เมื่อพูดถึง ‘การเล่น’ ในมุมมองของคนส่วนใหญ่ อาจมองว่าเป็นเรื่องเล่นๆ ที่ไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญมากนัก แต่สำหรับเด็กแล้ว การเล่นคือหัวใจสำคัญในการเรียนรู้และเสริมสร้างพัฒนาการที่ไม่แพ้การศึกษาด้านอื่นๆ เลย
‘มหกรรมเล่นเปลี่ยนโลก’ กิจกรรมที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดขึ้นเพื่อจุดประกายให้พ่อแม่รู้จักและเข้าใจเรื่องการเล่นอิสระมากขึ้น ให้เด็กๆ สามารถอยู่รอดปลอดภัยในโลกยุคใหม่ที่มีความเปลี่ยนแปลงสูง รวมไปถึงการสร้างความเข้าใจให้กับพ่อแม่ในบทบาทของ Play Worker ที่จะช่วยให้เด็กๆ เติบโตจากการเล่นได้อย่างสมวัย
The MATTER ชวนไปพูดคุยกับ คุณณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. ถึงความสำคัญของการเล่นที่สามารถเปลี่ยนโลกการเรียนรู้ของเด็กๆ ได้ รวมไปถึงเบื้องหลังความตั้งใจของมหกรรมเล่นเปลี่ยนโลกที่กำลังเกิดขึ้น
มองว่าพ่อแม่ทุกวันนี้ เข้าใจเรื่องการเลี้ยงลูกในรูปแบบไหนบ้าง
จริงๆ มีความหลากหลายมาก แต่ถ้าจะบอกว่าในกระแสหลัก พ่อแม่ก็จะเชื่อเรื่องเด็กต้องได้เรียน ต้องมีวิชาการที่ดี พอเด็กเข้าอนุบาล หรือปฐมศึกษาปีที่ 1 ต้องอ่านออกเขียนได้ อยากเห็นลูกมีความสามารถทางวิชาการ มองเห็นการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ แต่ขณะเดียวกัน ยังมีพ่อแม่ในที่มองว่าการมีทักษะชีวิตที่ดี ทักษะในการดูแลอารมณ์ จิตใจ และทักษะทางสังคมที่ดีเป็นเรื่องสำคัญ สายนี้ก็จะพาลูกทำกิจกรรมต่างๆ เป็นส่วนใหญ่ แล้วเราพบว่าจริงๆ พ่อแม่ทุกกลุ่มฐานะมีความต้องการเหมือนกัน ที่จะเรียนรู้ว่าควรจะเลี้ยงลูกอย่างไรดี ถึงจะทำให้เป็นเด็กที่มีความสุข แล้วอยู่ได้ในโลกยุคใหม่ได้
สถานะทางสังคม มีผลต่อทัศนคติในการเลี้ยงลูกมากน้อยขนาดไหน
มีส่วน แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด อย่างเช่นเราไม่สามารถจะพูดได้ว่าพ่อแม่กลุ่มฐานะไม่ได้ร่ำรวย จะไม่สนใจเรื่องการลูกให้ดี เพราะเวลา สสส. ร่วมกับภาคีทำกิจกรรมต่างๆ จะมีทั้งกิจกรรมแบบสไตล์คนเมือง ลงชุมชน และในพื้นที่ต่างจังหวัด เพื่อมุ่งเน้นให้พ่อแม่จากทุกกลุ่มฐานะเข้าร่วม เพราะฉะนั้นถ้าไม่ดูเรื่องฐานะ แต่อาจจะแบ่งออกเป็นกลุ่มพ่อแม่ที่สนใจว่าจะเลี้ยงลูกยังไงให้ดี กับพ่อแม่กลุ่มที่เชื่อว่าส่งลูกเข้าโรงเรียนดีๆ
ทำไมพ่อแม่ส่วนใหญ่ถึงให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาเป็นหลัก
อาจจะเป็นค่านิยมที่ปลูกฝังแล้วส่งต่อกันมาว่า ต้องเรียนหนังสือ ต้องได้เกรดดี และมีการชื่นชมเมื่อมีผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการดี กลายเป็นวัฒนธรรมในด้านการศึกษาที่ไปเน้นเรื่องของการแข่งขัน พอจะเปลี่ยนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
อะไรคือความท้าทายของพ่อแม่ในยุคนี้ ที่ต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในภาพใหญ่ของประเทศ เด็กจำนวนไม่น้อย ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เพราะการย้ายถิ่นฐานภายในประเทศมีสูงมาก จากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่พ่อแม่ต้องทำมาหากิน การที่เด็กจะได้เวลาคุณภาพจากพ่อแม่ก็น้อยลงไปด้วย คือพ่อแม่ต้องมาทำงาน แล้วลูกยังเล็ก พามาด้วยไม่ได้ ต้องให้ปู่ยาตายายเลี้ยง ทางอีสานเราพบว่า เด็กแรกเกิดจนถึง 6 ขวบ อยู่กับปู่ยาตายายถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการที่เด็กได้รับการเลี้ยงดูโดยปู่ย่าตายายที่อาจจะไม่ได้มีเรี่ยวแรงมากพอแล้ว หรือไม่เท่าทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป อาจจะไม่เพียงพอที่จะดูแลเด็ก นี่คือความท้าทายที่เกิดขึ้นที่บ้าน
นอกจากนั้นคือเรื่องค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กในปัจจุบัน ถ้าอยากจะให้ดี จะต้องลงทุนสูงมาก มีการศึกษาในเชิงเศรษฐศาสตร์พบว่า ค่าใช้จ่ายเรื่องการศึกษา ยิ่งครอบครัวฐานะไม่ดี กลับมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของเด็กสูงกว่าครอบครัวฐานะดี เช่น ถ้ามีรายได้ 100 เปอร์เซ็นต์ อาจจะต้องใช้กับเรื่องการศึกษาหรือการเลี้ยงดูลูกถึง 20-30 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ครอบครัวฐานะร่ำรวยจะใช้น้อยกว่า ผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำเช่นนี้ จึงไม่สามารถคิดค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของเด็กแบบรายหัวเท่ากันได้
เมื่อพบเจอกับสถานการณ์แบบนี้ สสส. มีการปรับยุทธศาสตร์เรื่องสุขภาวะเด็ก ครอบครัวอย่างไรบ้าง
สสส. เรามองเห็นว่าครอบครัวมีความหลากหลาย ทั้งฐานะ ความรู้ การศึกษา และเรื่องของเวลา ซึ่งความรู้เรื่องการเลี้ยงดูเด็กมีเยอะมาก หลากหลายตำรา เราจึงมองว่า อะไรคือสิ่งที่ถ้ารู้แค่นี้ก็สามารถที่จะตอบโจทย์ได้หลายอย่าง เราจึงมองไปที่เรื่องการเล่นอิสระ เพราะเป็นแนวคิดที่ใช้ได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงเด็กโตเลย สามารถที่จะพัฒนาเด็กได้ครบทุกทักษะ ทั้งเรื่องจิตใจ สังคม อารมณ์ และทักษะการคิดวิเคราะห์ ในศตวรรษที่ 21 การคิดวิเคราะห์ รวมถึงถ้าผู้ใหญ่กับเด็กเล่นด้วยกัน ยังเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางครอบครัวไปด้วย เป็นแนวคิดง่ายๆ สามารถทำได้ทุกที่และทุกบ้าน ไม่จำเป็นต้องมีของเล่นราคาแพง
การสื่อสารคำว่า ‘เล่นเปลี่ยนโลก’ ให้พ่อแม่ทุกกลุ่มเข้าใจ อะไรคือความยากที่สุด
ความยากอยู่ตรงที่เราชินกับวัฒนธรรม ว่าผู้ใหญ่จะต้องเป็นคนจัดการหรือควบคุมเด็ก การเล่นเปลี่ยนโลกหรือการเล่นอิสระ จะพลิกมุมตรงนี้เลย จากที่ผู้ใหญ่ต้องเป็นคนออกแบบ สั่งการ และกำหนด จะเปลี่ยนให้เด็กเป็นคนนำ เด็กในที่นี้อาจจะเป็นเด็กแค่ 1-2 ขวบก็ได้ ซึ่งเป็นความท้าทายของผู้ใหญ่มาก แต่ว่าถ้าเราทำได้ แล้วสังเกตเด็กที่ได้รับโอกาสในการเล่นอิสระ ได้ผจญภัย ได้ทำอะไรต่างๆ ด้วยตัวเอง เขาจะมีความภาคภูมิใจในตัวเองมากขึ้น แววตาเขาจะเปลี่ยน ความสุขของเขาจะเกิดขึ้น การที่เราไม่ซ้ำเติมเมื่อเขาทำผิดพลาด แต่ว่าให้เขาได้เรียนรู้ ช่วยเปลี่ยนมุมมองที่เด็กมีต่อตัวเอง มองเห็นว่าตัวเองมีความสามารถ สามารถสร้างสิ่งต่างๆ ได้ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานให้เขามีส่วนร่วมกับชุมชนและสังคมต่อไปได้ในอนาคต
การเล่นที่ให้เด็กเป็นคนนำ รูปแบบจะแตกต่างกับการเล่นปกติของเด็กอย่างไร
คือผู้ใหญ่ก็ยังคงเตรียมให้ได้ เช่น เตรียมพื้นที่ อุปกรณ์ต่างๆ ดูเรื่องความปลอดภัย เด็กอยากจะเล่นอะไร จะหยิบจับอะไร มาประกอบกันขึ้นเป็นอะไร เด็กเป็นคนคิดทั้งหมด โดยผู้ใหญ่จะเป็น Play Worker หรือเป็นผู้ดูแลการเล่นหรือผู้อำนวยการเล่น ความต่างจะอยู่ที่ตรงนี้ แต่ถ้าเป็นการเล่นแบบผู้ใหญ่นำ อาจอยู่ในรูปแบบเกม คอยกำกับผู้เล่นแต่ละคนให้ทำอะไร ซึ่งจะไม่ช่วยส่งเสริมทั้งตัวตนและทักษะต่างๆ ของเด็ก เด็กจะเป็นผู้ตามในเกมที่ผู้ใหญ่กำหนดให้เล่น
ภาพรวมของมหกรรมเล่นเปลี่ยนโลก สสส. มีการทำงานรูปแบบไหน
สสส. มีภาคีที่ทำเรื่องเกี่ยวกับการเล่นและกิจกรรมสร้างสรรค์กระจายอยู่ทั่วประเทศ ทุกปีเราจะจัดให้มีงานมหกรรมที่เรียกว่า Play Day หรือวันแห่งการเล่น มีการใช้พื้นที่จัดมุมซุ้มการเล่นหลากหลาย ช่วงโควิด-19 ก็ปรับรูปแบบเป็นดาวกระจาย เพื่อไม่ต้องให้คนมารวมกันเยอะมาก รวมทั้งการจัดกิจกรรมแบบออนไลน์ ขณะเดียวกัน ผู้ปกครองยุคใหม่บางทีเล่นไม่เป็นแล้ว ไม่รู้จะเล่นอะไรกับลูก เราก็ทำเป็นลักษณะใบงานหรือใบกิจกรรมแนะนำวิธีการเล่น แล้วก็ส่งไปที่เครือข่ายคุณครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ให้นำไปกระจายลงกลุ่มไลน์ผู้ปกครองตามหมู่บ้านต่างๆ ชวนกันทำกิจกรรม แล้วถ่ายรูปส่งมาดูกัน เป็นการกระตุ้นอีกทางหนึ่ง
ความเข้าใจเรื่องการเล่นที่มีคุณภาพของคนส่วนใหญ่ อาจมองว่าต้องมีของเล่นราคาแพงหรือสิ่งแวดล้อมดีๆ เท่านั้น จะสร้างความเข้าใจตรงนี้ได้อย่างไร
ของเล่นที่ดีคือของเล่นที่ใกล้ตัวเด็ก นั่นก็คือผู้ใหญ่ที่อยู่รอบตัวเด็ก ซึ่งจะเป็นของเล่นให้เด็กได้ หรืออุปกรณ์ข้าวของที่มีอยู่แล้วในบ้าน ถ้าเราเปิดใจกว้าง เด็กก็เอามาเล่นได้หมด เราดูแลแค่ความปลอดภัย จึงไม่จำเป็นต้องซื้อของแพงเลย เพราะของเล่นอะไรก็ตาม ที่ถูกออกแบบมาโดยเด็กไม่ต้องคิดอะไรกับมันแล้ว เด็กจะไม่สามารถสร้างสรรค์ใหม่ๆ ได้ จึงไม่ได้ช่วยในการพัฒนาเด็ก แต่ถ้าเป็นของทั่วไปอย่างปากกา กระดาษ กิ่งไม้ กองทราย พลั่ว หม้อ หรือกระทั่งกระทะเก่าๆ เด็กจะสร้างสรรค์การเล่นของเขาจากสิ่งเหล่านี้ แล้วนำมาประกอบร่างสร้างขึ้นมาใหม่ จะส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กให้เติบโตขึ้นได้ ถ้าสังเกตดู พอเด็กเริ่มหยิบจับอะไรได้ เขาจะเริ่มใช้นิ้ว จะดึงผม จับหู และแตะเนื้อต้องตัวเรา นั่นคือเขากำลังสำรวจ พ่อแม่จึงเป็นของเล่นสำหรับลูกได้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะซื้อของเล่นใหม่หรือเอาของรอบๆ บ้านให้ลูกเล่น ถ้าเราเล่นกับลูกได้ เราก็เป็นของเล่นชิ้นหนึ่งของลูกเหมือนกัน และเป็นการปูพื้นฐานความสัมพันธ์ที่ดีมากๆ ถ้าเราทำอย่างสม่ำเสมอ
สุดท้าย มหกรรมเล่นเปลี่ยนโลก จะส่งผลต่อสังคมอย่างไร
ในระยะสั้น สสส. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย ลงลึกตั้งแต่ระดับตำบล เพื่อทำให้คนในชุมชนได้เห็นความสำคัญ เป็นประจำสม่ำเสมอ ช่วยให้เปลี่ยนความเชื่อและค่านิยมได้ ส่วนในระดับประเทศ เราจะมีการทำแคมเปญขนาดใหญ่ เหมือนการรณรงค์เรื่องงดเหล้าเข้าพรรษาและอุบัติเหตุ ประเด็นหลักที่จะสื่อสารไปยังสังคมคือเรื่องของการเล่นอิสระ เพราะเป็นวิธีที่เรียบง่าย แต่สามารถพัฒนาเด็กได้อย่างมาก
ส่วนระยะยาว มองไปที่ 4 ประเด็นด้วยกัน ประเด็นแรก ต้องเพิ่มทรัพยากรให้กับครอบครัวเพื่อการดูแลเด็ก มีตั้งแต่นโยบายที่เอื้อให้พ่อแม่สามารถมีเวลาคุณภาพ มีทรัพยากรในการดูแลเด็กๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลาคลอด 6 เดือนโดยได้รับเงินเดือนเต็ม การลาเพื่อการเลี้ยงดูบุตร พ่อแม่ควรจะมีสิทธิ์ทั้งหมด ประเด็นที่สอง เป็นยุทธศาสตร์การเพิ่มพื้นที่การเรียนรู้ให้กับเด็กที่นอกเหนือจากโรงเรียน และการเรียนรู้ในระบบการศึกษา เช่น แหล่งเรียนรู้ใกล้บ้าน ในชุมชน ห้องสมุด และสนามเด็กเล่น ที่จะต้องมีเพียงพอ มีคุณภาพ และมีความปลอดภัย ประเด็นที่สาม ระบบคุ้มครองเด็ก ไม่ให้มีการล่วงละเมิด มีระบบการเฝ้าระวัง และเยียวยาฟื้นฟู ประเด็นสุดท้าย คือเรื่องการส่งเสริมความเป็นพลเมืองและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม การลดช่องว่างระหว่างวัยต่างๆ ซึ่งทั้งหมด 4 เรื่องนี้จะเป็นยุทธศาสตร์หลักของ สสส. ที่จะดำเนินการในระยะยาว