คิดถึงตอนนั้นเหมือนกันนะ ตอนที่เราสามารถออกไปข้างนอกได้โดยที่ไม่ต้องพะวงว่าลืมมาสก์หรือเปล่า หรือตอนกลับจากการไปเที่ยวแล้วไม่ต้องมานั่งกังวล คอยถามตัวเองว่า ‘นี่ฉันติดหรือยังนะ?’
ประโยคคลาสสิคอย่าง ‘การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ’ เป็นประโยคที่ยังใช้ได้ในทุกยุคทุกสมัยจริงๆ ถึงแม้ปัจจุบันนวัตกรรมทางการแพทย์จะพัฒนาขึ้นทุกขณะ แต่โรคใหม่ๆ ก็ยังคงจู่โจมเข้ามาแบบไม่ทันตั้งตัวได้ตลอดเวลา เช่นเดียวกับโควิด-19 ที่เราเผชิญมาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา และยังคงเผชิญอยู่ แม้ระยะเวลา 3 ปีจะเพียงพอสำหรับการให้ทั่วโลกปรับตัว รับมือ หรือคิดค้นวัคซีนป้องกัน แต่ถึงอย่างนั้นหลายๆ คนก็ยังคงไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตธรรมดาๆ แบบยุคก่อนโควิดได้อยู่ดี
คุณค่าของหนึ่งวันธรรมดา
เชื่อว่าเราน่าจะไม่ใช่คนเดียวที่คิดถึงวันธรรมดาๆ เหมือนเมื่อก่อน วันที่ได้ออกไปใช้ชีวิต ยิ้มและหัวเราะโดยที่ไม่มีมาสก์บดบัง ไม่ต้องกังวลเรื่องโรคระบาด ไม่ต้องคอยระแวงว่าจะได้รับเชื้อโรคจากใครหรือเปล่า โควิด-19 กลายเป็นสิ่งที่ทำให้หลายๆ คนต้องห่างไกลจากคนที่รัก ทั้งๆ ที่ไม่อยากห่าง บางคนก็ได้ใช้เวลากับคนที่รักไม่ได้มากเท่าที่อยากใช้
และยิ่งสำหรับบางคนที่กำลังเผชิญโรคที่ทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ โควิด-19 ยังคงเป็นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับพวกเขา และเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตในวันธรรมดาอย่างปกติสุขได้ เช่นพวกเขาเหล่านี้ …
นิคเลือกกลับมาแต่งงานกับแฟนหนุ่มชาวต่างชาติที่ไทย เพียงเพราะอยากให้พ่อของเขาได้ไปร่วมงาน แต่พ่อของเขากลับปฏิเสธ เพราะโรคไตที่กำลังเผชิญทำให้ภูมิคุ้มกันตก และกลัวว่าการออกไปข้างนอกตนเองอาจจะเสี่ยงติดเชื้อและกลายเป็นภาระของลูก
หรือหญิงสาวที่ทำให้แม่ต้องพลาดคอนเสิร์ตวงโปรดเมื่อ 10 ปีก่อนเพราะเธอป่วยเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง ในตอนนี้เธออยากพาแม่ไปดูคอนเสิร์ต แต่เธอจะสามารถไปคอนเสิร์ตที่เต็มไปด้วยผู้คนอย่างที่คนอื่นๆ ไปได้บ้างไหม? ในเมื่อร่างกายของเธอไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้อย่างคนปกติทั่วไป
เตรียมภูมิคุ้มกันให้ทุกความพิเศษ
เพราะวันธรรมดามีความหมายสำหรับทุกคน จึงเป็นที่มาของแคมเปญ “เตรียมภูมิคุ้มกันให้ทุกความพิเศษ” ที่มีหมุดหมายคือการทำให้ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันอย่างทั่วถึง และสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติสุขได้อย่างที่ควรจะเป็น
คนที่เข้าใจเรื่องนี้ดีที่สุดคงหนีไม่พ้นผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือโรคต่างๆ ที่ส่งผลให้มีระดับภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำกว่าคนทั่วไป เช่นโรคไตที่พ่อของนิคเป็น
ปัจจุบันได้มีการพัฒนา LAAB (Long-acting Antibody) ยาแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาวแบบผสม หรือภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปเพื่อใช้สำหรับการป้องกันและรักษาโควิด-19 ขึ้นมา โดยใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือตอบสนองต่อวัคซีนได้ไม่เพียงพอ เพราะร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อยับยั้งเชื้อโรคได้เท่าที่ควรจะเป็น LAAB จึงเปรียบเสมือนบอลลูนที่ช่วยเสริมภูมิให้กับผู้ที่มีปัญหาภูมิคุ้มกันได้ออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านได้อย่างมั่นใจ
ไม่ต้องแปลกใจถ้าได้เห็นคนในบอลลูนไปปรากฎตัวและเดินสัญจรตามที่ต่างๆ หรืออาจได้เห็นภาพถ่ายคนในบอลลูนที่แชร์กันในโลกออนไลน์ รวมถึงหนังสั้น เรื่อง ‘ทำไมพ่อถึงไม่ไปงานแต่งผม?’ และ ‘คอนเสิร์ตนี้… ต้องไปให้ได้’ ที่เราได้เล่าให้ฟังไปแล้วก่อนหน้า เพราะนั่นคือการสื่อสารวัตถุประสงค์ของแคมเปญนี้
คงจะดีไม่น้อยถ้าทุกคนมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง เพื่อที่จะได้ออกไปใช้ชีวิตอย่างที่อยากใช้ จริงไหม?
พร้อมร่วมทุกโมเมนต์ดีๆ ของคนที่เรารัก
LAAB (Long-acting Antibody) คือภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป ใช้สำหรับป้องกันและรักษาโควิด-19 ที่มีอาการในระดับเล็กน้อยถึงปานกลางในผู้ใหญ่และวัยรุ่นที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป และมีน้ำหนักตัวอย่างน้อย 40 กิโลกรัม โดยจะฉีดเข้าที่สะโพกเพื่อให้ร่างกายสามารถรับแล้วนำไปใช้ได้เลยภายใน 6 ชั่วโมง
กลุ่มเป้าหมายที่ควรได้รับ LAAB คือ ผู้ที่ตอบสนองต่อวัคซีนได้น้อยกว่าคนทั่วไปหรือไม่ตอบสนองต่อวัคซีน* อย่างหญิงสาวที่อยากพาแม่ไปดูคอนเสิร์ตวงโปรด หรือพ่อของนิคที่อยากปรากฎตัวในวันสำคัญของลูกชาย
LAAB ช่วยให้คนเหล่านี้สามารถมีส่วนร่วมกับโมเมนต์ดีๆ ของคนที่รักได้
*การพิจารณาให้ LAAB เป็นไปตามดุลพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษา
เพราะสิ่งพิเศษที่สุด คือการได้ใช้ชีวิตอย่างปกติสุข
สำหรับคนที่คิดถึงช่วงเวลาเก่าๆ โหยหาชีวิตก่อนยุคโควิด เชื่อว่าแคมเปญ “เตรียมภูมิคุ้มกันให้ทุกความพิเศษ” คงสร้างอิมแพ็กในใจไม่น้อย ก่อนหน้านี้ทุกวันอาจดูธรรมดาเสียจนเราไม่ทันสังเกต
แต่สำหรับตอนนี้แค่ได้กลับมาใช้ชีวิตปกติสุข มีคนที่รักข้างกายในทุกๆ วันธรรมดาก็คงพิเศษมากเกินพอ
หากคุณหรือคนข้างกายคิดถึงวันธรรมดาๆ และการได้ใช้ชีวิตอย่างปกติสุขร่วมกัน สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเกณฑ์ในการรับ LAAB โดยปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้ได้เลย
[TH-12839]