เปิดอ่านข่าวในโลกโซเชียล ทุกวันเหมือน April Fool Day
คือคำกล่าวที่นิยามของวงการสื่อและคอนเทนต์ทุกวันนี้ได้อย่างดีที่สุด เพราะด้วยกระแสของโลกดิจิทัลที่เปลี่ยนไป ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘ข่าวลวง’ เกิดขึ้นในทุกๆ วินาที ยิ่งในช่วงของโรคระบาดที่เกิดขึ้นหรือสถานการณ์ทางการเมือง จะด้วยจุดประสงค์ใดๆ ของผู้ผลิตขึ้นมาก็ตาม ล้วนแล้วแต่สร้างความเสียหายให้กับสังคมในวงกว้าง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ทำให้ทักษะหนึ่งที่คนยุคนี้จำเป็นต้องมี คือการ Fact Checking หรือการตรวจสอบข้อมูลว่าเป็นจริงหรือเท็จ ด้วยการใช้เครื่องมือออนไลน์ที่มีอยู่อย่างมีวิจารณญาณ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้คนส่วนใหญ่ยังหลงเชื่อข้อมูลที่เป็นเท็จอยู่เช่นเดิม
The MATTER ชวนไปพูดคุยประเด็นนี้กับ สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตนักเคลื่อนไหวด้านสื่อมวลชน ที่ปัจจุบันเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Cofact Thailand แพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่เป็นพื้นที่เปิดให้ทุกคนช่วยกันตรวจสอบข่าวลวง เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่สดใสให้กับวงการสื่อยุคใหม่
ภาพรวมของวงการสื่อในปัจจุบันเป็นอย่างไร ในยุคที่ถูกขับเคลื่อนด้วยความเป็นดิจิทัล
สื่อในยุค Digital Disruption ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า เพราะว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปเร็ว ทุกคนสามารถที่จะเลือกรับข่าวสารได้ด้วยตัวเอง ฉะนั้นสื่อมวลชนเองก็ต้องเผชิญกับภาวะที่ต้องแข่งขันกับโลกออนไลน์และ User-generated Content หรือเนื้อหาที่ประชาชนเป็นคนสร้างและส่งต่อเอง ทำให้ส่งผลต่อคุณภาพของวารสารศาสตร์เหมือนกัน อีกข้อกำจัดหนึ่งน่าจะเป็นบริบทเฉพาะของประเทศไทยที่มีวิกฤตทางการเมือง มีแรงกดดันทางกฎหมายที่มีความขัดแย้งสูง ทำให้บางครั้งสื่อเองก็เจอภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก มีข้อจำกัดทางสิทธิเสรีภาพ จนเกิดการ Self-censorship ทำให้การทำข่าวที่สร้างประเด็นต่อสาธารณะ สามารถทำได้ไม่เต็มที่เท่าที่ควร หรือที่เรียกว่า ‘กลัวทัวร์ลง’ โดยอาจจะเลี่ยงไปนำเสนออะไรที่เป็นสายลมแสงแดดหรือว่าปลอดภัยไปเลย
อีกจุดหนึ่งคือประเด็นเรื่องศักยภาพบุคลากรของวงการสื่อเองด้วย ยุคนี้นักข่าวก็ควรเป็น Fact Checker ด้วย ต้องมี Digital Skill ในแง่ของการตรวจสอบข้อมูล ซึ่งสกิลนี้บางองค์กรก็มีการลงทุนเพื่อสนับสนุน แต่บางองค์กรก็ไม่มี เลยทำให้นักข่าวจำนวนไม่น้อยในไทยไม่มีเวลาที่จะเพิ่มสกิลตรงนี้ หรือบางทีการตรวจสอบข้อเท็จจริงสักข่าวก็อาจใช้เวลาเป็นวัน เพราะว่าต้องดูว่าภาพนั้นมันมาจากไหน ใครตัดต่อ ซึ่งต้องละเอียดลออและมีเวลา ซึ่งสื่อก็ไม่มีเงินจะลงทุนตรงนี้ เพราะฉะนั้นก็เลยเป็นการรายงานในเชิงของอะไรเกิดขึ้นที่ไหน มากกว่าจะเป็นรายงานเชิงค้นหาข้อเท็จจริง
จากปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้น ถือว่าเป็นวิกฤตในวงการสื่อไหม
มันเป็นวิกฤตส่วนหนึ่ง แต่ก็ยังเห็นโอกาสในแง่ของการตรวจสอบท้าทายกันเองค่อนข้างสูง ซึ่งนักข่าวหลายคนอาจจะไม่ค่อยชอบใจ รู้สึกว่าถูกรบกวน หรือทำให้ไม่สบายใจ เช่น การตรวจสอบกันเองระหว่างนักข่าวในองค์กร ที่อาจจะตั้งคำถามกับองค์กรวิชาชีพสื่อถึงท่าทีจุดยืน ซึ่งการตรวจสอบในเลเวลที่ไม่ได้ถึงขั้นทัวร์ลงตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ในแง่การตรวจสอบเพื่อให้เกิดการตั้งคำถาม อาจจะทำให้เกิดที่ไม่มี Unity หรือเอกภาพได้ ซึ่งจะเป็นวิกฤต เพราะการที่สื่อจะรับมือกับอำนาจรัฐ หรือแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคมได้ สื่อควรจะเป็น Third Party ที่มี Unity เพื่อส่งเสียงดุลอำนาจรัฐหรือกลุ่มนายทุนได้ พูดง่ายๆ คือเพื่อเป็นปากเสียงให้ประชาชนได้
แต่บางสื่ออาจจะต้องเอาตัวรอดในเชิงธุรกิจ และมีช่องว่างทางการเมืองเพราะเกี่ยวข้องกับจุดยืนมากเกินไป ถ้าเทียบกับหลายประเทศที่มี Unity เขาจะมีพลังมากกว่า สามารถยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐ ส่งเสียงเพื่อท้าทายและเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าสื่อมวลชนทุกแขนงมีความเป็น Unity มากขึ้น เชื่อว่าจะเป็น Third Force ที่มีพลังมาก
ในแง่ของผู้เสพทุกวันนี้ มีอิทธิผลที่ส่งผลสะท้อนกลับมาที่ตัวสื่อเองบ้างไหม
กระแสของเยาวชนหรืออะไรก็ตามที่สามารถเป็นวาทกรรมหลักได้ในตอนนี้ คือ User ที่มีพลัง ทำให้สื่อที่อาจเคยเฉยๆ ไม่เคยสนใจเรื่องนี้หรืออาจเห็นต่างต้องหันมาสนใจ เพราะด้วยพลังของ User ที่เป็นคนรุ่นใหม่ซึ่งอาจจะไม่ได้มีอำนาจในเชิงการเมืองและสิทธิสังคม แต่เป็น Active User ในโลกออนไลน์ ซึ่งเดี๋ยวนี้เป็นสนามที่สามารถกำหนดวาทกรรมเป็น Agenda Setter ได้แล้ว ไม่ว่าจะผ่านแฮชแท็ก การไวรัล หรือเทรนด์ทั้งหลาย ตรงนี้ก็เลยเป็นการกำหนดเทรนด์จากฝั่ง User ที่เป็นคนรุ่นใหม่ ทำให้สื่อต้องมาจับตาและเล่นเรื่องเหล่านี้ สื่อโทรทัศน์ที่ปกติกลัวๆ กล้าๆ เมื่อปลายปีที่แล้วหลายช่องก็รายงานข่าวการชุมนุม สัมภาษณ์เด็กและเยาวชนออกอากาศ ทำให้ผู้ใหญ่ที่อาจไม่เห็นด้วยกับเด็กรู้สึกได้รับผลกระทบเหมือนกัน
ช่วงที่ผ่านมา ปัญหาข่าวลือข่าวลวงที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของสังคมขนาดไหน
ความจริงปัญหาเรื่องข่าวลือข่าวลวงนี่มีมานานแล้ว แต่โควิดทำให้ทุกประเทศได้แข่งกันว่าใครจะเจอปัญหาเยอะกว่ากัน ข่าวลือข่าวลวงเรื่องโควิดของใครที่แปลกประหลาดกว่ากัน ซึ่งทำให้เราเห็นว่าไม่ใช่แค่เฉพาะประเทศไทยที่ถูกมองว่าเป็นประเทศที่พัฒนาน้อยกว่า แต่ฝั่งตะวันตกเองก็ยังมีข่าวลือไม่แพ้กัน อย่างเช่นเรื่องคลื่น 5G เป็นตัวปล่อยไวรัส ซึ่งเราก็ไม่อยากจะเชื่อว่าจะมีคนเชื่อ แล้วก็มีคนไปเผาเสาส่งสัญญาณกันจริงๆ หรือในประเทศฝั่งตะวันออกกลางก็มีข่าวลวงว่าดื่มแอลกอฮอล์ที่เราใช้ฆ่าเชื้อแล้วจะช่วยฆ่าเชื้อโควิดได้ ก็มีคนดื่มจริงๆ เสียชีวิตไปหลายร้อยคน ซึ่งในประเทศไทยโชคดีที่ยังไม่มีข่าวแบบนี้
ถามว่าผลกระทบมันรุนแรงต่อชีวิตไหม ประเทศไทยเองอาจจะยังไม่มากเท่าบางประเทศ แต่ส่วนมากที่ค้นพบคือส่งผลต่อทรัพย์สินเหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่องของเงินทอง อย่างเรื่องของสมุนไพรที่ทำให้ขาว ผอม สวย แก้มะเร็ง เราก็ตั้งคำถามเหมือนกันว่าทำไมถึงมีกันเยอะมาก ส่วนหนึ่งเราก็ต้องมองว่าคนไทยเรามีวัฒนธรรมแบบเอเชีย เราเติบโตมากับการกินพืชผักสมุนไพรเป็นยา ชาวบ้านอาจจะโตมากับการใช้กระเทียมเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งเราอาจจะต้องหาจุดร่วมกัน อย่างเช่นการกินสมุนไพรฟ้าทลายโจร จะช่วยรักษาโควิดได้ไหม ซึ่งมีการดีเบตเยอะมาก แต่สุดท้ายเราได้ข้อสรุปว่าแม้แต่แพทย์เองก็บอกว่าเป็นการรักษาอาการเบื้องต้น เช่น อาการ เป็นหวัด เจ็บคอ ก็กินฟ้าทลายโจร 1-3 วันก็ดีขึ้น แต่ถ้ายังไม่หายก็อาจจะไม่ใช่
อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้คนเชื่อข่าวลือข่าวลวงเหล่านี้
จากที่เราประมวลพฤติกรรมแล้ว กลุ่มผู้สูงอายุจะเป็นกลุ่มเป้าหมายในการส่งต่อข่าวลือข่าวลวงมากที่สุด โดยเฉพาะเวลาที่ได้ข่าวอะไรมา แล้วจะอยากเป็นคนแรกที่บอกต่อ ส่วนคนตั้งแต่ Gen X ลงมาจะคุ้นเคยกับอินเทอร์เน็ตและมีภูมิต้านทานในระดับหนึ่งแล้ว แต่ผู้สูงอายุยังไม่มีเวลาที่จะสร้างภูมิคุ้มกัน พออยู่ๆ มีสมาร์ตโฟน มีแอปพลิเคชัน และมีข่าวเข้ามาวันละสิบข่าว เหมือนตั้งหลักไม่ทัน ทำให้เขาเชื่อและอยากจะส่งต่อด้วยความหวังดี หรืออยากจะสร้างความสัมพันธ์ สำคัญที่สุดคือการมีวัฒนธรรมเกรงใจของสังคมไทยที่เป็นปัญหา ทำให้ข่าวพวกนี้เผยแพร่ได้มากขึ้น เพราะเวลาเราส่งข่าวผ่านไลน์กลุ่ม ถ้าคนส่งเป็นญาติผู้ใหญ่หรือเป็นหัวหน้างานเรา และเรารู้ว่าข่าวนั้นมันไม่จริง แต่ก็ไม่กล้าเตือนหรือแย้งเขา จะปล่อยไปแม้จะรู้ว่ามันไม่จริง แต่นั่นยังไม่เท่ากับบางคนที่อาจจะส่งเสริมเขาด้วยสติ๊กเกอร์ขอบคุณ ดีใจ อาจจะดูไม่มีอะไร แต่ในมุมหนึ่งก็เป็นการสร้างแรงกำลังใจให้คนส่งว่าทำถูกแล้ว กลายเป็นฮีโร่ เป็นคนที่รู้ข่าวก่อนคนอื่น เกิดเป็นวัฒนธรรมการส่งข้อมูลที่ไม่ได้รับการตรวจสอบ ส่วนหนึ่งถ้าเราเทียบกับชาวต่างชาติเขาจะใช้ WhatsApp ไม่ค่อยมีการส่งสติ๊กเกอร์ จะมีความจริงจังกว่า เพราะฉะนั้นเวลามีการส่งข้อมูลอะไรในกลุ่มที่มีคนเยอะๆ จะต้องกรองระดับหนึ่งแล้ว
การที่สังคมไทยชอบใช้ไลน์และชอบใช้สติ๊กเกอร์มากๆ อาจสะท้อนวัฒนธรรมอะไรบางอย่าง มุมหนึ่งอาจจะเป็นสังคมที่สบายๆ เป็นกันเอง ไม่คิดมากแต่ก็อาจจะทำให้เป็นช่องว่างให้ข่าวลือข่าวลวงแพร่สะพัดได้อย่างรวดเร็ว บางคนอาจจะส่งต่อโดยอ่านไม่ได้ละเอียดด้วยซ้ำแค่อ่านพาดหัวว่าน่าสนใจแล้วส่งต่อ ซึ่งข่าวที่พาดหัวได้น่าสนใจมีผลมาก ส่วนใหญ่ข้อความที่เกิดไวรัลกัน เหมือนถูกออกแบบมาแล้วอย่างดี คนสร้างข่าวลือข่าวลวงจะเก่งในการพาดหัวข่าวให้น่าสนใจ ซึ่งถ้าเราเทียบกับทวิตเตอร์มันจะต่างกัน ทวิตเตอร์จะเป็นแพลตฟอร์มเปิด ใครปล่อยข่าวอะไรขึ้นมาแล้วไม่จริง ภายในไม่นานจะถูกสวนกลับและถูกประจานทันที ทำให้เกิดวัฒนธรรมที่คนในทวิตเตอร์จะไม่ค่อยเชื่อข่าวลือข่าวลวง เพราะเขาอยู่ในโลกที่คุ้นชินและได้รับข้อมูลที่รอบด้าน
อยากให้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของ Cofact Thailand
ต้องย้อนกลับไปว่า อดีตประธานาธิบดีอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นคนประดิษฐ์วาทกรรม Fake News ขึ้นมา ซึ่งหลายคนก็ไม่ค่อยอยากจะใช้คำนี้ เพราะดูเหมือนเป็นวาทกรรมแอบอ้างเพื่อจะปิดกั้นสื่อรึเปล่า แต่จริงๆ ทั่วโลกจะใช้คำอย่างเป็นทางการว่า Misinformation คือข้อมูลที่ส่งต่อกัน ทำให้เกิดความเข้าใจผิด แต่ไม่ได้ตั้งใจ หรือ Disinformation จะคล้ายกับ IO คือคนจงใจตัดต่อ บิดเบือน เพื่อประสงค์ทางใดทางหนึ่งทั้งทางการเมืองและธุรกิจ และด้วยความที่ชื่อยาวคนเลยเรียกติดปากกันว่า Fake News มากกว่า แต่โดยปกติคำว่า News มันไม่ควรเฟค บางคนเลยอยากให้ใช้คำว่า Fake Info ที่แปลว่าข้อมูลลวงข้อมูลบิดเบือนมากกว่า เพราะการใช้คำว่าข่าวปลอมเหมือนการไปลดคุณค่าของคำว่าข่าวลง
Cofact เป็นไอเดียที่เกิดขึ้นมาจากการพัฒนาแนวคิดเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ที่องค์กรภาคประชาสังคมหรือ สสส. และสถาบันวิชาการ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ วารสารฯ ธรรมศาสตร์ รวมถึงองค์กรสื่อต่างๆ มาร่วมกันจัดสัมมนาเรื่องปัญหาข่าวลวง เพราะตอนนั้นข่าวลวงเริ่มฮิตในสังคมไทยตามกระแสโลก แล้วเราได้รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลของไต้หวัน คุณออเดรย์ ถังได้มาให้มุมมองว่า ไต้หวันจัดการกับปัญหานี้ยังไง เพราะไต้หวันเป็น Digital Island อยู่แล้ว เขาก็จะมีคนที่เก่งในเรื่องของ ดิจิทัล Chatbot AI มีการออกแบบแพลตฟอร์มที่เป็นเว็บ Database เพื่อให้คนมาใส่ฐานข้อมูล สามารถส่งข้อมูลหรือรูปภาพมาให้ตรวจเช็กได้ เราชอบไอเดียนี้มาก เลยร่วมมือกับทางไต้หวัน โดยมีพาร์ทเนอร์ในเมืองไทยคือ สสส. และได้ทีม Change Fusion และ Open Dream ร่วมกันสร้างเว็บขึ้นมา
โดยเราจำลองหน้าเว็บมาจาก Google และสิ่งที่ Cofact ทำคือ Database ที่ให้คนมาถามหรือเช็กข่าวลวง เราก็ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลมาให้ว่าข่าวนี้จริงหรือไม่จริง และให้เหตุผลด้วยว่าทำไม อย่างเช่น เรื่องมะนาวโซดา ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ที่เป็นพาร์ทเนอร์ก็ไปถามหมอมา ยืนยันว่านี่เป็นข้อมูลลวงนะ โดยที่เราก็จะเคารพลิขสิทธิ์ต้นทาง และตอบโดยใช้วิธีการพาดหัวไว้ว่า จริง ไม่จริง หรือจริงแค่บางส่วน แล้วก็จะสรุปข้อความไว้และสามารถอ่านข้อมูลต่อได้ผ่านการคลิกลิงก์เข้าไปอ่านต้นทางได้ ซึ่งเป็นแหล่งที่เราเชื่อว่าข้อมูลเบื้องต้นนั้นน่าเชื่อถือพอ
อะไรคืออุปสรรคความยากของการทำ Database ตัวนี้
สิ่งแรกเลยคือการที่ต้องมาตัดสินใจว่า ข้อมูลจากที่ไหนน่าเชื่อถือ เพราะว่าเราเคยเจอเคสที่ถามเรื่องสมุนไพร อธิบายเสียดิบดีเลย มีเว็บข่าวอ้างอิง แต่ว่าอ่านไปเรื่อยๆ กลายเป็น Advertorial ซึ่งพอเราเป็นองค์กร Fact Checking ก็ต้องพิสูจน์ว่าใช่หรือไม่ใช่ในดีกรีที่เข้มข้นขึ้น เช่นเราจะตอบว่าสมุนไพรนี้มีผลอะไรไหม ความยากของเราคือการเจออ้างอิงอย่างเช่นเริ่มต้นด้วยข้อมูลจากข่าว แต่จบด้วยการขายของ ก็จะทำให้เราเลือกอ้างอิงยาก เพราะเป็นการปรับปรุงข้อมูลเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง เราจึงต้องอ่านอย่างละเอียด แม้ว่าจะเป็นเว็บข่าวที่มีความน่าเชื่อถือ แต่คอลัมน์นั้นอาจจะเป็นคอลัมน์ไลฟ์สไตล์ ซึ่งอาจจะมีความเข้มข้นของข้อมูลไม่มากเท่าข่าว หรือข้อมูลจากกระทรวงสาธารณะสุข เพราะฉะนั้นถ้าเราต้องเอาข้อมูลมายืนยันจริงๆ เราต้องไปหาข้อมูลที่แข็งแรงพอสมควร ซึ่งเหล่านี้ก็จะหนีไม่พ้นพวกข้อมูลจากหน่วยงานราชการ
แต่ประเทศไทยเรายังไม่แข็งแรงในเรื่องของ Open Data และ Digital Government สมมติเราอยากจะขอข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐ ก็ไม่ได้มีเว็บหรือไฟล์ให้เข้าถึงได้ง่าย อาจจะต้องส่งจดหมายไปถาม หรือเดินทางไปขอข้อมูลด้วยตัวเอง ซึ่งเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคของการ Fact Checking ในยุคดิจิทัลมาก แต่ถ้ามี Database อยู่อย่างชัดเจน เราก็สามารถนำเอาลิงก์ของหน่วยงานราชการต่างๆ มาใส่ได้ นี่คืออุปสรรคที่คิดว่าเราต่างจากหลายประเทศ ที่เขาสามารถจะ Fact Checking แบบเรียลไทม์ โดยอ้างข้อมูลตัวเลขทางวิทยาศาสตร์หรือข้อมูลทางกฎหมายได้ เพราะประเทศเหล่านั้นมี Digital Government ที่พร้อม ถ้าประเทศเรามีอะไรแบบนี้ก็จะช่วยย่นระยะเวลาได้มาก ทั้งที่จริงๆ แล้วบางหน่วยงานเองมีข้อมูล หลักฐาน หรือข้อกฎหมายอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้ทำ ซึ่งการที่จะมีคนมาทำตรงนั้นได้ก็จะกลับไปสู่รากของปัญหาแล้วว่า ถ้าข้อมูลยังไม่ตกผลึก Fact ก็ยังไม่นิ่ง เกิดเป็นความไม่แน่นอนตามมา ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดข่าวลือข่าวลวง แล้วก็ไม่สามารถโทษใครได้ เพราะ Fact ไม่นิ่งตั้งแต่แรก โดยเฉพาะเรื่องภัยพิบัติและโรคระบาด เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าจะกลับมาแก้ไขยังไง ก็ต้องเริ่มต้นแก้ไขจากต้นทาง ต่อมาคือการพยายามที่จะเอาข้อมูลเหล่านั้นใส่ไว้ในเว็บให้ได้มากที่สุดเพื่อที่จะอ้างอิงได้ง่าย ให้สื่อหรือประชาชนทุกคนสามารถเข้าไปเช็กข้อมูลได้
แล้วการทำงานขั้นตอนสุดท้ายในการตรวจสอบ เป็นหน้าที่ของใคร
ในเว็บ Cofact จะไม่มีคนทำขั้นตอนสุดท้าย เพราะการทำงานจะคล้ายกับเว็บพันทิปนิดหนึ่ง ก็คือจะมีคนมาตั้งคำถามหรือเอาข่าวลวงมาโพสต์ไว้ แล้วจะมีคนมาตอบ ซึ่งคนมาตอบนั้นจริงๆ แล้วใครมาตอบก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นบก. หรือสต๊าฟของ Cofact เสมอไป แต่ว่าต้องล็อกอินด้วยแอคเคาท์เฟซบุ๊กหรืออีเมล และการจะเข้ามาตอบแม้จะแค่ตอบว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ต้องมีอ้างอิง เรามีทีมที่ปรึกษาและทีมจากองค์กรต่างๆ ที่ช่วยกันกรอง แล้วเรื่องอะไรที่มีข้อมูลชัดเจนแล้ว เราก็จะเอาขึ้นเพจเฟซบุ๊ก คล้ายๆ กับการเป็นสำนักข่าวนิดหนึ่งเหมือนกัน ทุกคนที่เข้ามาอ่านอาจจะได้เห็นว่าเรื่องนี้มีคนเข้ามาตอบหลากหลาย
ต้องบอกว่างานที่เราทำกันวันนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างความร่วมมือไปสู่ความเป็น Common Ground เพราะทุกคนยอมรับในสิ่งที่เรียกว่าข้อเท็จจริง เพราะ Fact is Matter ข้อเท็จจริงสำคัญที่สุดและทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันได้ ไม่ว่าคุณจะเชื่อฝ่ายไหน ถ้าข้อเท็จจริงมันตกผลึกแล้วว่าเป็นยังไง ก็ควรจะเป็นอย่างนั้น
ทำไมการ Fact Checking ด้วยตนเอง จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด
ยุคนี้คนไม่รู้จะเชื่ออะไรได้บ้าง บางทีทุกๆ วันอาจจะเป็นวัน April Fool Day ได้โดยไม่ต้องรอถึงวันที่ 1 เมษายน ที่เราต้องมาตื่นตัวว่าจะได้รับข่าวลวงอะไรบ้าง เพราะทุกคนรู้สึกว่าแทบทุกวัน จะได้รับสารต่างๆ ที่มีทั้งจริงและไม่จริงอยู่แล้ว บางคนก็อาจถึงขั้นเลิกเล่นโซเชียลมีเดียไปเลย แต่ส่วนใหญ่ถ้าทำขนาดนั้นไม่ได้ ก็ต้องอยู่กับมัน
ขอยืมคำพูดจากคุณออเดรย์ ถัง รัฐมนตรีดิจิทัลไต้หวันมาตอบว่า “Blind trust is worse than no trust! การที่เราเชื่ออะไรอย่างมืดบอดอาจจะแย่ยิ่งกว่าการไม่เชื่ออะไรเลย” เขามองมุมกลับว่าการที่เราตั้งคำถามในทุกอย่างไว้ก่อน อาจจะดีกว่าการเชื่ออย่างมืดบอด เช่น เชื่อเรื่องสมุนไพรจนไม่ไปหาหมอ ก็อาจเป็นความเชื่อแบบสุดโต่งที่อาจจะนำไปสู่อันตรายต่อตัวเองและสังคมก็ได้ การที่เราไม่เชื่อไว้ก่อน สอดคล้องกับหลักพุทธศาสนาอย่างหลักกาลามสูตรเหมือนกัน คำที่พระพุทธเจ้ากล่าวว่า อย่าเชื่อ แม้ว่าคนพูดนั้นจะเป็นศาสดาของเรา ก็คืออย่าเพิ่งเชื่อแม้เรื่องราวนั้นจะตรงกับจริตของเรา แต่ให้พิสูจน์ด้วยตนเองก่อน ถ้าเป็นเรื่องการเมือง จะเช็กว่าชัวร์หรือไม่ชัวร์ให้ลองเช็กฝั่งตรงข้ามก่อนว่าเขาพูดเรื่องเดียวกันนั้นว่าอย่างไร ส่วนเรื่องของสุขภาพก็แน่นอนว่าเช็กจากหน่วยงานรัฐที่เชื่อถือได้ และใช้ Common Sense ของเราช่วย ซึ่งเป็นหลักสุดท้ายของ Fact Checking ด้วย
ถ้าเราเริ่มจากทัศนคติตรงนี้ จะทำให้เรา Fact Checking ได้ง่ายขึ้น ส่วนเรื่องเครื่องมือ ยุคนี้วิธีการหาข้อมูลต่างๆ ง่ายขึ้นแล้ว เริ่มต้นจากวิธีคิด ตามมาด้วย Digital Tools ทั้งหลาย แล้วสุดท้ายก็คือเราต้องสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้เป็น New Normal คล้ายกับการที่เราต้องล้างมือและใส่แมสก์เพื่อป้องกันไวรัส เราต้องสร้างวัคซีนให้ตัวเองด้วยการหมั่นตรวจสอบ นอกจากการสงสัยไว้ก่อนแล้ว จะให้ดีกว่านั้นคือลงมือค้นหาข้อเท็จจริงด้วยตัวเอง แล้วถ้าเห็นว่ามันไม่ถูกต้อง ต้องกล้าไปกว่านั้นคือกล้าโต้แย้งและแก้ไขด้วย แต่การที่คุณจะกล้าโต้แย้งคนอื่น คุณจะต้องมีข้อเท็จจริงอยู่ในมือก่อน ซึ่งตรงนี้แหละที่เป็นศาสตร์และศิลป์ของ Fact Checker ซึ่งทุกคนก็เป็นได้
ลองใช้ Cofact เพื่อตรวจสอบข่าวลวงได้ที่ cofact.org