ตอนเปลี่ยนงานที่ใหม่ หรือตัดสินใจย้ายออกมา ตอนนั้นเรามีเหตุผลอะไรในการตัดสินใจ? อาจจะเป็นงานที่หนักเกินจะรับไหว อาจเป็นค่าตอบแทนที่ได้ไม่คุ้มกับน้ำพักน้ำแรงที่ลงไป อึดอัดใจกับเพื่อนร่วมงาน เดินทางลำบาก หากมันสร้างความอึดอัด ลังเลใจ ว่าเราควรจะได้อยู่ในที่ที่ดีกว่านี้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร ล้วนมีน้ำหนักพอให้เราพิจารณาที่จะก้าวออกมาจากตรงนั้นได้ทั้งสิ้น เมื่อตัดสินใจก้าวออกมาแล้ว บางคนอาจได้รับการสนับสนุนจากที่เก่า ช่วยหาลู่ทางใหม่ๆ หยิบยื่นโอกาสดีๆ ให้ แต่บางคนกลับไม่เป็นแบบนั้น บรรยากาศก่อนจากกันบอกได้ว่าเรากำลังจากกันด้วยดีหรือเปล่า
เชื่อว่าเวลาเราไปนั่งทำงานที่ไหนได้สักพัก รู้ตื้นลึกหนาบางมาบ้างแล้ว เราจะตอบตัวเองได้ว่าเราจะอยู่ที่นี่ได้นานแค่ไหน อาจอยู่ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีลู่ทางใหม่ๆ หรืออึดอัดใจจนขีดเส้นตายให้ตัวเองไว้แล้ว ว่าถ้าหากไม่มีอะไรดีขึ้น ต้องลาออกแล้วนะ เราอาจจะออกมาด้วยเหตุผลของการเติบโต เมื่อเรามีช่องทางที่เราเดินไปได้ไกลกว่า หรือไม่อยากเดินบนทางที่ไม่สะดวกนี้แล้ว ทุกอย่างล้วนเป็นเหตุผลทั้งนั้น และเราอาจจะโฟกัสกับการให้เหตุผลของการลาออก มากเสียจนลืมอีกสิ่งสำคัญไป
‘บรรยากาศก่อนจากกัน’ อีกสิ่งที่จะเป็นเหมือน perks ให้เราในช่วงที่เรากำลังจะก้าวเดินต่อไปในการทำงาน เราเลยได้เห็นหลายคนที่จากที่ทำงานที่เก่ามาด้วยบรรยากาศที่ดี สามารถกลับไปสังสรรค์ เข้าไปเยี่ยมเยียนเจ้านาย หรือแม้แต่ได้รับการแนะนำโอกาสดีๆ จากที่เก่าอีกด้วย หากเราเอง กำลังมองหาทางเดินใหม่ โอกาสใหม่ ให้กับตัวเอง การสร้างบรรยากาศดีๆ ก่อนจากกัน อาจช่วยให้เราได้เดินทางต่อไปได้สะดวกมากขึ้น ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างการไปสัมภาษณ์ที่ใหม่ เราจะดูเป็นเพื่อนร่วมงานที่ดี ลูกน้องที่ดีแค่ไหน ถ้าหากเราเล่าว่า ก่อนเราออกมา เรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน ไม่มีปัญหากับเจ้านาย และยังได้รับการสนับสนุนเรื่อยมา
บางคนตบเข่าฉาด ฉันโดนเอารัดเอาเปรียบแทบตาย ยังต้องไปญาติดีด้วยอีกหรอ ถ้าเป็นแบบนั้นเราเข้าใจ หากความอึดอัดใจในบางสิ่ง ไม่ว่าจะเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงาน ทำให้เราไม่อยากจะมีความสัมพันธ์อันดี หรือไม่ได้อยากจะจากกันด้วยดี เราจึงไม่ได้อยากให้ทุกคนต้องเดินออกมาด้วยบรรยากาศอันชื่นมื่นกันทั้งหมด คำแนะนำเรื่องนี้ อาจใช้ได้กับบางกรณี กับคนที่ไม่ได้มีปัญหาขัดแย้งอะไร แค่มีเหตุผลให้ต้องลาออก และยังอยากรักษาความสัมพันธ์อันดีเอาไว้กับเพื่อนหรือเจ้านายในที่เก่า
ถ้าเป็นไปได้ ก็อยากให้จากกันด้วยดี อาจไม่ได้กอดลา หวานชื่น จนเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่อาจจากมาด้วยบรรยากาศกลางๆ ไม่ดี ไม่แย่ เพราะอยากให้นึกถึงไว้เสมอว่า ตราบใดที่เราทำงานในสายอาชีพเดิม หากเราจากกันด้วยดีหรือกลางๆ ชื่อของเราเมื่อถูกถามถึงในวงการ คำตอบจะเป็นการทำงานว่าดีหรือไม่ดีตรงไหน อย่างไร หากเราทิ้งความขัดแย้ง ทิ้งเรื่องไม่ดีบางอย่างไว้ที่เก่า ให้เขาเจ็บแค้นเล่นๆ ชื่อของเราเมื่อถูกถามถึง คำตอบอาจขึ้นต้นด้วยคำบ่น คำด่า ถึงวีรกรรมที่เราได้ทิ้งเอาไว้ก็ได้ อย่างเช่นข้อพิพาทระหว่าง Waymo และ Uber เพราะพนักงานสุดแสบคนนึงที่ได้ก่อวีรกรรมเอาไว้ และสุดท้ายชื่อของเขาก็ถูกจดจำในฐานะตัวแสบในวงการ
มาดูกันว่า หากเราอยากจากกันด้วยดี เดินจากไปและยังสามารถเดินกลับเยี่ยมเยียนเพื่อนร่วมงานได้ เราต้องเริ่มต้นเรื่องนี้ยังไงบ้าง
สร้างทัศนคติที่ดีต่อที่ที่เรากำลังจะจากไป
ไม่ผิดเลยที่เราอยากเดินทางอื่น อยากไปหาประสบการณ์ใหม่ๆ หรือมองว่าที่อื่นมีโอกาสที่ดีกว่าให้เรา หากเราตัดสินใจที่จะเดินออกมาแล้ว ไม่มีอะไรผิดทั้งนั้น แต่ถ้าหากเราอยากจากกันด้วยดี สิ่งที่ต้องเริ่มอย่างแรกคือมุมมองต่อที่เก่า ที่ที่เรากำลังจะจาไปนี้ เราอาจเคยนั่งทำงานหนักจนล่วงเลยเวลา เราอาจเกิดปัญหาในการทำงาน เถียงกับเพื่อนร่วมงาน ตั้งคำถามกับเจ้านาย แต่หากเราไม่ได้มีปัญหาอะไรที่หนักหนาเกินไป อย่าได้มองว่าที่เก่านั้นเป็นที่ที่แย่จนเกินไป
อย่าลืมว่าที่เดียวกันนี้เอง ที่เคยให้โอกาสเราในการทำงาน ให้สิทธิประโยชน์ สวัสดิการมาตลอดอายุการทำงาน ให้ประสบการณ์ ให้ความรู้ เพิ่มพูนทักษะ ฝึกฝนให้เราได้ก้าวมาเป็นเราในตอนนี้ ก็เป็นที่เดียวกันนี้นี่แหละ ไม่มีที่ทำงานไหนที่ไม่มีปัญหา หากเราไม่ลืมว่าที่ตรงนี้ เคยให้อะไรเรามาบ้าง เราเติบโต เรียนรู้ ได้อะไรมาจากที่ตรงนี้ อาจได้ทั้งความรู้ได้ทั้งบทเรียนจากการหกล้มครั้งแล้วครั้งเล่า จะช่วยให้เรามองกลับมาแล้วยังคงพบเจอเรื่องดีๆ อยู่บ้าง
อย่าแจ้งการลาออกผ่านอีเมลหรือข้อความ
แม้ช่วงที่เราต้องทำงานที่บ้าน เราจะวุ่นวายไปกับการเปลี่ยนรูปแบบการทำงานและการสื่อสารขนาดไหน แต่สิ่งหนึ่งที่ยังเหมือนเดิม คือ เราไม่ควรแจ้งลาออกผ่านอีเมลหรือข้อความ เราควรจะขอคุยอย่างเป็นส่วนตัว แม้จะเป็นในช่วงที่เราไม่ได้สามารถมาเจอกันที่ออฟฟิศได้ก็ตาม ลองนัดคิวการประชุมออนไลน์ หรืออาจจะแค่พูดคุยผ่านเสียง กับหัวหน้าหรือใครก็ตามที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เพื่อแจ้งให้ทราบว่าเรากำลังจะลาออกนะ ด้วยเหตุผลของอะไร
ปกติแล้วจะมีการพูดคุยกันตามปกติ ว่าเรามีเหตุผลอะไร ติดขัดปัญหาอะไรหรือเปล่า ไปจนถึงข้อเสนอบางอย่างสำหรับค่าตอบแทน สวัสดิการ เพื่อให้เราสามารถอยู่ที่เดิมต่อไป นั่นหมายความว่าเรามีโอกาสต่อรอง เพื่อให้เราอยู่ต่อในเงื่อนไขที่เราสะดวกใจมากขึ้นได้จากการพูดคุยกันตัวต่อตัว (แต่อาจไม่ได้รับโอกาสนี้ถ้าหากเราใช้อีเมลหรือข้อความ)
และไม้เด็ดที่จะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นแม้เราจะตัดสินใจไปจากที่นี่ก็ตาม คือ การขอบคุณสำหรับทุกอย่างที่นี่ ไม่ว่าจะโอกาสในการรับเข้ามาทำงานในตอนแรก การเรียนรู้ ประสบการณ์ต่างๆ ในระหว่างการทำงาน ไปจนถึงรายได้ที่เราได้รับมาตลอดอายุงาน จะช่วยสร้างสิ่งจดจำต่อเราว่าเราเอง ไม่ได้มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อองค์กร แม้เราจะเลือกจากที่นี่ไปก็ตาม
เติมช่องว่างที่กำลังจะหายไป
พอรู้ว่าเรากำลังจะออก หลายคนอาจเกิดอาการเช้าชามเย็นชาม ทำเท่านี้ก็ได้นี่นะ เขาไม่ว่าอะไรหรอก เราจะไปอยู่แล้ว นั่นอาจทำให้เกิดเสียงบ่นตามหลังจากเพื่อนร่วมงาน ที่ต้องคอยตามจัดการงานส่วนที่เหลือจากเรา แนะนำให้จัดการงานทุกอย่าง ให้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าช่วงที่เราทำงานปกติ ทุกงานที่ออกมาในชื่อของเราจะยังคงต้องสมบูรณ์ มีคุณภาพเหมือนเดิม จะช่วยให้เราถูกพูดถึงในทางที่ดีแม้ตัวเราจะไม่อยู่แล้วก็ตาม
หลังจากที่เราออกไปแล้ว นั่นหมายความว่าตำแหน่งนี้จะว่าง จนกว่าจะมีคนมาทำแทน หรือต่อให้มีคนมารออยู่แล้ว แต่ก็ยังต้องใช้เวลาปรับตัวให้เข้ากับวิธีการทำงานขององค์กรอยู่ดี จับตาดูไว้ เราสามารถเรียกคะแนนจากจุดนี้ได้เป็นอย่างดี โดยการทิ้งทุกอย่างที่เรารู้เอาไว้ให้กับคนที่จะมาทำต่อจากเรา ตั้งแต่เรื่องพื้นฐานอย่างวิธีการทำงาน เริ่มจากตรงไหน ผ่านไปที่ใคร และจบลงตรงไหน อะไรเก็บอยู่ตรงไหน ต้องไปหาที่ไหน ไปจนถึงเคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ ที่เราได้จากการทำงาน อย่างทำยังไงให้ทันเวลา ทำยังไงให้มีคุณภาพ ทำยังไงให้ตรงใจเจ้านาย
ถามว่าทำไปเพื่ออะไรกัน จะออกแล้วต้องลำบากขนาดนี้เลยหรอ? อย่างแรกเลย เพื่อภาพลักษณ์ที่ดี ให้เพื่อนร่วมงานและเจ้านายเห็นว่า เรายังคงมีความหวังดีต่อองค์กร แม้ว่าเรากำลังจะจากไปแล้วก็ตาม เราก็ยังอยากทิ้งสิ่งดีๆ เอาไว้ เพื่อให้การทำงานราบรื่นเหมือนเดิม ไม่ว่าใครจะมายืนในตำแหน่งของเราก็ตาม และช่วยให้เราได้ทบทวนการทำงานที่ผ่านมาของเรา ว่าเราทำอะไรบ้าง ได้เรียนรู้อะไรจากที่นี่บ้าง ในการสัมภาษณ์งานที่ใหม่ต่อไป เราจะได้ตอบได้อย่างเต็มปากว่า เราทำอะไรได้บ้างและทำอะไรมาแล้วบ้าง
เราอาจจะเคยได้ยินว่า เรารักองค์กร แล้วองค์กรรักเราขนาดนั้นไหม? จนทำให้ลังเลว่าเราจะทิ้งสิ่งดีๆ ทำดีกับองค์กรไปมากมายทำไม โดยเฉพาะเมื่อตอนที่เรากำลังจะออกมาแล้ว ถือว่าคำแนะนำนี้เป็นตัวเลือกว่าเราจะจากกันแบบไหน ให้ผู้คนที่เคยร่วมงานกันจดจำเราแบบไหนมากกว่า
อ้างอิงข้อมูลจาก