หากนิยามของธนาคาร คือ มีไว้สำหรับการเก็บออมเงิน เพื่อนำมาเบิกใช้ยามที่จำเป็น นิยามของ ‘ธนาคารเวลา’ หรือ ‘Time Bank’ ก็คือการเก็บออมทักษะและประสบการณ์ในรูปแบบของเวลา เพื่อนำมาเบิกใช้ยามที่จำเป็นเช่นกัน
แม้ว่าโมเดลธนาคารเวลา หรือการสะสมเวลาในรูปแบบของบัญชีส่วนบุคคล โดยสามารถเบิกถอนเวลามาใช้ได้เมื่อต้องการความช่วยเหลือ จะเกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นมาเกือบครึ่งศตวรรษ ก่อนจะได้รับความนิยมไปทั่วโลก แต่สำหรับในประเทศไทยยังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้น ซึ่งรูปแบบของทักษะและประสบการณ์ที่ว่า ทั้งการขับรถพาไปโรงพยาบาล ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ตัดต้นไม้ ดูแลบ้าน ไปจนถึงการตัดเล็บ ตัดผม จะสามารถจ่ายเงินเพื่อใช้บริการเหล่านี้ได้ แต่หัวใจสำคัญของธนาคารเวลา คือความเชื่อใจหรือ Trust ที่เกิดจากความเข้มแข็งของคอมมูนิตี้ธนาคารเวลานั้นๆ นับเป็นสิ่งที่ใช้เงินมากเท่าไรก็หาซื้อไม่ได้ เรียกว่าเป็นนวัตกรรมที่สร้างคุณค่าการเป็นผู้ให้และผู้รับให้มีความหมายยิ่งขึ้น
The MATTER ชวนไปทำความรู้จักธนาคารเวลากับ ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. ถึงแนวโน้มความเป็นไปได้ของธนาคารเวลาในประเทศไทย
การรับรู้ของคนไทยในตอนนี้ มีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องธนาคารเวลาในภาพรวมมากน้อยขนาดไหน
เรื่องธนาคารเวลาสำหรับประเทศไทย น่าจะยังมีกลุ่มที่รู้จักและสนใจน้อยมาก เนื่องจากแนวคิดนี้ แม้จะเริ่มจากญี่ปุ่น แต่มันไปบูมมากในตะวันตก แต่เมืองไทยเพิ่งเริ่มทำ 4-5 ปี เราเลยตั้งใจที่จะนำร่องในแบบพื้นที่จำกัด จากสมาชิกที่คล้ายๆ กัน มีความเข้าใจกันหรือรู้จักกัน ก่อนที่จะขยายความเข้าใจไปสู่กลุ่มอื่นๆ แต่ ณ วันนี้ เราเชื่อว่าพร้อมแล้ว ที่จะขยายธนาคารเวลาให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เนื่องจากมีคู่มือและชุดความรู้ต่างๆ ที่พร้อมจะขยายผลได้
การที่ไทยก้าวสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ การเกิดขึ้นของธนาคารเวลาส่งผลดีอย่างไร
การที่สังคมไทยเป็นสังคมสูงอายุ ตั้งแต่ปี 2548 แต่เพิ่งเป็นสังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ ใน 1-2 ปีนี้ ที่มีผู้สูงอายุครบ 20% มีคนสูงวัยกว่า 13 ล้านคน จากจำนวนคนที่มีอยู่ทั้งหมดในประเทศ ทำให้โครงสร้างประชากรของไทยเปลี่ยน แล้วยิ่งจะเพิ่มพูนจำนวนผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ฉะนั้นถ้าเรายังมีระบบแค่แบบในปัจจุบัน จะลำบากแน่นอน การออกแบบระบบหรือนวัตกรรมต่างๆ ขึ้นมารองรับการเป็นสังคมสูงวัย ทาง สสส. เองก็เชื่อว่า น่าจะดีกว่าไม่มี จึงต้องลองนำแนวคิดแบบอื่นๆ เข้ามาปรับใช้ ซึ่งรูปแบบบริการที่ต้องเสียเงินมีอยู่เยอะ แต่เรื่องนี้เรียกว่านวัตกรรมทางสังคม เป็นเครื่องมือที่ในประเทศที่มีผู้สูงอายุจำนวนมาก จึงได้ลองประยุกต์ใช้บริบทแบบประเทศไทย ซึ่ง ณ วันนี้ยังมีความสับสนกันอยู่กับนิยามของธนาคารจิตอาสา และธนาคารความดีที่มีอยู่ก่อนแล้ว แต่จะบอกว่าธนาคารเวลาไม่เหมือนกัน ไม่ใช่การทำอะไรเพื่อแลกกับของ แต่คือแลกเวลากับเวลา ทักษะกับทักษะ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็เป็นเรื่องดีๆ ทั้งนั้น
ตอนแรกที่ สสส. นำแนวคิดธนาคารเวลาเข้ามาช่วงแรกๆ เสียงตอบรับจากสังคมเป็นอย่างไร
สสส. ไม่ได้สร้างการรับรู้วงกว้างเลย เป็นการชวนคนที่คิดว่าสนใจด้านสังคมเข้ามาทดลองทำ ใครอยากลองของใหม่ มาลองได้เลย แต่ตอนนั้นไม่มั่นใจ เพราะว่าต้องเอากลิ่นนมเนยออกก่อน ถึงจะเอามาใช้ในแบบไทยได้ ในวัฒนธรรมที่มีการลงแขกและการเอื้ออาทรอยู่แล้ว ธนาคารเวลายังจำเป็นหรือเปล่า เพราะยังมีบริการแบบที่แลกกันด้วยทักษะหรือด้วยเวลาที่ไม่ใช้เงินหรือเปล่า คือคำถามแรกๆ ที่เกิดขึ้น หรือในต่างจังหวัด เขาก็ช่วยกันอยู่แล้ว ทำไมเขาจึงต้องการสิ่งนี้เพิ่มเติมอีก
ทำไมถึงมองว่าระบบธนาคารเวลามันจะเวิร์กกับสังคมไทย
สสส. กำลังพูดถึงความเอื้ออาทรกัน ในแบบที่ไม่ต้องรอเป็นผู้รับฝ่ายเดียว กล้าที่จะเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ บางคนอาจจะเป็นผู้ให้มาตลอด แต่วันหนึ่งต้องเป็นผู้สูงวัย อ่อนแอ เจ็บแขน ขา ทำอะไรไม่ได้ขึ้นมา และมีบริการบางอย่างที่ไม่สามารถใช้เงินซื้อมันมาได้ อาจจะต้องรบกวนเพื่อนบ้านให้ช่วย แต่การเอ่ยปากไปขอให้เขาช่วยโดยที่ไม่เคยช่วยอะไรเขาเลย คงเป็นเรื่องที่ลำบากใจสำหรับคนที่ขอรับความช่วยเหลือ ระบบนี้มีเพื่ออุดช่องว่างเหล่านั้น เพื่อให้สังคมกล้าเอ่ยปากกันมากขึ้น ก็เพราะคุณเคยให้แล้วก็ฝากไว้ มีหลักฐาน มีคะแนนสะสมอยู่จำนวนมาก แม้ว่าคุณจะไม่เคยให้โดยตรง แต่คุณเคยให้กับคอมมูนิตี้นี้ ในวันที่คุณต้องการ คุณก็สามารถขอรับบริการนั้นได้ ขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่อาจจะมีทักษะเต็มไปหมด แต่ไม่มีเวลาจะพาคุณพ่อไปโรงพยาบาลในเวลาทำงาน คุณอาจจะกวนเพื่อนบ้านของคุณ ซึ่งไว้ใจได้มากกว่าบริการจากที่อื่น เรียกว่าเป็นบริการบางอย่างที่ขอจากคนอื่นลำบากหรือซื้อด้วยเงินไม่ได้ ซึ่งลดปัญหาส่วนนั้นในสังคมไทยได้ ถ้าสมาชิกมีความหลากหลายและพร้อมมากพอ จะช่วยให้ธนาคารเวลาสาขานั้นแอคทีฟได้
แสดงว่ากลุ่มเป้าหมายของธนาคารเวลา ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้สูงอายุก็ได้เช่นกัน
สมาชิกอาจจะเริ่มจากผู้สูงอายุ เพราะพูดถึงการรองรับสังคมสูงวัย แต่ไม่ได้บอกว่าสมาชิกจะต้องเป็นผู้สูงอายุเท่านั้น ยิ่งหลากหลายวัยยิ่งดี ยังมีบริการหรือเรื่องที่เด็กๆ ช่วยผู้สูงอายุได้พอสมควรเลย เพราะฉะนั้นบางสาขาก็มีหลากหลายช่วงวัย แต่บางสาขาอาจจะมีแค่ผู้สูงอายุอย่างเดียว ซึ่งผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะชอบ ทำให้รู้จักกัน เป็นเครื่องมือที่ทำให้คนกล้าพูดคุยกันมากขึ้น กล้าขอรับความช่วยเหลือมากขึ้น เพราะเป็นการ give and take ไม่ได้ give หรือไม่ได้ take อย่างเดียว ฝึกทั้งการเป็นผู้ให้และผู้รับในเวลาเดียวกัน
อะไรคือหัวใจสำคัญของธนาคารเวลา ที่แตกต่างจากการใช้บริการรูปแบบอื่นๆ
การที่คนเรารู้จักกัน มาช่วยเหลือกัน ซึ่งเราไว้ใจได้มากกว่า เช่นการให้เข้ามาในบ้านเพื่อมาเปลี่ยนหลอดไฟ เรื่องง่ายๆ ที่อาจทำเองได้ในสมัยก่อน หรือก่อนที่เราจะหกล้ม เจ็บขา แต่เราไม่อยากให้ช่างหรือบริษัทที่ไม่รู้จักเข้ามาในบ้าน ก็ชวนสมาชิกที่เป็นเพื่อนบ้านมาทำให้ หรือในวันที่เราไม่อยู่บ้าน มีคุณพ่อ คุณแม่อยู่ อยากตัดหญ้าขึ้นมา ก็ให้เพื่อนสมาชิกช่วย น่าจะเวิร์กกว่าที่เราเสียเงินไปจ่าย เป็นเรื่องของความเชื่อใจหรือ Trust ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับธนาคารเวลา
นอกจากเรื่องของการช่วยเหลือเอื้ออาทรต่อกันแล้ว ธนาคารเวลาช่วยสร้างคุณค่าในด้านอื่นๆ อย่างไร
สสส. ทดลองทำมา 4 ปี เห็นคุณค่าและเห็นประโยชน์ นอกเหนือจากเรื่องความเอื้ออาทร น้ำใจ และมิตรภาพที่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มสมาชิกด้วยกัน บทเรียนที่เกิดขึ้นคือ เรื่องการตีเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ ในต่างจังหวัดสามารถทำเป็นตัวเลขออกมาเลยว่า ประหยัดไปได้ 500-3,000 บาทต่อกิจกรรม ถ้ากลุ่มสมาชิกมีคนตัดผม เลื่อยไม้ได้ แทนที่จะต้องไปจ่ายให้กับคนนอก กลายเป็นเศรษฐกิจชุมชนขึ้นมา บางคนอาจจะไม่ได้อยากรับจ้างกับคนทั่วไป แต่ถ้าเป็นสมาชิกด้วยกันทำแบบพิเศษให้เลย เพราะฉะนั้นนี่คือคุณค่าและความหมาย นำไปสู่การช่วยเหลือในรูปแบบอื่นๆ ในอนาคตได้ด้วย คุณค่าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ การเป็นเพื่อนกัน การมีคนที่เราไว้ใจได้อยู่ด้วยกัน
เชิงนโยบายภาพใหญ่ มีการวางแผนโครงสร้างไว้อย่างไร
แผนนโยบายอยู่ในวาระแห่งชาติสังคมสูงวัย ตั้งแต่ ปี 2561 แล้ว 1 ในมาตรการสำคัญเป็นเรื่องธนาคารเวลา ซึ่งกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นเจ้าภาพ มีการขับเคลื่อน ด้วยการสนับสนุนพื้นที่ตัวอย่าง สสส. สนับสนุน 60 พื้นที่ 60 รูปแบบ ซึ่งคำว่าสาขาหรือคอมมูนิตี้ของการเป็นธนาคารเวลา ไม่ได้มีแค่แบบทางภูมิศาสตร์ที่เป็นชุมชนเท่านั้น มีเป็นกลุ่มสมาชิก เช่น ยังแฮปปี้ สวนโมกข์ ที่รวมกลุ่มกันอยู่แล้ว หรือในองค์กรรูปแบบต่างๆ ก็จะมีในส่วนบริการสาธารณสุขหรือสมาคม เพราะฉะนั้นรูปแบบจะขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ ในส่วนนโยบายเอง ก็มีความคิดที่จะทำเป็น National Time Bank ในกรณีที่ถ้าบางธนาคารเขาอาจจะหยุดหรือเลิกทำ จะมีกลไกเป็นทางการมารองรับเครดิตเวลานั้นๆ เป็นการการันตีเหมือนแบงก์ชาติ และการเป็นธนาคารสามารถโอนได้ ในอังกฤษมีการโอนจากในเรือนจำให้พ่อแม่ที่อยู่ข้างนอก เพราะว่าเขาไม่สามารถที่จะช่วยเหลือพ่อแม่เขาได้ แต่สามารถทำตอนที่อยู่ที่อื่นหรืออยู่คนละเมืองกันได้ จึงเหมาะกับพื้นที่ที่มีความเป็นเมืองสูง เพราะการไม่รู้จักกันแล้วเอ่ยปากขอความช่วยเหลือ อาจจะเป็นเรื่องยาก
มีความเป็นไปได้มากน้อยขนาดไหน ที่องค์กรเอกชนทั่วไปสามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการได้
ถ้าเทรดเป็นสินค้า จะเรียกว่าธนาคารความดี เช่น ในต่างจังหวัดที่เด็กทำความดีแล้วได้กระเป๋า แต่สำหรับธนาคารเวลาจะระบุชัดเจนเลยว่าต้องเป็นเวลาเท่านั้น เพราะถ้าเป็นสินค้า คนรวยจะมีมากกว่าทันที แต้มสะสมจะเยอะกว่า เพราะมีของที่จะแจกจ่ายเต็มไปหมด แต่ถ้าไม่ติดส่วนนั้น เอกชนจะมาร่วมมือโดยคิดกุศโลบายหรือวิธีการแลกให้น่าสนใจ เป็นเรื่องที่น่ายินดี เป็นการเริ่มต้นในหน่วยงาน บริษัทเอกชน กลุ่มพนักงาน หรือเจ้าหน้าที่ของเขาเองก่อน
อะไรคืออุปสรรคและความท้าทายของการริเริ่มธนาคารเวลาให้สำเร็จ
ตอนแรกๆ เราใช้เป็นสมุดจด ภายหลังร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มาพัฒนาเป็นระบบดิจิทัล มีการลงคะแนนในระบบ matching จับคู่ให้ แล้วนายธนาคารหรือ broker จะเป็นคนดูเองว่าเหมาะสมหรือไม่ ระบบไอทีจะช่วยอำนวยความสะดวก ส่วนปัญหาที่ต้องแก้ไขและพัฒนาต่อคือ การนับเครดิต ยังให้คุณค่าไม่เท่ากัน บางที่นับเป็น 1 ชั่วโมง แต่บางที่ก็นับเป็น 1 กิจกรรม นอกจากนั้นคือความยากที่การบริหารจัดการ เช่น การละเมิดหรือการไปทำข้าวของเขาเสียหาย ซึ่งในสัญญาจะมีการระบุว่า นี่ไม่ใช่มืออาชีพเข้ามาทำให้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำอาจจะเสียหายได้ เช่น บอกให้ไปปูกระเบื้องห้องน้ำ หรือตัดผม ก็อาจไม่ได้สวยงามมาก เพราะฉะนั้นเงื่อนไขความคาดหวังของสมาชิก น่าจะเป็นข้อกังวลมากที่สุด จึงทำให้เกิดระบบประกันขึ้น ซึ่งในต่างประเทศมีเริ่มต้นแล้ว
ในไทยมีแนวโน้มที่จะนำระบบประกันเข้ามาปรับใช้ไหม
ระบบประกันคือ การประกันความเสียหาย เช่น ถ้าให้บริการไปแล้วไม่พอใจ ทาสีบ้านแล้วไม่เนียนกริบ สามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากคนที่ทำให้ได้ ซึ่งคนที่ทำให้ก็บอกว่าฉันทำเต็มที่ของฉันแล้ว แต่ได้แค่นี้ เพราะฉะนั้นประกันจะมาดูแลส่วนนี้ให้ ซึ่งในประเทศไทยก็ยังมีความกังวลว่า ถ้าเรียกเก็บเบี้ยจะต้องแพงมาก เช่น ไปตัดเล็บเท้าให้ผู้สูงอายุ เกิดไปตัดผิดโดนเนื้อเข้า บริษัทประกันจะต้องจ่ายเยอะ เพราะฉะนั้นประเทศไทยยังไม่พร้อมกับระบบประกัน ซึ่ง สสส. กำลังสนับสนุนให้ TDRI ช่วยประเมินว่า ถ้าใช้ระบบประกันแบบเปิด-ปิด น่าจะช่วยเข้ามาแก้ไขในส่วนนี้ได้
สสส. วางแผนในอนาคตสำหรับโครงการธนาคารเวลาไว้อย่างไร
สสส. ยังคงนำร่องสนับสนุนธนาคารเวลาอยู่ในแพลตฟอร์มต่างๆ ผ่านทั้งชุมชนและสื่อที่หลากหลาย ส่วนในระยะถัดไป คาดหวังเรื่องการขยายโดยตัวเอง และการยกระดับการทำงานผ่านเจ้าภาพหลักอย่างภาครัฐ คือกระทรวง พม. พัฒนาระบบไอที ระบบคู่มือต่างๆ รวมถึงสื่อที่ทำความเข้าใจกับคนทั่วไปให้เห็นประโยชน์ ว่าทำไมเงินถึงใช้ซื้อสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ นั่นคือสิ่งที่คาดหวัง อยากส่งมอบสู่สาธารณะให้ใช้ประโยชน์ร่วมกันต่อไป
สังคมนี้จะน่าอยู่ขึ้นอีก ถ้ามีเครื่องมือ นวัตกรรมทางสังคมใหม่ๆ เข้ามาสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ธนาคารเวลาจึงเป็น 1 ในเครื่องมือที่จะช่วยให้สังคมนี้น่าอยู่ขึ้นและเอื้ออาทรต่อกันมากขึ้น