‘ความเท่าเทียม’ คือหนึ่งในประเด็นที่สังคมไทยกำลังให้ความสนใจอย่างมากตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่มคนพิการที่ต้องการโอกาสและความเท่าเทียมจากทุกภาคส่วนในสังคม
งาน ‘วิ่งด้วยกัน’ คือหนึ่งในสัญลักษณ์ของการผลักดันโอกาสและความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นจริง ที่เกิดขึ้นจากการริเริ่มของ สสส. ตั้งแต่ปี 2558 โดยการให้ไกด์รันเนอร์ อาสาสมัคร เป็นผู้ร่วมวิ่งไปกับคนพิการเพื่อเรียนรู้ซึ่งกันและกัน จากกลุ่มวิ่งเล็กๆ ที่มีคนพิการ 12 คน สู่การเป็นงานวิ่งขนาดใหญ่ที่มีการจัดขึ้นในทุกๆ ปี รวมไปถึงขยายพื้นที่ไปสู่ต่างจังหวัด จนกระทั่งมาถึงงาน ‘วิ่งด้วยกัน Bangkok 2025’ ที่มีคนพิการเข้าร่วมกว่า 500 คน รวมถึงมีไกด์รันเนอร์ อาสาสมัคร เข้าร่วมกว่า 1,700 คนในปีนี้
ชวนไปพูดคุยกับ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. ถึงเบื้องหลังความตั้งใจในการจัดงานวิ่งด้วยกัน รวมไปถึงการสร้างพื้นที่สุขภาวะ ที่ทำให้คนพิการได้ออกกำลังกายและมีสุขภาพดีเช่นเดียวกับคนปกติ
สถานการณ์ของคนพิการในประเทศไทยตอนนี้เป็นอย่างไร
ปัจจุบันมีคนพิการอายุ 15 ปีขึ้นไป ประมาณ 2.2 ล้านคน หรือ 3.3 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด กลุ่มนี้มีทั้งคนที่พิการมาตั้งแต่กำเนิดและผู้ที่เพิ่งพิการจากโรคหรืออุบัติเหตุ เช่น โรค NCDs หรือโรคเบาหวานที่อาจทำให้ต้องถูกตัดขา หรืออุบัติเหตุที่ทำให้เกิดกะโหลกร้าวและเลือดออกในสมอง คนพิการใหม่ๆ จึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการจัดการเพื่อป้องกันความพิการที่เกิดขึ้น และดูแลคนพิการทั้งด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิต ให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเท่าเทียมและมีความสุข แนวคิดของสังคมไทยที่จะเป็นสังคมที่เอื้ออาทร ดูแลซึ่งกันและกัน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังจึงมีความสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนสังคมไปด้วยกัน
หากต้องการให้แนวคิดนี้ประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิดและเจตคติของสังคมเกี่ยวกับคนพิการ ให้เห็นว่าคนพิการสามารถเป็นพลังแห่งสังคมได้ ไม่ใช่ภาระของสังคม หากมีการพัฒนาทักษะในการใช้ชีวิตและการทำงาน คนพิการจะสามารถเปลี่ยนจากภาระเป็นพลังได้ แต่หากยังถูกมองว่าเป็นภาระและถูกกักตัวอยู่บ้าน ความรู้สึกของศักดิ์ศรีและความหดหู่จะส่งผลเสียต่อจิตใจและความมั่นใจในการดำรงชีวิต ดังนั้น มุมมองและการสนับสนุนจากสังคมมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างพลังให้กับคนพิการ เพื่อให้เขาสามารถพัฒนาตัวเองและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากอดีตถึงปัจจุบัน การดูแลของภาครัฐและเอกชนดีขึ้นมากน้อยขนาดไหน
ไทยมีความก้าวหน้าในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนพิการขึ้นมาก มีพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ที่ส่งเสริมการศึกษาฟรี และบริการสาธารณะต่างๆ ที่ไม่มีค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ กฎหมายยังสนับสนุนให้องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน มีการจ้างงานคนพิการในอัตรา 1 คนต่อจำนวนพนักงานทุกๆ 100 คน ตามมาตรา 33, 34 และ 35 ทำให้ภาคเอกชนหลายแห่งเข้ามามีส่วนร่วมในการจ้างงานคนพิการ และยังมีมูลนิธินวัตกรรมเพื่อสังคม ที่ทำหน้าที่จับคู่คนพิการกับบริษัทเอกชน ช่วยให้คนพิการได้รับการจ้างงานหรือทำงานเพื่อชุมชนและสังคม เช่น การรณรงค์กับมูลนิธิเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการเมาไม่ขับ หรือการทำงานเป็นจิตอาสาในกิจกรรมบริการชุมชน การสนับสนุนดังกล่าว ทำให้คนพิการมีโอกาสในการทำงานและสามารถดูแลตนเองและครอบครัวได้ แม้บางคนอาจไม่มีทักษะทางวิชาชีพสูง แต่พวกเขายังสามารถเป็นพลังสำคัญในการสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและชุมชน ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ เป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการในประเทศไทยได้
มุมมองของคนในสังคมทั่วไป ที่มีต่อศักยภาพของคนพิการทุกวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง
การส่งเสริมสิทธิและโอกาสของคนพิการก้าวหน้าอย่างเห็นได้ชัด สถานที่ต่างๆ ปรับปรุงให้มีห้องน้ำสำหรับคนพิการ ทางลาด และพื้นที่สาธารณะที่เอื้อเฟื้อแก่คนพิการ และยังมีโอกาสได้ทำงานในบริษัททั้งภาครัฐและเอกชน ส่งผลให้สังคมเปิดใจรับและให้โอกาสมากขึ้นเนื่องจากได้เห็นศักยภาพที่แท้จริงของคนพิการในที่ทำงานด้วย ซึ่งการที่คนพิการได้เข้ามาทำงาน แสดงให้เห็นว่าบางครั้งพวกเขาสามารถทำงานได้ดีกว่าคนทั่วไป เพราะสามารถโฟกัส ทุ่มเท และมุ่งมั่นในงานที่ทำอย่างเต็มที่ ในขณะที่บางครั้งคนทั่วไปอาจจะมีปัญหาหรือภาระที่ทำให้ไม่สามารถโฟกัสกับงานได้อย่างเต็มที่ แต่ก็ยังคงมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคนพิการอยู่บ้าง อาจมองว่า การจ้างคนพิการเข้ามาทำงานเป็นเรื่องยากลำบาก ต้องเสียเวลาในการสอนงานและดูแล เปลืองสวัสดิการของบริษัท ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงและการยอมรับเพิ่มเติมจากสังคมในระยะยาว
จุดเริ่มต้นของงาน ‘วิ่งด้วยกัน’ ในปี 2558 เกิดขึ้นได้อย่างไร
กิจกรรมวิ่งด้วยกัน หรือ Run Together เริ่มต้นจากที่ สสส. มีแนวคิดว่าคนพิการควรมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีโอกาสออกกำลังกายเช่นเดียวกับคนทั่วไป เพื่อป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs โครงการนี้เริ่มในปี 2558 ชวนคนพิการให้มาร่วมวิ่ง ในช่วงแรกมีเพียง 12 คน เนื่องจากบางคนกลัวอันตรายหรือกลัวโดนดูถูก เราจึงผลักดันให้การจัดงานได้รับการดูแลเรื่องความปลอดภัยและสถานที่ออกกำลังกาย หลังจากนั้นจำนวนผู้เข้าร่วมก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 300 คนจนถึง 400-500 คน การจัดงานได้ขยายใหญ่ขึ้นตั้งแต่ปี 2559 และในปี 2560 เราได้พิจารณาถึงการเชื่อมโยงกับภาคส่วนต่างๆ เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนผู้พิการ ให้บุคคลในกลุ่มนี้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น
ความสำเร็จจากภาพที่เห็นถึงจำนวนของคนพิการที่เข้าร่วม ก็มีปัญหาคือการขยายกิจกรรมไปยังจังหวัดอื่น เนื่องจากงบประมาณจำกัด ต้องดึงเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม ดังนั้นตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา ได้เชิญชวนภาคเอกชนเข้ามาร่วมสนับสนุน อาทิ บริษัท กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต ทำให้ สสส. สามารถขยายผลในจังหวัดอื่นๆ ได้ ปัจจุบันมี 5 จังหวัดที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งเชียงใหม่ อุดรธานี ขอนแก่น ชลบุรี และสุราษฎร์ธานี ช่วยทำให้เกิดการรับรู้ในแต่ละจังหวัด ทำให้สามารถขยายกิจกรรมได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น ทั้งนี้ งบประมาณจาก สสส. มีข้อจำกัดเนื่องจากต้องดำเนินการหลายด้าน แต่เมื่อมีภาคเอกชนเข้าร่วม จะช่วยเสริมต่อยอดทำให้การขยายผลและการกระจายกิจกรรมเป็นไปได้มากขึ้น
จำนวนผู้สมัครที่เพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี สะท้อนให้เห็นถึงอะไร
ผู้เข้าร่วมเปิดใจมากขึ้น ทำให้จำนวนผู้เข้าร่วมงานเพิ่มขึ้นทุกปี คนพิการเริ่มยอมรับว่าสังคมเห็นคุณค่าและไม่ได้มองพวกเขาเป็นภาระหรือปัญหา เมื่อพวกเขาเปิดใจก็สามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ได้ ไม่เพียงแต่มอบมุมมองใหม่ให้แก่พวกเขา แต่ยังเปลี่ยนมุมมองของคนทั่วไปด้วย สิ่งสำคัญที่สุดในกระบวนการทั้งหมดนี้ไม่ใช่กิจกรรม แต่คือเจตคติและทัศนคติ เพราะเมื่อมุมมองเปลี่ยนก็จะเกิดแรงจูงใจ หากพวกเขามีมุมมองใหม่ที่รู้สึกว่าสังคมเปิดรับ พวกเขาจะนำศักยภาพที่มีไปใช้ในการทำงาน การช่วยเหลือผู้อื่น การดำเนินชีวิต และสามารถพึ่งพาตัวเองได้ นี่คือพลังที่ซ่อนอยู่ภายใน
เสียงตอบรับของคนพิการที่เข้าร่วมงานเป็นอย่างไรบ้าง
เสียงตอบรับดีมาก ปีนี้มีคนพิการเข้าร่วมกิจกรรมถึง 500 คน เพิ่มขึ้นจากปีแรกที่มีเพียง 100-200 คน การเข้าร่วมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแสดงให้เห็นถึงความสนใจในกิจกรรม ไกด์รันเนอร์หลายคนกลับมาร่วมทุกปี เพราะพวกเขาต้องการทำความรู้จักกับคนพิการและเปิดโอกาสให้คนพิการได้พูดคุยกัน วันนี้ผมได้ร่วมวิ่งกับคุณเจมส์ คนตาบอด ที่สามารถสร้างรายได้และดูแลพ่อแม่ของเขาเอง ความสำเร็จนี้แสดงให้เห็นว่าคนพิการไม่ใช่ภาระ แต่สามารถดูแลตัวเองและครอบครัวได้ กิจกรรมวิ่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงงานวิ่งเท่านั้น แต่ยังเป็นการฝึกซ้อมสำหรับคนพิการที่ต้องการวิ่งระยะไกล พวกเขาจะไปฝึกซ้อมที่สวนสาธารณะ มีโอกาสพบปะผู้คน และสร้างความมั่นใจในการใช้พื้นที่สาธารณะมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ การออกกำลังกายยังส่งเสริมสุขภาพที่ดีให้กับคนพิการ ผู้ที่ใช้รถเข็นก็จะมีโอกาสทดสอบความสะดวกสบายและความปลอดภัยของสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ และนำข้อเสนอแนะกลับมายังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับปรุงสถานที่ให้ปลอดภัยและสะดวกสบายยิ่งขึ้นด้วย ผลกระทบเชิงบวกในภาพกว้าง ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นกับกับคนพิการเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับทุกคนในสังคมด้วย สิ่งที่เราทำอาจมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันคือการขับเคลื่อนภาพรวมที่สำคัญ เพื่อตอกย้ำว่าทุกคนควรกลับมามองและทำงานร่วมกับคนพิการ เราต้องเปิดใจในการรับคนพิการเข้ามาสู่สังคม ให้โอกาสเขาในการใช้ชีวิต ในการออกกำลังกาย และในการประกอบอาชีพ ที่สำคัญที่สุดคือ การทำให้คนพิการมีศักดิ์ศรีในสังคม นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง
บทบาทของ สสส. ในการผลักดันโอกาสและความเท่าเทียมของคนพิการ หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร
ยังคงเน้นการสานพลัง สร้างนวัตกรรม และสื่อสารด้านสุขภาพ สสส. จะเป็นส่วนหนึ่งในการรวมพลังจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ เพื่อขับเคลื่อนสุขภาวะของคนไทยทุกคน โดยให้ความสำคัญกับการมองสุขภาพในทุกมิติอย่างเท่าเทียม และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เรามุ่งปรับทัศนคติและให้โอกาสกับคนพิการ สนับสนุนให้พวกเขามีศักดิ์ศรีและสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความภาคภูมิใจ มีกิจกรรมต่างๆ เช่น การปรับสภาพบ้านให้เหมาะสม การส่งเสริมการจ้างงาน และการพัฒนาทักษะอาชีพ ซึ่งจะช่วยให้คนพิการมีพลังใจในการพัฒนาตัวเอง และยืนหยัดอย่างมีศักดิ์ศรีในสังคม ทั้งหมดนี้เป็นทิศทางที่สังคมต้องร่วมขับเคลื่อน ส่วน สสส. จะเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ที่ช่วยเสริมทั้งการสื่อสารและการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า โดยการร่วมมือกับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชนหรือภาครัฐ เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับสังคม
สิ่งที่เราต้องการสื่อคือ ความเท่าเทียมไม่ควรเป็นเพียงแนวคิด แต่ต้องเป็นความเท่าเทียมสำหรับทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานะทางสังคม รวมถึงคนพิการ และแนวคิดนี้ต้องสามารถนำไปปฏิบัติจริง เพื่อเปิดโอกาสให้กับทุกคน
ไม่ใช่เพียงคนพิการ แต่ทุกคนในประเทศไทย ได้รับความเท่าเทียม และสามารถเข้าถึงสุขภาวะ และทรัพยากรต่างๆ ที่จะนำพาให้สังคมมีความสุขอย่างแท้จริง