สถานการณ์เรื่องสุขภาพของคนไทยตอนนี้ ยังถือว่าอยู่ในสถานะที่น่าเป็นห่วง เพราะนอกจากเรื่องของโควิด-19 ที่ต้องเฝ้าระวังแล้ว คือเรื่องของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs ที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทย
หัวใจสำคัญในการแก้ปัญหา คือเรื่องของระบบบริการสุขภาพที่ต้องเข้าถึงประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม ตั้งแต่เรื่องของการดูแลป้องกัน การรักษาพยาบาล ไปจนถึงการสร้างองค์ความรู้ในการสร้างเสริมสุขภาพ ให้คนไทยทุกคนสามารถดูแลตนเองให้มีสุขภาพดีได้ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด
The MATTER ชวนไปพูดคุยกับ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ หรือสำนัก 7 หนึ่งในหน่วยงานของ สสส. ที่รับผิดชอบการสร้างเสริมสุขภาพผ่านระบบบริการสุขภาพ ถึงเบื้องหลังการทำงานที่จะทำให้คนไทย สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียมได้สำเร็จ
สถานการณ์เรื่องระบบบริการสุขภาพในภาพรวมตอนนี้เป็นอย่างไร อะไรเป็นวิกฤตที่ยังหาทางออกไม่ได้
ในเรื่องสถานการณ์สุขภาพ ต้องบอกว่าเรื่องของโรคที่เราเจออยู่ทุกวันนี้ จะเป็นโรคที่เกิดจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ลองไปดูสาเหตุการตายของคนไทยส่วนใหญ่ อันดับต้นๆ คือผู้ชายเป็นเรื่องของอุบัติเหตุ มะเร็ง ทั้งมะเร็งตับและมะเร็งปอด แล้วพออายุมากขึ้นหน่อย ก็กลายเป็นเรื่องของโรคจากหลอดเลือด เช่น หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต เดิมวิถีชีวิตของคนไทยเป็นเกษตรกรรมที่ใช้พลังงาน และการกินก็ไม่ได้การกินอะไรเยอะ แต่ปัจจุบันนี้ พอสังคมเปลี่ยนสะดวกสบายมากขึ้น มีตู้เย็น มีร้านสะดวกซื้อ ทำให้เราบริโภคเกินจำเป็น
ศัตรูที่ร้ายกาจที่สุด ก็คือใจของเราเอง เมื่อก่อนที่เจอกับสงครามเชื้อโรค เราก็รบชนะมา ทั้งโรคหัด อหิวาตกโรค ฝีดาษ เพราะเราใช้เครื่องมืออย่างยาปฏิชีวนะและวัคซีน ซึ่งมันง่าย คือการฉีดและกิน แต่ปัจจุบันนี้โรคมันเกิดจากใจ แพ้ใจ เพราะในยุคที่มนุษย์ต้องการความหวานและความมันเป็นพลังงาน ส่วนความเค็มก็คือเกลือ ซึ่งขาดไม่ได้เลยในเซลล์ ก็เลยเสพติด พอกินมากๆ ก็ล้นจนกลายเป็นพิษที่ย้อนกลับมา ทำให้เป็นโรคที่เรียกว่า NCDs แล้วยังมีเรื่องสารเสพติดอย่างเหล้า บุหรี่ เรียกว่าความสุขสำเร็จรูป พอเราเหงา เบื่อ เศร้า เราก็ซดเหล้า สูบบุหรี่ และสารเสพติดต่างๆ กลายเป็นว่าเป็นทาสของตัวเอง คือใจที่อยากจะเสพสิ่งต่างๆ มากเกินไป กินพอดี คือยาวิเศษ กินเกิน มันคือยาพิษ
สถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้รุมเร้า แม้ว่าอายุค่าเฉลี่ยของคนเพิ่มขึ้น เนื่องจากการตายจากเชื้อโรคลดลง แต่บางส่วนก็เป็นอายุยืนยาวแบบติดเตียง หรือพิการ จากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และไม่สามารถทำงานได้ กลายเป็นภาระของสังคมไทย นี่คือสถานการณ์ภาพรวมของโรคต่างๆ ในปัจจุบัน
เมื่อเกิดวิกฤตเช่นนี้ สสส. เข้าไปจัดการกับปัญหานี้อย่างไร
ในภาพรวมของ สสส. จะพยายามเข้าไปหนุนเสริมให้ทุกภาคีเครือข่ายเข้ามาร่วมมือกัน หนึ่งในการจัดการปัญหาคือการขับเคลื่อนเรื่องของการสร้างเสริมสุขภาพผ่านระบบบริการสุขภาพ ความหมายคือในระบบบริการ ทุกคนจะคาดหวังการเข้ามารักษาและซ่อมสุขภาพ แต่พอมีการซ่อมกันมากๆ จำนวนคนป่วยก็กลับมากขึ้น เพราะการรักษาทำให้เขาเสียชีวิตช้าลง ระบบบริการเองก็จะแบกรับน้ำหนักของภาระที่เพิ่มมากขึ้นไม่ไหว พอเป็นลักษณะนี้ สิ่งที่ สสส. จะช่วยเหลือ คือการไปหนุนเสริมให้ระบบบริการสุขภาพ ทั้งโรงพยาบาลและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล มาช่วยกันทำงานสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อให้ลดน้ำหนักที่กดทับลงไป โดยการลดจำนวนคนป่วยลง เพื่อให้สามารถที่จะดูแลคุณภาพของการรักษาพยาบาลได้ดีขึ้น ยุทธศาสตร์ของ สสส. คือเข้าไปจุดประกาย กระตุ้น สาน และเสริมพลัง ให้ภาคีเครือข่าย มาช่วยกันดูแลสร้างเสริมสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
จากวิกฤตโควิด-19 ที่เข้ามา มีวิธีการรับมือ และปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินงานในรูปแบบไหน
ต้องเข้าใจว่า เดิมทีสิ่งที่ทำร้ายสุขภาพของคนไทย คือโรคไม่ติดต่อเรื้อรังซึ่งก็ยากอยู่แล้ว แต่พอเราเจอกับโรคติดเชื้อที่ร้ายแรงเข้ามาแทรก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเจอมาก่อน ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่แย่อยู่แล้ว พอติดเชื้อโควิดก็เสียชีวิตหรืออาการทรุดหนักมากขึ้น และยังส่งผลให้การดูแลรักษาพยาบาลโรคไม่ติดต่อเรื้อรังก็แย่ลง และสุขภาพจิตก็ยิ่งแย่ลงไปด้วย ทำให้ทั้งเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของผู้คนลำบากมากขึ้น
ดังนั้น สสส. จึงปรับเปลี่ยนการเข้าไปทำงานกับผู้คน โดยที่พยายามให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง และสามารถพึ่งตัวเองได้ในด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นโรคติดต่อหรือโรคไม่ติดต่อ ถ้าเราสามารถใช้โอกาสในวิกฤตนี้ทำให้คนรวมพลังกัน แล้วเอาชนะโควิดได้ แล้วพลังเดียวกันนั้น จะทำให้ชุมชนเข้มแข็งจนกลายเป็นความร่วมมือที่สามารถเอาชนะโรคไม่ติดต่อได้ด้วย ไม่เพิ่มภาระให้คนป่วยมากขึ้น จะทำอย่างไรให้คนไม่เป็นอัมพาต ไม่เป็นโรคหัวใจ จะออกกำลังกายกันอย่างไรในภาวะโควิดหรือหลังโควิด เป็นสิ่งที่ สสส. พยายามที่จะเสริมให้ภาคีเครือข่ายเข้าใจในเรื่องของการที่ชุมชนมีส่วนร่วม เป็นเจ้าของสุขภาพของตัวเอง และไม่พึ่งพาเฉพาะแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ในการรักษาพยาบาลเท่านั้น
ถ้าให้ลองประเมินผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ถือว่าประสบความสำเร็จมากน้อยขนาดไหน
ต้องแบ่งเป็น ผลงานกับผลลัพธ์ สำหรับผลงานนั้นถ้าให้คะแนนความพยายาม ถือว่าสูงมาก คือเราพยายามเข้าไปทำงานกับกระทรวงสาธารณสุข เข้าไปหนุนเสริมให้หน่วยบริการปฐมภูมิต่างๆ ทั้งโรงพยาบาลและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล มีคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ ที่เราเข้าไปหนุนเสริม ช่วยทั้งเชิงวิชาการและเรื่องต่างๆ ให้เขาทำงานได้ดีขึ้น เราพยายามเข้าไปขับเคลื่อนในหลายประเด็น ให้บรรลุถึงผลลัพธ์ให้ชุมชนสามารถจัดการตนเองและดูแลสร้างเสริมสุขภาพได้
แต่ปัญหาคือตัวผลลัพธ์หรือเป้าประสงค์ ยังเป็นจุดเล็กๆ มองเห็นผลถึงอายุค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น คนติดเตียงน้อยลง ในพื้นที่ต้นแบบ แต่อยากเห็นผลลัพธ์ในภาพรวม ที่วันหนึ่งสามารถขยายไปทุกชุมชน ทำให้คนไทยทุกคนมีสุขภาพที่ดีตามอายุค่าเฉลี่ยที่ควรเป็น ถ้าเกิดอาการป่วย ก็สามารถเข้ารับบริการดูแลสุขภาพได้ ถ้าเป็นไปได้ไปถึงเป้าหมายอันสูงสุด นั่นก็คืออายุค่าเฉลี่ยที่ยืนยาว และเป็นอายุค่าเฉลี่ยของคนที่มีสุขภาพดีด้วย โดยต้องเริ่มจากการตระหนักรู้ก่อน ซึ่งต้องอาศัยคนไทยทุกคน ที่จะมารวมกันเป็นครอบครัว ชุมชน และแผ่ไปทั้งประเทศไทย และอาจจะหมายถึงนานาชาติด้วย นี่คือภาพรวมที่เราอยากเห็น
คาดหวังให้คนไทยเข้าใจเรื่องการดูแลสุขภาพตัวเองอย่างไรบ้าง
โดยอุดมคติแล้ว อยากเห็นทุกคนศึกษาหาข้อมูลความรู้ในการดูแลสุขภาพ สามารถที่จะควบคุมสุขภาพ ทั้งพฤติกรรม ความเสี่ยงต่างๆ และมีชีวิตยืนยาวได้ ต้องวิเคราะห์ว่า ตัวของเราเองมีกรรมพันธุ์อะไรที่อันตรายบ้าง เช่น พ่อเป็นเบาหวาน แม่เป็นความดัน หรือมีคนในครอบครัวเป็นมะเร็ง แล้วก็มาวิเคราะห์ว่าตัวเราเองมีความเสี่ยงต่อโรคอะไรบ้าง น้ำหนักเกิน กินหวานมากไป ไขมันสูง หรือออกกำลังกายเป็นประจำไหม ต้องมีการตรวจสุขภาพอย่างต่อเนื่องเพื่อดูความเสี่ยง เมื่อเกิดพบเจอความผิดปกติ ก็สามารถที่จะชะลอ ยั้ง หรือกลับคืนมาเป็นภาวะปกติได้
ปัจจุบันคนไทย อายุคาดเฉลี่ยผู้ชายอยู่ที่ 73 ปี ผู้หญิงอยู่ที่ 80 ปี เหตุผลที่ผู้ชายอายุคาดเฉลี่ยน้อยกว่าผู้หญิง เป็นเพราะว่าผู้ชายใช้ชีวิตฟุ่มเฟือย ก็คือกินเหล้า สูบบุหรี่ ทำลายสุขภาพอยู่ตลอดเวลา ผู้หญิงเองก็มีความเสี่ยงในเรื่องการที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย มีภาวะอ้วนมากกว่าผู้ชาย ดังนั้นสำหรับความเสี่ยงต่างๆ ต้องเริ่มที่ทุกคนตระหนักรู้และมีข้อมูลที่ถูกต้อง แต่แค่ความรู้ยังไม่พอ ต้องสามารถควบคุมจิตใจ ปรับพฤติกรรม จนกลายเป็นนิสัยแห่งสุขภาพดี ก็สามารถมีอายุยืนยาว ไม่ต้องเข้าไปสู่สายพานแห่งการซ่อมแซมสุขภาพ ทำให้สุขภาพเป็นของเรา เราเป็นเจ้าของและควบคุมได้ เรามีสิทธิ์ที่จะมีอายุยืนและสุขภาพดีได้ นี่เป็นความคาดหวัง
มองเทรนด์เรื่องระบบบริการสุขภาพในอนาคตอย่างไร ในยุคที่โรคระบาดกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนไปแล้ว
วิกฤตโควิดได้สร้างผลกระทบทั้งเรื่องดีและไม่ดี สิ่งที่ดีคือทำให้คนไทยสนใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น รู้จักหาความรู้และเข้าใจปัญหาสุขภาพมากขึ้น บวกกับองค์ความรู้ที่ทำให้เกิดการรวมพลังของชุมชนเพื่อสู้กับโควิดและโรคอื่นๆ ด้วย อีกด้านหนึ่งคือเรื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศ อย่างเช่นแอปฯ หมอพร้อม ซึ่งในอนาคต ถ้าเราสามารถส่งผ่านข้อมูลและความรู้ในทุกๆ เรื่องได้ ไม่ใช่แค่เรื่องโควิดอย่างเดียว ก็จะเป็นสิ่งที่ดีมาก ซึ่ง ทาง สสส. อยู่ระหว่างกำลังพัฒนาแอป PERSONA Health เพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงความรู้ด้านสุขภาพได้อย่างทั่วถึง เช่น ถ้าเป็นโรคไต เมื่อเข้ามาในระบบแอปฯ คุณจะมีความรู้เรื่องโรคไต หรือถ้าพัฒนาต่อไปอีกขั้นหนึ่ง คือมีข้อมูลที่ในระดับของโรงพยาบาลเชื่อมมาที่ สสส. เลย ว่าไตของคุณกำลังเสื่อม ก็สามารถส่งองค์ความรู้เรื่องภาวะไตเสื่อมหรือภาวะก่อนเบาหวานไปให้คุณดูและศึกษา หรือมี AI วิเคราะห์ว่าคุณควรจะรู้อะไรเพิ่มเติมและส่งให้ได้ เป็นการใช้โอกาสของเทคโนโลยีที่กำลังพัฒนา ทำให้คนเข้าถึงองค์ความรู้ที่เหมาะสมหรือเฉพาะเจาะจงกับผู้คนได้ เราก็หวังว่า Digital Transformation หรือการปฏิรูประบบเทคโนโลยีสารสนเทศ จะเป็นจุดเปลี่ยนหนึ่งที่สำคัญ
อย่างไรก็ดี ระหว่างคนกับคนก็ต้องมีความสัมพันธ์ มีความเป็นครอบครัวและชุมชน ซึ่งเทคโนโลยีมาทดแทนไม่ได้ แต่มาช่วยเสริมได้ จะทำอย่างไรให้ความเป็นชุมชนยังคงอยู่ ในขณะที่เทคโนโลยีกำลังหมุนไปเรื่อยๆ ก็เป็นโจทย์ที่ท้าทายให้ทุกคนต้องรู้สึกว่าไม่ใช่แค่การดูแลสุขภาพตัวเองเท่านั้น แต่เมื่อตัวเองสุขภาพดีแล้ว ก็เริ่มห่วงใยผู้อื่น และสร้างเป็นระบบสุขภาพของชุมชนที่ดูแลซึ่งกันและกันได้ หมอและระบบบริการสุขภาพจะเป็นเพียงหน่วยเสริม
แผนการดำเนินงานในก้าวต่อไปของการจัดระบบบริการสุขภาพ มีเป้าหมายในระยะสั้นและระยะยาวอย่างไร
ระยะสั้น สิ่งที่เราพยายามทำอยู่ คือการเข้าไปส่งเสริมระบบสุขภาพปฐมภูมิ ซึ่งเป็นหน่วยที่ใกล้ชิดที่สุด เริ่มตั้งแต่ 3 หมอ คือ อสม. หมอในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และหมอเวชศาสตร์ครอบครัว ซึ่งเป็นภารกิจของกระทรวงสาธารณสุขที่ สสส. เข้าไปหนุนเสริม โดยหน่วยบริการ 3 หมอนี้จะเข้าถึงในแต่ละหมู่บ้านและชุมชน ดูแลแบบครบวงจร ทั้งรักษา ส่งเสริม ป้องกัน และฟื้นฟู ไม่ใช่แค่รักษาอย่างเดียว เมื่อมีบารมีมากพอก็สามารถชวนชุมชนให้รวมกลุ่มกันเพื่อจัดการสุขภาพตนเอง เพราะความเป็นชุมชนเข้มแข็งนั้นจะช่วยได้ทุกเรื่องเลย ซึ่งเป็นจุดที่เรากำลังจะเดินไป
ระยะยาวคือ 3 หมอจะสามารถไปหนุนเสริมให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งและดูแลจัดการตัวเองได้ ทำให้สุขภาพไม่ใช่แค่เรื่องโรค แต่เป็นเรื่องของเศรษฐกิจ การศึกษา ชีวิตความเป็นอยู่ และวัฒนธรรม ความหมายคือถ้าเราจน ไม่มีการศึกษา ก็ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่อย่างมีความสุข สุขภาพจิตก็จะไม่ดี ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือ การทำให้ชุมชนเข้มแข็ง สามารถหนุนเสริมดูแลซึ่งกันและกัน ทั้งเรื่องของเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา และความเป็นอยู่ต่างๆ ได้ในภาพรวม ทำให้สามารถแก้ปัญหาที่ใหญ่กว่าเรื่องสุขภาพ คือเรื่องของความสุขและสุขภาวะของชุมชน
สิ่งที่เราต้องทำตอนนี้ คือตาต้องมองเป้าไว้ก่อน แล้วก็ดูทิศทางการเดินให้ตรง เปรียบเหมือนการปลูกพืชล้มลุกบางส่วน เพื่อเอาไว้กินในช่วงนี้ ผสมกับการปลูกข้าวและข้าวโพดบ้าง ซึ่งต้องปลูกทุกปี นั่นคือทำโครงการระยะสั้น แต่ก็ต้องไม่ลืมปลูกไม้ยืนต้นในระยะยาว ก็คือการสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ให้รากหยั่งลึก บางทีก็ไม่ต้องใส่ปุ๋ย ไม่ต้องรดน้ำ ก็จะออกดอกออกผลเอง เหมือนชุมชนที่เข้มแข็ง สามารถจัดการสุขภาพของตัวเองได้ การรักษาพยาบาลเป็นหน้าที่หมอและผู้เชี่ยวชาญ เพราะมันซับซ้อน
แต่การสร้างเสริมสุขภาพไม่ต้องถึงมือผู้เชี่ยวชาญ เป็นหน้าที่ของคนทุกคนในชุมชนที่จะแนะนำ ตักเตือน สร้างชุมชนที่ดูแลสุขภาวะตัวเองได้ ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เรากำลังวางแผนที่จะเดินไป