แฟชั่น หนัง เพลง ยังมีเทรนด์เปลี่ยนไปในทุกปี โลกการทำงานที่อยู่กับเราเกือบทั้งสัปดาห์ แน่นอนว่าไม่หยุดนิ่งเป็นแบบแผนเดิมตลอดไปแน่นอน
อย่างในปี 2025 แม้จะไม่มี Buzz Word ใหม่ๆ มาเรียกเสียงฮือฮา แต่คำที่คุ้นเคยกันอย่าง AI ปัญญาประดิษฐ์ก็ยังไม่หายไปไหน และเข้ามามีบทบาทที่เริ่มใช้งานจริงอย่างเป็นรูปเป็นร่างแล้ว ในช่วงแรกนั้นเราต่างตระหนกต่อการถูกแทนที่ด้วยเจ้าสิ่งนี้ แต่ทางออกที่พอจะเป็นไปได้ที่สุดคือการปรับตัว
ปีนี้ จึงเป็นเหมือนปีแห่งการปรับตัวให้เข้ากับโลกที่ขับเคลื่อนไปข้างหน้า เพื่อให้ตัวเราอยู่รอดในทุกสถานการณ์ที่เผชิญได้ มาดูกันว่าเทรนด์ในโลกการทำงานที่น่าสนใจในปีนี้ มีอะไรกันบ้าง สิ่งไหนใกล้ตัว สิ่งไหนปรับใช้ได้ รู้ไว้ปรับตัวได้ก่อนใคร
The Great Detachment เกาะงานประจำ แต่ไม่อินกับมันอีกต่อไป
ในช่วงหลายปีก่อน โลกการทำงานเผชิญกับ The Great Resignation อัตราลาออกพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ เนื่องด้วยผู้คนแสวงหาความมั่นคงในวันที่โลกสั่นไหวด้วยโรคระบาด หลังจากนั้นเป็นต้นมา หากเทียบตัวเลขปีต่อปีแล้ว อัตราการลาออกถือว่าไม่ได้เพิ่มขึ้นจนน่าหวั่นใจเท่าไหร่นัก
อาจด้วยความกังวลเรื่องที่ตลาดแรงงานอ่อนแอและอัตราเงินเฟ้อ ทำให้เหล่าคนทำงานยังคงเกาะเก้าอี้งานประจำของตัวเองเอาไว้แน่น แต่สิ่งที่ควรเป็นห่วงคือ ความพอพึงพอใจต่องาน ผลสำรวจจาก Gallup พบว่าความรู้สึกพึงพอใจต่องานของเหล่าพนักงาน ลดน้อยลงไปแตะในระดับเดียวกับช่วงโรคระบาด นั่นหมายความว่า แม้ตัวจะอยู่กับองค์กรเดิม แต่ใจกลับไม่ได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับงานเท่าแต่ก่อนแล้ว ที่ยังต้องอยู่เพื่อให้มีกินมีใช้ ไม่ใช่เพราะแพสชั่น ความมุ่งมั่นในอาชีพ
Centric Leadership โดยมนุษย์
แม้ AI จะเข้ามามีบทบาทได้ถึงด้านการบริหารจัดการทีมในบางส่วน แต่ผู้นำที่เป็นมนุษย์มีเลือดเนื้อ ก็ไม่ได้ถูกแย่งเก้าอี้ไปเสียทีเดียว ตราบใดที่องค์กรยังมีพนักงานเป็นคนจริงๆ ก็ยังต้องการผู้นำที่มีความเป็นคน เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางอารมณ์และสร้างทีมที่เหนียวแน่น ด้วยความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าอกเข้าใจ ที่ยังไม่อาจถูกแทนที่ได้ โดยเฉพาะวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึกมีส่วนร่วม มีคุณค่า สิ่งนี้ยังต้องถูกขับเคลื่อนจากผู้นำที่มีเลือดเนื้ออยู่เสมอ
Reskilling Upskilling ต่อไม่หยุดยั้ง
หาก AI เรียนรู้อย่างไม่หยุดยั้ง นั่นหมายความว่ามันอาจมีลูกเล่นใหม่ๆ มาเซอร์ไพรส์เราได้เสมอ หากเราอยากต่อกรกับมัน สร้างความมั่นคงให้กับหน้าที่การงาน เราเองก็ต้องพัฒนาทักษะของตัวเองไปด้วยเช่นกัน
อาจไม่ต้องถึงขั้นเรียนรู้เพื่อสู้กับ AI โดยเฉพาะ (เพราะแทบเป็นไปไม่ได้) แต่เราต้องเสริมชุดความรู้ที่มีให้อัปเดตอยู่เสมอ รวมทั้งเรียนรู้ทักษะใหม่ที่จะเป็นประโยชน์กับทั้งเราเองและองค์กร เพื่อให้เรามีพื้นที่และมีความสำคัญต่อสายพานการทำงานอยู่เสมอ และที่สำคัญ องค์กรเองก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะของพนักงานด้วย
AI มีบทบาทใน Human Resources
หลายคนอาจเคยได้ยินแล้วว่า เดี๋ยวนี้ Resume ที่ร่อนไปถึงบริษัทต่างๆ ไม่ได้ผ่านสายตามนุษย์เป็นด่านแรก แต่ถูกคัดกรองด้วย AI ต่างหาก และในปีนี้มีแนวโน้มว่า AI จะก้าวไปข้างหน้าอีกก้าวในสายงานทรัพยากรบุคคล ด้วยการรับหน้าที่จัดการงานประจำวันทั่วไป อย่างงานเอกสาร ประเมินตัวเลข การจัดการทั่วไป เป็นต้น
ส่วนมนุษย์นั้นจะรับหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ด้วยกัน อย่างการวางกลยุทธ สร้างความเป็นทีม วัฒนธรรมองค์กร หรือหน้าที่ใดๆ ที่ต้องใช้วิจารณญาณของมนุษย์และความเห็นอกเห็นใจ
Rise Of Gray-Collar ผู้สูงอายุยังสานต่องานไหว
แม้อายุจะเลยจุดสูงสุดในสายอาชีพหรือถึงวัยต้องวางมือตามที่บริษัทกำหนดไว้ แต่ตลาดแรงงานยังคงต้องการแรงงานที่มีทักษะเทคนิคเฉพาะทางอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะคนที่มีทักษะหลายด้านในตัวเอง ทั้งฝั่งพนักงานออฟฟิศ (White collar) และ ฝั่งใช้แรงงาน (Blue collar) บวกกับความเชี่ยวชาญที่เพิ่มพูนตามอายุงานแล้ว ทำให้เหล่า Gray-Collar ที่อยู่กึ่งกลางระหว่างพนักงานออฟฟิศและผู้ใช้แรงงาน อย่าง สถาปนิก วิศวกร แม้จะสูงวัย แต่ยังคงสามารถทำงานต่อในหน้าที่เดิมของตัวเองได้และยังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอีกด้วย
อ้างอิงจาก