งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา แม้จะเลิกราแบบไม่ทันตั้งตัว เราอาจจะแค่เสียดายเวลาแห่งความสุขสันต์ของปาร์ตี้ ที่อาจจะมีวันวนกลับมาใหม่ได้ไม่ยาก แต่ถ้าหากเป็นงานที่หมายถึงอาชีพล่ะ หากเราต้องจากมันไปแบบไม่ทันตั้งตัว ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของการเลิกจ้าง ไล่ออก หรือเหตุผลส่วนตัวของเราเองที่ทำให้มีเหตุผลจำเป็นต้องจากไป จะรับมือกับช่วงเวลาเหล่านั้นยังไงดี
เดบบี้ เมนเดล (Debbie Mandel) เจ้าของงานเขียน Addicted to Stress บอกว่าผู้คนถึง 7 ใน 10 ให้นิยามตัวเองด้วยอาชีพ หากถูกถามด้วยประโยคที่ต้องแนะนำตัวต่อผู้อื่นอย่าง คุณเป็นใครหรอ? คำตอบมักจะพ่วงมาด้วยอาชีพเสมอ เหมือนกับว่าเรามักจะผูกตัวตนของเราไว้กับอาชีพ แต่ถ้าวันนึงเราไม่สามารถนิยามตัวเองได้แบบนั้นแล้ว เมื่อมีเหตุจำเป็นให้เราต้องจากอาชีพที่ว่านั้นไป มันจึงไม่ใช่แค่เสียความมั่นคงอย่างเรื่องของรายได้ไป แต่มันหมายถึงการเสียตัวตนในด้านความรู้สึกของเราด้วย
นอกจากนั้นแล้ว ยังหมายถึงความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ที่เราอาจจะไม่ได้เจอพวกเขาในทุกวันทำงานเหมือนแต่ก่อน ความคุ้นเคยในพื้นที่เดิมๆ รูปแบบการทำงานที่ทำมาจนเข้ามือแล้ว เหมือนกับว่าอยู่ดีๆ เราก็ต้องเดินออกจากเซฟโซนที่เคยใช้ชีวิตอยู่กับมันทุกวัน ไม่ผิดอะไรหากเราจะรู้สึกเหมือนอกหักอยู่หน่อยๆ เมื่อต้องจากกันโดยไม่ทันตั้งตัว ไม่ว่าจะเป็นงานหรือความสัมพันธ์ มันก็คือการจากลาที่ต้องมีฉากทำใจอยู่ดีนั่นแหละ
ถ้าตกอยู่ในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องจากทั้งที่ไม่อยากไป ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม จะนั่งเสียใจเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เมื่องานหมายถึงปากท้อง มาดูกันว่าเราจะรับมือกับการออกจากงานอย่างกระทันหันอย่างไรได้บ้าง
รู้ถึงสาเหตุและทำความเข้าใจ
ในกรณีที่เราถูกเลิกจ้างหรือไล่ออก เราสามารถถามถึงสาเหตุที่เราต้องออกได้ ไม่ใช่เพื่อตอกย้ำหรือเพื่อกระทำการดราม่าใดๆ แต่เพื่อให้เรารู้ถึงข้อผิดพลาด ข้อบกพร่อง หรือสิ่งที่ทำให้เราไม่ได้ไปต่อในการทำงาน และให้เราเรียนรู้และเติบโตจากความผิดพลาดในครั้งนี้ แต่ถ้าหากเป็นกรณีที่เราเป็นฝ่ายเดินจากมาเองด้วยความจำเป็นบางอย่าง เราเองก็ต้องทำความเข้าใจว่าเรามีเหตุจำเป็นอะไร และทำความเข้าใจในสถานการณ์ตอนนี้
ทั้งนี้ก็เพื่อให้รู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง ไม่ต้องคอยถามตัวเองซ้ำๆ ว่าเราผิดพลาดตรงไหน หรือทำไมเรื่องราวต้องเป็นแบบนี้ หากเรารู้ถึงสาเหตุแล้ว แน่นอนว่าเราอาจจะยังเสียใจอยู่ แต่เราก็จะเข้าใจมันด้วยว่าทำไมสถานการณ์มันจึงเป็นแบบนี้
ไม่ต้องรีบร้อนมูฟออน
แม้จะกลายเป็นคนว่างงานแบบสายฟ้าแลบ แต่เราไม่จำเป็นต้องไขว่คว้าเอางานอะไรก็ได้มาไว้ในอ้อมอก เพราะนั่นอาจทำให้เราไม่ได้ตัวเลือกที่ดีที่สุดและตัดโอกาสในการหาสิ่งที่เหมาะมากกว่าให้กับตัวเอง ลองให้เวลาตัวเองสักพัก นั่งพักหายใจ ทบทวนตัวเอง จากข้อผิดพลาดหรือประสบการณ์ที่ผ่านมา แล้วดูว่าหากเป็นก้าวต่อไปเราควรมองหาสิ่งไหนและหลีกเลี่ยงสิ่งไหน
ถ้ายังไม่หางานในทันทีแล้วเราจะทำอะไร? ลองหันมาดูแลความรู้สึกตัวเองดูสักพัก ไม่เครียดหรือรู้สึกแย่เมื่อนึกถึงเรื่องนี้ หรือพูดง่ายๆ ก็คือทำใจได้แล้วได้นั่นแหละ แล้วค่อยลุกขึ้นมาจัดแจงความรู้สึก เตรียมมองหาทางเดินใหม่ ดีกว่าฝืนเดินต่อในตอนที่ความรู้สึกของเรายังไม่นิ่ง แล้วทำให้เราตัดสินใจอะไรพลาดไปในช่วงที่ความรู้สึกของเรากำลังเปราะบาง
อย่าลืมจัดการเรื่องสิทธิประโยชน์
อย่ามัวเสียใจจนลืมสิทธิ์ของเราเอง มาดูว่าการออกจากงานครั้งนี้ของเราต้องได้เงินชดเชยหรือไม่ หากเป็นการเลิกจ้างโดยที่เราไม่สมัครใจ โดยที่เราไม่ได้ไปทุจริต ผิดสัญญาอะไรกับนายจ้าง ไม่ว่าจะแจ้งล่วงหน้าหนึ่งเดือนหรือบอกกระทันหัน ก็ต้องได้รับเงินชดเชยตามกฎหมาย ซึ่งจะได้เท่าไหร่ อย่างไรนั้น มีรายละเอียดยิบย่อยมาก สามารถตามไปดูรายละเอียดได้ ที่นี่ รวมถึงเอกสารเรื่องประกันสังคมและภาษีก็ควรจัดการให้เรียบร้อยตั้งแต่ตอนนี้ จะได้ไม่ต้องกลายเป็นเรื่องวุ่นวายระหว่างออฟฟิศในตอนหลัง
ลุกขึ้นปัดฝุ่นเรซูเม่เมื่อพร้อม
เมื่อก้าวข้ามช่วงเวลาทำใจมาได้แล้ว ก่อนจะก้าวต่อไปสู่งานอื่น อย่าลืมอัปเดตตั๋วอย่างเรซูเม่ของเราให้กลายเป็นตั๋วทอง เชื่อว่าหลายคนที่ทำงานที่ไหนมานาน มักจะลืมอัปเดตเรซูเม่ของตัวเองกันบ้าง แต่เมื่อต้องหยิบมันขึ้นมาใช้อีกครั้ง อย่าลืมอัปเดตให้มันเป็นปัจจุบัน ทั้งประสบการณ์ของเราและสกิลที่ตลาดปัจจุบันกำลังมองหา
โดยรวมแล้ว เราต้องเรียนรู้ว่าเราผิดพลาดอะไร เพื่อเข้าใจสถานการณ์และนำมาพัฒนาตัวเราต่อไป เว้นที่ให้ตัวเองทำใจบ้าง ไม่ต้องรีบร้อนเดินหน้าต่อไปไหน เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องคว้าเอาทุกตัวเลือกที่มีไว้ จนกลายเป็นเลือกทางที่ไม่ตอบโจทย์ตัวเองเท่าที่ควร จะว่าไปมันก็เหมือนสเต็ปการมูฟออนตอนอกหักอยู่เหมือนกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก