อย่างที่ทราบกันว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ได้สร้างสรรค์กิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพต่างๆ ให้กับคนไทยมาโดยตลอด ด้วยนวัตกรรมที่ใช้ภาษีจากเหล้าและบุหรี่มาขับเคลื่อนองค์กร แต่รู้หรือไม่ว่า โมเดลดังกล่าวคือต้นแบบที่ทำให้หลายประเทศนำไปปรับใช้ จนประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน
ทำให้เกิด INHPF – The International Network of Health Promotion Foundations หรือ เครือข่ายกองทุนสร้างเสริมสุขภาพนานาชาติ ที่ปัจจุบันมี 7 หน่วยงานใน 6 ประเทศ ทั้งออสเตรเลีย สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ตองงา และไทย ซึ่งจะมีการจัดประชุมในระดับเครือข่ายทุกปี ในปีนี้ถือเป็นครั้งที่ 20 โดย สสส. ได้รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพ ในประเด็น ‘ก้าวต่อไปของเครือข่าย สสส. โลก: ขับเคลื่อนนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพสู่สุขภาวะที่เป็นธรรม’ ที่กำลังจะขึ้นในวันที่ 7-10 พฤศจิกายน 2566 นี้
The MATTER ชวนไปพูดคุยถึงเบื้องหลังการประชุมนี้กับ ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สสส. ถึงประเด็นที่น่าสนใจ และผลกระทบในเชิงบวกที่เกิดขึ้นกับการสร้างเสริมสุขภาพของคนไทย
สสส. กับการเป็นต้นแบบให้กับเครือข่ายนานาชาติ
“สสส. เป็นต้นแบบขององค์กรที่ทำงาน ทั้งในเชิงของการทำงานสร้างเสริมสุขภาพ และเป็นองค์กรที่ทำเรื่องกองทุนสร้างเสริมสุขภาพด้วย ในภาพรวมต้องบอกว่า ในรอบ 20 กว่าปีที่ผ่านมา สสส. เป็นองค์กรนวัตกรรมที่ใช้ Earmarked Tax หรือภาษีจากเหล้าและบุหรี่ มาทำกิจกรรมที่นำไปสู่การสร้างเสริมสุขภาพต่างๆ ถ้าเป็นภาษาที่สากลเรียกว่าเป็น Innovative Financing of Health Promotion ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนงานของ สสส. มาตลอด และเป็นต้นแบบให้กับหลายๆ ประเทศทั่วโลก แต่จริงๆ ต้องบอกว่าแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน เพราะการบริหารงบประมาณประกอบด้วยหลายส่วน ส่วนที่หนึ่ง คืองบประมาณที่มาจากภาษีบาป เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลังของประเทศต่างๆ การควบคุมเงินก็จะไม่เหมือนกัน อาจจะเป็นอุปสรรคค่อนข้างใหญ่เลย แต่อีกคำถามหนึ่งก็คือเรื่องประสิทธิผลของกองทุน เราสามารถนำงบตรงนี้ไปกระจายให้คนทำงานได้อย่างไร ขั้นตอนตรงนี้ คิดว่าคือความยากที่ประเทศอื่นๆ อาจจะไม่เหมือน สสส. ประเทศไทยที่มีกลไกการทำงานแบบภาคี หลายภาคส่วน ซึ่งคือหัวใจเลย แต่ประเทศอื่นจะไม่ได้ทำงานกับหน่วยงานที่หลากหลายเท่ากับ สสส.
“ในเวทีโลกจะมีคำหนึ่งเรียกว่า Multi-Factorial Partnership มีหลายประเทศมาดูงานว่า เราทำงานกับหน่วยงานที่แตกต่างกันมากๆ ได้อย่างไร ทั้งภาคสังคม ภาควิชาการ ภาคนโยบาย ซึ่งเป็นภาคีได้ทั้งหมดเลย นั่นหมายความว่ากองทุนเราก็สามารถให้ทุนภาครัฐ หรือภาควิชาการก็ได้ ซึ่งมีความยืดหยุ่นในการมอบทุนให้กับผู้รับทุนประเภทต่างๆ แต่ละประเทศก็ไม่เหมือนกัน ที่ยากที่สุดก็คือการมีองค์กรที่เป็นตัวกลางเหมือน สสส. เป็นสิ่งที่ยากสุด เราให้นิยามตัวเองว่าเป็น Autonomous Agency หรือเป็นองค์กรที่มีบอร์ดบริหาร มีงบประมาณ และมีการประเมินของเราเอง ไม่สังกัดกระทรวงไหน นี่คือความยาก ซึ่งประเทศอื่นๆ เขาจะไม่ได้เป็นหน่วยงานอิสระ หรือเป็นหน่วยงานหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุขก็มี
“under กับ partner คล้ายๆ กัน คือต้องบอกว่าการทำงานสร้างเสริมสุขภาพก็หนีไม่พ้นหน่วยงานหลักคือกระทรวงสาธารณสุข เพราะฉะนั้นกระทรวงสาธารณสุขกับ สสส. เป็น partner ซึ่งกันและกันหลายๆ โปรเจกต์ แต่ว่าด้วยรูปแบบการบริหาร กระทรวงสาธารณสุขเป็นหนึ่งในบอร์ดกองทุนของเรา และยังมีกระทรวงอื่นๆ อีก 8 กระทรวงเข้ามาร่วมด้วย เพราะฉะนั้นการเป็น partner เรียกว่าทำงานด้วยกัน แต่ก็ไม่ได้เข้ามาเป็นลักษณะของการกำกับดูแล แต่ถ้าเป็นประเทศอื่น ยกตัวอย่าง ไต้หวันหรือสิงคโปร์ ซึ่งก็มี สสส. ที่เป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงสาธารณสุขเลย”
จุดเริ่มต้นของเครือข่าย INHPF ที่เสริมสร้างนวัตกรรมสุขภาพในระดับนานาชาติ
INHPF – The International Network of Health Promotion Foundations หรือเครือข่ายกองทุนสร้างเสริมสุขภาพนานาชาติ เกิดขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2543 แต่ที่น่าแปลกใจคือ สสส. เราก่อตั้งปี พ.ศ. 2544 เพราะฉะนั้นเครือข่ายที่เกิดมาก่อนแรกสุดเป็นของประเทศออสเตรเลียคือ Victorial Health อยู่ที่แคว้นวิคตอเรีย เป็นหน่วยงานต้นแบบของ สสส. เพราะว่าตอนที่กำลังจะออก พ.ร.บ. ตั้ง สสส. บอกว่าจะต้องมีภาษีบาปจากเหล้าและบุหรี่ โดยต้องมีสำนักงานทำหน้าที่บริหารจัดการให้ แต่ยังไม่มีใครรู้ว่าหน้าตาเป็นแบบไหน เพราะฉะนั้นต้นแบบที่ใกล้เคียงที่สุดก็คือ Victorial Health ของออสเตรเลีย ทั้งรูปแบบการทำงานที่จะนำไปสู่การให้ทุนทำอย่างไร ผู้รับทุนมาจากไหน ติดตามทุนอย่างไร ดูแลงานสร้างเสริมสุขภาพขอบเขตประมาณไหน ที่นี่จะเป็นต้นแบบทั้งหมด จนปัจจุบันมี 7 หน่วยงานใน 6 ประเทศแล้ว คืออยู่ในออสเตรเลีย 2 องค์กร สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ตองงา และประเทศไทย ซึ่งในแต่ละประเทศจะมีการบริหารงานที่ไม่เหมือนกัน ที่เหมือนกันอย่างเดียวก็คือการเป็นกองทุนเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ
“เหตุผลที่ต้องเกิดการรวมตัวกันของเครือข่าย เพราะว่าลักษณะของกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ จะไม่มีต้นแบบของการทำงานที่ชัดเจน และการก่อตั้งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายในแต่ละประเทศ จึงมีการรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างเครือข่ายที่แข็งแรงหรือเกิดเป็นต้นแบบตัวอย่างที่ใช้อ้างอิงได้ และเกิดการช่วยเหลือกันในลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อน เพื่อให้เห็นว่านี่คือนวัตกรรมที่แข็งแรง นอกจากนั้น คือรูปแบบของการทำงานสร้างเสริมสุขภาพที่หลากหลายมาก แต่ละประเทศเองก็มีปัญหาสุขภาพไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นการที่มีองค์กรที่ทำงานคล้ายๆ กันมาเจอกันบ่อยๆ มีการแลกเปลี่ยนกันจะช่วยในเรื่องของการบริหารจัดการกองทุน จึงเป็นธรรมเนียมที่มีการประชุมกันมาต่อเนื่องกว่า 20 ปีแล้ว ซึ่งการประชุม มีทั้งเรื่องของธุรการ การประชุมวิชาการ รวมถึงการเผยแพร่ความรู้ให้กับประชาชนภายนอกด้วย”
การประชุมเครือข่ายประจำปี และการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
“หลักๆ จะมี agenda ในการประชุมอยู่ 2 เรื่องในทุกการประชุม เรื่องแรกคือ context based หรือว่าเป็นสถานการณ์ในปีนั้น เรื่องที่สองคือ internal affair หรือกิจการภายใน ยกตัวอย่าง ประเด็นเรื่องเทรนด์หรือบริบทปีนี้กับปีที่แล้ว สถานการณ์สุขภาพก็ไม่เหมือนกัน ซึ่งนำมาสู่คำว่าธีมในแต่ละปี อย่างเรื่องโควิด-19 หรือเรื่องดิจิทัล แล้วแต่ว่าในปีนั้นผู้คนสนใจประเด็นอะไร ส่วน internal affair จะไม่ได้อิงกับประเด็นสุขภาพ แต่จะเป็นการคุยกันเรื่องของความท้าทาย ปัญหา และอุปสรรคในองค์กร ทั้งเรื่องของกฎหมาย การถูกตั้งคำถามต่างๆ หรือมิติการทำงานที่ไม่ตรงกัน เพื่อนำมาพูดคุยกันและช่วยเหลือกันในลักษณะแบบเพื่อนช่วยเพื่อน
“คำว่าเพื่อนช่วยเพื่อน เกิดขึ้นเพื่อลดความเป็นทางการ เป็นลักษณะที่ทุกเครือข่ายเทียบเท่ากันหมด สามารถคุยกันได้ทุกเรื่อง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าคุยเฉพาะขับเคลื่อนงานอย่างเดียว แต่ว่าเวลาเพื่อนมีปัญหา เครือข่ายจะมีการช่วยเหลือกันซึ่งกันและกัน เป็นการปฏิบัติโดยไม่ถึงกับเป็นทางการมากนัก และในเครือข่ายเอง ทุกๆ ปีจะมีการหมุนเวียนสับเปลี่ยนบทบาทกัน ไม่มีใครเป็นหัวหน้าใคร เพื่อให้เครือข่ายสามารถจัดการได้อย่างเป็นระเบียบและมีโครงสร้าง โดยการแบ่งหน้าที่สมาชิกใน 7 องค์กร ออกเป็น 3 หน้าที่ คือประธานเครือข่าย ปัจจุบันคือ Victorial Health อีกตำแหน่งคือเลขาธิการ ทำหน้าที่เตรียมวาระประชุมต่างๆ ส่วน สสส. เป็นเลขาธิการ และมีตำแหน่งเหรัญญิก ปัจจุบันคือ Tonga Health ซึ่งบทบาทจะเวียนไปเรื่อยๆ มีวาระ 2-3 ปี โดยใช้การประชุมทุกๆ ปีในการเลือกใหม่ นอกจากนั้นมีการเลือกเจ้าภาพในการจัดประชุมวิชาการ ปีนี้เป็นครั้งที่ 20 แล้ว สสส. เป็นเจ้าภาพ”
ก้าวต่อไปของเครือข่าย สสส. โลก: ขับเคลื่อนนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพสู่สุขภาวะที่เป็นธรรม
“ธีมของปีนี้คือ ‘ก้าวต่อไปของเครือข่าย สสส. โลก: ขับเคลื่อนนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพสู่สุขภาวะที่เป็นธรรม The Next Step of INHPF: Accelerating Health Promotion Innovations towards Equitable Well-being’ คือถ้าดูคีย์เวิร์ดภาษาไทย คำว่าก้าวต่อไปคือ Next step เพราะฉะนั้นครั้งนี้เราจะพูดถึงอนาคตต่อไป ส่วนประเด็นเรื่องของการขับเคลื่อนนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ คือการทำอย่างไรให้นวัตกรรมที่สร้างออกมาจากองค์กรเหล่านี้ ได้รับการขับเคลื่อนเพื่อจะนำไปสู่สุขภาวะที่เป็นธรรม ส่วนภาษาอังกฤษจะมีคำว่า Accelerating คือการกระตุ้น การเร่งให้นวัตกรรมเร็วขึ้น จะทำอย่างไรให้สามารถขยายผลได้เร็วขึ้น
“ส่วนคำว่า Equitable Well-being หรือสุขภาวะที่เป็นธรรม เป็นคำใหม่ที่เจอเยอะขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ จากเวทีนานาชาติหลายๆ เวทีที่เน้นเรื่องความเท่าเทียมและความเป็นธรรม เพราะเมื่อไรก็ตามที่เกิดนวัตกรรมแบบนี้ จะมีคนกลุ่มเปราะบางถูกทิ้งไว้เสมอ ซึ่งโยงกับ SDGs ที่บอกว่า Leave no one behind คือไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง วัตถุประสงค์ของการประชุมครั้งนี้ เราจึงอยากประกาศจุดยืนของ INHPF ในเวทีโลก นั่นก็คือ UN กับ WHO รวมถึงในการประชุมครั้งนี้จะมีไฮไลท์เรื่องประกาศปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการสร้างเสริมสุขภาพ จะต้องไม่ทำให้เกิดการแบ่งแยก ต้องเข้าถึงคนจำนวนมาก และไม่ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ มองวัตถุประสงค์การจัดงานปีนี้เอาไว้ 3 ข้อ
“ข้อแรก คือทำให้เครือข่ายมีความเข้มแข็งขึ้น การที่เครือข่ายรวมตัวกัน นอกจากการประชุมวิชาการ เราควรจะรวมตัวเพื่อไปขับเคลื่อนประเด็นอื่นๆ ด้วย หรือไปช่วยประเทศอื่นๆ ที่จะมีกองทุนคล้ายๆ กัน ให้เขาสามารถก่อตั้งได้หรือออกกฎหมายได้ เพราะว่าถ้าเครือข่ายยิ่งเข้มแข็ง เราก็มีเพื่อนเยอะขึ้น เกิดต้นแบบใหม่ๆ ที่สามารถเรียนรู้และช่วยเหลือกันได้ ประเทศไทยก็จะมีความเข้มแข็งตามไปด้วย
ข้อสอง คือการประกาศจุดยืนของเครือข่ายนี้ในเวทีโลก เพราะว่าเรารวมตัวเครือข่ายกัน แต่ว่าคนนอกไม่รู้ว่าเราคือใคร เลยทำให้ไม่ค่อยมีบทบาทนักในการเคลื่อนไหวในเวทีใหญ่ๆ ของโลก จะทำอย่างไรให้การประกาศปฏิญญาแล้วคนรู้จักว่า สสส. ไทย ก็เป็นหนึ่งในเครือข่าย สสส. โลก
ข้อสาม คือการแบ่งปันประสบการณ์ในการทำงานและขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์การทำงานในอดีต แผนการทำงานในอนาคต อย่างเช่น การจัดการประเด็น NCDs, การทำ social marketing, การจัดการเครือข่ายและความเป็นธรรม ซึ่งแต่ละประเทศก็จะมีสิ่งที่ได้เรียนรู้อยู่ ทำให้เราได้เห็นตัวอย่างดีๆ ของประเทศอื่น ในขณะเดียวกันประเทศอื่นก็จะเห็นของดีจากประเทศไทยเหมือนกัน”
อนาคตของเครือข่าย สสส. โลก ที่จะส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อสุขภาพของคนไทย
การมีเครือข่ายนี้ใน Next step เลย คือเรื่องของการเสริมสร้างขีดความสามารถของเครือข่าย เพราะจริงๆ เราเป็นเครือข่ายที่มีศักยภาพ แต่ที่ผ่านมาอาจจะยังขาดการจัดการที่ดีและขาดความต่อเนื่อง สิ่งที่คาดหวังให้เกิดขึ้น คือทำอย่างไรให้การประชุมนี้ไม่ใช่แค่การประชุมวิชาการ แต่เป็น talent mobility จากความเชี่ยวชาญของ 7 องค์กร ที่ร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิด solution ใหม่ระดับโลกด้วยกัน และอีกประเด็นคือแผนระยะยาว คือ สสส. เราสามารถนำ best practice ไปแนะนำประเทศอื่นๆ ได้ โดยเฉพาะเรื่อง Social Marketing ที่ประเทศไทยเราเป็นผู้นำ เรื่อง Public-Private Partnerships ของสิงคโปร์และไต้หวัน เรื่อง Digital Health และ Urban Health ของเกาหลีใต้ ซึ่งแต่ละประเทศจะมีจุดแข็งที่สามารถเรียนรู้กันได้
ในธีมของปีนี้ ทุกประเด็นมีประโยชน์มาก ยกตัวอย่างสิงคโปร์ จะมี best practice เรื่องของ National Step Challenge ที่สามารถทำให้คนเกือบทั้งเกาะสิงคโปร์มาทำ PA ได้ หรือแม้กระทั่งเรื่องความเท่าเทียม เช่นตองงา ที่คนเกือบทั้งเกาะเป็น NCDs เขาแก้ปัญหาอย่างไร เพราะฉะนั้นคิดว่าประเด็นเหล่านี้ เราจะได้จากการประชุม แต่ความสัมฤทธิ์ผลจะขึ้นอยู่ที่ประสบการณ์ของแต่ละประเทศ เพื่อเรียนรู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ และนำไปสู่การแก้ปัญหาสุขภาพได้อย่างไร สุดท้ายประโยชน์ก็จะกลับมาที่คนไทยด้วยกันเอง
“อนาคตเรามองว่า เป้าใหญ่ที่สุด คือการทำให้ สสส. เป็น Global Learning Hub for Health Promotion คือเรามี best practice ที่ดีจำนวนมาก รวมไปถึงของเครือข่ายของประเทศอื่นๆ อีกด้วย ซึ่งอันนี้ก็จะเป็นก้าวต่อไปของงานวิเทศสัมพันธ์หรืองานต่างประเทศ ที่ สสส. พยายามทำให้องค์ความรู้เกิดขึ้นในระดับโลก และสามารถรวมองค์ความรู้ของทั้งโลกมารวมไว้ที่นี่ได้”