก็ลาเลย ไม่ต้องรู้สึกผิด
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Sutanya Phattanasitubon